อินเดีย ดินแดนแห่งเทศกาลนับหมื่นนับพัน การไปอินเดียโดยไม่รู้จักเทศกาลเหมือนไปไม่ถึงอินเดีย เหมือนกินส้มตำไม่มีข้าวเหนียว เหมือนกินโรตีโดยไม่ใช้มือ ขาดอรรถรสไปเป็นอันมากอย่างน่าเสียดาย
ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้มีเทศกาลที่จะฉลองกันอีกมากมาย วันนี้เราลองไปดูเทศกาลหลักๆ ของอินเดียกัน
13 กรกฎาคม รถะยาตรา (Rath Yatra) เป็นเทศกาลเฉลิมฉลองการเดินทางโดยราชรถ (Car Festival)ของพระกฤษณะจากเมือง Gokua (เมืองที่กฤษณะใช้ชีวิตในวัยเด็ก) ไปยังเมืองมธุรา (บ้านเกิดของกฤษณะ) เพื่อปราบมาร โดยการยาตรานี้เปรียบดังการเดินทางของชีวิตจากความมืดบอดสู่แสงสว่างแห่งปัญญา งานนี้มีการเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่เป็นเวลา 9 วันที่เมือง Puri ในรัฐโอริสสา โดยจะมีการแห่แหนเทวรูป 3 องค์ด้วยกัน คือ พระจกันนาถ (Jagannath —ปางหนึ่งของพระกฤษณะ) พระบาลาบาดรา (Balabhadra) พี่ชายของพระกฤษณะ และนางสุบาดรา (Subhadra) น้องสาวของพระกฤษณะ การแห่จะเริ่มจากวัดกลางเมืองไปยังวัด Gundicha และจะอัญเชิญเทพทั้ง 3 ประทับอยู่ที่วัดนี้เป็นเวลา 9 วัน
25 กรกฎาคม วันครู (Guru Purnima) เป็นวันไหว้ครูหรือเกจิอาจารย์ดังๆ โดยเป็นวันระลึกถึงปรมาจารย์ Vyasa ผู้รจนามหากาพย์มาหภาตะ คนอินเดียนิยมไหว้ครูโดยการมอบผลไม้และดอกไม้ให้ครูที่ตนนับถือ บางคนก็ถือศีลด้วยการอดอาหาร 1 วันเพื่อบูชาครูด้วย
11 สิงหาคม วันรัมซัน (Ramzan) เป็นวันเริ่มถือศีลอดของอิสลาม
23 สิงหาคม วันโอนัม (Onam) เทศกาลแข่งเรือของชาว Kerala โดยมีการฉลองกันเป็นเวลา 10 วัน
24 สิงหาคม วันรักษาบันดาน (Raksha Bandhan) เป็นวันแห่งความรักระหว่างพี่น้อง
2 กันยายน วันจัมมาสทามี(Jammashtami) วันประสูติพระกฤษณะ
11 กันยายน วันพิฆเณศวรจตุรธี (Ganesh Chaturthi) วันเกิดพระพิฆเณศวร มีการเฉลิมฉลองกันทั่วประเทศ 10 วันเต็ม
10-11 กันยายน วัน Id-ul-Fitr วันเฉลิมฉลองการออกศีลอดของอิสลาม
2 ตุลาคม วันคานธีชยันตี (Gandhi Jayanthi) วันเกิดมหาตมคานธี
8-17 ตุลาคม วันนวราตรี (Navaratri) เป็นการเฉลิมฉลองเจ้าแม่ธุรคาที่มีชัยต่อมารเป็นเวลา 9 วัน
13-17 ตุลาคม ธุรคาบูชา (Durga Puja) มีการเฉลิมฉลองช่วง 5 วันท้ายของนวราตรี ส่วนใหญ่ฉลองกันในรัฐเบงกอลตะวันตก อัสสัม และฉรขันต์
17 ตุลาคม วัน Dusseehra เป็นวันสุดท้ายของนวราตรี เป็นการฉลองความพ่ายแพ้ของทศกรรณฐ์
25 ตุลาคม วัน Karva Chauth เป็นวันที่แม่บ้านทางภาคเหนือของอินเดียจะอดอาหารและสวดมนต์ขอให้พ่อบ้านมีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง
2 พฤศจิกายน วันเกิดคุรุนานัก (Guru Nanak Jayanti) ศาสดาแห่งศาสนาซิกข์
3 พฤศจิกายน วันพระลักษมี (Dhan Teras) เทศกาลบูชาพระลักษมี เทวีแห่งความร่ำรวยและความรุ่งเรือง
5 พฤศจิกายน วันปีใหม่แขก (Diwali/Deepawali) เป็นเทศกาลให้ของขวัญ ร้านค้าต่างๆ จะตุนสินค้ากัน 2-3 เดือนก่อนหน้าดิวาลี สินค้าไทยควรไปเปิดตลาดในช่วงก่อนหน้าหรือในวันดิวาลี
14 พฤศจิกายน วันเด็ก (Children’s Day) และเป็นวันเกิดของเนรู นายกฯ คนแรกของอินเดียด้วย เหมาะสำหรับการเปิดตลาดของเล่นอินเดีย ตลาดของเล่นใหญ่ที่สุดในโลก
17 พฤศจิกายน วัน Bakrid เป็นวันฉลองวันที่อับราฮัมถวายลูกชายบูชาพระเจ้า
1 ธันวาคม วันเทศกาลโคมไฟ (Karthikai Deepam)
7 ธันวาคม วันปีใหม่อิสลาม (Muharram)
25 ธันวาคม วันคริสต์มาส
โดย ไพศาล มะระพฤกษ์วรรณ
ผอ. สำนักงานส่งเสริมการค้าฯ ณ เมืองเจนไน
ที่มา: http://www.depthai.go.th