ญี่ปุ่นยังล้าหลังเกาหลีใต้ในการลงนามความตกลงการค้าเสรี

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 9, 2010 16:18 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่เกิดขึ้นหลายครั้งทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างพันธมิตรธุรกิจกับประเทศคู่ค้าเพื่อขยายฐานการค้า การลงทุน และเพิ่มอำนาจการแข่งขันของผู้ประกอบการญี่ปุ่นในเวทีโลก ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาญี่ปุ่นได้เพิ่มการเจรจาทวิภาคีเพื่อให้ก้าวทันประเทศคู่แข่งสำคัญโดยเฉพาะ จีน และเกาหลี

ญี่ปุ่นและเกาหลีเริ่มเจรจา EPA(Economic Partnership Agreement) /FTA (Free Trade Agreement) กับสมาชิกอาเซียน และ ASEAN Partners ในเวลาใกล้เคียงกัน ขณะนี้เกาหลีลงนามและให้สัตยบันความตกลงแล้วรวม 16 ประเทศ เทียบกับญี่ปุ่นที่ลงนามไป 11 ฉบับ ที่สำคัญเกาหลีลงนามแล้วกับอินเดีย สามารถสรุปการเจรจาเบื้องต้น กับสหภาพยุโรป อยู่ระหว่างเจรจากับ 8 ประเทศ (รวม แคนาดา นิวซีแลนด์) และมีทีท่าว่าการเจรจาเกาหลี-จีน อาจเริ่มขึ้นได้ในเร็วๆ นี้ ขณะที่การหารือระหว่างญี่ปุ่นกับประเทศคู่ค้าบางประเทศหยุดชะงักลง แม้ว่าการเจรจากับอินเดียอาจจะสรุปได้ปลายปีนี้ แต่กับสหภาพยุโรป ยังอยู่ในขั้นของการศึกษา (Feasibility research) สาเหตุสำคัญของความล่าช้า คือ ญี่ปุ่นยังยืนยันปฎิเสธการเปิดตลาดสินค้าเกษตร เมื่อญี่ปุ่นได้ลดภาษีสินค้าอุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์ อิเลคทรอนิกส์ เป็นศูนย์ไปแล้ว ความสนใจของคู่เจรจาจึงมีไม่มาก ญี่ปุ่นยังถูกวิจารณ์จากคู่ค้า เช่นสหภาพยุโรป ว่ามีกฎระเบียบและมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีจำนวนมากที่เป็นอุปสรรคต่อสินค้านำเข้า หากญี่ปุ่นยังไม่แก้ไขวิธีปฎิบัติที่เป็นอุปสรรคเหล่านี้ การเจรจา EPA/FTA ก็ไม่เกิดประโยชน์ แม้ว่าญี่ปุ่นจะแสดงให้คู่ค้าเห็นว่าการทำความตกลง EPA แบบญี่ปุ่นจะเพิ่มโอกาสของความร่วมมือและสร้างพันธมิตรธุรกิจที่กว้างกว่า เช่น เรื่องIntellectual property right protection หรือ Personnel exchange แต่ต่างชาติก็ยังเห็นว่าการไปถึงระดับของความร่วมมือนี้ จะยิ่งใช้เวลายาวนานยิ่งขึ้น

ญี่ปุ่นลงนามความตกลง EPAกับสิงคโปร์เมื่อพฤศจิกายน 2545 และลงนามกับประเทศนอกกลุ่มอาเซียนฉบับแรกกับเม็กซิโก เมื่อปี 2548 ซึ่งพบว่ามูลค่าส่งออกรถยนต์นั่งไปยังประเทศในอเมริกาใต้สูงขึ้นจากเดิม 53,000 คัน มูลค่า 78 พันล้านเยนในปี 2547 เพิ่มเป็น 110,000 คัน มูลค่า 170 พันล้านเยน หรือเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว ปัจจุบันญี่ปุ่นลงนามความตกลงการค้าเสรี (FTA/EPA) กับ 11 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ เม็กซิโก มาเลเชีย ฟิลิปปินส์ ชิลี ไทย บรูไน อินโดนีเชีย อาเซียน เวียดนาม และสวิสเซอร์แลนด์ ตามลำดับ โดยมีผลบังคับใช้แล้วกับ 8 ประเทศ และ 1 กลุ่มเศรษฐกิจ(อาเซียน) ผลคือ สัดส่วนการส่งออกของญี่ปุ่นเทียบกับมูลค่าส่งออกรวมไปยังอาเซียนเพิ่มขึ้นจากที่เคยอยู่ร้อยละ 9.6 ก่อนปี 2551 เป็นร้อยละ 10.8 ในปี 2551 และการสัดส่วนในมูลค่าส่งออก ของแต่ละสมาชิกอาเซียนไปยังญี่ปุ่นก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน โดย สัดส่วนการส่งออกของไทยไปญี่ปุ่น เพิ่มจากเดิมที่ร้อยละ 3.5 เป็นร้อยละ 3.8 ในปี 2551 กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นรายงานว่า FTA กับอาเซียนได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้ GDP ของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 และหากสมาชิก APEC 21 เขตเศรษฐกิจ ลดภาษีและเปิดเสรีทางการค้าระหว่างกัน นอกจากจะช่วยให้ GDP ของญี่ปุ่นเพิ่มสูงขึ้นอีกถึงร้อยละ 1 แล้ว ประโยชน์ยังจะตกกับกลุ่มผู้ประกอบการ SME ซึ่งเป็นนักธุรกิจส่วนใหญ่ที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ การจัดทำความตกลง FTA/EPA จึงชัดเจนว่าเป็นมาตรการที่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ

ตลอดช่วง 8 เดือน ที่อดีตนายกรัฐมนตรี Hatoyama บริหารประเทศ การจัดทำความตกลง EPA/FTA กับคู่ค้าแทบไม่มีความคืบหน้า ทำให้นักวิชาการเริ่มแสดงความกังวลและแนะให้รัฐบาลเร่งกระชับความสัมพันธ์กับภูมิภาคเอเชียให้มากขึ้น โดยแสดงความคิดเห็นว่า หากเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา และยุโรปยังคงถดถอยต่อไป ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าจะมีการนำมาตรการคุ้มครองผู้ผลิตภายในประเทศมาใช้อีกครั้ง เชื่อว่าจีนก็คงเร่งกระชับความร่วมมือกับทั้งสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปเพื่อรักษาประโยชน์ของตน ญี่ปุ่นจึงต้องเร่งร่วมมือกับจีน และเกาหลีเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการญี่ปุ่นในการขยายตลาด นอกจากนี้ ภาษีนำเข้าของจีนและเกาหลีก็ยังอยู่ในระดับสูง การเข้าไปทำธุรกิจในจีนต้องเผชิญอุปสรรคจำนวนมาก บริษัทญี่ปุ่นจึงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องร่วมทุนกับบริษัทในท้องถิ่นของจีน การร่วมมือกับจีนและเกาหลียังจะช่วยลดปัญหาความมั่นคงจากการรุกรานของเกาหลีเหนือ ซึ่งล้วนเป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจ นักวิชาการญี่ปุ่นยังเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาเปิดตลาดสินค้าเกษตรให้มากขึ้น แม้ว่าอาจจะต้องยินยอมจ่ายเงินชดเชยให้ผู้สูญเสียรายได้ รวมทั้งพิจารณาเปิดตลาดแรงงาน กลุ่มพยาบาลและพนักงานดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งกำลังขาดแคลน ประเด็นอื่นๆ ที่มีการเรียกร้อง เช่น การลดภาษีธุรกิจ (Corporate tax) เพื่อรักษากลุ่มผู้ประกอบการบางสาขาไว้ในประเทศและจูงใจบริษัทต่างชาติให้เข้ามาลงทุน การสร้าง Asian Bond Market เพื่อเป็นแหล่งทุนแก่นักธุรกิจและดึงเงินทุนของเอเชียให้หมุนเวียนกลับมาลงทุนในภูมิภาค การขยายความร่วมมือในสาขาที่เกี่ยวเนื่องกับสิ่งแวดล้อม (Green products) ซึ่งญี่ปุ่นมีจุดแข็งและเป็นช่องทางหนึ่งที่จะนำไปสู่การสร้างมาตรฐานร่วมกันในอนาคต

ญี่ปุ่นและเกาหลีมีความคล้ายคลึงกันในเรื่องความอ่อนไหวของการเปิดตลาดสินค้าเกษตร แต่ประธานาธิบดี Lee Myung-bak ของเกาหลีใต้ใช้อำนาจในฐานะผู้นำเร่งรัดการเจรจาเพื่อเปิดตลาดให้แก่สินค้าอุตสาหกรรมของตน เป็นการเพิ่มดีกรีการแข่งขันและสร้างแรงกดดันแก่บริษัทญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามแม้ว่ารัฐบาลพรรค DPJ ที่บริหารประเทศในปัจจุบันจะตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างพันธมิตรและการเจรจา EPA/FTA แต่ก็ยังไม่มีมาตรการชัดเจนว่าจะปฎิรูปวิธีทำงานเพื่อเดินหน้าการเจรจา โดยเฉพาะกับจีน และเกาหลีใต้ด้วยวิธีใด ปัญหาเร่งด่วนของรัฐบาลนายกรัฐมนตรี Kan คือปัญหาเศรษฐกิจ และหนี้สาธารณะของรัฐบาลที่สูงกว่าประเทศพัฒนาอื่นๆ ประเด็นอื่นๆ ที่สร้างความกังวลให้นักธุรกิจ เช่น ขนาดตลาดในประเทศมีแนวโน้มลดลง ค่าเงินเยนที่แข็งขึ้น และอำนาจแข่งขันของอุตสาหกรรมญี่ปุ่นที่เริ่มสูญเสียไปในเวทีการค้าโลก ขณะที่รัฐบาลเองก็มีงานเร่งด่วนในการฟื้นฟูความเชื่อมั่นและคะแนนนิยมของพรรค DPJ ซึ่งเริ่มลดลงเรื่อยๆ

แหล่งข้อมูลประกอบ

1. Japan has always been able to get its way in EPA negotiations; The Nikkei Weekly; May 26, 2008; P. 29

2. In FTA era, it's sign or be left behind, The Nikkei Weekly, June 28, 2010; P. 25

3. South Korea beating Japan to free trade punch; The Nikkei Weekly; June 28, 2010; P. 25

4. Form FTAs with China, S. Korea ASAP, The Nikkei Weekly; June 28, 2010 P 27

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ