ภาวะการค้าระหว่างประเทศของฟิลิปปินส์ เดือนมีนาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 12, 2010 16:56 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. การค้าระหว่างประเทศในเดือนมกราคม — มีนาคม 2553 เปรียบเทียบกับปี 2552

มูลค่า : พันล้านเหรียญสหรัฐ

                  ม.ค.-มี.ค. 53     ม.ค. —มี.ค.52      % Change
   การค้ารวม          24.059            17.524         37.29
   การส่งออก          11.325             7.926         42.90
   การนำเข้า          12.734             9.598         32.67
   ดุลการค้า           -1.409            -1.672        -15.73

1.1 ปริมาณการค้า

ปริมาณการค้ารวมเดือน มกราคม - มีนาคม 2553 มีมูลค่า 24.059 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.29 จาก 17.524 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในระยะเดียวกันของปี 2552 โดยเป็นการส่งออก 11.325 พันล้านเหรียญสหรัฐ และ นำเข้า 12.734 พันล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับเดือนมีนาคม 2553 มีปริมาณการค้ารวม 8.718 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 41.18 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมีนาคม 2552 ส่วนมูลค่าส่งออกและนำเข้าเดือนมีนาคม 2553 เท่ากับ 4.176 และ 4.542 พันล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ

1.2 การส่งออก

ในช่วงเดือนมกราคม — มีนาค 2553 ฟิลิปปินส์ส่งออกมูลค่า 11.325 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.90 จาก 7.926 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในระยะเดียวกันของปี 2552

สินค้าส่งออกที่สำคัญของฟิลิปปินส์ยังคงเป็นสินค้าอีเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีการส่งออกรวม 6.521 พันล้านเหรียญสหรัฐ (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 57.58 ของมูลค่าส่งออกรวม) เพิ่มขึ้นจาก 4.316 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งส่งออกได้ในระยะเดียวกันของปี 2552 คิดเป็นร้อยละ 51.09 สำหรับการส่งออกในเดือนมีนาคมนี้มีมูลค่าการส่งออก 4.176 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคมที่ผ่านมาร้อยละ 43.7 โดยที่สินค้าอีเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักเพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคมที่ผ่านมาร้อยละ 49.1 เนื่องจากตลาดต่างประเทศยังมีความต้องการซื้อเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะเซมิคอนดักเตอร์ ส่วนเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มซึ่งมีมูลค่าส่งออกมากเป็นลำดับสอง ส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 และสินค้าในกลุ่มสินค้าเกษตรเดือนนี้ส่งออกได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 51.8 เช่น ผลิตภ้ณฑ์จากมะพร้าวส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 145.4 แต่ผักและผลไม้ส่งออกลดลงร้อยละ 14.2 ตั้งแต่มกราคม — มีนาคม 2553 ตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของฟิลิปปินส์เปลี่ยนจากสหรัฐฯเป็นญี่ปุ่น ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 16.68 ลำดับที่สองได้แก่ สหรัฐฯ มีสัดส่วนร้อยละ 16.61 ลำดับต่อมาได้แก่ สิงคโปร์ จีน และ ฮ่องกง มีสัดส่วนร้อยละ 9.54, 9.00 และ 7.54 ตามลำดับ

1.3 การนำเข้า

ในช่วงเดือนมกราคม — มีนาคม 2553 การนำเข้าของฟิลิปปินส์มีมูลค่า 12.734 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.67 จาก 9.598 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมา

สินค้านำเข้าอันดับหนึ่งคือ สินค้าอีเล็กทรอนิกส์ นำเข้ามูลค่า 4.276 พันล้านเหรียญสหรัฐ (มีสัดส่วนร้อยละ 33.58 ของการนำเข้ารวม) นำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.48 จากปีที่ผ่านมาซึ่งนำเข้า 3.491 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลำดับที่สองได้แก่น้ำมันเชื้อเพลิง นำเข้ามูลค่า 2.129 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 55.09 จาก 1.373 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในเดือนมีนาคมนี้มีการนำเข้า 4.542 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคมที่ผ่านมาร้อยละ 38.94 ซึ่งเป็นอัตราสูงที่สุดในรอบ 7 ปีที่ผ่านมา โดยนำเข้าสินค้าทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 38.5 ที่สำคัญได้แก่ อุปกรณ์ด้านโทรคมนาคมและไฟฟ้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.6 ลำดับต่อมาได้แก่ อุปกรณ์เกี่ยวกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 60.9 การนำเข้าสินค้าเกษตรที่สำคัญได้แก่ สินค้าข้าวนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 159.6 ส่วนน้ำมันเชื้อเพลิงนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 63.4 ทั้งนี้เพราะราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้น โดยราคาน้ำมันดูไบมีราคาเฉลี่ยที่บาร์เรลละ 77.2 เหรียญสหรัฐฯ จาก 74.47 เหรียญสหรัฐในเดือนที่ผ่าน

1.4 ดุลการค้า

ตั้งแต่มกราคม — มีนาคม 2553 ฟิลิปปินส์มีการนำเข้ามากกว่าการส่งออกทำให้มีการขาดดุล 1.409 พันล้านเหรียญสหรัฐ แต่ยังต่ำกว่าปีที่ผ่านมาที่ขาดดุล 1.672 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 15.73

1.5 ประเทศคู่ค้าสำคัญของฟิลิปปินส์

คู่ค้าที่สำคัญของฟิลิปปินส์ในเดือนนี้ ลำดับแรกยังคงเป็นญี่ปุ่นมีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 14.52 ส่วนสหรัฐอเมริกาเลื่อนลงมาเป็นอันดับสองมีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 13.91 ส่วนอันดับที่3, 4 และ5 ได้แก่ สิงคโปร์ สาธารณรัฐประชาชนจีน และเกาหลีใต้ ซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 9.37, 8.59 และ 6.11 ตามลำดับ สำหรับประเทศไทยคงอยู่ในลำดับที่ 7 เช่นเดียวกับเดือนที่ผ่านมา โดยมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 5.20

2. การค้าระหว่างไทยกับฟิลิปปินส์เปรียบเทียบกับระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมา

มูลค่า : ล้านเหรียญสหรัฐ

                        ม.ค.— มี.ค.53      ม.ค.- มี.ค.52      % Change
การค้ารวม                   1,662.10          902.50           84.17
ไทยส่งออกไปฟิลิปปินส์           1,121.70          599.00           87.27
ไทยนำเข้าจากฟิลิปปินส์            540.40          303.50           78.08
ดุลการค้า                      581.30          295.50           96.72

2.1 ปริมาณการค้า

ปริมาณการค้าระหว่างไทยกับฟิลิปปินส์ในช่วงเดือนมกราคม - มีนาคม 2553 มีมูลค่า 1,662.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 84.17 จาก 902.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ในระยะเดียวกันของปี 2552 โดยเป็นการส่งออก 1,121.7 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้า 540.4 ล้านเหรียญสหรัฐ

ในเดือนมีนาคม 2553 มีปริมาณการค้ารวม 605.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 94.88 เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2552 ส่วนการส่งออกและนำเข้าเดือนนี้มีมูลค่า 406.4 และ 199.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ

2.2 การส่งออก

ในช่วงเดือนมกราคม — มีนาคม 2553 ไทยส่งสินค้าออกไปฟิลิปปินส์เป็นมูลค่า 1,121.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 87.27 จาก 599.0 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2552 เมื่อเปรียบเทียบมูลค่าสินค้าไทยส่งไปฟิลิปปินส์กับมูลค่าที่ฟิลิปปินส์นำเข้าจากทุกประเทศ คิดเป็นร้อยละ 8.81

สินค้าไทยส่งออกไปฟิลิปปินส์เพิ่มขึ้นเป็นส่วนใหญ่ อันดับแรกได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ มีมูลค่า 256.9 ล้านเหรียญสหรัฐ (คิดเป็นร้อยละ 22.9 ของมูลค่าการส่งออกรวมจากไทยไปฟิลิปปินส์) เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 120.68 ซึ่งเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ลำดับที่สองคือสินค้าข้าวมีมูลค่าส่งออก 159.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งส่งออกได้เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ 1,950.27 เนื่องจากผู้ส่งออกไทยสามารถประมูลขายข้าวให้รัฐบาลฟิลิปปินส์ ลำดับที่สามคือแผงวงจรไฟฟ้า มีมูลค่าส่งออก 92.3 ล้านเหรียญสหรัฐ (คิดเป็นร้อยละ 8.23 ของมูลค่าการส่งออกรวม) เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 97.31

2.3 การนำเข้า

ในช่วงเดือนมกราคม — มีนาคม 2553 ไทยนำเข้าจากฟิลิปปินส์มูลค่า 540.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 78.08 จากระยะเดียวกันของปีที่แล้วซึ่งนำเข้ามูลค่า 303.5 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าสินค้าที่ฟิลิปปินส์ส่งมายังไทยคิดเป็นร้อยละ 4.77 ของมูลค่าส่งออกรวมของฟิลิปปินส์

สินค้านำเข้าจากฟิลิปปินส์ที่สำคัญอันดับแรกคือ แผงวงจรไฟฟ้ามีมูลค่า 92.4 ล้านเหรียญสหรัฐ (คิดเป็นร้อยละ 17.10 ของมูลค่านำเข้ารวม) เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมาซึ่งนำเข้ามูลค่า 54.6 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 69.15 ลำดับที่สองได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ นำเข้าเป็นมูลค่า 91.4 ล้านเหรียญสหรัฐ (คิดเป็นร้อยละ 16.92 ของมูลค่านำเข้ารวม) เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมาซึ่งนำเข้ามูลค่า 35.2 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 159.37

2.4 ดุลการค้า

เนื่องจากไทยส่งออกไปฟิลิปปินส์มากกว่านำเข้าสินค้าจากฟิลิปปินส์ ในช่วงเดือนมกราคม — มีนาคม 2553 ฟิลิปปินส์ขาดดุลการค้ากับไทยเป็นมูลค่า 581.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งขาดดุลสูงกว่าระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่ขาดดุล 295.5 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 96.72

3. การคาดการณ์ภาวะการค้า

รัฐบาลฟิลิปปินส์ประกาศอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาสแรก GDP เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 ซึ่งสูงกว่าที่เคยประมาณการไว้ที่ร้อยละ 2.6 — 3.6 เนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของเงินที่ส่งมาจากแรงงานที่ไปทำงานในต่างประเทศเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 7 เช่นกัน ซึ่งจะเป็นตัวเร่งให้มีการบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้น ตลอดจนผลประกอบการของธุรกิจเอกชนมีแนวโน้มดีขึ้น ทางด้านการส่งออกเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 โดยในเดือนมีนาคมนี้เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 43.7 ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดนับตั้งแต่ปี 1991 เป็นต้นมา คาดว่าปี 2010 จะส่งออกได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 22 ส่วนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์คาดว่าจะส่งออกได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 25 สำหรับการนำเข้าเดือนนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.9 ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 7 ปี นับตั้งแต่ปี 2003 เป็นตันมา ซึ่งนำโดยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์นำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.4 สินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มนำเข้าเพิ่มขึ้นได้แก่ ข้าว และน้ำตาล โดยรัฐบาลได้คาดการว่าในปีนี้จะต้องนำเข้าน้ำตาลเพิ่มอีกประมาณ 150,000 เมตริกตัน และคาดว่าส่วนหนึ่งจะนำเข้าจากไทย สำหรับสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการส่งออกไปฟิลิปปินส์ได้เพิ่มขึ้น ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ข้าว แผงวงจรไฟฟ้า และเครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ