นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมกับเป้าหมายด้านการค้าของญี่ปุ่น

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 19, 2010 14:21 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อนเป็นสิ่งที่หลายประเทศให้ความสนใจ ญี่ปุ่นเป็นประเทศหนึ่งที่มีบทบาทอย่างมากในด้านสิ่งแวดล้อม มีการพัฒนาเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อมในระดับชั้นนำของโลกและเป็นประเทศที่มีการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมที่สูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยญี่ปุ่นได้ตั้งเป้าหมายในการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 25 เปอร์เซ็นต์จากฐานปี 2533 ภายในปี 2563 ตามที่ประกาศโดยอดีตนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น นายยูกิโอะ ฮาโตยามา

เป้าหมายในการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่นไม่ได้จำกัดอยู่เพียงเพื่อสภาวะแวดล้อมที่ดีขึ้นเท่านั้น แต่เทคโนโลยีต่างๆ ที่คิดค้นขึ้นนับเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจมูลค่ามหาศาลในตลาดต่างประเทศให้กับญี่ปุ่นจากการขายสินค้าและเทคโนโลยี ดังจะเห็นได้จากการที่นโยบายการเป็นผู้นำของโลกด้านสิ่งแวดล้อมกลายเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญของยุทธศาสตร์การเติบโตรูปแบบใหม่ (New Growth Strategy) ของญี่ปุ่นที่ร่างขึ้นเพื่อเป็นแนวทางในการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อปลายปี 2552

ด้วยเหตุนี้ญี่ปุ่นจึงได้มีบทบาทในการผลักดันให้นานาประเทศให้ความสำคัญและร่วมมือกันในการลดภาวะโลกร้อน ทั้งนี้ ภายในประเทศญี่ปุ่นเองรัฐบาลญี่ปุ่น ภาคเอกชน และผู้บริโภคต่างมีบทบาทที่สำคัญภายใต้นโยบายและมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่รัฐบาลกำหนดขึ้น โดยนโยบายและมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่ใช้อยู่ในประเทศญี่ปุ่นสามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ

1. การควบคุมและกำกับดูแล เช่น

1.1 การกำหนดมาตรฐานการปล่อยก๊าซ (Emission Standard) ของโรงงาน (SOx) และรถยนต์ (SOx, NOx, PM10, PM2.5)

1.2 การกำหนดมาตรฐานเทคโนโลยี (Technology Standard)

1.3 กฎหมายควบคุมการ recycle อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า และรถยนต์ (The Home Appliance Recycling Law, The Automobile Recycling Law) เพื่อควบคุมให้ fluorinated gases (CFCs, HCFCs, HFCs) ในเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ใช้แล้วและรถยนต์ถูกนำกลับมา recycle ได้อย่างเหมาะสม

1.4 Ozone Layer Protection Law เพื่อควบคุมการผลิต นำเข้า และส่งออกของสารที่ทำลายชั้นโอโซน (Ozone Depletion Substances: ODS) ตามพิธีสารมอนทรีออล นับตั้งแต่ปี 1989 ในการนำเข้า HCFCs จะต้องขอโควต้าและได้รับความเห็นชอบตาม Import Trade Control Order

1.5 ในระดับรัฐบาลท้องถิ่น มหานครโตเกียวได้ออกคำสั่ง (ordinance) กำหนดให้ผู้ประกอบการในกรุงโตเกียวที่มีการใช้พลังงานมากกว่า 1,500 กิโลลิตรเป็นต้นไป ต้องวางมาตรการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยกำหนดอัตราการลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่แตกต่างกันออกไปตามประเภทของธุรกิจ

นอกจากนี้ที่ผ่านมาญี่ปุ่นได้พิจารณาที่จะนำภาษีสิ่งแวดล้อมมาใช้ แต่เนื่องจากถูกต่อต้านจากภาคเอกชนทำให้แนวความคิดเรื่องการนำภาษีสิ่งแวดล้อมมาใช้หยุดชะงักลง

2. การจูงใจ ญี่ปุ่นมีมาตรการจูงใจทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการด้านสิ่งแวดล้อมอยู่เป็นจำนวนมาก ที่สำคัญได้แก่

2.1 Local Global Warming Prevention Support Measure มาตรการสนับสนุนเงินทุนส่วนหนึ่งสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซ สำหรับทุกอุตสาหกรรมที่ใช้ก๊าซ CFC ในอุปกรณ์ทำความเย็น

2.2 ระบบการซื้อพลังงานจากแสงอาทิตย์แบบใหม่ (The New Purchase System for Photovoltaic Electricity) ตามคำสั่งกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (METI) ของญี่ปุ่น ที่ออกตามกฎหมายส่งเสริมการใช้พลังงานที่ไม่ใช่พลังงานจากฟอสซิลและการใช้พลังงานจากฟอสซิลอย่างเหมาะสมของบริษัทผู้ค้าพลังงาน (Energy Suppliers) ระบบนี้ผูกพันให้บริษัทผู้ผลิตและผู้ค้าพลังงานไฟฟ้า (Electric Utilities) ซื้อพลังงานที่นอกเหนือจากที่ผลิตได้จากแหล่งที่ผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ (Photovoltaic facilities) ในราคาที่กำหนด (กรณีซื้อจากบ้านพักอาศัย ในราคา 48 เยน/kWh, กรณีซื้อจากแหล่งอื่นๆ ในราคา 24 เยน/kWh)

2.3 มาตรการจูงใจผู้ประกอบการ เพื่อส่งเสริมให้เกิด Emission-rights trading systems ภายใต้กลไกของ Kyoto Protocol โดยรัฐบาลญี่ปุ่นให้เงินสนับสนุนผู้ประกอบการในการปรับปรุงอาคารสิ่งก่อสร้าง เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ด้วยการใช้เทคโนโลยีประหยัดพลังงานและใช้พลังงานทางเลือกอื่นแทนน้ำมันปิโตรเลียม ซึ่งช่วยให้การค้าขาย emission quotas เกิดขึ้นได้

2.4 Clean Development Mechanism (CDM) ภายใต้กลไกของ Kyoto Protocol โดยรัฐบาลญี่ปุ่นส่งเสริมให้ภาคเอกชนไปลงทุนในโครงการที่ลดการปล่อย greenhouse-gas ในประเทศกำลังพัฒนาเพื่อใช้ปริมาณก๊าซที่ลดได้ในการคำนวณให้ได้เป้าหมายการลดการปล่อย greenhouse-gas ของตน สิ่งที่รัฐบาล ญี่ปุ่นสนับสนุน เช่น capacity building, feasibility studies, การสนับสนุนด้านการเงิน และการซื้อ emission rights

2.5 มาตรการจูงใจให้ผู้บริโภคเลือกใช้สินค้า เช่น ระบบ Eco-point ในการซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ได้มาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานตามที่รัฐบาลกำหนด โดยประสิทธิภาพด้านพลังงานของสินค้าจะกำหนดด้วยจำนวนดาว สินค้าที่มี 4 ดาวหรือมากกว่าจะได้รับ Eco-point ซึ่งมีมูลค่าเป็นจำนวนเงินเท่ากับ 5 หรือ 10 เปอร์เซ็นต์ของราคาสินค้าขึ้นอยู่กับชนิดสินค้า นอกจากนี้ ระบบ Eco-point ยังขยายไปครอบคลุมกรณีบ้านพักอาศัย ซึ่งผู้บริโภคจะได้รับ point จากการก่อสร้างบ้านพักหลังใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือปรับปรุงบ้านพักอาศัยให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น การติดกระจก 2 ชั้น (dual-sash) ที่ช่วยรักษาอุณหภูมิภายในห้อง หรือการติดตั้งฉนวนกันความร้อนที่พื้นและผนัง เป็นต้น

2.6 มาตรการยกเว้นภาษีสำหรับรถยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco-friendly cars) มาตรการนี้เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน 2552 จนถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2555 ภายใต้มาตรการนี้ ภาษีน้ำหนักรถยนต์และภาษีสรรพสามิตจะลดลง 100% 75% หรือ 50% ขึ้นอยู่กับระดับความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและประสิทธิภาพ ในการประหยัดพลังงานของรถยนต์ใหม่ที่ผู้บริโภคซื้อ

2.7 นอกจากนี้ในระดับรัฐบาลท้องถิ่นยังมีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่จูงใจผู้บริโภคและผู้ประกอบการในการซื้อพลังงานทางเลือก เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์หรือบ้านที่ประหยัดพลังงาน เช่น มหานครโตเกียวให้เงินสนับสนุนหรือให้เงินกู้แก่เอกชนที่ต้องการเปลี่ยนรถยนต์เป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือรถยนต์ไฮบริดจ์ เป็นต้น

จากนโยบายและมาตรการข้างต้นจะเห็นได้ว่าต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ที่สำคัญคือภาครัฐต้องมีบทบาทอย่างมากทั้งในการกำกับดูแล สร้างแรงจูงใจและจิตสำนึกให้กับภาคเอกชนและผู้บริโภค ซึ่งการผลิตสินค้าที่คำนึงถึงสภาวะแวดล้อมจะกลายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในอนาคตอันใกล้และมีแนวโน้มที่จะมีผลต่อการค้าโลกมากขึ้น

ดังนั้น ภาครัฐและภาคเอกชนจึงควรหันมาวางแผนและกำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ทั้งเพื่อให้เกิดการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและเพื่อสภาวะแวดล้อมที่ดีขึ้น

เอกสารอ้างอิง

1. “Present Status and Promotion Measures for the Introduction of Renewable Energy in Japan”, http://www.meti.go.jp/english/policy/energy_environment/renewable/index.html, 14 January 2010

2. Yusuke Nishizawa, “Measure to Reduce Greenhouse Gases and Create a Resource Recycling Network” , JETRO Japan Economic Monthly, March 2006

3. “Declaration of Commitment to Development of an Eco-Oriented Nation”, Environment Industries Office, Ministry of Economy, Trade and Industry, Japan, July 2003

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ