พาณิชย์เร่งผลักดันกม.โลจิสติกส์เข้าครม.ภายในกค.นี้

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 21, 2010 11:17 —กรมส่งเสริมการส่งออก

พาณิชย์เร่งผลักดันกม.โลจิสติกส์เข้าครม.ภายในกค.นี้ ชี้จำเป็นต้องเพิ่มศักยภาพ เชื่อมโยงระบบขนส่งรับเปิดการค้าเสรี กรมส่งออกฯหนุนเอสเอ็มอีเข้าร่วม เชื่อลดการสูญเสียพลังงาน-งบประมาณ

นายอลงกรณ์ พลบุตร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการดูงาน “โลจิสติกส์การค้าสัญจร เพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจไทย” ที่จ.นครสวรรค์ และอยุธยา พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย สมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย สมาคมตัวแทนออกของรับอนุญาตไทยว่า กระทรวงพาณิชย์จะเร่งผลักดันร่างพ.ร.บส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ เพื่อพัฒนาศักยภาพการแข่งขันธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ของไทยรองรับการเปิดเสรีทางการค้า โดยจะเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)ให้เห็นชอบภายในเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อทันเข้าสู่การพิจารณาสภาผู้แทนราษฎรที่มีสมัยประชุมสิงหาคม- พฤศจิกายนนี้

สาระสำคัญจะสนับสนุนให้ธุรกิจโลจิสติกส์ทุกประเภท เช่น การจัดการส่งสินค้า การขนส่ง การรวบรวม การกระจายสินค้าหรือบริการ และกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องโดยจะมีคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิจารณา

“จำเป็นที่ไทยจะต้องเร่งปรับตัว เพื่อไม่ให้เสียเปรียบ เพราธุรกิจโลจิสติกส์มีความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะหลังการเปิดเสรีทางการค้าจะมีการแข่งขันกับต่างชาติมากขึ้น”นายอลงกรณ์กล่าวและว่า การดูงานในครั้งนี้ เห็นว่า จังหวัดนครสวรรค์และอยุธยาเหมาะสมที่จะเป็นศูนย์การกระจายสินค้าที่มีศักยภาพ โดยมีแนวคิดที่จะพัฒนาแม่น้ำเจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง ให้มีศักยภาพด้านโลจิสติกส์เหมือนกันแม่น้ำป่าสัก ที่มีเครือเจริญโภคภัณฑ์เปิดท่าเรืออยุธยา พอร์ทและไอซีดี ในเนื้อที่ 700 ไร่ในอยุธยา และในจ.นครสวรรค์ ดำเนินการศูนย์ขนส่งและโลจิสติกส์ต่อเนื่องหลายรูปแบบ(ไอเอ็มเอช)ที่ท่าข้าวกำนันทรง ในเนื้อที่ 300 ไร่

นางมาลี โชคล้ำเลิศ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กล่าวว่า ภาครัฐและเอกชนพยายามเสาะหารูปแบบโลจิสติกส์ที่เหมาะสมกับองค์กร-ประเภทธุรกิจ เพื่อสนับสนุนและพัฒนาระบบงานให้มีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนโลจิสติกส์ให้ต่ำที่สุด จากที่อยู่ระดับ 18% ไม่แต่เฉพาะองค์กรขนาดใหญ่เท่านั้น ต้องจูงใจให้ธุรกิจขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี)ที่มีหลายกลุ่มสินค้าและรายแสนรายเข้าร่วมด้วย เพื่อลดการสูญเสียพลังงาน มลพิษ ฝุ่น ควันต่อสิ่งแวดล้อม ที่ทำให้ต้องเสียงบประมาณซ่อมแซมถนนและสุขภาพ ซึ่งการขนส่งทางน้ำถือเป็น การเพิ่มประสิทธิภาพแนวทางหนึ่ง เพราะต่อเที่ยวสามารถบรรทุกน้ำหนักถึง 2,000 - 3,000 ตันต่อเที่ยว นายประสิทธิ์ ดำรงชิตานนท์ ประธานคณะผู้บริหารกลุ่มธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า ท่าเรืออยุธยาพอร์ทและไอซีดีมูลค่าพันล้านบาท มีความสามารถที่จะรองรับเรือบรรทุกสินค้าได้ครั้งละ 5 ลำ หรือ 4 แสนตู้ต่อปี ตามแนวตลอดท่าเรือ โดยมีความสามารถที่จะขนถ่ายสินค้าได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ หลังจากเปิดท่าเรือแล้ว จะมีอุตสาหกรรมแปรรูปต่อเนื่องหลังท่าฯ(เปิดเต็มรูปแบบในราวต้นปี 2555) เพื่อการเชื่อมโยงการผลิตแบบครบวงจร จากการติดตามผลถือว่าประสบความสำเร็จดีพอสมควร ผู้มาใช้ท่าเรือสะดวกในการขนส่งทางน้ำ ลดค่าใช้จ่ายการขนส่งกว่า 10% ทำให้เศรษฐกิจแถบนี้คึกคักขึ้น

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ