สดุก่อสร้างในเวียดนามและแผนการพัฒนา

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 21, 2010 11:28 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ภาพรวม

อุตสาหกรรมการก่อสร้างในเวียดนามเติบโตอย่างรวดเร็วควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจของเวียดนาม การสร้างแหล่งเมืองใหม่ ขยายถนน ซ่อมแซมปรับปรุงบ้านและตึกเก่า รวมทั้งมาตรฐานการครองชีพที่สูงขึ้นทำให้เกิดความต้องการวัสดุก่อสร้างชนิดใหม่ ๆ และมีคุณภาพมากขึ้น นอกจากนี้นโยบายการพัฒนาชนบทเพื่อลดช่องว่างระหว่างเมืองกับชนบทช่วยส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง ทำให้การผลิตวัสดุก่อสร้างบางประเภทของเวียดนาม เช่น กระเบื้องเซรามิค สุขภัณฑ์เซรามิค และกระจกก่อสร้างสนองความต้องการในประเทศและส่งออกได้ จากการคาดการณ์ของกระทรวงก่อสร้างเวียดนาม ผลผลิตในวัสดุก่อสร้างหลักบางชนิดขยายตัวมากขึ้นจากปัจจุบันไปจนถึงปี 2553

กระทรวงก่อสร้างเวียดนามคาดว่าด้วยอัตราการเติบโตของประชากรและการก้าวเข้าสู่ระบบเมืองที่รวดเร็ว ทำให้ความต้องการที่พักในเวียดนามจะเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 2- 3 ปีที่จะถึงนี้ ปัจจุบัน เขตที่พักอาศัยในเวียดนามเป็น 10.2 ตารางเมตรต่อคน ซึ่งนับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับบางประเทศในภูมิภาคเช่นจีน ( 20 ตร.เมตร ) ไทย ( 25 ตร.เมตร ) และสิงคโปร์ ( 32 ตร.เมตร ) ดังนั้นรัฐบาลจึงกำหนดให้การก่อสร้างที่พักอาศัยเป็นเป้าหมายที่สำคัญเป้าหมายหนึ่งของประเทศ โดยตั้งเป้าไว้ว่าเขตชุมชนต้องมีพื้นที่สำหรับที่พักอาศัยโดยเฉลี่ยต่อคนเป็น 15 ตร.เมตร และ 14 ตร.เมตร / คนในพื้นชนบทภายในปี 2553

จากนี้ไปจนถึงปี 2563 วัสดุก่อสร้างของเวียดนามจะเป็นตลาดให้กับทั้งการนำเข้าและการส่งออกในสภาพการแข่งขันที่สูง ซึ่งจะเป็นโอกาสดีสำหรับนักลงทุนต่างชาติในการเข้ามาลงทุนและทำธุรกิจในอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างในเวียดนาม

การทำธุรกิจวัสดุก่อสร้างในประเทศเวียดนาม

วัสดุก่อสร้างในประเทศเวียดนามเป็นหนึ่งในสินค้าที่มีการผลิตและการทำธุรกิจพัฒนาอย่างรวดเร็วแต่ในปัจจุบันไม่มีการจัดทำสถิติโรงงานผลิตวัสดุก่อสร้างทั่วประเทศ แต่เห็นได้ว่าเกือบทุกนครและจังหวัดมีโรงงานผลิตวัสดุก่อสร้าง โดยเฉพาะในนคร / จังหวัดใหญ่ๆ จะมีโรงงานเหล่านี้ด้วยจำนวนมาก เช่น นครโฮจิมินห์ ฮานอย ไฮฟอง ดานัง ด่องนาย บิ่นเยือง และเกิ่นเทอ

โรงงานผลิตวัสดุก่อสร้างจำเป็นต้องจดทะเบียนด้านมาตรฐานและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ต้องมีตราสินค้าของตนเอง และฉลากที่ติดในสินค้าต้องระบุข้อมูลชัดเจน เช่น ชื่อผู้ผลิต / ผู้นำเข้า ที่อยู่ เบอร์ติดต่อ มาตรฐานสินค้า รหัสของงวดสินค้าที่ได้ผลิต ประเทศผลิต เป็นต้น

การจัดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ปัจจุบันรัฐบาลเวียดนามกำหนดเพียงซีเมนต์และเหล็กสำหรับก่อสร้างเป็นสินค้าที่อยู่ในรายการสินค้าควบคุมราคาจำหน่าย เพื่อไม่ให้เกิดภาวะเงินเฟ้อและควบคุมในช่วงที่ราคาแกว่งตัวผิดปกติ

เงื่อนไขการทำธุรกิจด้านวัสดุก่อสร้าง บริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านวัสดุก่อสร้างต้องมีโกดังและพื้นที่กว้างขวางเพื่อเก็บสินค้าต้องรักษาความปลอดภัยด้านไฟไหม้และสุขอนามัยด้านสิ่งแวดล้อมในนครโฮจิมินห์ มีแหล่งขายวัสดุก่อสร้างหลายแหล่ง เช่น ตลอดเส้นถนน Ly Thuong Kiet SSt., District 11 หรือ Tan Binh District, ตลอดเส้นถนน To Hien Thanh, Su van Hanh , District 10 นอกจากนั้นยังมีห้างสรรพสินค้าเป็นทั้งที่แสดงสินค้าและจำหน่ายวัสดุก่อสร้างที่น่าสนใจ

การแข่งขันกับวัสดุก่อสร้างของไทยในตลาดเวียดนาม

ปัจจุบันเวียดนามสามารถผลิตวัสดุก่อสร้างบางประเภทสนองความต้องการภายในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศ สินค้าดังกล่าวคือ : ซีเมนต์ เหล็กและเหล็กกล้า กระเบื้องเซรามิก กระเบื้อง ใช้ในห้องน้ำ กระจกก่อสร้าง สีทา และหินแกรนิต

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านวัสดุก่อสร้างให้ความเห็นว่าวัสดุก่อสร้างประเภทต่างๆที่ผลิตในประเทศความสามารถในการแข่งขันยังไม่สูง เมื่อเที่ยบกับวัสดุที่นำเข้าจากต่างประเทศเนื่องจาก

1. ราคาต้นทุนยังสูงโดยค่าใช้จ่ายในการผลิตสูง เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าขนส่ง และค่าโทรคมนาคม

2. การออกแบบ สีสันยังไม่มีความหลากหลาย

3. เทคโนโลยี่ เครื่องจักรและอุปกรณ์เพื่อการผลิตยังเก่าและล้าสมัยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในกลุ่มอาเซียน

4. ราคาวัสดุก่อสร้างมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงทำให้ตลาดไม่มั่นคง เป็นอุปสรรคสำหรับผู้ผลิตและผู้บริโภคด้านวัสดุก่อสร้าง

5. การทำตลาดเพื่อจัดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างยังไม่มีความชำนาญ

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้วัสดุก่อสร้างที่ผลิตในประเทศมีราคาสูง ไม่มีความแน่นอน ส่งผลกระทบด้านลบต่อชื่อเสียงของผลิตภัณฑ์ ไม่สามารถทำให้คุณค่าตราสินค้าของผลิตภัณฑ์สูงขึ้นและสามารถขยายตลาดส่งออกได้ลำบาก

สำหรับผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากประเทศไทย ยังมีสัดส่วนในตลาดสูงกว่าผลิตภัณฑ์ของเวียดนาม เช่น กระเบื้องเคลือบปูพื้นประเภทคุณภาพสูง อิฐ กระเบื้องหลังคา อุปกรณ์คุณภาพสูงที่ใช้ในห้องน้ำ วาวล์ ก๊อกน้ำ แผ่นยิปซัม เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวที่นำเข้าจากไทย ส่วนมากผู้ซื้อจะเป็นผู้ที่มีรายได้สูง เนื่องจากราคาขายจะสูงกว่าประมาณ 20— 30 % ของสินค้าที่ผลิตในเวียดนาม

ภาวะตลาดวัสดุก่อสร้างของเวียดนามปี 2553

ผลิตภัณฑ์สุขภัณฑ์เซรามิคและกระเบื้อง

สมาคมเซรามิคก่อสร้างเวียดนาม ( VIBICA ) ได้คาดการณ์ว่าความต้องการใช้จะเป็น 5 ล้านหน่วย แต่ประสิทธิภาพของการผลิตในโรงงานมีถึง 6 ล้านหน่วยและจะยังคงเพิ่มขึ้น ดังนั้นในอนาคตราคาของสุขภัณฑ์เซรามิคจะไม่เพิ่มมากถ้าราคาเชื้อเพลิงที่ใช้ในการเผาเซรามิคไม่เพิ่มขึ้นมาก

เป็นที่น่าสังเกตว่าแม้ปริมาณผลิตจะมากกว่าความต้องการ แต่โรงงานท้องถิ่นบางรายกลับยากที่จะขายสินค้าได้ เนื่องจากการแข่งขันอย่างหนักจากโรงงานผลิตสินค้าในประเทศที่ใช้ตราสินค้าต่างประเทศปัจจุบัน Inax Vietnam เป็นสินค้าที่คนเวียดนามนิยมมากที่สุดเพราะราคาแข่งขันได้ โดยบริษัทมีการขยายกำลังการผลิตเป็น 2.5 ล้านหน่วยจาก 2 ล้านหน่วย

กระเบื้อง

การดำเนินการของโรงงานผลิตกระเบื้องมีความแตกต่างกันมากบริษัทขนาดใหญ่มียอดขายดี ก็สามารถขยายการผลิตเพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้ผลิตรายย่อยอื่น ๆ กลับขายสินค้าได้จำกัด ซึ่งความไม่สมดุลระหว่างดีมานด์ — ซัพพลาย จะเริ่มเป็นปัญหามากขึ้น

VIBICA ให้ข้อมูลว่าเวียดนามสามารถผลิตกระเบื้องได้ 261 ล้านตร.เมตร ซึ่งมากกว่าความต้องการปี 2553 ซึ่งคาดว่าเป็น 150 ล้านตร.เมตร

เซรามิคก่อสร้าง

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาสาขานี้ประสบความสำเร็จในการเจาะตลาดต่างประเทศจากตัวเลขของกระทรวงก่อสร้างเวียดนาม 9 เดือนแรกของปี 2552 เวียดนามมีรายได้จากการส่งออกสาขาก่อสร้างเกือบ 104.7 ล้านเหรียญสหรัฐหรือคิดเป็น 50% ของเป้าหมาย ซึ่งการส่งออกเซรามิคก่อสร้างลดลงมากที่สุดถึง 30 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

เหล็ก

อาจเผชิญกับภาวะสินค้าล้นตลาด เมื่อผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ 3 รายเริ่มเดินเครื่องการผลิตในต้นเดือนมิถุนายน 2553 ซึ่งจะทำให้ผลผลิตทั้งหมดเพิ่มขึ้นเป็น 8 ล้านตัน ขณะที่ความต้องการในประเทศมีเพียง 5 ล้านตัน นอกจากนี้ ยังต้องเผชิญกับการนำเข้าเหล็กก่อสร้างราคาถูกจากต่างประเทศ ตั้งแต่ต้นปี 2553 จำนวนเหล็กก่อสร้างนำเข้า 35,000 ตัน และขายในราคาต่ำกว่าเหล็กที่ผลิตในประเทศ ซึ่งมากกว่า 53% ของเหล็กที่นำเข้ามาจากประเทศอาเซียน จากจีน 20% และส่วนที่เหลือนำเข้าจากประเทศอื่นๆ เช่นญี่ปุ่น เกาหลีใต้และไต้หวัน

กระจก

เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2553 บริษัทผู้ผลิตกระจก Chu Lai ( Indevco ) ได้เปิดตัวโรงงานผลิตกระจกมูลค่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ตั้งอยู่ในเขตอุตสาหกรรมบั๊กจูลาย ในจังหวัดกว่างนาม โดยโรงงานแห่งนี้เป็นโรงงานผลิตกระจกที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถผลิตกระจกได้ 900 เมตริกตันต่อวัน นอกจากนี้ บริษัทกระจก Chu Lai ยังวางแผนที่จะส่งออกกระจกไปต่างประเทศ 30 % ของผลผลิตโรงงานทั้งหมด ส่วนอีก 70% จะจำหน่ายในตลาดภายในประเทศ โดยหวังว่าโรงงานผลิตกระจกแห่งนี้จะสามารถตอบสนองความต้องการกระจกภายในประเทศได้ และจะทำรายได้ปีละ 104.7 ล้านเหรียญสหรัฐ สร้างงานมากกว่า 600 ตำแหน่ง

ก่อนหน้านี้ บริษัทกระจก Viglacera และบริษัทกระจกเวียดนามเรียกร้องให้กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนามออกมาตรการจำกัดการนำเข้ากระจก ซึ่งได้เพิ่มขึ้นจาก 1.2 ล้านตร.เมตรในปี 2550 เป็น 8.1 ล้านตร.เมตรในปี 2551 และช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 เวียดนามนำเข้ากระจก 1.35 ล้านตร.เมตร และทำให้ส่วนแบ่งตลาดสำหรับกระจกที่ผลิตในประเทศค่อยๆ ลดลงจาก 97.4 % ในปี 2549 เป็น 96 % ในปี 2550 และ 83.5 % ในปี 2551 จนถึง 73.6 % ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552

ซีเมนต์

ในปี 2553 ปัญหากำลังการผลิตส่วนเกินเริ่มมีมากขึ้น เมื่อโรงงานใหม่เริ่มเดินเครื่องและทำให้ประสิทธิภาพของกำลังการผลิตได้เพิ่มมากกว่าความต้องการถึง 10 ล้านตัน จากที่เคยมีความต่างระหว่าง ดีมานด์ — ซัพพลาย 5 ล้านตันเมื่อปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามการผลิตซีเมนต์มีความเกี่ยวเนื่องกับความต้องการใช้ในประเทศ จึงคาดว่าตลาดในอีก 2 — 3 ปีข้างหน้าคงไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก

แผนการพัฒนาอุตสาหกรรม

แม้ว่าอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างมีศักยภาพอย่างมากต่อการพัฒนาประเทศเวียดนาม เพราะมีแหล่งวัตถุดิบมากและมีความต้องการสูงสำหรับวัสดุก่อสร้าง แต่อุตสาหกรรมนี้มีผลอย่างมากต่อ

สิ่งแวดล้อมและพลังงาน เวียดนามจึงมียุทธศาสตร์ในการพัฒนาอุตสาหกรมมนี้จนถึงปี 2563 คือสนับสนุนการผลิต การปกป้องสิ่งแวดล้อมและการลดการใช้พลังงานของโรงงานผลิตวัสดุก่อสร้าง

แผนการลดการใช้พลังงาน

กระทรวงก่อสร้างเวียดนามจะพยายามลดการใช้พลังงานลง 5 — 7 % ภายในปี 2563 โดยโครงการลงทุนขนาดใหญ่ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดในการใช้พลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง :

?          โรงงานผลิตกระเบื้องเซรามิคที่ตั้งขึ้นใหม่  ต้องใช้  0.88  กก.ของ LPG ต่อตร.เมตรของ
กระเบื้องหรือน้อยกว่า  หรือ 1.07  กก.ของน้ำมันดีเซลต่อตร.เมตรของกระเบื้องหรือน้อยกว่า  หรือ  2.58  k Wh  ต่อตร.เมตรของกระเบื้องหรือน้อยกว่า

โรงงานผลิตสุขภัณฑ์เซรามิคที่ตั้งขึ้นใหม่ต้องใช้ 0.275 กก.ของ LPG ต่อ กก. ของผลิตภัณฑ์เซรามิคหรือน้อยกว่า หรือ 0.72 กก.ของน้ำมันดีเซลต่อ กก.ของเซรามิคหรือน้อยกว่าหรือ 0.55 k Wh ต่อ กก.ของผลิตภัณฑ์เซรามิคหรือน้อยกว่า

โรงงานผลิตกระจกก่อสร้างใหม่ ต้องใช้พลังงาน 200 กก.ของน้ำมันเชื้อเพลิงต่อตันของผลผลิตหรือน้อยกว่าหรือ 0.5 กก.ของน้ำมันดีเซลต่อตันของผลผลิตหรือน้อยกว่า หรือ 100 k Whต่อตันของผลผลิตหรือน้อยกว่า

แผนการผลิต

เวียดนามตั้งเป้าว่าในปี 2563 สาขาวัสดุก่อสร้างจะผลิตได้ ดังนี้

  • ซีเมนต์ 101 — 111 ล้านตัน
  • กระเบื้องปูพื้นเซรามิค 400 — 428 ล้านตร.เมตร
  • เครื่องสุขภัณฑ์ 19 — 23 ล้านหน่วย
  • กระจกก่อสร้าง 196 — 202 ล้านตร.เมตร
  • อิฐและหินปูพื้น 41 — 43 พันล้านชิ้น
  • วัสดุหลังคา 220 — 228 ล้านตร.เมตร
  • หินก่อสร้าง 197 - 211 ล้านลูกบาศ์เมตร
  • ทรายก่อสร้าง 182 — 197 ล้านลูกบาศ์เมตร
แผนการส่งออก

เวียดนามตั้งเป้าการส่งออกกระจกก่อสร้างเป็น 3 ช่วง คือภายในปี 2553 ส่งออกได้ประมาณ 20% ปี 2554 — 2558 ส่งออกได้ 5% และภายในปี 2559 — 2563 ส่งออกได้ 30%

ส่วนการส่งออกกระเบื้องกรุผนัง ( facing tiles ) และผลิตภัณฑ์สุขภัณฑ์เซรามิคสามารถส่งออกได้ 20% ของผลผลิตทั้งหมดในปี 2553 และเพิ่มขึ้นเป็น 25% ภายในปี 2554 — 2558 และ 30% ในปี 2559 — 2563

แผนการพัฒนาอิฐก่อสร้าง

กระทรวงก่อสร้างเวียดนามคาดว่าการใช้อิฐจะเพิ่มขึ้นเป็น 32 พันล้านก้อนภายในปี 2558 และ 42 พันล้านก้อนภายใน 2563 ซึ่งต้องใช้ดินเหนียวจำนวน 60 — 64 ล้านลบ.เมตร ใช้พื้นที่การเกษตร 3,200 เฮคตาร์ และใช้ถ่านหินในการเผาอิฐมากกว่า 6 ล้านตัน ซึ่งจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา 23 — 24 ล้านตัน

เวียดนามจึงพยายามเพิ่มการใช้วัสดุก่อสร้างที่ไม่ต้องอบ ( non — baked) เป็น 23 — 25% ภายในปี 2558 และ 30- 40 % ภายในปี 2563 ทั้งนี้ เมื่อปี 2552 เวียดนามใช้วัสดุก่อสร้างประเภท non — baked เพียง 8 — 8.5 %

ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นไป งานก่อสร้างอาคารที่สูงกว่า 9 ชั้น ต้องใช้วัสดุก่อสร้างประเภท non — baked อย่างน้อย 30 % ของจำนวนวัสดุประเภทนี้ และจำนวนของวัสดุ non — baked ต้องต่ำกว่า 1,000 กก. / ลบ.เมตร เพื่อบรรลุตามเป้าหมาย รัฐบาลต้องกำหนดเงื่อนไขที่เอื้อต่อการลงทุน เช่น การลดภาษี เงินกู้พิเศษแก่นักลงทุนที่ใช้และผลิตวัสดุก่อสร้างประเภท non — baked

ขณะนี้ เวียดนามตื่นตัวต่อวัสดุก่อสร้างและการให้บริการเทคโนโลยีด้านการก่อสร้างที่ใหม่ ทันสมัยและได้มาตรฐานสิ่งแวดล้อม สมาคมก่อสร้างเวียดนาม ( Vietnam Construction Association )

ให้ข้อมูลว่าการซื้อขายอิฐก่อสร้างในเวียดนามปี 2552 เป็นประมาณ 24 พันล้านก้อน แม้จะไม่มีการขาดแคลนอิฐในเวียดนามแต่อิฐที่ผ่านการอบแล้วเป็นที่ต้องการมากกว่า ปัจจุบันเวียดนามผลิต baked — bricks ปีละมากกว่า 22 พันล้านก้อน แต่ในปี 2553 ผลผลิตดังกล่าวจะลดลงเมื่อคำสั่งรัฐบาลเกี่ยวกับการสั่งปิดโรงงานอิฐเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมเริ่มมีผลใช้

แต่สิ่งท้าทายคือ ประสิทธิภาพการผลิตของโรงงานผลิตวัสดุก่อสร้างของเวียดนามจะสามารถรองรับเป้าหมายดังกล่าวของรัฐบาลได้หรือไม่

สคร.นครโฮจิมินห์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ