การค้าข้าวของเวียดนามที่มีผลต่อข้าวไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 21, 2010 11:35 —กรมส่งเสริมการส่งออก

การผลิต

เวียดนามมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวลดลงจาก 4.47 ล้านเฮคตาร์เมื่อปี 2543 เป็น 4 ล้านเฮคตาร์ในปัจจุบัน เนื่องจากการขยายระบบเมืองและการเติบโตของเขตอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทเวียดนามคาดว่าภายในปี 2563 พื้นที่เพาะปลูกข้าวของเวียดนามจะลดลงเป็น 1.8 ล้านเฮคตาร์ โดยมีผลผลิตข้าวสูงสุดเป็น 21 ล้านตัน

การผลิตข้าวฤดูกาลต้นปี 2553 ของเวียดนามมีผลผลิตออกมาประมาณ 19.7 ล้านตัน ส่วนในฤดูกาลที่สองกำลังเก็บเกี่ยว พื้นที่ปลูกข้าวในเขตภาคกลางและภาคเหนือของเวียดนามกำลังประสบปัญหาภัยแล้งหนักคาดว่าจะเสียหายประมาณ 600,000 ไร่หากยังไม่มีฝนตกหรือจัดหาน้ำได้เพียงพอ ส่วนภาคใต้เนื่องจากต้นปีมานี้ฝนตกล่าช้าทำให้ฤดูกาลปลูกข้าวช้ากว่าปกติถึง 1 เดือนครึ่ง ทำให้พื้นที่ที่ทำการเพาะปลูก 3 ครั้งต่อปีอาจจะปลูกได้แค่ 2 ครั้งในปีนี้คือในเขตจังหวัด บัคเลียว กะเมา ซ๊อคจาง เบ็นแจ และเตี่ยนยางกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทเวียดนามตั้งเป้าว่าผลผลิตปี 2553 จะเป็น 39 ล้านตัน ใกล้เคียงกับปีที่แล้วและสามารถส่งออกข้าวได้ 5.5 ล้านตัน แต่สมาคมอาหารเวียดนามกลับคาดว่าในปี 2553 นี้ เวียดนามจะสามารถส่งออกข้าวได้ 6.4 ล้านตัน มูลค่ากว่า 2.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ

สถานการณ์การค้าข้าวในเดือนมิถุนายน 2553

เมื่อเดือนมิถุนายน 2553 นายกรัฐมนตรีเวียดนามได้ออกคำสั่งให้สมาคมอาหารเวียดนาม ( VFA ) และบริษัทส่งออกข้าวของเวียดนามซื้อข้าวเปลือกเก็บเข้าสต๊อกจำนวน 1 ล้านตันซึ่งเป็นผลผลิตช่วงฤดูร้อนถึงฤดูใบไม้ร่วงของปี 2553 โดยให้รับประกันว่าชาวนาต้องมีกำไร 30% เพื่อช่วยในการพยุงราคาข้าวในประเทศ จากคำสั่งดังกล่าวทำให้กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมจะร่วมกับกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทและVFA ทำการซื้อข้าวในช่วงระหว่างวันที่ 15 กรกฎาคม — 15 พฤศจิกายน 2553 ในราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 3,500 ด่ง หรือ 0.18 เหรียญสหรัฐ โดยบริษัทที่มีคุณสมบัติในการซื้อขายข้าวภายใต้คำสั่งนี้จะสามารถขอเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยเพื่อซื้อข้าวได้ทั้งนี้เป็นไปตามกลไกตลาด และธนาคารแห่งชาติเวียดนามจะเป็นผู้เลือกธนาคารพาณิชย์ที่จะทำการปล่อยเงินกู้

ในความเป็นจริงผู้ค้าและพ่อค้าคนกลางยังไม่รับซื้อเนื่องจากอ้างว่ามีข้าวค้างสต๊อกจำนวนมาก ไม่มีที่เก็บ เหตุผลที่สำคัญคือราคาส่งออกกำลังลดลง ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2553 ราคาเสนอซื้อที่เวียดนามได้รับสำหรับข้าว 5% ราคาตันละ 350 เหรียญสหรัฐ และข้าว 25 % ราคาตันละ 300 เหรียญสหรัฐ

ราคาข้าว

ช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2553 ราคาข้าวตกเขียวในเขตที่ราบลุ่มปากแม่น้ำโขงอยู่ที่กก.ละ 4,000 — 4,100 ด่ง ( ประมาณ 6.80 — 7.20 บาทต่อ กก. ) ข้าวเปลือกราคาตั้งแต่ 5,500 — 5,750 ด่ง ( ประมาณ 9.50 — 10.00 บาทต่อ กก. ) ข้าวสารราคา 5,510 — 6,600 ด่งต่อ กก. ( ประมาณ 9.25 — 11.50 บาท ต่อ กก. )

เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2553 ที่ผ่านมาราคาราคาข้าวสารวัตถุดิบเกรด 1 ราคา กก.ละ 5,000 ด่ง เกรด 2 ราคา กก.ละ 4,600 ด่ง และข้าว 5% ราคา กก.ละ 6,300 ด่งที่ท่าเรือนครโฮจิมินห์

ปัญหาจากผู้ส่งออก เนื่องจากปีนี้แห้งแล้งทำให้ผลผลิตข้าวคุณภาพไม่ดี ผู้ส่งออกต้องผสมข้าวที่รับซื้อมาในฤดูกาลนี้กับข้าวเก่าต้นปีทำให้ต้นทุนสูงเนื่องจากข้าวที่รับซื้อเก็บเข้าสต๊อกตอนต้นปีราคาสูงกว่ามาก ผู้ส่งออกบางรายแจ้งว่ายังมีข้าวที่รับซื้อเก็บอยู่ในสต๊อกจำนวนมากที่ยังไม่ได้ขายและราคาข้าวส่งออกต่ำลงทำให้มีโอกาสขาดทุนสูง

ราคาข้าวฤดูกาล Dong Xuan เมื่อต้นปีที่ผ่านมาราคารับซื้ออยู่ที่ประมาณ 4,000 ด่งต่อ กก

รัฐบาลสนับสนุนให้ผู้ส่งออกรับซื้อข้าวโดยขอให้ผู้ซื้อรับประกันให้เกษตรกรมีกำไร 30% ซึ่งราคาจะต้องอยู่ที่ประมาณ 4,000 ด่ง ต่อ กก. ซึ่งผู้ส่งออกไม่และพ่อค้าคนกลางไม่กล้ารับซื้อ

ราคาข้าวผลผลิตฤดูกาลปัจจุบันที่กำลังเก็บเกี่ยว (He Thu) เริ่มปลูกเมื่อปลายมีนาคม ราคาอยู่ที่เฉลี่ยประมาณ 2,800 ด่ง สำหรับข้าวเปียกและ 3,200 — 3,400 ด่งสำหรับข้าวตากแห้ง ซึ่งราคานี้เป็นราคาที่เกษตรกรขาดทุน

ราคาข้าวสารส่งออกของเวียดนามมีแนวโน้มลดลง ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2553 เช่นข้าว 5% จาก ตันละ 517 เหรียญสหรัฐเมื่อเดือนธันวาคม 2552 เหลือ 358 เหรียญสหรัฐ เมื่อเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมาข้าวสาร 25 % ลดลงจากตันละ 466 เหรียญสหรัฐ เหลือตันละ 335 เหรียญสหรัฐ

ราคาข้าวส่งออกเมื่อเดือนมิถุนายน 2553 สูงขึ้นเล็กน้อยเป็น 373 และ 340 เหรียญสหรัฐ สำหรับข้าว 5% และ 25% ตามลำดับ

การส่งออกข้าวของเวียดนามช่วง 6 เดือนแรกของปี 2553

สมาคมอาหารเวียดนาม ( Vietnam Food Association : VFA ) คาดว่าปี 2553 จะเป็นปีที่สดใสสำหรับตลาดข้าวส่งออกของเวียดนาม เพราะผลผลิตข้าวของประเทศผู้ผลิตสำคัญลดลงขณะที่ความต้องการในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ตั้งแต่ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2553 เวียดนามส่งออกข้าวได้ 3.3 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 1.48 พันล้านเหรียญสหรัฐ ปริมาณลดลง 8.76 % แต่มูลค่าลดลงเพียง 1.32 % ส่วนในไตรมาสที่ 3 ได้มีการ ลงนาในสัญญาแล้ว 1.6 ล้านตัน จะส่งมอบในเดือนกรกฎาคม สิงหาคม และกันยายนจำนวน 6 แสนตัน 5.5 แสนตัน และ 4.5 แสนตัน ตามลำดับ ทำให้การส่งออกข้าวทั้ง 3 ไตรมาสเป็น 4.9 ล้านตัน ซึ่งปริมาณส่งออกลดลง 9.08 % ( y-on-y) แต่มูลค่าส่งออกลดลงเพียง 0.8 % ( y-on-y)

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 ราคาส่งออกข้าวโดยเฉลี่ยเป็น 445.08 เหรียญสหรัฐ / ตัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก ช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 33.54 เหรียญสหรัฐ / ตัน

ในเดือนมิถุนายน 2553 ตลาดเอเชียและแอฟริกาเป็นตลาดนำเข้าข้าวหลักของเวียดนาม โดยมีสัดส่วนจำนวนการนำเข้า 56% และ 33.6% ตามลำดับ ฟิลิปปินส์เป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ที่สุดคิดเป็นกว่า 50 %

เวียดนามมีคู่แข่งมากขึ้นในตลาดเช่น พม่า กัมพูชา ปากีสถาน ซึ่งส่งออกข้าวคุณภาพต่ำเป็นตลาดเดียวกับเวียดนาม

VFA คาดว่าการบริโภคและการส่งออกข้าวในไตรมาส 3 ของปี 2553 จะเผชิญความลำบากมากกว่าช่วงต้นปี เมื่อราคาข้าวจะลดลง เพราะผลผลิตข้าวฤดูร้อน — ใบไม้ผลิ ซึ่งคาดว่ามีปริมาณผลิต 2 ล้านตัน ออกสู่ท้องตลาดแต่บริษัทค้าข้าวในท้องถิ่นได้สต๊อกข้าวไว้จำนวนมากแล้วประมาณ 1.35 ล้านตันและคาดว่าความต้องการข้าวในตลาดโลกจะยังคงลดลงในช่วงที่จะมาถึงเพราะประเทศผู้นำเข้าข้าวส่วนใหญ่ได้ซื้อข้าวพอเพียงสนองความต้องการบริโภคในประเทศแล้ว

UN Food Agriculture Organization ได้คาดการณ์ว่าผลผลิตข้าวทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นประมาณ 4% ในช่วงปี 2553 — 2554 ซึ่งจะสร้างแรงกดดันต่อราคาข้าวในช่วงเวลาอันใกล้นี้

ประเด็นที่น่ากังวลต่อข้าวไทย คือปี 2553 เวียดนามสามารถเจาะตลาดข้าวฮ่องกงได้เพิ่มมากขึ้นอย่างน่าสังเกตโดยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2553 เวียดนามสามารถส่งออกข้าวไปยังฮ่องกงและจีนแผ่นดินใหญ่ได้ 11 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเกือบเท่ามูลค่าส่งออกข้าวไปยังฮ่องกงทั้งปี 2552 ( มูลค่า 12 ล้านเหรียญสหรัฐ ) ทั้งนี้ กงสุลพาณิชย์ของเวียดนามประจำฮ่องกงและมาเก๊ากล่าวว่า ผู้นำเข้าข้าวของฮ่องกงมีแผนจะนำเข้าข้าวจากเวียดนามเพิ่มขึ้นจำนวนมหาศาลภายในเร็ว ๆ นี้ และจะมีผลให้การส่งออกข้าวของเวียดนามมายังฮ่องกงในครึ่งหลังของปี 2553 สูงขึ้น เพราะนักธุรกิจจีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกงกำลังแสวงหาบริษัทจัดหาข้าวขนาดใหญ่และมีชื่อเสียงเจ้าหน้าที่การค้าเวียดนามจะพยายามทำทุกอย่างเพื่อรักษาสัญญาข้าวตลาดนี้ไว้รวมทั้งเรียกร้องให้ผู้ส่งออกข้าวของเวียดนามให้ความสำคัญต่อคุณภาพสินค้า บรรจุภัณฑ์และการส่งมอบสินค้าตามเวลา

ทั้งนี้ ตลาดฮ่องกงเป็นตลาดข้าวคุณภาพดีและเป็นตลาดสำคัญตลาดหนึ่งของข้าวไทยด้วย

สคร.นครโฮจิมินห์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ