ตลาดข้าวในสหรัฐอเมริกา (ตอนที่ 1)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 21, 2010 14:06 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. ความนิยมบริโภคข้าวในสหรัฐอเมริกา

ผู้บริโภคสหรัฐฯ เพิ่มการบริโภคข้าวถึง 250 เปอร์เซนต์ ในช่วงเวลา 25 ปีที่ผ่านมาสหพันธ์ข้าวของสหรัฐฯ (US Rice Federation) รายงานว่า ปัจจุบัน ผู้บริโภคสหรัฐฯบริโภคข้าวคิดเป็นอัตราเฉลี่ย 26 ปอนด์ต่อคนในปี 2551 ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการ เพิ่มบริโภคข้าว คือ การเพิ่มจำนวนของกลุ่มผู้บริโภคย้ายถิ่นฐานมาอยู่ในสหรัฐฯ ได้แก่ ชาวเอเซีย กลุ่มเชื้อสายฮิสแปนิค และ กลุ่มแอฟริกันและ มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าที่ใช้ข้าวเป็นส่วนผสม เป็นอาหารสำเร็จรูป หรือ กึ่งสำเร็จรูปมากขึ้นเช่น อาหารเด็กอ่อน ขนมขบเคี้ยว อาหารเช้า Cereal การบริโภคข้าวของสหรัฐฯ แยกออกเป็น บริโภคในประเทศ ร้อยละ 48 ส่งออกไปต่างประเทศ ร้อยละ 40 และเก็บไว้เป็นสต๊อก ร้อยละ 12

2. แหล่งที่มาของข้าวในสหรัฐอเมริกา

1. การผลิตในประเทศ: สหรัฐฯเป็นผู้ผลิตข้าวรายสำคัญรายหนึ่งของโลก ในปี 2549 สหรัฐฯ มีพื้นเพาะปลูกข้าวประมาณ 2.75 ล้านเอเคอร์ (ประมาณ 6.87 ล้านไร่) มีแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญ 6 มลรัฐได้แก่ อาร์คันซอส์ หลุยส์เซียน่า แคลิฟอร์เนีย เท็กซัส มิสซิสซิปปี้ และ มิสซูรี่ ตามลำดับและเก็บเกี่ยวข้าวได้ปริมาณ 9.7 ล้านเมตริกตันในปี 2552

2. การนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ ในปี 2552 สหรัฐฯ นำเข้าข้าวจากต่างประเทศเป็นจำนวน 6.6 แสนเมตริกตัน ประเทศไทยเป็นแหล่งนำเข้าข้าวสำคัญที่สุดของสหรัฐฯ มีสัดส่วนตลาดร้อยละ 60 อินเดียเป็นอันดับที่สอง ร้อยละ 19

อนึ่ง ข้าวที่สหรัฐฯ นำเข้าส่วนใหญ่จะเป็นข้าวชนิดที่ไม่สามารถปลูกได้ในประเทศเช่นข้าวหอมมะลิ และ ข้าวเหนียว หรือเป็นข้าวที่ผลิตได้แต่มีปริมาณไม่เพียงพอต่อการบริโภค เช่น ข้าวบัสมาติ ข้าวซ้อมมือ ข้าวเมล็ดกลาง ข้าวเมล็ดสั้น ข้าวนึ่ง และ ข้าวหัก สหรัฐฯนำเข้าข้าวขาวเมล็ดยาวมีจำนวนน้อยมาก เนื่องจาก สหรัฐฯ สามารถปลูกข้าวได้ภายในประเทศและมีราคาถูกกว่าการนำเข้า

3. ตลาดข้าวไทยในสหรัฐฯ

ข้าวไทยครองตลาดข้าวนำเข้าในสหรัฐฯ ร้อยละ 70 หรือคิดเป็นปริมาณนำเข้าประมาณ 5 แสนตันต่อปี และมีสัดส่วนตลาดข้าวรวมในสหรัฐฯ ร้อยละ 5.5 ประเภทของข้าวไทยที่สหรัฐฯ นำเข้าจากไทยแยกออกเป็น ข้าวเมล็ดยาว ร้อยละ 72.0 ข้าวเมล็ดขนาดกลาง ร้อยละ 13.4 ข้าวหัก ร้อยละ 10.6 ข้าวเมล็ดสั้น ร้อยละ 2.40 ข้าวซ้อมมือ ร้อยละ 0.40 ข้าวนึ่ง ร้อยละ 0.20 และ ข้าวชนิดอื่นๆ ร้อยละ 1.0 สหรัฐฯ นำเข้าข้าวหอมมะลิไทยประมาณ 3.4 แสนตันต่อปี หรือ คิดเป็นประมาณร้อยละ 85 ของการนำเข้าข้าวเมล็ดยาวจากไทย และอีกร้อยละ 15 เป็น ข้าวเหนียว

4. ตลาดข้าวกลิ่นหอมในสหรัฐฯ

1. ประเภทข้าวกลิ่นหอมในสหรัฐฯ (Variety of Aromatic Rice): ข้าวกลิ่นหอมที่จำหน่ายในของสหรัฐฯ แยกเป็น 2 กลุ่ม คือ ข้าวกลิ่นหอมที่ปลูกในสหรัฐฯ ซึ่งคนทั่วไปจะเรียกกันว่า US Jasmine Rice หรือ American Jasmine ได้แก่ ข้าวกลิ่นหอมพันธุ์A101, A201, A301, Arborio, Black Japonica, Della, Dellrose, Delmont, Jastmine, Jasmine 85, Jasmati Texmati และ Jazzman ซึ่งมีผลผลิตประมาณ 2 แสนตันต่อปี และ ส่วนหนึ่งเป็นข้าวกลิ่นหอมนำเข้าจากต่างประเทศ คือ ข้าวหอมมะลิจากไทย และ ข้าวบัสมาติจากอินเดีย และ ปากีสถาน มีปริมาณนำเข้าประมาณ 3.7 แสนตันต่อปี

2. สถานการณ์การแข่งขัน (Competition) : ข้าวกลิ่นหอม (Aromatic Rice) ของสหรัฐฯ คือ คู่แข่ง ข้าวหอมมะลิไทย ซึ่งปัจจุบัน สหรัฐฯ สามารถคิดค้นพันธุ์ข้าวกลิ่นหอมขึ้นมาแข่งขันกับข้าวหอมมะลิของไทย ข้าวหอมของสหรัฐฯ มีหลายพันธุ์เช่น โดยเฉพาะ ข้าวพันธ์ Jasmine 85 ซึ่งกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ถือว่าเป็นพันธุ์ที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับข้าวหอมมะลิของไทย และพันธ์ Jazzmen เป็นข้าวกลิ่นหอมที่คิดค้นโดย Louisiana State University (LSU) และอ้างว่าเป็นข้าวกลิ่นหอมที่มีคุณสมบัติคล้ายคลึงกับข้าวหอมมะลิไทยมากที่สุด ข้าวกลิ่นหอมที่กล่าวมาแล้วเป็นคู่แข่งที่สำคัญของข้าวหอมมะลิของไทย ในขณะที่ข้าวบัสมาติจัดเป็นข้าวกลิ่นหอมที่บริโภคกันมากในกลุ่มชาวเอเชียใต้ (อินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ และ ศรีลังกา) ในสหรัฐฯ

3. ลักษณะการทำการตลาดข้าวหอมในสหรัฐฯ (Marketing & Branding):

3.1 อินเดีย: กระทรวงเกษตร ประเทศอินเดียจัดทำคูหาประชาสัมพันธ์เพื่อชูธงและขยายตลาดข้าวบัสมาติ อินเดียในสหรัฐฯ และนำผู้ส่งออกข้าวบัสมาติมาร่วมงานงานแสดงสินค้า International Fancy Food Show ที่นครนิวยอร์กเป็นประจำทุกปีจนถึงปัจจุบัน เป็นเวลากว่า 10 ปี

3.2 สหพันธ์ข้าวสหรัฐฯ (US Rice Federation): จัดกิจกรรม National Rice Month("NRM") เพื่อส่งเสริมการขายข้าวในตลาดค้าปลีก เป็นประจำในเดือนกันยายนของทุกปี โดยร้านค้าปลีก เช่น ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านชำ และ ร้านอาหาร สมัครเข้าร่วมกิจกรรม และ การดำเนินการในด้านการโฆษณาประชาสัมพันธ์ เพื่อรณรงค์เพิ่มการบริโภคข้าว

3.3 ผู้ประกอบการสหรัฐฯ: เน้นการใช้แบรนด์เพื่อผลักดันการขยายตลาด การให้บัตรสมนาคุณและคูปองส่วนลดแก่ผู้บริโภค และ การขายทาง On-line ผ่าน website ของบริษัท และผ่าน www.amazon.com

4. บรรจุภัณฑ์ข้าวสหรัฐฯ (Rice Packaging) ผู้ประกอบการค้าข้าวของสหรัฐฯ

4.1 เน้นการออกแบบลวดลายบนบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสมเข้ากับกลุ่มผู้บริโภค เพื่อเป็นการดึงดูการซื้อ เช่น ข้าวที่ขายให้แก่ผู้บริโภคชาวจีนในสหรัฐฯ จะมีลวยลายและภาพแบบจีน ซึ่งConcept นี้นำไปประยุกต์กับกลุ่มผู้บริโภคฮิสแปนิก หรือ ชาวญี่ปุ่น และ เอเซียใต้

4.2 การสร้างขนาดบรรจุภัณฑ์ที่แตกต่างกันสนองตลาด 2 ระดับ คือ บรรจุภันฑ์สำหรับตลาดค้าปลีก ซึ่งจะมีรูปแบบหลากหลาย มีปริมาตรบรรจุ ตั้งแต่ 1 ปอนด์ — 25 ปอนด์ และบรรจุภัณฑ์สำหรับตลาดธุรกิจบริการอาหาร (ร้านอาหาร) ซึ่งมีขนาดใหญ่ บรรจุตั้งแต่ 25 — 100 ปอนด์

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครชิคาโก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ