เปิดศักราชใหม่ผลไม้สดไทยในสหรัฐอเมริกา

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 21, 2010 14:23 —กรมส่งเสริมการส่งออก

การบริโภคผลไม้สดในสหรัฐฯ

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ รายงานในหนังสือ Fruit and Tree Nuts Outlook Yearbook เมื่อเดือนตุลาคม 2548 ว่า ปัจจุบันคนอเมริกันบริโภคผลไม้สดคิดเป็นประมาณ 102 ปอนด์ต่อคนในปี 2547 เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 1.0 ซึ่งคาดว่า อัตราการบริโภคต่อหัวจะเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ

กล้วย เป็นผลที่บริโภคมากที่สุดในสหรัฐฯ แอปเปิ้ล และ ส้ม ตามมาเป็นอันดับที่สองและสามตามลำดับ ผลไม้ที่ได้รับนิยมในการบริโภคและมีแนวโน้มขยายตัว ได้แก่ แอปเปิ้ล เกรพฟรุ้ต อวาคาโก เชอรี่ แครนเบอร์รี่ บลูเบอร์รี่ กีวี่ องุ่น มะละกอ และ สตอเบอร์รี่ นอกจากนั้นแล้ว ผลไม้เมืองร้อนในกลุ่ม Exotic Fruit เช่น เงาะลำไย ลิ้นจี่ มังคุด แพสชั่นฟรุต มะเฟือง แก้วมังกร และ ฝรั่ง เป็นต้นจะได้รับความนิยมบริโภคเพิ่มขึ้นด้วย

สถานการณ์ผลไม้คู่แข่งขันไทยในสหรัฐฯ

1. ผลไม้เมืองร้อนในสหรัฐฯ: ปัจจุบันสหรัฐฯมีผลไม้เมืองร้อนจำหน่ายหลากหลายซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามร้านชำหรือซุปเปอร์มาร์เก็ตในสหรัฐฯ และส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศได้แก่ เงาะ ลิ้นจี่ ลำไย มังคุด มะม่วง แก้วมังกร ทุเรียน สับปะรด มะพร้าวอ่อน ทับทิม ส้มโอ มะขามหวาน ทับทิม และ กล้วย เป็นต้น ซึ่งสหรัฐฯ ปลูกในประเทศ และ นำเข้าจากต่างประเทศ

แหล่งที่มาของผลไม้เมืองร้อนที่สำคัญในสหรัฐอเมริกา

ผลไม้      แหล่งนำเข้า           ผลิตในสหรัฐฯ    ผลไม้       แหล่งนำเข้า                   ผลิตในสหรัฐฯ
เงาะ       กัวเตมาลา               ไม่มี       ทุเรียน         ไทย                        ฮาวาย
ลำไย       ไทย                   ฟลอริด้า     สับปะรด     คอสตาริก้า เม็กซิโก เอควาดอร์      ฮาวาย
มะม่วง      เม็กซิโก ไฮติ กัวเตมาลา    ไม่มี       มะพร้าวอ่อน     ไทย เม็กซิโก                 ฟลอริด้า
กล้วย       กัวเตมาลา เอควาดดอร์     ไม่มี       มะขามหวาน     ไทย เม็กซิโก                 ไม่มี
แก้วมังกร    เวียดนาม เม็กซิโก         ไม่มี       ส้มโอ          จีน                         ฟลอริด้า
มังคุด       ไทย ฮอนดูรัส กัวเตมาลา    ฮาวาย     ทับทิม          ชิลี                          ไม่มี
2. สถานการณ์ผลไม้สดไทย ในสหรัฐฯ: ปัจจุบัน กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA)

อนุญาตให้นำเข้าผลไม้สดจากประเทศไทยจำนวน 9 ชนิด คือ (1) ทุเรียนสด (2) มะพร้าวอ่อน (3) มะขามหวาน (4) มะม่วง (5) ลำไย (6) ลิ้นจี่ (7) มังคุด (8) เงาะ และ (9) สับปะรด โดยผลไม้หมายเลข (4) — (9) ต้องผ่านวิธีฉายรังสี (Irradiation Treatment) ก่อนส่งออกจากประเทศไทย ผลไม้สดดังกล่าวของไทยต้องเผชิญการแข่งขันจากผลผลิตในสหรัฐฯ และคู่แข่งขันจากต่างประเทศ สรุปได้ ดังนี้

2.1 ทุเรียนสด: ปัจจุบัน เริ่มมีการปลูกทุเรียนในรัฐฮาวายและมีผลผลิตเพื่อการค้าสำหรับตลาดท้องถิ่นและส่งไปจำหน่ายในแผ่นดินใหญ่สหรัฐฯ ปัจจุบัน ประเทศไทยเป็นแหล่งนำเข้าทุเรียนสดเพียงแห่งเดียวของสหรัฐฯ มีมูลค่าประมาณ 2.02 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2552

2.2 มะพร้าวอ่อน: ประเทศไทยครองตลาดมะพร้าวอ่อนของสหรัฐฯ แต่มาในระยะ 2-3 ที่ผ่านมา มีการนำเข้ามะพร้าวอ่อนจาก เม็กซิโกมาจำหน่ายแข่งกับมะพร้าวอ่อนไทย ผู้บริโภคสหรัฐฯ นำเข้ามะพร้าวอ่อนจากไทยจำนวน 16.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2552

2.3 มะขามหวาน: ประเทศไทยครองตลาดมะขามหวานของสหรัฐฯ มาเป็นที่นิยมบริโภคในกลุ่มผู้บริโภคเอเซียในสหรัฐฯ สหรัฐฯ นำเข้ามาขามหวานจากไทยเป็นมูลค่าประมาณ 1.60 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2552

2.4 ลำไย: ลำไยสดของไทยต้องเผชิญการแข่งขันจากลำไยสหรัฐฯ ซึ่งปลูกในรัฐฟลอริด้าและฮาวาย ซึ่งมีรสชาติทัดเทียมลำไยของไทยมาก แต่ลำไยไทยสามารถแข่งขันในด้านราคากับลำไยสหรัฐฯ ได้ เช่น ราคาขายส่งลำไยไทยขนาดบรรจุ 8 ปอนด์ ราคาลังละ 35-40 เหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่ลำไยของรัฐฮาวายขนาดบรรจุเท่ากับของไทย ราคา 48 เหรียญสหรัฐฯ

2.5 เงาะ สหรัฐฯ ปลูกเงาะได้ในรัฐฟลอริด้า และ ฮาวาย มีผลผลิตรวมประมาณ 350,000 ปอนด์ รัฐฮาวายเป็นแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญ สหรัฐฯ นำเข้าเงาะจากกลุ่มประเทศอเมริกากลางเช่น กัวเตมาลา และ ฮอนดูรัส แม้ว่า แม้ว่า เงาะสดของไทยจะได้รับอนุญาตให้นำเข้ามาจำหน่ายในสหรัฐฯ แต่ปัจจุบัน แต่ไม่ปรากฎมูลค่านำเข้าจากไทย

2.6 ลิ้นจี่ : ปัจจุบัน ลิ้นจี่นำเข้าจากจีน และ ไต้หวัน เข้ามาแข่งขันกับลิ้นจี่ของสหรัฐฯ ซึ่งปลูกรัฐฟลอริด้าและในรัฐฮาวาย ถึงแม้ว่า ลิ้นจี่สดของไทยจะได้รับอนุญาตให้นำเข้ามา จำหน่ายในสหรัฐฯ แต่ปัจจุบัน ไม่ปรากฎมูลค่านำเข้าของสหรัฐฯ จากประเทศไทย

2.7 มังคุด ปัจจุบัน ประเทศไทยครองตลาดมังคุดในสหรัฐฯ คู่แข่งมังคุดของไทยคือมังคุดของรัฐฮาวาย มังคุดนำเข้าจากเม็กซิโกและ กัวเตมาลา สหรัฐฯ นำเข้ามังคุดจากไทยเป็นมูลค่า 1.05 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2552

2.8 มะม่วง เป็นผลไม้ที่รู้จักกันดี และนิยมบริโภคสูงในสหรัฐฯ ประเทศ เม็กซิโก เอควาดอร์ และ กัวเตมาลา เป็นแหล่งนำเข้าสำคัญของสหรัฐฯ ถึงแม้ว่า มะม่วงของไทยได้รับอนุญาตให้นำเข้ามาจำหน่ายในสหรัฐฯ แต่ปัจจุบัน ไม่ปรากฎมูลค่าการนำเข้าของสหรัฐฯ จากประเทศไทยเนื่องจากปัญหาด้านต้นทุนสินค้าสูง เป็นผลให้ราคาจำหน่ายสูง

2.9 สับปะรด: มะม่วงของไทยได้รับอนุญาตให้นำเข้ามาจำหน่ายในสหรัฐฯ แต่ไม่ปรากฎมูลค่าการนำเข้า จากประเทศไทย ปัจจุบัน บริษัท Del Monte และ บริษัท Dole ของสหรัฐฯ ได้พัฒนาพันธุ์สับปะรดให้มีรสชาติหวานได้ทัดเทียมกับสับปะรดของไทย ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “Golden Pineapple” แหล่งนำเข้าสับปะรดที่สำคัญ คือ คอสตาริก้า เม็กซิโก และ เอควาดอร์

ลักษณะการทำ Branding และ Packaging ของคู่แข่งที่สำคัญในตลาด

คู่แข่งสำคัญในตลาดสหรัฐฯ ได้แก่ Costa Rica ซึ่งเป็นผู้ส่งออก Tropical fresh fruit รายใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มประเทศแถบอเมริกาใต้หลายประเทศ อาทิ เอกวาดอร์กัวเตมาลา ชิลี และเม็กซิโก ที่มีข้อได้เปรียบด้านการขนส่ง เนื่องจากมีที่ตั้งใกล้กับตลาดส่งออกสำคัญอย่างสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มความต้องการบริโภคผลไม้สดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ประเทศชิลี Branding ผลไม้สดในสหรัฐฯ โดยการโฆษณาทางโทรทัศน์ เรียก TV Spot ว่า (1) “The Centuries” ซึ่งเน้น Inspire Chile Natural Beauty & Excellent Quality Fruit ในช่วงระหว่างปี 1998-2000 (2) Natural Wonders & Chilean Summer” ระหว่างปี 2001-2006 และ (3) “Cornucopia” ระหว่างปี 2007 — ปัจจุบัน ซึ่งเน้นด้านการส่งออกผลไม้ของชิลี Spot โฆษณาทั้ง 3 ชุดออกอากาศในสหรัฐฯ ตามเมืองที่มีประชากรหนาแน่น 39 เมืองในสหรัฐฯ

ประเทศเม็กซิโก ประเทศเอควาดอร์ และ ประเทศกัวเตมาลา เน้นการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าผักและผลไม้สดในสหรัฐฯ คือ United Produce Expo และ PMA Fresh Summit เพื่อการ Branding ผลไม้ของตนเองในสหรัฐฯ

การสร้างแบรนด์ให้สินค้าเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้สินค้าเป็นที่รู้จักและยอมรับในตลาดต่างประเทศ อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นการส่งออกได้อีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักทำได้หลายวิธี Chiquita หนึ่งในบริษัทนำเข้าผักและผลไม้รายใหญ่ของสหรัฐฯ ได้ทำการตลาดผ่านทางโฆษณาโทรทัศน์และสื่อสิ่งพิมพ์ ทำให้แบรนด์ Chiquita เป็นที่นิยมและรู้จักในวงกว้างและด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า เกษตรกรของจีนได้คิดค้นวิธีทำให้ตราสัญลักษณ์ (logo) ปรากฏอยู่บนผลไม้นับว่าเป็นการประชาสัมพันธ์สินค้าในรูปใหม่ที่เพิ่งนำมาใช้ในตลาดสหรัฐฯ ซึ่งอาจต้องจับตามองว่าการตลาดรูปแบบใหม่นี้ จะได้รับความนิยมจากผู้บริโภคสหรัฐฯ มากน้อยเพียงใด

นอกจากนี้ ยังมีวิธีการเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้า โดยได้วางจำหน่ายผลไม้สดพร้อมรับประทาน Dole บริษัทผู้ผลิตผลไม้สดรายใหญ่อีกรายหนึ่งที่มีพื้นที่เพาะปลูกถึง 23 ประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย และยังเป็นผู้ส่งออกผลไม้รายสำคัญของโลก และบริษัท Chiquita ผู้นำตลาดกล้วยของโลก เพิ่มมูลค่าเพิ่ม (Value Added) ให้กับผลไม้สด โดยการวางจำหน่ายผลไม้สดหั่นชิ้นพร้อม

รับประทาน (Fresh-Cut Fruits) บรรจุในภาชนะพลาสติก มีปริมาณเหมาะสมสำหรับการบริโภคเป็นรายบุคคล หรือความต้องการบริโภคจำนวนน้อย ซึ่งผู้บริโภคจะรับประทานเป็นของทานเล่น (Snack) ปัจจุบัน ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย

บริษัท Del Monte ผู้นำตลาดผักและผลไม้สดของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญของบริษัท Dole บุกตลาดผลไม้สดหั่นชิ้นพร้อมรับประทาน (Fresh Cut Fruit) โดยนำเสนอผลไม้หั่น/ตัดเป็นชิ้นเล็ก หรือ ผลเดียว และใส่บรรจุภัณฑ์ (กล่องพลาสติก ถ้วยพลาสติก หรือ ถุงพลาสติก) และจำหน่ายโดยการผ่านตู้หยอดเงิน (Vending Machine)

การบรรจุหีบห่อ (Packaging) ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยให้ผลไม้ส่งถึงผู้รับโดยมีความสดใหม่ Dole จึงให้ความสำคัญกับบรรจุภัณฑ์ที่ใช้บรรจุผลไม้ โดยได้มีโรงงานผลิตกล่องบรรจุภัณฑ์ตั้งอยู่ในเขตละตินอเมริกาและเอเชีย เพื่อให้ได้บรรจุภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานและมีความทนทาน ซึ่งนอกจากจะผลิตกล่องบรรจุภัณฑ์แล้ว โรงงานเหล่านี้ยังผลิตถุงพลาสติกเพื่อใช้บรรจุผลไม้สด โดยโรงงานจะตั้งอยู่ในประเทศเดียวกับพื้นที่เพาะปลูก เพื่อช่วยเก็บรักษาผลไม้ได้อย่างทันท่วงทีและประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง

ผู้ส่งออกมังคุดและเงาะของประเทศกัวเตมาลาจัดทำบรรจุภัณฑ์ใส่ผลไม้ เป็นกล่องพลาสติกออกคล้ายกล่องบรรจุไข่ (เป็นหลุม) และบรรจุผลไม้ได้ 6 ลูก ซึ่งมีความเหมาะสมกับตลาดค้าปลีกและผู้บริโภคอเมริกันหรือผู้บริโภคที่ต้องการบริโภคจำนวนไม่มาก

สรุปและข้อเสนอแนะ

1. กลยุทธ์ในการขยายตลาดผลไม้ไทยในสหรัฐฯ ที่ควรพิจารณาคือ การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพสูงไปลงทุนทำสวนผลไม้เมืองร้อนของไทยในสหรัฐฯ ในกลุ่มประเทศแคริบเบียน หรือ อเมริกากลาง และส่งผลผลิตเข้ามาจำหน่ายในสหรัฐฯ (ปัจจุบัน มีนักลงทุนจากไต้หวันและจีน มาลงทุนปลูกลิ้นลิ้นจี่ในรัฐฟลอริดา) ซึ่งจะมีต้นทุนที่ต่ำกว่า และเป็นการขยายตลาดในระยะยาวที่มั่นคง รวมไปถึง การแปรรูปผลไม้ไทย ในรูปแบบต่างๆ เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่า(Value Added) ให้สินค้า

2. การพัฒนาออกแบบบรรจุภัณฑ์การจัดทำบรรจุภัณฑ์ผลไม้ให้มีขนาดที่เหมาะสมและดึงดูดความสนใจ เช่น เงาะ ลำไย หรือ ลิ้นจี่ ควรจะมีบรรจุภัณฑ์หลายขนาด เช่น 8 ออนซ์ 12 ออนซ์ หรือ 16 ออนซ์ (1 ปอนด์) เป็นต้น ให้ผู้บริโภคได้เลือก นอกจากนั้นแล้ว บรรจุภัณฑ์ควรได้รับการออกแบบให้กระทัดรัด และให้เห็นผลไม้ และควรมีการศึกษาเรียนรู้จากประสบการณ์/รายงานการส่งผลไม้ไทยมายังสหรัฐฯ ซึ่งพบว่าบรรจุภัณฑ์ของไทยไม่เหมาะสม ไม่ทนทานเพียงพอต่อการขนส่งในระยะทางไกล

3. การปรับรูปแบบสินค้า โดยพิจารณาตลาดผลไม้สดหั่นชิ้นพร้อมรับประทาน(Fresh Cut Fruit) ซึ่งเป็นช่องทางใหม่ของผลไม้สดในสหรัฐฯ โดยใส่บรรจุภัณฑ์ขนาดเล็ก เหมาะสมสำหรับผู้บริโภครายบุคคล หรือผู้ที่ไม่ต้องการบริโภคจำจำนวนมาก วิธีการนี้จะช่วยในการลดต้นทุนการขนส่ง เนื่องจากผลไม้ไม่มีเมล็ด หรือ เปลือก ซึ่งทำให้น้ำหลักลดลง ปริมาณขนส่งมีมากขึ้น ซึ่งผลไม้ของไทยหลายชนิดที่สามารถเข้าตลาดผลไม้สดหั่นชิ้นพร้อมรับประทานได้ เช่น สับปะรด มะม่วง ลิ้นจี่ และ เงาะ เป็นต้น ตลาด Fresh Cut Fruit นี้อาจจะเป็นช่องทางที่เหมาะสมสำหรับผลไม้สดของไทยในตลาดสหรัฐฯ

4. การขยายตลาดผลไม้สดไทยในสหรัฐฯ ควรพิจารณาการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าผักผลไม้สดที่สำคัญในสหรัฐฯ 2 งานที่สำคัญ คือ United Produce Expo (www.unitedfresh.org) และ PMA Fresh Summit (www.pma.com)

5. การให้การความรู้ผู้บริโภคสหรัฐฯ เกี่ยวกับผลไม้ไทย รวมไปถึงวิธีการบริโภคคุณประโยชน์ทางโภชนาการที่จะได้รับ การสร้างเรื่องราว (Story) ที่น่าประทับใจ

6. ปัจจุบันนี้ การบรรจุหีบห่อจะเน้นบรรจุภัณฑ์ Sustainable (“Green”) Packaging เพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อน ผู้ส่งออกบางรายนิยมใช้พลาสติกหรือแผ่นฟิล์มขึ้นรูป (Closed Circuit Thermoforming & Extrusion) ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในการบรรจุผลไม้สด โดยบรรจุภัณฑ์เหล่านี้สามารถนำกลับมาใช้ (Recycle) ได้ นอกจากนี้ยังนิยมใช้บรรจุภัณฑ์ที่ช่วยถนอมรักษาผลไม้ระหว่างการขนส่งและเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่ง โดยออกแบบให้มีขนาดพอเหมาะกับแท่นวางสินค้า(Pallet) และรถที่ใช้ในการขนส่ง ซึ่งจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง รวมถึงพัฒนาศักยภาพของระบบ Supply Chain เพื่อให้การขนส่งเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

7. จากการศึกษาของ The University of Florida ในเรื่อง “Importation of Tropical Fruits from Thailand” ในด้านการสถานการณ์การแข่งขันเปรียบเทียบระหว่างลำไยและลิ้นจี่ของไทยและลำไยและลิ้นจี่ของรัฐฟลอริด้า มีข้อสรุปว่า ลำไยและลิ้นจี่ของไทยสามารถแข่งขันกับลำไยสหรัฐฯ ได้ แต่ผลไม้ของรัฐฟลอริด้าจะได้เปรียบในกรณีที่ไม่ต้องฉายรังสี ในขณะที่ผลไม้ไทยต้องได้รับการฉายรังสี ซึ่งส่งผลต่อความรู้สึกของผู้บริโภคอเมริกันที่ไม่ต้องการซื้อสินค้าที่ผ่านการฉายรังสี หรือปรุงแต่ง ไม่ได้มาจากธรรมชาติแท้ๆ

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครชิคาโก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ