ในแต่ละปีซาอุดีอาระเบียนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศเป็นจำนวนมากโดย จากสถิติการนำเข้าอย่างเป็นทางการล่าสุดของซาอุฯ ในปี 2551 ซาอุฯ นำเข้าสินค้ากลุ่มผลไม้และถั่ว ทั้งสิ้น 1.12 ล้านตัน มูลค่า 737 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปี 2550 นำเข้า 1.05 ล้านตัน มูลค่า 571 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ในปี 2551 ผลไม้ที่ซาอุดิอาระเบียนำเข้าได้แก่ กล้วยหอม นำเข้าจากเยเมน อินเดีย ฟิลิปินส์ อีคัวดอร์ และฯลฯ มีมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด 135.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ฝรั่ง นำเข้าจากอียิปต์และฯลฯ มีมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด 6.08 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มะม่วง นำเข้าจาก เยเมน ปากีสถาน อินเดีย อินโดนีเซีย ซูดาน เคนย่า อาฟริกาใต้ และฯลฯ มีมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด 30.27 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส้ม นำเข้าจาก ซีเรีย เลบานอน อียิปต์ ซิมบาบเว อาฟริกาใต้ ออสเตรเลีย บราซิล และ ฯลฯ มีมูลค่าการนำเข้า 168.07 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส้มแมนดาริน นำเข้าจากซีเรีย เลบานอน อียิปต์ จอร์แดน ปากีสถาน โมรอกโค อาฟริกาใต้ ตุรกี อารเยนติน่า และฯลฯ มีมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด 21.56 ล้านเหรียญสหรัฐฯ องุ่นสด นำเข้าจาก ซีเรีย เลบานอน อียิปต์ อาฟริกาใต้ อินเดีย ชิลี อิตาลี กรีก ตุรกี และฯลฯ มีมูลค่านำเข้าทั้งหมด 26.20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แอปเปิลสด นำเข้าจาก ซีเรีย เลบานอน อีหร่าน จีน อาฟริกาใต้ ชิลี อิตาลี กรีก ตุรกี และฯลฯ มีมูลค่านำเข้าทั้งหมด 142.80 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และสตอรเบอรี่ นำเข้าจากอียิปต์ อเมริกาและฯลฯ มีมูลค่านำเข้าทั้งหมด 7.01 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ที่มา Central Department of Statistic & Information, Foreign Trade Statistics) นอกจากนี้ซาอุดีฯ ยังสามารถผลิตผลไม้บางชนิดเองได้ เช่น อินทผลัม องุ่น แตงโม ฯลฯ แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการภายในประเทศ
ประเทศไทยได้ส่งออกผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง และแห้งไปซาอุดีอาระเบีย ปี 2553 (มค.-พค.) มูลค่า 1.34 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปี 2552 มูลค่า 2.49 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าที่ส่งไปมากที่สุด ได้แก่ หมากแห้ง มะขามแห้ง มะนาวสด/แห้ง และส้มโอ
เศรษฐกิจซาอุดีอาระเบียยังมีแนวโน้มที่ดี จากปัจจัยราคาน้ำมันที่ระดับบาร์เรลละ 70-80 เหรียญสหรัฐฯ คาดว่าซาอุดีอาระเบียจะนำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้ารถยนต์ส่วนประกอบรถยนต์ และเครื่องประดับรถยนต์ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า ตู้เย็น/ตู้แช่และส่วนประกอบ อาหาร ผลไม้สด ผลไม้กระป๋อง เสื้อผ้า ของประดับ และของใช้ต่างๆ เพื่อรองรับความต้องการของตลาด
ซาอุดีอาระเบีย จะมีช่วงเทศกาลสำคัญ 2 เทศกาล คือ 1) เทศกาลเดือนรอมฎอนหรือเดือนถือศีลอด ซึ่งจะมีการจ่ายเงินรางวัลหรือโบนัสประจำปีให้แก่พนักงาน และมีการให้รางวัล ของขวัญ และทำบุญ (ซากาต) หลังจากเสร็จสิ้นเทศกาลถือศีลอด จะทำให้มีเงินสะพัดเป็นจำนวนมาก และ 2) เทศกาลฮัจย์ จะเป็นช่วงที่คนมุสลิมทั่วโลกกว่า 3 ล้านคน เดินทางไปซาอุดีอาระเบียเพื่อประกอบพิธีฮัจย์ นอกจากนี้แล้วยังมีผู้มาปฏิบัติธรรม (อุมเราะห์) ตลอดทั้งปีกว่า 4 ล้านคน ตลาดจะมีความต้องการสินค้าอาหารและเครื่องใช้สอยประจำวันเป็นจำนวนมาก ช่วงสองเทศกาลสำคัญดังกล่าว จะมีมูลค่าการค้าสินค้าอุปโภคบริโภคคิดเป็นร้อยละ 60-70 ของมูลค่าการค้าตลอดปี
อัตราภาษีนำเข้าผลไม้สด เช่น กล้วย สัปปะรด ฝรั่ง มะม่วง มังคุด ส้ม ส้มแมนดาริน แอปเปิล ลูกเพียร์ ลูกพลัม องุ่นสดและแห้ง และสตอร์เบอรี่ ภาษีร้อยละ 0 สำหรับผลไม้แห้ง เช่น มะขาม แอปเปิล ลูกเพียร์ ลูกพลัม ภาษีร้อยละ 5 ส่วนอินทผลัมจัดเก็บในอัตราร้อยละ 40 (ข้อมูลล่าสุดดูได้จาก www.customs.gov.sa)
สินค้านำเข้าในราชอาณาจักรเพื่อทางการค้าทุกประเภท ไม่ว่าจะมีมูลค่าเท่าใดหรือขนส่ง ทางใดก็ตาม จะต้องมีเอกสารประกอบการนำเข้าได้แก่
1. ใบกำกับสินค้า (Commercial Invoice)
2. หนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin)
3. ใบขนสินค้า (Bill of Lading or an Airway Bill)
4. หนังสือรับรองจากบริษัทเดินเรือหรือสายการบิน
5. กรมธรรม์ประกันภัย (Insurance Certificate)
6. บัญชีหีบห่อสินค้า (Packing List)
7. หนังสือรับรองทางด้านสุขอนามัยและมีหนังสือรับรองว่าปลอดจากโรคพืชและแมลง (Phytosanitary Certificate) ซึ่งออกโดยหน่วยงานจากกระทรวงเกษตร ประกอบการส่งออกทุกครั้ง
จากการสำรวจตลาด ราคาผลไม้จากประเทศไทย ที่ขายอยู่ใน Supermarket/Hypermarket มีราคาดังนี้ มังคุด กก. ละ 30-36 รียัล เงาะ กก. ละ 29-33 รียัล ทุเรียน กก. ละ 28-30 รียัล และมะขาม กก. ละ 24-26 รียัล ($US 1= 3.74 รียัล)
1. ทางการซาอุฯ ไม่อนุญาตให้นักธุรกิจซาอุฯ เดินทางไปประเทศไทย ซึ่งเป็นผลจากปัญหาความสัมพันธ์ที่ไม่ปกติระหว่างสองประเทศ ส่งผลให้การติดต่อระหว่างกันมีอุปสรรคเพิ่มขึ้น
2. นักธุรกิจไทยที่จะมายังซาอุฯ ต้องได้รับหนังสือเชิญจากผู้นำเข้าซาอุฯ ประกอบการขอวีซ่าเดินทาง
3. ปัญหาด้าน Logistics การขนส่งผลไม้สดจากไทยมาซาอุฯ ไม่สะดวก เนื่องจากไม่มีการบินตรงระหว่างสองประเทศ ส่งผลให้ราคาผลไม้ไทยในซาอุฯ ราคาสูงกว่าสินค้าคู่แข่ง ทั้งยังส่งผลต่อคุณภาพ และความสดใหม่ ของสินค้าด้วย
4. ผลไม้สดของไทยบางส่วนที่ส่งมายังซาอุฯ มีปํญหาด้านคุณภาพ เช่น สำนักงานฯ เคยพบกับปัญหาทุเรียนอ่อน
ผู้ประกอบการไทยสามารถนำผลไม้สู่ตลาดซาอุดีอาระเบียได้หลายวิธี ดังนี้
1. ติดต่อผ่านบริษัทนำเข้าสินค้าอาหาร ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ที่มีระบบกระจายสินค้าสู่ระบบค้าปลีก
2. ผ่านกิจการค้าปลีกที่มีระบบกระจายสินค้าเป็นของตนเอง เช่น Supermarket
3. ศูนย์กระจายสินค้าเอกชน ที่มีเครือข่ายกระจายสินค้าเป็นของตนเอง ซึ่งจะกระจายสินค้าให้กับร้านค้าปลีกในเครือ
4. การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าที่จัดในประเทศไทย โดยกรมส่งเสริมการส่งออก ทั้งนี้สำนักงานฯ จะจัดคณะผู้แทนการค้าจากซาอุดีอาระเบีย เยือนงานเป็นประจำ
5. การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าที่จัดขึ้นในซาอุดีฯ เนื่องจากมีโอกาสที่จะได้รับวีซ่าเดินทางค่อนข้างสะดวก
6. เข้าร่วมงานแสดงสินค้าในตะวันออกกลาง ประเทศที่ใกล้กับซาอุดีอาระเบีย เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และบาห์เรน เป็นต้น
1. ตลาดซาอุดีฯ เป็นตลาดใหญ่และมีศักยภาพในการนำเข้าสินค้าต่างๆ ประเทศไทยควรรีบดำเนินการแก้ปัญหาด้านความสัมพันธ์ให้กลับคืนสู่ปกติเพื่อให้ผู้นำเข้าซาอุดีฯ และผู้ส่งออกไทยได้มีโอกาสพบปะกันสะดวกขึ้น
2. ผู้ส่งออกไทยควรเน้นการสร้างสัมพันธ์กับกับนักธุรกิจซาอุดีฯ เป็นลำดับแรกก่อนที่จะเน้นด้านการค้า เพราะการทำธุรกิจกับซาอุดีฯ ความซื่อสัตย์และคุณธรรมมีความสำคัญมาก
3. ผู้ส่งออกไทยต้องมีความอดทนในการติดต่อประสานงานกับนักธุรกิจชาวซาอุดีฯ เช่น การต่อรองราคา การติดต่อถ้าไม่มีการติดต่อกลับหรือตอบกลับล่าช้า ข้อจำกัดในช่วงเวลาการติดต่อคือช่วงปฏิบัติศาสนกิจประจำวัน ฯลฯ
4. เน้นเรื่องมาตรฐานสินค้าควรให้ได้ตามมาตรฐานสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าประเภทอาหาร มีการกวดขันกับการนำเข้ามาก
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองเจดดาห์
ที่มา: http://www.depthai.go.th