ตลาดข้าวในซาอุดิอาระเบีย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 21, 2010 14:46 —กรมส่งเสริมการส่งออก

สถิติปี 2551 (2008) (ข้อมูลล่าสุดจาก Central Department of Statistic & Information, Foreign Trade Statistics)ซาอุดิอาระเบียนำเข้าข้าวทั้งหมด 1.30 ล้านตัน มูลค่า 1,539 ล้านเหรียญสหรัฐ แหล่งนำเข้าสำคัญ 5 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย 8.63 แสนตัน สหรัฐอเมริกา 1.36 แสนตัน ไทย1.32 แสนตัน ปากีสถาน 1.44 แสนตัน อียิปต์ 0.16 แสนตัน ปี 2007 ซาอุดิอาระเบียนำเข้าข้าวทั้งหมด 9.84 แสนตัน มูลค่า 624.65 ล้านเหรียญสหรัฐ แหล่งนำเข้าสำคัญ 5 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย 6.64 แสนตัน สหรัฐอเมริกา 1.05 แสนตัน ไทย 0.82 แสนตัน ปากีสถาน 0.77 แสนตัน ออสเตรเลีย 0.20 แสนตัน

ข้าวสารที่นำเข้าประกอบด้วยข้าวเมล็ดยาว เมล็ดสั้น ข้าวนึ่ง และข้าวเหนียว ข้าวเมล็ดยาวส่วนใหญ่เป็นข้าวบาสมาติ ซึ่งนำเข้าจากอินเดียและปากีสถาน ข้าวเมล็ดสั้นนำเข้าจากออสเตรเลียและอียิปต์ ข้าวนึ่งเมล็ดยาวนำเข้าจากสหรัฐอเมริกา สำหรับข้าวที่นำเข้าจากไทยส่วนใหญ่เป็นข้าวเมล็ดยาว

กลุ่มผู้บริโภคข้าวชนิดต่างๆ แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ

1. กลุ่มชาติอาเซียน ได้แก่ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ไทย และคนเอเชียตะวันออกไกลชาติอื่นๆ กลุ่มนี้จะบริโภคข้าวเมล็ดยาว ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นข้าวสหรัฐอเมริกา และข้าวหอมมะลิของไทย ประชากรกลุ่มนี้มีประมาณ 1.4 ล้านคน

2. กลุ่มเอเชียใต้ ได้แก่ อินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ ศรีลังกา บริโภคข้าวบาสมาติเป็นหลัก และข้าวเมล็ดสั้น ซึ่งข้าวชนิดนี้เมื่อหุงแล้วจะมีลักษณะร่วน ไม่เกาะตัวเช่นข้าวหอมมะลิของไทย เหมาะในการทำข้าวหมกชนิดต่างๆ ประชากรในกลุ่มนี้มีประมาณ 3.2 ล้านคน

3. กลุ่มคนซาอุดิอาระเบียและอาหรับชาติอื่นๆ บริโภคข้าวร่วมกับขนมปังและถั่วชนิดต่างๆ ส่วนใหญ่จะบริโภคข้าวในมื้อค่ำ ข้าวที่ใช้บริโภคจะเป็นข้าวบาสมาติและข้าวเมล็ดสั้น โดยมีรสนิยมการบริโภคข้าวคล้ายกับคนเอเชียใต้ โดยนำมาปรุงเป็นข้าวหมกไก่ แพะ และแกะ ประชากรในกลุ่มนี้มีประมาณ 19.4 ล้านคน

พฤติกรรมการบริโภคข้าว

ในประเทศซาอุดิอาระเบียทั่วไป ประชาชนจะบริโภคอาหารมื้อแรกหลังสวดมนต์ตอนเช้า โดยอาหารเช้าจะทานในช่วงเวลาประมาณ 6.00-12.00 น. อาหารกลางวัน ในช่วงเวลาประมาณ 13.00-18.00 น. อาหารค่ำเริ่มทานช่วงเวลาประมาณ 19.00-24.00 น. โดยอาหารมื้อค่ำเป็นมื้อสำคัญ มีข้าวเป็นส่วนประกอบในมื้ออาหาร

การหุงข้าว แม้ว่าจะมีหม้อหุงข้าวไฟฟ้าจำหน่ายในร้านค้า แต่คนซาอุฯ ยังคงนิยมใช้วิธีหุงข้าวแบบดั้งเดิม คือ ต้มน้ำ ใส่ข้าวสารลงไปต้มให้เดือด จนกว่าน้ำจะแห้ง ระหว่างนี้จะใส่เกลือ น้ำมัน รวมทั้งเครื่องเทศต่างๆ ลงไป (เช่น พริกไทยดำ ขิง)

ระบบเครือข่ายกระจายสินค้าข้าว

บริษัทการค้า (Trading Firms) มีบทบาทสำคัญในการนำเข้าและกระจายสินค้าอาหารรวมทั้งข้าวสาร คาดว่ามีผู้นำเข้าข้าวกว่า 50 ราย ในตลาดซาอุดิอาระเบีย ตลาดจึงมีการแข่งขันค่อนข้างสูง ช่องทางการกระจายสินค้าที่สำคัญคือซุปเปอร์สโตร์ชั้นนำกว่า 10 ราย ซึ่งมีสาขากระจายอยู่ในเมืองต่างๆ และมีสัดส่วนในการขายปลีกสินค้าบริโภคกว่าร้อยละ 70 ช่องทางการกระจายสินค้าที่สำคัญอีกช่องทางหนึ่ง คือหน่วยงานต่างๆ ภาคเอกชนและรัฐบาลที่มีสวัสดิการเลี้ยงอาหารแก่เจ้าหน้าที่และพนักงาน บริษัทการค้ามีการให้สินเชื่อ 30-60 วัน บางบริษัทให้ถึง 90 วัน ผู้บริโภคนิยมที่จะซื้อสินค้าบริโภคจากซุปเปอร์สโตร์ เนื่องจากราคาจำหน่ายปลีกโดยเฉลี่ยจะถูกกว่าซุปเปอร์มาร์เกตและร้านค้าปลีกทั่วไปเล็กน้อย นอกจากนี้ยังมีสินค้าให้เลือกซื้อได้หลายชนิดรวมทั้งของใช้ประจำวัน อนึ่ง ซุปเปอร์สโตร์ชั้นนำจะเก็บค่าธรรมเนียมการนำสินค้าเข้าวางจำหน่ายครั้งแรก 4,000-6,000 ริยัล หากสินค้าไม่สามารถจำหน่ายได้ตามเป้าหมายที่กำหนด จะไม่มีการสั่งซื้อต่อไป ($US 1 = 3.74 ริยัล)

การบรรจุหีบห่อ

ข้าวสารบรรจุถุง 1-2 กก. มีค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่จะบรรจุถุงพลาสติกขนาด 5 และ 10 กก. ข้าวบาสมาติขนาด 5 และ 10 กก. นิยมบรรจุกระสอบป่านและถุงผ้า ข้าวสารขนาดบรรจุเกินกว่า 10 กก. มีน้อยมากและมีจำหน่ายเป็นบางแห่ง ตราที่ใช้มีแตกต่างกันหลากหลายมาก ผู้นำเข้านิยมใช้ตราของตนเอง บางส่วนใช้ตราของผู้ส่งออก

ราคาจำหน่ายปลีก

สคร. ได้สำรวจราคาจำหน่ายปลีกใน Superstore ของเมืองเจดดาห์ พบว่าราคาข้าวบรรจุถุงขนาด 5 กก. มีราคาแตกต่างกัน (โดยเฉลี่ย) ดังนี้ ข้าวบาสมาติ 46 ริยัล/ถุง ข้าวเมล็ดยาวสหรัฐฯ 38 ริยัล/ถุง ข้าวเมล็ดสั้นจากอียิปต์และออสเตรเลีย 29 ริยัล/ถุง ข้าวหอมมะลิไทย 24 ริยัล/ถุง ข้าวนึ่งสหรัฐ 21 ริยัล/ถุง (อนึ่ง Supermarket จะตั้งราคาขายปลีกสูงกว่าราคาใน Superstore ประมาณร้อยละ 10-15)

กฎระเบียบการนำเข้าที่สำคัญ

การนำเข้าต้องเป็นไปตามมาตรฐานของ Saudi Standard No. 431/1998 หรือ Gulf Standard No. 1003/1998 ว่าด้วย "Milled Rice" ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

1. มีขนาดตามมาตรฐานที่กำหนด เช่น ข้าวสารไทยเมล็ดยาว จะต้องมีความยาวมากกว่า 6.6 มม. เมล็ดปานกลาง 6.2-6.6 มม. และเมล็ดสั้นน้อยกว่า 6.2 มม. เป็นต้น

2. ไม่มีกลิ่นอื่นเจือปน มีสีตามธรรมชาติ ปราศจากแมลง เชื้อรา เศษโลหะ สารตกค้างต่างๆ รวมทั้งรังสีไม่เกินมาตรฐานที่กำหนด

3. การจัดทำฉลากสินค้าบนหีบห่อให้เป็นไปตาม Saudi Standard No. 1/1995 ว่าด้วย "Labeling of Prepackaged Food Stuff" และจะต้องมีข้อความต่อไปนี้รวมอยู่ด้วย

  • ชนิดข้าว เช่น Basmati หรือ Jasmine
  • ขนาดของข้าว เช่น เมล็ดยาว หรือเมล็ดสั้น
  • คุณสมบัติทางโภชนาการ (หากมี)
  • ปีที่ผลิต (crop year)
  • ตราสินค้า (หากมี)
  • คุณสมบัติชั้นของข้าว (quality grade)
  • สารปรุงแต่งหรือผสม (หากมี)

4. ควรจะระบุว่าสินค้า GMOs Product หรือ Non GMOs Product ลงบนฉลากด้วย เพื่อเป็นข้อมูลให้แก่ผู้บริโภค (หน่วยงานของซาอุฯ ให้ความสำคัญในส่วนนี้เพิ่มมากขึ้น)

5. ไม่มีการจัดเก็บภาษีนำเข้า และไม่มีภาษีการค้า (VAT) ในซาอุดิอาระเบีย

แนวโน้มการบริโภค

1. ตลาดซาอุดิอาระเบียมีขนาดใหญ่ ซึ่งข้าวเป็นอาหารสำคัญของชาวซาอุฯ เมื่อพิจารณาจากอัตราการขยายตัวของประชากร เศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แนวโน้มในอนาคตซาอุฯ น่าจะนำเข้าข้าวจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น

2. ซาอุดิอาระเบียมีการนำเข้าข้าวอย่างต่อเนื่อง ในอดีตข้าวไทยเคยครองอันดับหนึ่งของตลาดซาอุฯ ต่อมาข้าวสหรัฐฯ ชนิดเม็ดยาว (long grain) เป็นที่นิยม ข้าวสหรัฐฯ จึงเข้ามาเป็นส่วนแบ่งตลาดส่วนใหญ่ และในปัจจุบันข้าว Basmati จากอินเดียซึ่งมีลักษณะ long grain เช่นเดียวกับข้าวสหรัฐฯ ได้เข้ามาในตลาดซาอุฯ เป็นอันดับหนึ่ง ปัจจุบันข้าวสหรัฐฯจะมีส่วนแบ่งตลาดประมาณร้อยละ 9 ส่วนข้าวอินเดียประมาณร้อยละ 70 ข้าวไทยประมาณร้อยละ 6-7 ลูกค้ารายเก่ายังคงนำเข้าจากไทยอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มจะนำเข้าเพิ่มขึ้น โดย สคร. ได้ไปพบกับผู้นำเข้าข้าวจากไทยได้ทราบว่าข้าวหอมมะลิของไทยเริ่มมีแนวโน้มที่ดี และเป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยแนวโน้มคาดว่าจะนำมาทดแทนข้าว Basmati ได้ ในระดับหนึ่ง

3. ซาอุดิอาระเบียใช้นโยบาย Food Safety เนื่องจากประชากรต้องรับประทานข้าวเป็นหลักจึงมีการสำรองข้าวไว้ในแต่ละปีเพียงพอสำหรับบริโภคของประชากร แนวโน้มการบริโภคของปีต่อไป ซาอุฯจะหาแหล่งนำเข้าไว้สำรองมากขึ้นกว่าปีก่อน ทั้งนี้จากสาเหตุความผันแปรของราคาและการส่งออกของประเทศผู้ผลิต

ความคิดเห็น/ข้อมูลเพิ่มเติม

1. ตลาดข้าวในซาอุดิอาระเบีย อาจแยกได้เป็น 2 ตลาด ได้แต่ ตลาดผู้บริโภคทั่วไป ซึ่งต้องการข้าวคุณภาพดี และตลาดสำหรับผู้ให้บริการ Catering กล่าวคือ ให้บริการด้านอาหารแก่คนงานที่ทำงานให้แก่บริษัทต่างๆ ซึ่งคนงานส่วนใหญ่จะเป็นชาวต่างชาติ เช่น อินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ อียิปต์ เป็นต้น C:\Documents and Settings\admin\Desktop\RiceReportFull july 14.doc สคร. มีโอกาสพบปะกับผู้ประกอบการ Catering รายสำคัญ พบว่าบริษัทเหล่านี้ต้องการข้าวในปริมาณที่สูง มิได้คำนึงถึงประเภท และคุณภาพของข้าวมากนัก มีความสนใจที่จะนำเข้าข้าวราคาต่ำจากต่างประเทศ ตลาด Catering อาจเป็นอีกตลาดหนึ่งในการระบายข้าวคุณภาพต่ำ (ข้าว 25%)

2. ตามหลักศาสนาอิสลาม ในแต่ละปีต้องทำการบริจาคทาน (ซาก๊าต) ให้แก่ผู้ยากไร้ ซึ่งส่วนใหญ่นิยมที่จะบริจาคทานในลักษณะของข้าวถุง ขนาดความจุถุงละ 3 กก. ในช่วงหลังเดือนรอมฎอน (ปี 2010 ประมาณเดือนสิงหาคม) ดังนั้นในช่วง 2-3 เดือนก่อนช่วงรอมฎอน จะมีผู้ต้องการนำเข้าข้าวเพื่อบริจาคในปริมาณที่สูง ข้าวที่บริจาคเป็นข้าวคุณภาพปานกลางถึงต่ำ (ข้าวขาว 10% ลงไป)

3. ผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ของซาอุฯ เปิดเผยระหว่างการพบปะกับ สคร. ว่า ให้ความสำคัญกับการตรวจสอบคุณภาพข้าวก่อนการนำเข้ามาก บริษัทตรวจสอบ (Surveyor) ในประเทศไทย ที่ผู้นำเข้าเห็นว่าน่าเชื่อถือ และใช้บริการเป็นเวลายาวนานติดต่อกัน คือ บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์เวลแลนซ์ แอนด์ คอนซัลแตนซี (ISC) (โทร 02 681 7063-7) ซึ่งข้อมูลดังกล่าวน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ส่งออกข้าวไทยรายใหม่ ที่สนใจจะเปิดตลาดในซาอุดิอาระเบีย

3. ข้าวหอมมะลิไทยมีคุณสมบัติแตกต่างจากข้าวชนิดอื่น ผู้ส่งออกไทยควรระบุวิธีหุงต้ม ทั้งแบบหุงด้วยหม้อหุงข้าวไฟฟ้า และวิธีแบบดั้งเดิม เป็นภาษาอาหรับ เพื่อให้สามารถหุงออกมาในลักษณะที่ร่วน ไม่จับตัว สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคชาวซาอุฯ

4. ปัจจุบันผู้ส่งออกข้าวไทยพยายามที่จะใช้ตราของตนเองในการเปิดตลาดในประเทศซาอุดิอาระเบีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวหอมมะลิ คุณภาพดี เช่น สคร. พบว่าขณะนี้มีข้าวตราฉัตร (บ.ซี พี) และข้าวตราสมาร์ทเชพ (บ.ไทยฮา) วางตลาดอยู่ใน Superstore และ Supermarket

5. บริษัทซาอุฯ ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า (Trademark) ภายใต้ชื่อ "JASMINE" ซึ่งสำนักงานฯ ได้ส่งเรื่องให้ สอ. พิจารณาแนวทางแก้ไขแล้ว ดังนั้นเพื่อป้องกันปัญหา ณ ท่าเรือปลายทาง ผู้ส่งออกไทยควรเลี่ยงที่ใช้คำดังกล่าวบนกระสอบ หรือประสานกับผู้นำเข้าในรายละเอียด ก่อนการส่งออกสินค้า

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองเจดดาห์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ