ตลาดข้าวในฮ่องกง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 5, 2010 12:26 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับภาวะการค้าข้าวในฮ่องกง

1.1 การค้าและการบริโภคข้าวของฮ่องกง

ข้าวเป็นสินค้าที่ชาวฮ่องกงส่วนใหญ่บริโภคทุกวัน โดยมีอัตราการบริโภคเฉลี่ยต่อคนประมาณ 46 ก.ก./ปี (2009) ฮ่องกงไม่ผลิตข้าว แต่จะนำเข้าข้าวจากต่างประเทศประมาณ 300,000 ตันต่อปี มูลค่าปีละ 200 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนใหญ่จะใช้บริโภคภายในประเทศ ส่วนที่เหลือจะส่งต่อไปต่างประเทศที่สาม อาทิ มาเก๊า จีน แคนาดา สหรัฐอเมริกา ปัจจัยที่สำคัญที่มีผลในการเลือกซื้อข้าวของชาวฮ่องกง ได้แก่ ราคา คุณภาพ และรสชาด โดยชาวฮ่องกงนิยมบริโภคทั้งข้าวเมล็ดยาว(ข้าวหอมมะลิจากไทย) และข้าวเมล็ดสั้น

1.2 มาตรการของรัฐบาลฮ่องกงเกี่ยวกับการค้าข้าว

ข้าวถือเป็นสินค้ายุทธศาสตร์ (Strategic Commodities) ของฮ่องกง เดิมการจะนำเข้าต้องขออนุญาตจากกรมการค้าและอุตสาหกรรม(Department of Trade and Industry) เมื่อปี 2498(ค.ศ. 1955) รัฐบาลฮ่องกงได้ดำเนินโครงการควบคุมการค้าข้าว(rice control scheme) เนื่องจากต้องการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่า ฮ่องกงจะมีข้าวเพียงพอสำหรับการบริโภค และมีข้าวสำรองในยามฉุกเฉินด้วย ภายใต้โครงการดังกล่าว ผู้นำข้าวจะได้รับการจัดสรรโควต้าการนำเข้าข้าว ต่อมา หลังจากที่ฮ่องกงเข้าเป็นสมาชิก WTO ในปี 2538(ค.ศ. 1995) รัฐบาลฮ่องกงจะต้องเปิดให้มีการแข่งขันการค้าข้าวอย่างเสรีมากขึ้น จึงได้ทบทวนโครงการนี้ใหม่ และดำเนินมาตรการเปิดเสรีการค้าข้าวอย่างค่อยเป็นค่อยไปตั้งแต่ปี 2539 (ค.ศ. 1996) เป็นต้นมา โดยในปี 2546 (ค.ศ. 2003) รัฐบาลได้คงมาตรการที่จำเป็นในการควบคุมการค้าข้าวไว้บางมาตรการเท่านั้น เพื่อเป็นการประกันการมีข้าวเพียงพอสำหรับการบริโภค โดยผู้ที่มีความประสงค์จะค้าข้าวใน ฮ่องกงต้องลงทะเบียนเป็นผู้นำเข้าข้าว หรือประกอบกิจการค้าข้าว(การขายส่งและการขายปลีก)

หลังจากปี พ.ศ. 2546 รัฐบาลฮ่องกงได้ยกเลิกข้อกำหนดในการนำเข้าข้าว และปล่อยให้ราคาข้าว จำนวนของผู้ประกอบการ และส่วนแบ่งตลาดขึ้นอยู่กับอุปสงค์และอุปทานของการแข่งขันอย่างเสรีในตลาดทำให้จำนวนผู้ค้าข้าวเพิ่มขึ้นจาก 50 รายในปี 2546 เป็นประมาณ 124 รายในปัจจุบัน (พ.ค. 53) โดย Trade and Industry Department ของฮ่องกงมีหน้าที่หลักในการติดต่อ/ประสานงานกับผู้ค้าข้าว ตลอดจนตรวจสอบการนำเข้า การเก็บสินค้า และการขายข้าวอย่างใกล้ชิดด้วย นอกจากนี้ตั้งแต่เดือนพ.ค.2551 รัฐบาลฮ่องกงได้มอบหมายให้ Consumer Council ดูแลและสำรวจการเคลื่อนไหวของราคาอาหารและสินค้าที่จำเป็น(รวมถึงข้าว) โดยได้เพิ่มความถี่ของการสำรวจจาก 1 ครั้งต่อ 2 สัปดาห์ เป็น 1 ครั้งต่อสัปดาห์ตั้งแต่ปลายเดือน ส.ค. 2551 และเผยแพร่ผลการสำรวจผ่านเว็ปไซค์ของ Consumer Council และผ่านสื่อต่างๆ เพื่อให้ข้อมูลแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง

2. ตลาดข้าวไทยในฮ่องกง

2.1 ข้าวไทยและการแข่งขันในตลาดฮ่องกง

ข้าวไทยเป็นที่นิยมในตลาดฮ่องกงอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวหอมมะลิ เนื่องจากข้าวไทยมีคุณภาพดี โดยสามารถครองส่วนแบ่งของตลาดในปี 2553(ม.ค. — พ.ค.) ร้อยละ 69.9 ขณะที่ข้าวจากประเทศอื่นๆ อาทิ จีน(ร้อยละ 16.1) เวียดนาม(ร้อยละ 12.9)ออสเตรเลีย(ร้อยละ0.6) สหรัฐอเมริกา(ร้อยละ 0.1) ทั้งนี้ เวียดนามมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในช่วง 2 ปีที่ที่ผ่านมา โดยมีสถิติการนำเข้าข้าวจากผู้ส่งออกรายใหญ่ไปยังฮ่องกงตั้งแต่ปี ค.ศ.2002-2010 (ม.ค.-พ.ค.)

2.2 โอกาสของข้าวไทยในตลาดฮ่องกง

  • ข้าวไทยนับว่าเป็นที่นิยมและติดตลาดฮ่องกง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้าวหอมมะลิ เนื่องจากมีคุณภาพที่ดี ดังนั้น การรักษาคุณภาพข้าวของไทยจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ โดยจะต้องมีการตรวจสอบไม่ให้มีสิ่งปลอมปนในข้าว ตลอดจนไม่ให้มีการผสมข้าวหอมมะลิกับข้าวชนิดอื่นๆ ด้วย ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าข้าวไทยจะมีราคาแพง แต่ชาวฮ่องกงก็ยังคงเลือกที่จะบริโภค เนื่องจากมีกำลังซื้อและนิยมสินค้าที่มีคุณภาพดีมากกว่าปัจจัยด้านราคา
  • ปัจจุบันข้าวในตลาดฮ่องกง มีคู่แข่งด้านการค้าทำให้ตัวเลขการนำเข้าจากไทย มีส่วนแบ่งตลาด

โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิลดลงอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 84.1 ในเดือน พฤษภาคม 2552 เป็นร้อยละ 69.8 ในพฤษภาคม 2553 ในขณะที่ฮ่องกงนำเข้าข้าวจากเวียดนามเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ จากร้อยละ 1.5 (พ.ค. 2552) เป็นร้อยละ 12.9 (พ.ค. 2553)

3. สถานการณ์การค้าข้าวหอมมะลิในตลาดฮ่องกง

3.1 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาราคาข้าวหอมมะลิไทย เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อเปรียบเทียบกับข้าวจากประเทศคู่แข่ง โดยเฉพาะเวียดนาม โดยปัจจุบันราคาจะสูงกว่าประมาณ 200-300 เหรียญสหรัฐต่อตัน เช่นเดียวกับข้าวปทุมซึ่งสูงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ราคาขายปลีกข้าวหอมมะลิ หรือข้าวหอมในฮ่องกงแทบจะไม่เปลี่ยนแปลงคือ ถุงละ 5 ก.ก. จะอยู่ประมาณ 59.90. ถึง 62.80 เหรียญฮ่องกง

3.2 ภาพลักษณ์ข้าวหอมมะลิจากประเทศไทยเป็นที่ยอมรับในกลุ่มผู้บริโภคฮ่องกง ดังจะเห็นได้จากบรรจุภัณฑ์ข้าวในตลาดค้าปลีกฮ่องกง จะมีการระบุคำว่า “Thai Hom Mali Rice” “Thai Fragrance Rice” “ Product from Thailand” หรือรูปภาพสัญลักษณ์ที่สื่อ และทำให้เข้าใจว่าเป็นข้าวที่มาจากประเทศไทย โดยมีข้าวเมล็ดสั้นจากประเทศอื่นที่มีความแตกต่างอย่างชัดเจนด้านรูปลักษณ์ภายนอก เช่น ข้าวญี่ปุ่น ข้าวออสเตรเลีย ขายอยู่บ้างในสัดส่วนเล็กน้อย

3.3 ด้วยราคาขายปลีกที่มีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในขณะที่ราคาต้นทุนข้าวหอมมะลิไทยแพงขึ้นเป็นอย่างมาก ทำให้มีการนำเข้าข้าวหอมมะลิไทยมาผสมกับข้าวอื่น แล้วบรรจุในบรรจุภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ของฮ่องกงเอง โดยเลี่ยงไประบุว่าเป็น Thai Fragrance Rice มากขึ้นเป็นลำดับ จากการสอบถามสมาคมผู้ค้าข้าวฮ่องกง ได้รับแจ้งว่า เดิมเป็นการผสมระหว่างข้าวหอมมะลิไทยกับข้าวปทุมไทย ปัจจุบันนำข้าวเวียดนาม หรือข้าวจีนพันธ์ 923 หรือ 9113 ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับข้าวไทย แต่ไม่มีความหอม และราคาถูกกว่า ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะทำให้ภาพลักษณ์คุณภาพข้าวไทยลดลงเป็นลำดับ

4. การดำเนินการของ สคร.ฮ่องกง

4.1 หารือสมาคมผู้นำเข้าและส่งออกข้าวฮ่องกง เพื่อหาแนวทางแก้ไข ซึ่งทางสมาคมฯ ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับปัญหาเรื่องราคาข้าวหอมของไทย ตลอดทั้ง การรักษาภาพลักษณ์และคุณภาพข้าวหอมมะลิจากไทย รวมทั้งต้องการทราบนโยบายและทิศทางของรัฐบาลไทยในการค้าข้าวหอมมะลิและข้าวปทุม

4.2 สำรวจตลาดค้าปลีกจากห้างค้าปลีก อาทิ Wellcome, Park n Shop (ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดค้าปลีกถึงร้อยละ 80) Jusco, City Super พบว่า แม้เวียดนามจะขยายส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด แต่พบข้าวเพียง 1 บริษัทที่ระบุว่าเป็นข้าวมาจากเวียดนาม โดยบรรจุถุง แต่บนถุงมีสัญญาลักษณ์รูปวัดในประเทศไทย ขายในซุปเปอร์มาเก็ต ราคา 42.90 เหรียญฮ่องกง / 5 ก.ก. ถูกว่าข้าวหอมจากไทยประมาณร้อยละ 30

4.3 ประสาน Trade and Industry Department ของฮ่องกงแสดงความกังวล และสงสัย ตามข้อ 4.2 ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดในสินค้า และได้มีการประสาน Customs & Excise Department เพื่อตรวจสอบในรายละเอียดแล้ว

5. แนวทางการดำเนินการต่อไป

5.1 จัดส่งตัวอย่างข้าวหอมมะลิ 100% จากประเทศไทยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องฮ่องกง เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการสุ่มตรวจสอบการปลอมปน และแอบอ้าง

5.2 เก็บตัวอย่างข้าวหอมมะลิจากตลาดค้าปลีกฮ่องกงให้ทางการไทยตรวจสอบ

5.3 ลงทะเบียนผู้นำเข้าข้าวหอมมะลิจากประเทศไทย จากผู้ลงทะเบียนนำเข้าข้าวของฮ่องกงทั้งหมดเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล และเป็นฐานในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายต่อไป

5.4 ประชาสัมพันธ์ส่งเสริมผู้นำเข้าข้าวหอมมะลิจากประเทศไทย และประชาสัมพันธ์กรณีที่มีการแอบอ้างต่อสาธารณชน

5.5 การส่งเสริมการขาย

  • ไทยอาจสามารถเพิ่มปริมาณการส่งออกข้าวไปฮ่องกงได้มากขึ้น โดย

o การส่งเสริม และประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางร้านอาหารไทยในฮ่องกงให้มากขึ้น

o การส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ข้าวไทยตามเทศกาลต่างๆ หรือตามงาน in-store promotion โดยอาจสาธิตการทำอาหารโดยใช้ข้าวไทยเป็นส่วนประกอบ

o ประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างภาพลักษณ์ ข้าวหอมมะลิไทย ผ่านสื่อต่างๆ

o ร่วมมือกับผู้นำเข้าหรือผู้กระจายสินค้า จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายบ่อยๆ ครั้ง

o ร่วมมือกับสมาคมผู้นำเข้าข้าวในฮ่องกง จัดกิจกรรมหรือสร้างความเชื่อมั่นของข้าวหอมมะลิไทย

6. ลักษณะการทำ Branding and packaging ของคู่แข่งที่สำคัญ

จากการสำรวจ ในห้างซุปเปอร์มาเก็ต บนชั้นข้าวส่วนใหญ่ร้อยละ 90 เป็นข้าวหอมมะลิ หรือข้าวหอมจากไทย ราคาเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แล้วข้าวไทยราคาสูงกว่า(เป็นโอกาสให้ข้าวที่นำเข้าเองและมาบรรจุเอง มีการผสมข้าวชนิดอื่น) โดยลักษณะบรรจุภัณฑ์ มีดังนี้

1. บรรจุในถุงพาสติกใส น้ำหนักมีตั้งแต่ 1 ก.ก., 5 ก.ก., 8 ก.ก. และ 10 ก.ก. ทั้งนี้ จะระบุชื่อบริษัทผู้ผลิตภายใต้ชื่อบริษัท/แบรนด์ ตนเอง หรือชื่อบริษัทผู้นำเข้าฮ่องกง และสัญญาลักษณ์ ที่บ่งบอกว่าเป็นข้าวไทย ได้แก่ Thai Hom Mali Rice, Thai Fragrance Rice, Product from Thailand หรือสัญญาลักษณ์วัดไทย

2. ข้าวจากที่อื่นๆ ได้แก่ ประเทศจีน จะระบุชื่อบริษัทผู้นำเข้า/ผู้ผลิต ชนิดข้าว See Mew หรือข้าวจากประเทศออสเตรเลีย ชนิดข้าว Inga /Calrose และข้าวจากญี่ปุ่น

ที่มา: http://www.depthai.go.th


แท็ก ฮ่องกง   สหรัฐ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ