สหรัฐฯเตรียมกระชับพื้นที่อิหร่าน..........ยูเออีเดือดร้อน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 5, 2010 13:45 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ปูมหลัง

หลังจากความพยายามของสหรัฐอเมริการ่วมกับรรดาชาติมหาอำนาจสามารถผลักดันใช้องค์การสหประชาชาติ(ยูเอ็น) ตามมติที่ประชุม ณ สำนักงานใหญ่ยูเอ็น-นิวยอร์กเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2553 ให้เพิ่มมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านเป็นครั้งที่ 4 หลังจากครั้งแรกเมื่อเดือน ธ.ค.2549 ครั้งที่ 2 เดือน มี.ค. 2550 และครั้งที่ 3 เดือน มี.ค. 2551

ปัญหาโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านคือปมหลักของความขัดแย้งเหมือนเดิม ไม่มีทีท่าว่าจะยุติเมื่อไหร่ แบบไหน อิหร่านเองปฏิเสธคำกล่าวหาของชาติตะวันตกมาตลอดที่กล่าวหาว่าตนพยายามสร้างอาวุธนิวเคลียร์ โดยยืนกรานว่าต้องการสร้างพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ และประกาศว่าการคว่ำบาตรไม่ทำให้อะไรเปลี่ยนแปลง เพราะอิหร่านจะไม่อ่อนข้อและจะเดินหน้าโครงการนิเคลียร์ยูเรเนียมต่อไป คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ออกมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านครั้งนี้

อาจจะหนักข้อที่สุด เพราะให้อำนาจรัฐสมาชิก 192 ประเทศสามารถตรวจสอบเรือขนส่งสินค้าที่เดินทางเข้า-ออกอิหร่านในน่านน้ำสากล ขยายขอบเขตการห้ามอิหร่านซื้อขายอาวุธร้ายแรงและวางข้อจำกัดอิหร่านเข้าถึงเทคโนโลยีนิวเคลียร์ เพิ่มมาตรการคุมเข้มภาคการธนาคารและการเงิน เพิ่มบัญชีรายชื่อบุคคลต้องห้ามของอิหร่านในการทำธุรกรรมทางการเงิน เน้นการห้ามเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอิหร่านเดินทางเข้าเขตเครือข่าย รวมทั้งมติเห็นชอบกับการลงโทษรอบใหม่ที่ขึ้นบัญชีดำบุคลากรในกองทัพอิหร่าน บริษัทชิปปิ้ง และภาคอุตสาหกรรมหลายสิบคน

แน่นอนว่าเศรษฐกิจอิหร่านอาจได้รับผลกระทบหนักขึ้น แต่จะไม่สามารถบังคับอิหร่านให้ยอมอ่อนข้อตามคำเรียกร้องได้ เพราะอิหร่านแสดงให้เห็นชัดมาตลอดว่าพร้อมจะให้ประชาชนเผชิญความทุกข์ยากลำบากทางเศรษฐกิจดีกว่ายอมอ่อนข้อทางการเมือง

ยูเออี การค้ากับต่างประเทศ

ยูเออีเป็น “ประตูการค้าของภูมิภาคตะวันออกกลาง” เพราะมีความพร้อม และเหมาะสมในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะรัฐดูไบมีนโยบายส่งเสริมการค้า และการลงทุนมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งประเทศ เพื่อเป็นศูนย์กลางการค้า การเงิน การธนาคารและการลงทุนของภูมิภาคตะวันออกกลางได้อย่างแท้จริง

การนำเข้านั้นมิใช่เพื่อใช้ภายในประเทศเท่านั้น สินค้าประมาณร้อยละ 70-75 ใช้เพื่อส่งออกต่อ (Re-Export) ไปต่างประเทศ โดยมีอิหร่านเป็นตลาดรองรับที่สำคัญของดูไบ

สถานการณ์

มีรายงานข่าวจากหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นยูเออีว่าหลังจากยูเอ็นประกาศมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน นั้นเริ่มส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกต่อของยูเออีโดยเฉพาะดูไบแล้ว ทำให้ธุรกิจเรือขนสินค้าพื้นเมืองขนาดเล็กหรือเรือ Dhow ที่รับขนส่งสินค้าจากดูไบส่งไปอิหร่านที่เกาะ Kish และเมืองท่า Bandar Abbas ลดลงกว่า 70%

เจ้าของเรือรายหนึ่งกล่าวถึงมาตราการคว่ำบาตรครั้งนี้ว่าเริ่มส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของดูไบอย่างน่าเป็นห่วง โดยปกติเรือของตนที่สามารถบรรทุกสินค้าได้ 170 ตัน ใช้เวลาเพียง 1 วันเพื่อรับสินค้ามูลค่า 28,000 เหรียญสหรัฐ สำหรับขนส่งไปอิหร่าน แต่ขณะนี้ต้องรอเวลานานถึง 1 สัปดาห์ เพื่อรวบรวมสินค้าเท่ากับมูลค่าดังกล่าวขนส่งไปอิหร่าน สินค้าในเรือที่รอส่งไปอิหร่านที่มีอยู่ตอนนี้ ได้แก่ ยางรถยนต์ น้ำมันพืช กระเบื้องปูพื้น ผ้าอ้อมอนามัยเด็ก และตู้เย็น เป็นต้น

การคว่ำบาตรอิหร่านครั้งนี้ยูเอ็นมีมาตรการให้มีการตรวจสอบสินค้าต้องสงสัยที่ส่งถึงหรือมาจากอิหร่าน ควบคุมการห้ามซื้อขายอาวุธอย่างเข้มข้นขึ้น ตรวจสอบเรือขนส่งสินค้าที่เดินทางเข้า-ออกอิหร่านในน่านน้ำสากล รวมทั้งมาตรการด้านการเงิน ตัวอย่างเช่น ธนาคารกลาง ยูเออีได้สั่งอายัด 41 บัญชีของนักธุรกิจอิหร่านในยูเออีที่ต้องสงสัยว่าจะมีส่วนเกี่ยวข้อง ควบคุมและสอดส่งสถาบันการเงินทั่วประเทศในการโยกย้ายเงินของนักธุรกิจอิหร่าน เป็นต้น

การตัดสินใจดำเนินตามมาตรการการคว่ำบาตรของรัฐบาลยูเออี ครั้งนี้ได้ถูกวิจารณ์โดยประธานของ Iran-UAE Chamber of Commerce ว่าไม่สามารถยอมรับการด่วนตัดสินใจของธนาคารกลางยูเออีที่รีบดำเนินการตามมาตราการของยูเอ็น ได้

ส่วน Vice President ของ Iranain Business Council (IBC) ที่รัฐดูไบมีสมาชิกเป็นบริษัทอิหร่านในยูเออีประมาณ 1,000 บริษัท ให้ความเห็นเกี่ยวกับธุรกรรมการค้าระหว่างอิหร่านและยูเออีว่า มูลค่าการขนส่งสินค้าระหว่างกันในปีที่ผ่านมาประมาณ 7.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หากมาตรการคว่ำบาตรยังดำเนินต่อไปคาดว่าปี 2010 มูลค่าการค้าจะลดลงเหลือเพียง 1 — 2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เท่านั้น

สินค้าจากยูเออีไปอิหร่านโดยใช้เรือ Dhow นั้นคิดเป็นร้อยละ 10-15 ของการนำเข้าทั้งสิ้นของอิหร่าน สินค้าที่ขนส่งไปอิหร่าน ได้แก่ เครื่องใช้ในบ้าน อาหาร ข้าว ผ้าผืน ไม้ เหล็ก และโลหะ เป็นต้น

ยูเออีซึ่งเป็นประเทศเล็กๆอาณาเขตติดกับอิหร่าน เมืองหลาวงคือกรุงอาบูดาบีมีน้ำมันส่งออกสร้างรายได้มหาศาล ในขณะที่รัฐอื่นๆ เช่น ดูไบ ชาร์จาห์ และรัฐเล็กๆตอนเหนือประเทศ ไม่มีทรัพยากรน้ำมัน แต่ได้รับอานิสงค์จากอิหร่านที่มีประชากรกว่า 66 ล้านคน ทำการค้าส่งสินค้าจากยูเออีทั้งแบบในระบบ และขนส่งนอกระบบ

ชาวอิหร่านนิยมเดินทางไปดูไบเพื่อพักผ่อน ท่องเที่ยว จับจ่ายซื้อสินค้า luxury เยี่ยมชมงานแสดงสินค้านานาชาติที่จัดขึ้นในดูไบ และชาวอิหร่านจำนวนมากเดินทางไปดูไบเพื่อยื่นขอทำวีซ่าเข้าประเทศสหรัฐอเมริกาที่สถานกงสุลอมเริกัน ณ เมืองดูไบ ทั้งนี้เพราะอิหร่านและสหรัฐฯไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน จึงไม่สถานทูต/สถานกงสุลอเมริกันในอิหร่าน

เจ้าหน้าที่ของ Dubai Export Development Corporation กล่าวว่า แม้ว่าการส่งออกไปอิหร่านจะเริ่มลดลง 9% หรือมูลค่า 1.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แต่ดูไบมีตลาดอื่นรองรับ อาทิ อิรัค ซาอุดิอาระเบีย และประเทศ GCC อื่นๆ ที่มีอัตราขยายตัวในเชิงมูลค่าเพิ่มขึ้น 3% รัฐดูไบมีบริษัทผู้ส่งออกจำนวน 1,054 ราย ส่งออกสินค้าไปอิหร่าน

สินค้ายอดนิยมที่ดูไบส่งออกไปอิหร่านได้แก่

  • ไขมันพืช/สัตว์ น้ำมันปรุงอาหาร และไขมันสำหรับบริโภคอื่นๆ
  • ผลิตภัณฑ์พลาสติก
  • กระดาษ กระดาษลูกฟูก และเยื่อกระดาษ
  • สิ่งพิมพ์ นิตยสาร และหนังสือพิมพ์
  • ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม
  • เครื่องจักรและเครื่องใช้ไฟฟ้า
  • เฟอร์นิเจอร์ ตู้ เตียง ที่นอน เบาะรองนั่ง โคมไฟและสิ่งให้แสงสว่างอื่นๆ
สรุป

ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินผลกระทบได้ เพราะเหตุการณ์เพิ่งเริ่ม แต่หากยืดเยื้อนานกว่านี้ การส่งออกของไทยไปยูเออีคงได้รับผลกระทบและมีผลต่อภาคเศรษฐกิจแน่นอน ทั้งนี้เพราะมีสินค้าอุปโภคบริโภคหลายรายการของไทยที่ยูเออีใช้สำหรับส่งออกต่อไป (Re-Export)ไปอิหร่าน อาทิ เช่น ข้าว เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน อะไหล่รถยนต์ ของใช้ในครัวเรือน เป็นต้น

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองดูไบ

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ