กัมพูชา...หมูกระทบ ไข่กระเทือน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 5, 2010 14:40 —กรมส่งเสริมการส่งออก

กัมพูชามีความต้องการบริโภคหมูวันละ 2,500 ตัว โดยเฉพาะพนมเปญที่เดียวบริโภคหมูวันละ 1,600 ตัว ขณะที่กัมพูชาสามารถผลิตหมูได้เพียง 800 ตัวต่อวัน ทุกวันจึงมีการนำเข้าหมู 2-3 พันตัวจากประเทศเพื่อนบ้าน

หมูที่นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านจะขายในราคาต่ำกว่าหมูที่เลี้ยงในประเทศ เช่นราคาหมูนำเข้าจากเวียดนาม ราคา กก.ละ 8,000 เรียล ขณะที่หมูในประเทศ กก.ละ 9,000 เรียล ราคาหมูของกัมพูชาจึงมีปัญหาต่อหมูที่นำเข้าทำให้ผู้เลี้ยงในประเทศได้รับผลกระทบ ต้องออกจากวงการเลี้ยงหมู ประกอบกับหมูนำเข้านำโรคระบาดมาสู่หมูที่เลี้ยงในประเทศการลักลอบนำเข้าหมูจากต่างประเทศ ทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีปีละ 70-80 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่สำคัญหมูที่ลักลอบนำเข้าจะไม่ได้รับการตรวจสอบสุขภาพ จึงเสี่ยงต่อการนำโรคระบาด

หมูที่เลี้ยงในประเทศราคาสูง เนื่องจากต้นทุนการเลี้ยงสูง เช่น ราคาอาหารสัตว์ ซึ่งเป็นต้นทุน 70 - 80% ในการเลี้ยง และค่าไฟฟ้าของกัมพูชาที่แพง ประกอบการผู้เลี้ยงเป็นรายย่อยจึงไม่สามารถหาเงินกู้เพื่อขยายขนาดการผลิตได้ นอกจากนี้ อุตสาหกรรมเลี้ยงหมูของประเทศเพื่อนบ้านได้รับการสนับสนุนด้านการกู้ยืมเงินจากรัฐบาล หรือสถาบันการเงินของรัฐรวมทั้งการสนับสนุนเรื่องปัจจัยการผลิตและเทคโนโลยีการผลิต

ผู้เลี้ยงหมูในประเทศได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลกัมพูชาหาทางช่วยผู้เลี้ยงหมูในประเทศ ทั้งเรื่องเงินทุนและเทคโนโลยี เพื่อให้ผู้เลี้ยงสามารถยืนอยู่ได้และสามารถแข่งขันกับหมูนำเข้า หากไม่แล้ว อุตสหกรรมนี้ จะล้มละลายในอนาคตอันใกล้นี้ และเรียกร้องให้รัฐสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศเพื่อให้หมูมีเพียงพอแก่การบริโภค และเมื่อมีการแข่งขันสูง ราคาหมูก็จะลดลงเองโดยอัตโนมัติ

การลงทุนเรื่องหมูที่ไม่หมู

Dr. Oknha Mong Reththy ได้ทำฟาร์มหมูโดยลงทุน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อซื้อแม่หมูพันธุ์จาก East Yorkshire เพื่อซัพพลายเข้าสู่ตลาดในประเทศโดยคาดว่าในปี 2015 กัมพูชาจะมีความต้องการบริโภคหมูปีละ 2.1 ล้านตัว (จากแม่หมูอย่างน้อย 150,000 ตัว) และการบริโภคหมูจะเพิ่มเป็น 2.8 ล้านตัว ในปี 2018(จากแม่หมูอย่างน้อย 220,000 ตัว)

ไข่ไก่ - ไม่เฉพาะไข่ในประเทศไทยเท่านั้นที่มีราคาสูง ไข่ในประเทศกัมพูชาก็มีราคาสูงขึ้นเช่นกัน ด้วยสาเหตุที่เหมือนกันอีก นั่นแหละคือ อากาศร้อน ไก่ไข่ลดและขนาดฟองเล็ก ประกอบกับต้นทุนเรื่อง ราคาอาหารไก่ที่สูงขึ้น ค่าไฟฟ้า หรือน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ล้วนแต่เป็นปัจจัยเสริมให้ราคาไข่สูงขึ้นทั้งนั้น กัมพูชามีการเลี้ยงไก่ไข่ประมาณ 500,000 ตัว ปริมาณไข่ผลิตได้ ร้อยละ 80 ของจำนวนแม่ไก่หรือมีไข่ไก่ออกสู่ตลาดวันละ 400,000 ฟอง

คนกัมพูชา ต้องการบริโภคไข่ปีละประมาณ 84 ล้านฟอง ผลการสำรวจพบว่าคนกัมพูชาบริโภคไข่ 60 ฟองต่อคนต่อปี (ขณะที่คนไทยบริโภค 150 ฟองต่อคนต่อปี) โดยมีการบริโภคไข่เป็ดมากกว่าไข่ไก่ 2-3 เท่าตัว (จำนวนเป็ดมีประมาณ 1.2-1.5 ล้านตัว) โดยการบริโภคไข่มีมากในเขตกรุงพนมเปญ กันดาลและเสียมเรียบ

ปัญหาของผู้เลี้ยงไก่ไข่ในกัมพูชา คือ ราคาไข่ตกต่ำเพราะมีการนำเข้าจากเวียดนามและไทย ในระยะต้นปี 2553 มีการนำไข่จากเวียดนามเข้ามาในกัมพูชาจำนวนมากจนทำให้ราคาไข่ในท้องตลาดตกต่ำ สร้างความเดือดร้อนให้ผู้เลี้ยง รัฐบาลกัมพูชาจึงสั่งห้ามการนำไข่เข้าจากเวียดนาม (แม้ไม่มีการห้ามนำเข้าจากไทยแต่ไม่มีไข่จากไทยเข้ามาเพราะไข่ในประเทศไทยมีราคาสูง) ราคาไข่ในประเทศจึงเริ่มกระเตื้องสูงขึ้นมาเป็นลำดับจนถึงปัจจุบันราคาไข่ไก่ ขนาดเบอร์ 2 ฟองละ 330 เรียล(ประมาณ 2.55 บาท) และ ขนาดเบอร์ 3 ฟองละ 320 เรียล(ประมาณ 2.50 บาท)

ปัจจุบัน ซีพี แคมบอเดีย ได้นำเข้าพ่อแม่ไก่จากฝรั่งเศส จำนวน 10,000 ตัว เพื่อป้อนแม่ไก่รุ่น คาดว่าจะสามารถซับพลายไข่ไก่เข้าตลาดเพิ่มอีกประมาณ 30 ล้านฟองต่อปี

อย่างไรก็ตาม กัมพูชายังมีความต้องการไข่ซึ่งเป็นโปรตีนราคาถูกไว้บริโภคเพิ่มขึ้นอีกหากมีการรณรงค์ให้มีการบริโภคเพิ่มและยังนำไปเป็นวัตถุดิบผลิตสินค้าอื่นด้วย

ในการจัดงานแสดงสินค้าไทย Thailand Trade Exhibition 2010 เมื่อวันที่ 17-20 มิถุนายน 2553 กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ ได้ร่วมมือกับบริษัท ซีพี แคมบอเดีย จำหน่ายไข่ไก่ ราคาพิเศษ ฟองละ 100 เรียล (ประมาณ 0.80 บาท) วันละ 10,000 ฟอง รวม 4 วัน จำนวน 40,000 ฟอง ซึ่งได้สร้างกระแสให้คนกัมพูชาหลั่งไหลมาชมงานจำนวนมาก การสร้างกระแสดังกล่าวเป็นการประชาสัมพันธ์การจัดงาน เพื่อจูงใจให้คนมาชมงาน และเป็นการแสดงว่าความต้องการบริโภคไข่ของคนกัมพูชามีสูง แต่ราคาไข่แพง อัตราการบริโภคไข่ของคนกัมพูชาจึงต่ำดังการผลสำรวจที่กล่าวมาข้างต้น

สคร.กรุงพนมเปญ

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ