เยเมนซบ IMF กู้ 370 ล้านเหรียญฯ ต่อลมหายใจเศรษฐกิจ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 6, 2010 14:55 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. International Monetary Fund (IMF) แถลงผลการอนุมัติเงินกู้จำนวน 370 ล้านเหรียญสหรัฐให้แก่รัฐบาลเยเมนเพื่อรองรับแผนพัฒนาเศรษฐกิจ 3 ปีของประเทศในการแก้ไขปัญหาความยากจนและการขาดดุลงบประมาณ โดยเงินกู้จำนวน 53 ล้านเหรียญสหรัฐจะถูกโอนให้แก่เยเมนทันที

2. เยเมนเป็นประเทศที่ประสบปัญหาการขาดดุลบัญชีงบประมาณต่อเนื่องกันหลายปีแล้ว เนื่องจากราคาน้ำมันร่วงลงในช่วงปีที่ผ่านมารวมทั้งปริมาณการผลิตน้ำมันของเยเมนลดลงอย่างต่อเนื่องโดยในปัจจุบันผลิตได้เพียง 260,000 บาเรลต่อวัน จากที่เคยผลิตได้ 440,000 บาเรลต่อวันเมื่อปี 2001 และอาจจะหมดไปในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้านี้ (เยเมนมีรายได้จากการขายน้ำมันคิดเป็นร้อยละ 70 ของรายได้ของประเทศ)

3. นอกจากนี้ปัญหาภายในต่างๆ ทั้งปัญหาความยากจน การเมืองที่ไม่มีเสถียรภาพ การเข้าไปมีส่วนผัวพันในการก่อการร้าย ณ ประเทศต่างๆ ปัญหาชนกลุ่มน้อย และการคอรัปชั่น ดังนั้นการกู้เงินจาก IMF ครั้งนี้ นอกจากจะนำมาใช้แก้ปัญหาต่างๆ แล้ว จะทำให้ดุลบัญชีงบประมาณขาดดุลลดลงเหลือเพียงร้อยละ 3.5 ของ GDP

4. มาตรการที่เยเมนจะนำมาใช้สำหรับการหารายได้เข้าสู่การคลังนั้น ก็คือการเก็บเพิ่มภาษีรายได้ของทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล และการเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้า โดยสินค้านำเข้าจะมีอัตราภาษีเพิ่มขึ้นเฉลี่ยถึงร้อยละ 80 จากเดิม อาทิ เดิมเก็บภาษีนำเข้าร้อยละ 10 เมื่อเพิ่มอีกร้อยละ 80 ก็จะเป็น 10+8 = 18 เปอร์เซ็นต์ เพื่อที่จะทดแทนรายได้ที่สูญเสียไปจากการขายน้ำมันของประเทศ

5. หากมาตรการดังกล่าวเป็นไปตามเป้าหมาย เยเมนจะมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ที่ร้อยละ 8 เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 3.9 โดยสัดส่วนของสินค้าที่ไม่ใช่น้ำมันจะมีอัตราการขยายตัวที่ร้อยละ 4.4

6. สำหรับประเทศไทยนั้นมีสัดส่วนการค้ากับเยเมนไม่มากนักกล่าวคือมีมูลค่าการค้ารวมอยู่ที่ 1,263.0 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2009 โดยไทยนำข้าจากเยเมนจำนวน 1,029.3 ล้านเหรียญสหรัฐและไทยส่งออกไปยังเยเมนจำนวน 233.7 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือไทยเสียเปรียบดุลการค้าประเทศเยเมนอยู่ที่ 795.6 ล้านเหรียญสหรัฐ

7. หากผู้ส่งออกท่านใดกำลังมองการขยายตัวไปในตลาดเยเมน คงต้องวางแผนการตลาดให้รัดกุมขึ้น เพราะถึงแม้เม็ดเงินอัดฉีดดังกล่าวจะทำให้เยเมนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น แต่ความไม่แน่นอนต่างๆ ที่กล่าวข้างต้น ก็เป็นปัจจัยที่สำคัญที่ต้องดีดลูกคิดใหม่อีกทีหนึ่งด้วย

สคร. ดูไบ รายงาน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


แท็ก (IMF)   สหรัฐ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ