รายงานภาวะเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศไทยกับสวีเดนในระยะ 6 เดือนแรกของปี 2553 (มกราคม-มิถุนายน)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 17, 2010 16:47 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศไทย- สวีเดน

หน่วย : ล้านเหรียญสหรัฐฯ

มูลค่า              ม.ค.—ธ.ค.    ม.ค.—มิ.ย.    ม.ค.—มิ.ย.     % เพิ่ม/ลด
                    ปี 2552      ปี 2552       ปี 2553
การค้ารวม            875.6       406.9        581.90        43.00
การส่งออก            447.7       209.8        266.50        27.06
การนำเข้า            427.9       197.4        315.40        59.96
ดุลการค้า              19.7        12.8        -48.84

ในปี 2553 สวีเดนเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 37 ของไทย ซึ่งในรอบ 6 เดือนแรกของปี 2553 (ม.ค.-มิ.ย.) การค้าระหว่างประเทศของไทยกับสวีเดนมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 581.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2552 ที่มีมูลค่า 406.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 43.00 โดยเป็นการส่งออกจากไทยไปยังสวีเดนมูลค่า 266.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับในช่วงเดียวกันของปี 2552 ที่การส่งออกมูลค่า 209.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.06 และการนำเข้าจากสวีเดนมูลค่า 315.41 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2552 ที่มีมูลค่า 197.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 59.96 ไทยเป็นฝ่ายเสียเปรียบดุลการค้ารวมทั้งสิ้นมูลค่า 48.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับปี 2552 ที่ไทยได้เปรียบดุลการค้า 12.62 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

1.1 สวีเดนเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับที่ 43 ของไทย มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 0.29 ของยอดการส่งออกทั้งหมดของไทย สินค้าที่ไทยส่งออกไปยังสวีเดนที่สำคัญ 10 อันดับแรก ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2553 (ม.ค-มิ.ย) มีการขยายตัวอยู่ในระดับดี มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเกือบทุกรายการยกเว้น เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่น เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและการแข่งขันจากประเทศคู่แข่งที่สำคัญ เช่น จีน และประเทศในยุโรปตะวันออก ดังรายละเอียดดังนี้

(1) รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ มูลค่า 23.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 116.94

(2) เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ มูลค่า 21.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.67

(3) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 21.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 55.87

(4) เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ มูลค่า11.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 36.63

(5) เสื้อผ้าสำเร็จรูป มูลค่า 10.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.97

(6) เครื่องซักผ้าและเครื่องซักแห้งและส่วนประกอบ มูลค่า 9.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.72

(7) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป มูลค่า 8.7 เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.21

(8) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่อง มูลค่า 8.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 97.58

(9) ไก่แปรรูปมูลค่า 8.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.36

(10) เลนซ์ มูลค่า 7.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.24

นอกจากนี้ สินค้าไทยที่มีศักยภาพที่สำคัญอื่นได้แก่ อัญมณีเครื่องประดับ ข้าว หม้อแปลงไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง ผลไม้กระป๋องแปรรูป เป็นต้น

1.2 สวีเดนเป็นแหล่งนำเข้าสำคัญอันดับ ที่ 30 ของไทย โดยมีส่วนแบ่งคิดเป็นร้อยละ0.36 ของยอดการนำเข้าสินค้าจากทั่วโลกของไทย สินค้าที่ไทยนำเข้าสำคัญ 10 อันดับแรก ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2553 ได้แก่

(1) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบมูลค่า 61.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 46.30

(2) เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ มูลค่า 35.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2,100,882.35

(3) กระดาษและผลิตภัณ์กระดาษ มูลค่า 35.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 2.76

(4) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ มูลค่า31.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 40.46

(5) เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ มูลค่า 19.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.28

(6) ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ มูลค่า 19.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 266.20

(7) ผลิตภัณ์เวชกรรม และเภสัชกรรม มูลค่า 18.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 3.14

(8) เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ 15.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 79.00

(9) เคมีภัณฑ์มูลค่า 10.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 49.18

(10) เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การแพทย์ มูลค่า 7.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 12.62

2. สรุปและข้อคิดเห็น

สวีเดนเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป จัดเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี่สูง และมีระบบรัฐสวัสดิการที่แข็งแรงประชาชนมีจำนวนประมาณ 9.3 ล้านคน มีมาตรฐานความเป็นอยู่ในเกณฑ์สูงอันดับต้นๆของโลก ในปี 2552 มีรายได้ประชากรเฉลี่ยต่อหัว (GDP PPP ) ประมาณ 36,800 เหรียญสหรัฐ

การส่งออกของสวีเดนที่สำคัญได้แก่ รถยนต์ การสื่อสารโทรคมนาคม เครื่องมืออุปกรณ์ก่อสร้าง ยาและเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ และสินค้าเพื่อการลงทุน ( investment goods) เป็นต้น สวีเดนประสบภาวะเศรฐกิจชะลอตัวลงในปี 2551 จากผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจโลกแต่ก็ได้ค่อยๆฟื้นตัวมา ทั้งนี้ สวีเดนเป็นประเทศที่มีฐานะการเงินการคลังมีเสถียรภาพสูง กล่าวคือ ดุลงบประมาณเกินดุล และจัดเป็นหนึ่งประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปที่มีหนี้สาธารณะน้อยที่สุด สำนักวิจัยธนาคาร Danske Bank เห็นว่าในปี 2553 แม้ว่าเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวอย่างเปราะบาง แต่อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของสวีเดนจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 การส่งออกและนำเข้าของสวีเดนจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 และ 3.2 ตามลำดับ ดัชนีราคาผู้บริโภคประมาณเท่ากับร้อยละ 0.6

สวีเดนเป็นประเทศที่มีระบบการค้าแบบเปิด แม้ว่าจะมีขนาดเศรษฐกิจไม่ใหญ่มาก แต่เป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูง นิยมสินค้าที่มีคุณภาพและมาตรฐานสูง และมีแนวโน้มความต้องการสินค้าบริการที่มีการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ สามารถอำนวยความสะดวกสบายต่อความเป็นอยู่ หรือการดำรงชีวิต เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือผลิตจากธรรมชาติ เป็นต้น

การส่งออกของไทยไปยังประเทศสวีเดนในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2553 มีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดี มูลค่าการค้ารวม 266.5 ล้านเหรียญสหรัฐ อัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 27 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน ปี 2552 และประมาณว่าในปี 2553 การส่งออกของไทยไปยังสวีเดนจะมีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 15 สินค้าไทยที่มีศักยภาพในการส่งออกไปยังตลาดสวีเดน ได้แก่ ประเภทอาหาร เช่น ข้าว ไก่แปรรูป อาหารสำเร็จรูป อาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป ผักสด ผลไม้กระป๋องและแปรรูป เสื้อผ้าสำเร็จรูป อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและครัวเรือน อุปกรณ์อิเลคโทรนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจภัตตาคารอาหารไทย สปา การให้บริการทางการแพทย์ ( Medical Service ) ฯลฯ

นอกจากนี้ การที่ประชากรสวีเดนมีแนวโน้มระยะเวลาการดำรงชีพที่ยาวนานขึ้นเป็นสังคมคนสูงวัย ( aging socirty) เช่นเดียวกับประเทศพัฒนาทั้งหลาย โดยในปี 2551 อัตราเฉลี่ยอายุของประชากรของสวีเดน เท่ากับ 40.7 ปี และจะเพิ่มเป็น 42.3 ปี ในปี2563 และในปี 2563 ประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปของสวีเดน จะมีจำนวนถึง 2.6 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 27 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งจะมีผลกระทบต่อโครงสร้างตลาด แนวโน้มความต้องการสินค้าและบริการ ซึ่งสินค้าบริการที่เกี่ยวกับสุขภาพหรือตอบสนองความต้องการกลุ่มคนเหล่านี้จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ได้แก่ อาหารบำรุงสุขภาพอาหารเสริม เครื่องสำอางค์ประเภทชะลอความแก่และลบริ้วรอย บริการทางการแพทย์รวมทั้งการศัลยกรรม เครื่องกีฬา สถานที่ออกกำลังกาย เครื่องอำนวยความสะดวก สบายให้แก่ผู้สูงอายุ เช่น อาหารพร้อมปรุง/ พร้อมรับประทาน บริการส่งอาหารที่บ้าน (Food deliveries ) สินค้าที่ผลิตจากธรรมชาติ ( Natural Products ) สินค้าเกษตรอินทรีย์ บริการที่เกี่ยวกับการพักผ่อนหย่อนใจ การท่องเที่ยว โรงแรม สปา ประกันสุขภาพ เป็นต้น ผู้ส่งออกไทยจึงควรปรับแผนการตลาดให้สอดคล้องและเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายของตน

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโคเปนเฮเกน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ