รายงานภาวะเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศไทยกับเดนมาร์กในช่วงเดือนมกราคม — มิถุนายน ของปี 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 17, 2010 17:03 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศไทย- เดนมาร์ก

หน่วย : ล้านเหรียญสหรัฐฯ

หน่วย : ล้านเหรียญสหรัฐฯ

มูลค่า              ม.ค.—ธ.ค.    ม.ค.—มิ.ย.    ม.ค.—มิ.ย.     % เพิ่ม/ลด
                    ปี 2552      ปี 2552       ปี 2553
การค้ารวม            721.0        333.6       404.16         21.15
การส่งออก            518.8       236.43       295.61         25.03
การนำเข้า            202.2        97.16       108.55         11.71
ดุลการค้า             316.6       139.27       187.07         34.32

ในครึ่งแรกของปี 2553 (ม.ค.-มิ.ย) การค้าประเทศไทยกับเดนมาร์กมีมูลค่าการค้ารวม 404.16 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับช่วงเดียวกันที่มีมูลค่า 333.60 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.2 โดยเดนมาร์กเป็นคู่ค้าอันดับที่ 47 ของไทย ซึ่งสามารถแยก การส่งออกของไทยไปเดนมาร์ก มูลค่า 295.61 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับในช่วงเดียวกันของปี 2552 ที่การส่งออกมีมูลค่า 236.43 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.03 สำหรับการนำเข้าของไทยจากเดนมาร์กมีมูลค่า 108.55 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2552 ที่นำเข้ามูลค่า 97.16 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.71 ทำให้ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้ารวมมูลค่า 187.07 เทียบกับปี 2552 ที่ไทยได้เปรียบดุลการค้า 139.27 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 34.32

1.1 เดนมาร์กเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับที่ 40 ของไทย มีส่วนแบ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.32 ของการส่งออกของไทยทั้งหมด สินค้าที่ไทยส่งออกไปยังเดนมาร์กที่สำคัญ 10 อันดับแรก มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ในระดับดีมาก คือขยายตัวระหว่างร้อยละ 15 ถึงร้อยละ 69.33 ถึง 9 รายการ ยกเว้นแผงสวิทช์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า ที่การส่งออกลดลง เพียงเล็กน้อยคือร้อยละ 0.84 ดังนี้

(1) อัญมณีและเครื่องประดับมูลค่า 110.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 69.93

(2) รองเท้าและชิ้นส่วนมูลค่า 58.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.90

(3) แผงสวิทช์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้ามูลค่า 13.3ล้านเหรียญสหรัฐฯลดลงร้อยละ 0.84

(4) เสื้อผ้าสำเร็จรูป 11.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.29

(5) วงจรพิมพ์ มูลค่า 6.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 67.83

(6) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป มูลค่า 3.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.82

(7) เครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นและชิ้นส่วน 5.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.17

(8) เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนมูลค่า 4.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 65.80

(9) เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและครัวเรือน มูลค่า 4.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 41.51

(10) เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ส่วนประกอบมูลค่า 3.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 69.36

1.2 เดนมาร์กเป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 52 ของไทย คิดเป็นสัดส่วน 0.13 ของการนำเข้าของไทยทั้งหมด สินค้าที่ไทยนำเข้าจากเดนมาร์กที่สำคัญ 10 อันดับแรก ได้แก่

(1) ผลิตภัณฑ์เวชกรรม มูลค่า 17.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.2

(2) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบมูลค่า 12.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.06

(3) เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบมูลค่า 9.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 15.76

(4) เคมีภัณฑ์ มูลค่า 8.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.75

(5) ผักและผลิตภัณฑ์จากผัก มูลค่า 3.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 193.01

(6) สินแร่โลหะ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ มูลค่า 6.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 163.47

(7) ผลิตภัณท์จากพลาสติก มูลค่า 4.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 25.63

(8) แผงวงจรไฟฟ้ามูลค่า 4.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.93

(9) เครื่องใช้เบ็ดเตล็ดมูลค่า 3.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.93

(10) เครื่องมือเครื่องใช้วิทยาศาสตร์การแพทย์ มูลค่า 3.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 46.88

2. สรุปและข้อคิดเห็น

2.1 เดนมาร์กประสบภาวะเศรฐกิจชะลอตัวลงในปี 2551 จากผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจโลกแต่ก็ได้ค่อยๆฟื้นตัวมามาตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 ทั้งนี้ สำนักวิจัยธนาคาร Danske Bank ประมาณว่าในปี 2553 อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเดนมาร์กยังคงมีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 -1.5 ซึ่งนับว่าอยู่ในเกณฑ์ดี เมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป การส่งออกและนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 และ 1.4 ตามลำดับ

2.2 เดนมาร์กจัดเป็นประเทศอุตสาหกรรมก้าวหน้าและเป็นตลาดส่งออกดั้งเดิมของไทย (Advanced Mature Market) แม้ว่าจะเป็นตลาดขนาดเล็ก แต่จัดเป็นหนึ่งในประเทศที่ประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงของโลก จากตัวเลขของธนาคารโลก ในปี 2552 เดนมาร์กมีรายได้ประชากรเฉลี่ยต่อหัว 36,763 เหรียญสหรัฐต่อคน จึงนับว่าเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูงที่มีศักยภาพของไทย โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่มีคุณภาพสูงในกลุ่มลูกค้าระดับบน

2.3 การส่งออกของไทยไปยังประเทศเดนมาร์กในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2553 มีแนวโน้มค่อนข้างดี มูลค่าการค้ารวม 295.61 ล้านเหรียญสหรัฐ อัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 25.03 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน ปี 2552 และประมาณว่าในปี 2553 การส่งออกของไทยไปยังเดนมาร์กจะมีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 20 สินค้าไทยที่มีศักยภาพในการส่งออกไปยังตลาดเดนมาร์กและมีลู่ทางที่จะขยายการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ รองเท้าชิ้นส่วน เสื้อผ้าสำเร็จรูปเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน อาหารสำเร็จรูป อาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป ผักสด เช่น แอสปารากัส ข้าวโพดฝักอ่อน พริก และ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป อัญมณีและเครื่องประดับ ข้าวอินทรีย์ เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร อุปกรณ์อิเลคโทรนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจภัตตาคารอาหารไทย สปา การให้บริการทางการแพทย์ ( Medical Service )

2.4 แนวโน้มประชากรเดนมาร์กจะมีระยะเวลาการดำรงชีพที่ยาวนานขึ้น ถัวเฉลี่ยของสตรีและบุรุษในเดนมาร์กค่อนข้างจะสูง คือ 78 ปี และ 72 ปี ตามลำดับ เนื่องจากเดนมาร์กเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางการแพทย์ และมาตรฐานการสาธารณสุขในระดับสูง มีการดูแลสุขภาพของตัวเองอย่างดี ไปพบแพทย์สม่ำเสมอ และเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ บำรุงสุขภาพ มีการออกกำลังกายสม่ำเสมอ และงดพฤติกรรมที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น การสูบบุหรี่ เป็นต้น ในขณะเดียวกันแนวโน้มของอัตราการเกิดของประชากรก็เริ่มลดลง ทำให้โครงสร้างประชากรของเริ่มเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมของผู้สูงอายุ ( aging society) ประมาณว่าในปี 2558 หรืออีก 5 ปี ข้างหน้า เดนมาร์กจะมีประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ร้อยละ 24.7% และกลุ่มวัยกลางคน จะมีอัตราร้อยละ 41.8 เมือเปรียบเทียบกับปี 2543 ซึ่งมีเพียงร้อยละ 19.7 และ 38.2 ตามลำดับ

ผลของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรทำให้แนวโน้มการจับจ่ายใช้สอยรูปแบบการบริโภคจะเปลี่ยนไป ประชากรสูงวัยและประชากรวัยทำงาน ( retirement and pre-retirement worker ) จะเข้ามามีบทบาทในการตลาดเป็นผู้ชี้นำตลาดมากขึ้นและเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายสำคัญ กลุ่มสินค้าที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นได้แก่ สินค้าและบริการเกี่ยวกับสุขภาพ ( healthcare products and services ) เช่น ยาประเภทชะลอความแก่ อาหารบำรุงสุขภาพอาหารเสริม เครื่องสำอางค์ Anti-aging / Wrinkle Free เครื่องกีฬา เครื่องอำนวยความสะดวก สบายให้แก่ผู้สูงอายุ สินค้าที่ผลิตจากธรรมชาติ ( Natural Products ) สินค้าเกษตรอิทรีย์ บริการที่เกี่ยวกับการพักผ่อนหย่อนใจ การท่องเที่ยว โรงแรม สปา ภัตตาคาร จะมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มมากขึ้น แต่สินค้าสำหรับเด็ก เช่น ของเล่น เสื้อผ้าเด็ก อาจจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นแต่แนวโน้มการขยายตัวจะลดลง

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโคเปนเฮเกน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ