การค้าสองฝ่ายระหว่างเวียดนามกับไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 17, 2010 17:43 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. การค้าของเวียดนามในตลาดโลก

หน่วย: พันล้านเหรียญสหรัฐ

                     2550     2551     2552                    2553
                                                มค. — มิย.     -+/%     เป้าหมายทั้งปี
มูลค่าการค้ารวม        109.2    143.4    125.4       71.00       22.6        134.2
การส่งออก             48.4     62.7     56.6       32.13       15.7         61.0
การนำเข้า             62.7     80.7     68.8       38.85       29.4         73.2
ดุลการค้า             -14.3    -17.5    -12.2       -6.70                   -12.2
ที่มา: General Statistics Office of Vietnam : GSO


          เวียดนามขาดดุลการค้าในตลาดโลกมาโดยตลอดเพราะเวียดนามยังจำเป็นต้องนำเข้าเครื่องจักร ชิ้นส่วน อุปกรณ์และวัตถุดิบเพื่อการผลิตในประเทศปีละมากกว่า 80% ของการนำเข้าทั้งหมด ทั้งนี้ในปี 2552 เวียดนามขาดดุลการค้าคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 22.3% ของมูลค่าการส่งออก ซึ่งมีผลกดดันต่อดุลการชำระเงินปี 2553 รัฐบาลจึงตั้งเป้าการขาดดุลการค้าปี 2553 ไว้ที่ 20% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด
          ในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 เวียดนามส่งออก 32.13 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 15.7%  (y-on-y) แต่การนำเข้าเพิ่มขึ้นเร็วกว่าการส่งออก  แม้เวียดนามจะมีมาตรการควบคุมและจำกัดการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าฟุ่มเฟือยก็ตาม ในครึ่งแรกของปี 2553 เวียดนามนำเข้า 38.85 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 29.4% (y-on-y) ทำให้เวียดนามขาดดุลการค้าถึง 6.7 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือคิดเป็น 20.9% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด

2. การส่งออก
          การส่งออกของเวียดนามใน 6 เดือนแรกของปี 2553 มีมูลค่า 32.13  พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเท่ากับ 52.7 % ของเป้าหมายการส่งออกทั้งปีและเพิ่มขึ้น 15.7 % (y-on-y) โดยการเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็น การส่งออกของบริษัทต่างประเทศที่ส่งออก 14.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ (คิดเป็น 45.5 % ของการส่งออกของเวียดนาม) เพิ่มขึ้นถึง 39.5 % (y-on-y) ไม่นับรวมน้ำมันดิบ ถ้ารวมน้ำมันดิบจะมีมูลค่า 17.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 26.2% (y-on-y)


                สินค้าส่งออก  10  อันดับแรก ( มค. — มิย. 2553 ) ของเวียดนาม
          สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม               4,807  เหรียญสหรัฐ   ( +17.2 %)
          น้ำมันดิบ                         2,597  เหรียญสหรัฐ   ( -17.9 %)
          รองเท้า                         2,279  เหรียญสหรัฐ   ( +10.9 % )
          สินค้าประมง                      2,016  เหรียญสหรัฐ   ( +14.2 % )
          ข้าว                            1,756  เหรียญสหรัฐ   ( +0.5 % )
          คอมพิวเตอร์ อิเล็คโทรนิคส์และชิ้นส่วน   1,521  เหรียญสหรัฐ   ( +31.4 % )
          ผลิตภัณฑ์ไม้                       1,504  เหรียญสหรัฐ   ( +32.5 % )
          หินและโลหะมีค่า                   1,343  เหรียญสหรัฐ   ( -48.5 % )
          กาแฟ                             913  เหรียญสหรัฐ   ( -17.3 % )
          ยานยนต์และชิ้นส่วน                   816  เหรียญสหรัฐ   ( +118.7 % )
ที่มา: กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม (MOIT)

          ตลาดส่งออกหลัก ในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 เวียดนามส่งสินค้าออกไปยังยุโรปประมาณ 6.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงมากกว่า 20 % ( y-on-y)  แม้ว่าการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปจะเพิ่มขึ้น  5% ก็ตามการส่งออกไปแอฟริกาลดลงประมาณ 15%  ส่วนการส่งออกไปทวีปเอเชียมีมูลค่า 15.8  พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 30% ( y-on-y) โดยเป็นการค้ากับอาเซียน 5.5  พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 20% (y-on-y) ส่วนการส่งออกไปอเมริกาและโอเชียเนีย เพิ่มขึ้นประมาณ  23%  และ 30%  ตามลำดับ
          ข้อสังเกตุ  :
          -- เวียดนามพยายามครองตลาดแอฟริกา ตะวันออกกลางและลาตินอเมริกาให้ได้ ภายในปี 2553 แต่พบว่าตลาดเหล่านั้น ยังไกลเกินไปสำหรับเวียดนาม เนื่องจากมีความแตกต่างหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นศุลกากร วัฒนธรรม และพฤติกรรมการบริโภค จึงทำให้ความพยายามไม่คืบหน้าเท่าที่ควร ทั้งที่สองฝ่ายมีความพยายามร่วมมือกัน
          -- สหภาพยุโรป ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ เป็นตลาดสำคัญที่เวียดนามยังมุ่งเน้นการส่งออก โดยรัฐบาลสนับสนุนให้สมาคมการค้าต่าง ๆ  ของเวียดนามเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศช่วงเดือนเมษายน —  ตุลาคม 2553   เช่น
          --  สมาคมเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มเวียดนามจะเข้าร่วมงานแสดงสินค้า Globaltex ที่ลอสแองเจลิส และ  งานแสดงสินค้า Magic Show Fair ที่ลาสเวกัส
          --  สมาคมผลิตภัณฑ์ไม้เวียดนามจะเข้าร่วมงานแสดงสินค้าเฟอร์นิเจอร์ไม้ที่นครชิคาโก
          --  สมาคมโกโก้และกาแฟเวียดนามเดินทางไปยังนครนิวยอร์กเพื่อศึกษาและเก็บข้อมูล
          --  สำหรับตลาดยุโรป  สมาคมสหกรณ์เวียดนาม สมาคมซอร์ฟแวร์เวียดนาม   ศูนย์ส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรเวียดนาม จะเข้าร่วมงานแสดงสินค้าที่ประเทศอิตาลี เยอรมนี และฝรั่งเศส ตามลำดับ
          --  ในตลาดญี่ปุ่น นักธุรกิจเวียดนามจะใช้ประโยชน์จากข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจเวียดนาม — ญี่ปุ่น   สำหรับสินค้าเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม  รองเท้า  สินค้าหัตถกรรม  เฟอร์นิเจอร์ไม้และสินค้าเกษตร

3.  การนำเข้า
          ในช่วงครึ่งแรกของปี 2553  การนำเข้าสินค้าควบคุมซึ่งคิดเป็น 11%  ของการนำเข้าทั้งหมดมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 53.1% ( y-on-y) เช่นสินค้าอัญมณีและโลหะมีค่านำเข้าเพิ่มขึ้นถึง 378 %  ชิ้นส่วนและอะไหล่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เพิ่มขึ้น 73% เป็นต้นในขณะที่การนำเข้าสินค้าภายใต้มาตรการจำกัดซึ่งคิดเป็น 7% ของการนำเข้าทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น 21.5% การนำเข้าของเวียดนามในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 มีมูลค่า 38.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้น  29.4%  ( y-on-y)

                 สินค้านำเข้า  10  อันดับแรก ( มค. — มิย. 2553 ) ของเวียดนาม
- เครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์และชิ้นส่วน             6,103  เหรียญสหรัฐ   ( + 13.1 %)
- น้ำมันสำเร็จรูป                                3,286  เหรียญสหรัฐ   (  + 11.6 %)
- เหล็กกล้า                                    2,752  เหรียญสหรัฐ   ( + 29.1 % )
- ผ้าผืน                                       2,528  เหรียญสหรัฐ   ( + 27.0 % )
- คอมพิวเตอร์ อิเล็คโทรนิคส์และชิ้นส่วน               2,193  เหรียญสหรัฐ   ( + 37.8 % )
- เม็ดพลาสติก                                  1,619  เหรียญสหรัฐ   ( + 38.1 % )
- สิ่งทอ เสื้อผ้า และเครื่องหนัง                     1,260  เหรียญสหรัฐ   ( + 35.7 % )
- โลหะสามัญ                                   1,224  เหรียญสหรัฐ   ( + 110.4 % )
- อาหารสัตว์และวัตถุดิบ                           1,157  เหรียญสหรัฐ   ( + 40.6 % )
- เคมี                                          951  เหรียญสหรัฐ   ( + 30.1 % )
ที่มา:  กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม (MOIT)

ตลาดนำเข้าหลัก
          - จีน กลายเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ของเวียดนามในเวลาอันรวดเร็ว โดยในครึ่งแรกของปี 2553 เวียดนามนำเข้าสินค้าจากจีนเป็นมูลค่า 7.4  พันล้านเหรียญสหรัฐ  คิดเป็นสัดส่วน 23.3% ของการนำเข้าทั้งหมดของเวียดนาม ทั้งนี้ เวียดนามขาดดุลให้กับจีนถึง 5.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ( เมื่อปี 2552 เวียดนามขาดดุลจีนถึง 6 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 90% ของการขาดดุลทั้งหมด )
          - อาเซียน  ในครึ่งแรกของปี 2553  เวียดนามนำเข้าสินค้าจากอาเซียนเป็นมูลค่า 6.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยนำเข้าจากไทยมากเป็นอันดับหนึ่งในมูลค่า 2.0 พันล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาคือสิงคโปร์และมาเลเซียในมูลค่า 1.7  และ  1.3  พันล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ
          - เกาหลีใต้  ญี่ปุ่น  จีนไทเปและสหรัฐฯ ในครึ่งแรกของปี 2553 เวียดนามนำเข้าสินค้าจากประเทศดังกล่าวเป็นมูลค่า  3.4, 3.3, 2.7 และ 1.4  พันล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ
          ข้อสังเกตุ :
          - การขาดดุลการค้าของเวียดนามที่มีต่อจีนคิดเป็น 15% ของ GDP และเวียดนามยังต้องพึ่งพิงวัตถุดิบที่นำเข้าจากจีนมากกว่า 80% ดังนั้นการลดค่าเงินหยวนของจีนจึงทำให้ต้นทุนการผลิตของเวียดนามเพิ่มขึ้น
          - การขยายตัวทางเศรษฐกิจของเวียดนามส่วนใหญ่ขึ้นกับการลงทุนประสิทธิภาพในการผลิตมีส่วนร่วมเพียง 20% ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่ยั่งยืนของการพัฒนา
          - เป็นการยากที่เวียดนามจะคงการขาดดุลให้ได้ในอัตราที่ต่ำกว่า 20% ของมูลค่าการส่งออกตามเป้าหมายของรัฐบาล เพราะราคาของสินค้านำเข้าส่วนใหญ่และวัตถุดิบได้เพิ่มขึ้นอย่างมากตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวประกอบกับเวียดนามลดค่าเงินด่องลง 6.4 % เมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐ เมื่อปลายปี 2552 ที่ผ่านมาทำให้ราคาสินค้านำเข้าเพิ่มขึ้นมากกว่ามูลค่าการส่งออก


4. การค้าระหว่างเวียดนามกับประเทศไทย
                                                              หน่วย : ล้านเหรียญสหรัฐ
                       2549       2550      2551       2552       2553 (มค.-มิย.)
   มูลค่าการค้า          3,970      4,916     6,468       6,064        3,252.30
   (อัตราขยายตัว)      22.00%     23.80%    31.60%      -6.20%          28.20%
   การส่งออกมาไทย        895      1,112     1,450    1,385.40          624.60
   (อัตราขยายตัว)       0.70%     24.20%    30.40%      -4.50%           4.30%
   การนำเข้าจากไทย     3,075      3,804     5,018    4,678.40        2,627.70
   (อัตราขยายตัว)      30.10%     23.70%    31.90%      -6.80%          36.00%
    ดุลการค้า          -2,180     -2,692    -3,568   -3,293.00       -2,003.10
ที่มา:  ศูนย์เทคโนโลยีและการสื่อสาร

          การค้าสองฝ่ายระหว่างเวียดนามกับไทยในช่วงปี  2550 - 2552 มีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 5.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งคิดเป็นเพียง 2% ของการค้าไทยกับตลาดโลกและ 5% ของการค้าเวียดนามกับตลาดโลกทั้งนี้เกือบ 80% ของมูลค่าการค้าสองฝ่ายเป็นการส่งออกของไทยมายังเวียดนาม ทำให้เวียดนามขาดดุลการค้าให้กับไทยมูลค่า 3.3 พันล้านเหรียญสหรัฐในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 ซึ่งเพิ่มจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึง 28.5% คาดว่ามูลค่าการค้าสองฝ่ายทั้งปีจะเป็น 7,000  ล้านเหรียญสหรัฐ


                              การส่งออกสินค้าสำคัญจากเวียดนามมายังไทย
                                      ( มค.—พค. 2553 )
                                                                          หน่วย: ล้านเหรียญสหรัฐ
                                              มูลค่า      สัดส่วนต่อการส่งออกทั้งหมด (%)
มูลค่าส่งออกทั้งหมด                               453.5               1.41
   - ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้า         81.8               5.37
   - เครื่องจักร  อุปกรณ์และชิ้นส่วน                  48.3               4.67
   - อาหารทะเล                                22.5               1.11
   - น้ำมันดิบ                                   19.3               0.74
   - ถ่านหิน                                    12.6               1.59
   - เม็ดมะม่วงหิมพานต์                            8.3               1.95
   - ผลิตภัณฑ์พลาสติก                              8.1               1.74
ที่มา: GDVC


                             การนำเข้าสินค้าไทยที่สำคัญของเวียดนาม
                                  ( มค. — พค. 2553 )
                                                                        หน่วย :  ล้านเหรียญสหรัฐ
                                              มูลค่า      สัดส่วนต่อการส่งออกทั้งหมด (%)
มูลค่านำเข้าทั้งหมด                              2,030.9              6.41
   -  เครื่องจักร อุปกรณ์และส่วนประกอบ              181.9              3.63
   -  อุปกรณ์รถจักรยานยนต์                        160.2             52.62
   -  เครื่องแต่งรถยนต์                           156.5             20.85
   -  ผลิตภัณฑ์พลาสติก                            131.1              9.30
   -  น้ำมันสำเร็จรูป                             117.0              4.16
   -  เหล็กและผลิตภัณฑ์                           105.1              3.70
   -  เส้นใย                                    56.8             13.31
   -  รถจักรยานยนต์                              13.9             29.02
ที่มา : GDVC


ประเทศคู่แข่งของไทย
          สินค้าสำคัญที่ไทยส่งเข้ามาจำหน่ายในตลาดเวียดนามช่วงครึ่งแรกของปี 2553 ทุกรายการมีจีนเ ป็นผู้ครองตลาดส่วนใหญ่ยกเว้นเครื่องตกแต่งรถยนต์ที่ไทยส่งเข้ามาจำหน่ายเป็นอันดับ 1 รองมาคือญี่ปุ่น เกาหลีใต้และจีน และรถมอเตอร์ไซด์ที่ไทยส่งเข้ามาจำหน่ายเป็นอันดับ 2 รองจากอิตาลี ส่วนจีนเป็นอันดับ 3
          ในอาเซียน  ปีนี้ไทยสามารถส่งสินค้าเข้ามาจำหน่ายในเวียดนามมากเป็นอันดับ 1 แซงหน้าสิงคโปร์และมาเลเซีย
          จาการที่เวียดนามขาดดุลการค้ามากขึ้น ทำให้เวียดนามประกาศใช้มาตรการ automatic import licensing สำหรับสินค้าหลายรายการรวมสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งมาตรการดังกล่าวต้องขออนุญาตในการนำเข้าสินค้าทุกครั้ง ไม่ใช่ยื่นขอเพียงครั้งเดียวเหมือนใบอนุญาตทั่วไป  และต้องยื่นขอทางไปรษณีย์เท่านั้น ทางการเวียดนามจะออกเอกสารให้ภายในเวลา 7 วันทำการและส่งคืนให้ทางไปรษณีย์เช่นกัน ดังนั้น กว่าที่ผู้นำเข้าจะได้รับออกของต้องรอการเดินทางของเอกสารทางไปรษณีย์ไม่น้อยกว่า 11 วัน ทำให้สินค้าต้องติดค้างที่ท่าเรือเป็นจำนวนมากและหากไม่สามารถดำเนินการออกของได้ภายใน 14 วัน ทางบริษัทเรือก็จะมีเบี้ยปรับ  ทำให้สินค้ามีต้นทุนการนำเข้าสูงขึ้น
          ประกาศฉบับนี้ออกเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2010 มีผลกระทบต่อสินค้าไทยเพราะทำให้มีต้นทุนจำหน่ายที่สูงขึ้นและเพิ่มความยุ่งยากทางเอกสารในการนำเข้า เปรียบเสมือนเป็นการจงใจถ่วงเวลาในการนำเข้าสินค้าเป็นอย่างมาก


          สคร.นครโฮจิมินห์

          ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ