จีนปรับยุทธศาสตร์เป็นฐานการผลิตสินค้าของโลก

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 24, 2010 13:44 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ที่ผ่านมา กูรูด้านการตลาดหลายๆ ท่าน อาจมองว่าจีนเป็นฐานการผลิตสำหรับสินค้าราคาถูก สินค้าตลาด Mass สินค้าขั้นปฐมที่ไม่ต้องการรายละเอียด หรือมีรูปแบบมากนัก หรือไม่การสั่งซื้อต้องสั่งคราวละมากๆ แต่ปัจจุบันอาจต้องเริ่มเปลี่ยนความคิดใหม่ ผลการศึกษาของหน่วยงานรัฐบาลฮ่องกง Hong Kong Trade Development Counsil: HKTDC พบว่าเมื่อจีนประสบปัญหาค่าแรงคนงานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และก้าวกระโดด จนกระทั่งปัจจุบันค่าแรงโดยทั่วไปของคนงานในจีนสูงกว่าประเทศผู้ผลิตใหม่ๆ ในเอเซีย เช่น เวียดนาม กัมพูชา บังคลาเทศ ทำให้จีนต้องปรับยุทธศาสตร์การผลิตสินค้าของโลกที่ผ่านมาของตนเอง เป็น “จีน บวก หนึ่ง” โดยสร้างเครือข่ายผู้ผลิตใหม่ อาศัยจีนจะป้อนวัตถุดิบให้กับการผลิตของประเทศค่าแรงถูกเหล่านั้น เพื่อใช้ผลิตสินค้าที่เน้นการใช้แรงงาน หรือสินค้าขั้นปฐม ส่วนการผลิตในจีนก็จะเน้นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง หรือสินค้าไฮเทคมากขึ้น ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของจีน ด้านการเป็นฐานการผลิตสินค้าของโลกยังสูงอยู่

เครือข่ายผู้ผลิตใหม่

ต้นทุนการผลิตในจีนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะค่าแรง ซึ่งสร้างความกังวลให้กับผู้ซื้อจากต่างประเทศ มีบางรายเริ่มแสวงหาสินค้าจากแหล่งผลิตอื่นโดยเฉพาะจากประเทศผู้ผลิตใหม่ๆ ในเอเซียที่มีต้นทุนถูกกว่า แต่จีนมองเป็นโอกาสทีจะพัฒนากลยุทธ์ “จีน บวก หนึ่ง” โดยสร้างเครือข่ายการผลิตใหม่ ใช้ฐานการผลิตของประเทศผู้ผลิตใหม่ในเอเซีย ที่มีค่าแรงถูกกว่า เช่น เวียดนาม ช่วยผลิตสินค้าที่ใช้เน้นการแรงงาน (labour intensive goods) ในขณะที่จีนจะพัฒนาไปสู่ผู้ผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง สินค้าไฮเทคและสินค้าปลายน้ำมากขึ้น

ภาพรวมความสามารถในการแข่งขันของสินค้าจีนยังสูงต่อเนื่อง

ส่วนแบ่งการตลาดโลกของสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก ร้อยละ 4.7 ในปี 2000 เป็น ร้อยละ 12.7 ในปี 2008

% share in world exports of manufactures
                  2000     2006     2007     2008   Average growth 2000-2008
China             4.67    10.84    11.94    12.71            25.20%
India             0.69     0.97     0.99     1.07            16.60%
Vietnam           0.13     0.25     0.28     0.31            23.10%
Indonesia         0.79     0.54     0.51      0.5             4.50%
Cambodia          0.03     0.04     0.04     0.04            15.00%
Bangladesh        0.13     0.13     0.11     0.13            10.90%
Source:  International Trade Statistics 2009, WTO


          สำหรับประเทศผู้ผลิตเกิดใหม่ในเอเซียแม้การส่งออกจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก แต่ส่วนแบ่งในตลาดโลกก็ยังน้อย เมื่อเทียบกับจีน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความสามารถในการส่งออกในภาพรวม ตลอดทั้งความหลากหลายของสินค้ายังตามหลังจีนอยู่ ดังจะเห็นจาก ระหว่างปี 2006-2009 เวียดนามส่งออกไปสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น ร้อยละ 18.8 และ 9.3 ตามลำดับ แต่ส่วนแบ่งในตลาดทั้งสองก็ยังน้อยอยู่ คือร้อยละ 0.9


The us non-oil import share by country of origin
                                                            (%)
                  2006    2007    2008    2009      Average growth 2006-2009
China             18.8    20.2    20.8    23.0               5.7
India              1.4     1.5     1.6     1.6               4.5
Vietnam            0.5     0.6     0.7     0.9              18.8
Indonesia          0.8     0.9     0.9     1.0               2.4
Cambodia           0.1     0.2     0.1     0.1               3.5
Bangladesh         0.2     0.2     0.2     0.3               8.6
Source: US Customs


The EU non-oil imports (extra-EU) share by country of origin
                                                         (%)
                  2006    2007    2008    2009   Average growth 2006-2009
China             18.8    21.1    22.3    23.6           8.7
India              2.1     2.3     2.4     2.6           7.3
Vietnam            0.7     0.7     0.8     0.9           9.3
Indonesia          1.1     1.1     1.1     1.2           1.8
Cambodia           0.1     0.1     0.1     0.1          10.2
Bangladesh         0.5     0.5     0.5     0.6           9.5
Source: EU Customs

สินค้าที่ผลิตจากประเทศผู้ผลิตใหม่ๆ ในเอเซีย จะเป็นสินค้าที่ใช้แรงงานเป็นหลักในการผลิตและมีสายการผลิตสั้นๆ ไม่ซับซ้อน

          โครงสร้างสินค้านำเข้า ในตลาดสหรัฐอเมริกา ในปี 2009 นำเข้าสินค้าหลายชนิดจากจีน ตั้งแต่อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิกส์ ไปจนถึงเสื้อผ้า ของเด็กเล่น รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ ในขณะที่สินค้านำเข้าจากเวียดนาม ร้อยละ 63 เป็น เสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ รองเท้า  ส่วนสินค้าที่นำเข้าจากกัมพูชาและบังคลาเทศ ร้อยละ 90 เป็นเสื้อผ้า ซึ่งโครงสร้างการนำเข้าในสหภาพยุโรปก็จะมีลักษณะคล้ายคลึงกัน
          ดังนั้นการเพิ่มส่วนแบ่งตลาดของสินค้าส่งออกจากประเทศผู้ผลิตใหม่ๆ ในเอเซีย ไม่ได้เป็นการแย่งส่วนแบ่งตลาดสินค้าจีน ดังจะเห็นจากการส่งออกสินค้าจากจีนในพิกัดเดียวกัน ก็ยังขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในตลาดสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป

ต้นทุนที่สูงขึ้นในจีนส่งผลให้ต้องปรับโครงสร้างการผลิตใหม่
          ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาค่าแรงในจีนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเริ่มสูงกว่าค่าแรงโดยเฉลี่ยของประเทศผู้ผลิตใหม่ในเอเซีย จากการสำรวจของ JETRO พบว่าในปี 2009 ค่าแรงเฉลี่ยของคนงานในโรงงานญี่ปุ่นในจีน อยู่ที่ 4,000 เหรียญสหรัฐฯต่อคนต่อปี ในขณะที่ โรงงานในเวียดนาม และบังคลาเทศ อยู่ที่ 2,000 เหรียญสหรัฐฯ และ 1,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อปีต่อคน ตามลำดับ
          ด้วยค่าแรงที่แตกต่างกันมาก ทำให้ผู้ซื้อหรือโรงงานผู้ผลิตหันมาปรับโครงสร้างการผลิตเพื่อใช้ประโยชน์จากค่าแรงที่ถูกในประเทศผู้ผลิตใหม่ๆ ในเอเซีย สำหรับการผลิตสินค้าที่ใช้แรงงานสูงหรือมีสายการผลิตไม่ซับซ้อน ซึ่งจะเห็นจากสหรัฐฯนำเข้าเสื้อผ้าจากเวียดนามและบังคลาเทศ  เป็นเสื้อประเภท pullover sweatshirts ที่ทำจากผ้าฝ้าย หรือ เสื้อ t-shirt และกางเกงขาสั้น พิกัด HS6110 และ HS6204  ในขณะที่จะนำเข้าจากจีน แม้บางสินค้าจะเป็นพิกัดเดียวกันกับเวียดนามและบังคลาเทศแต่จะมีความหลากหลายในวัตถุดิบที่ใช้ผลิต เช่น ใช้ผ้า wool หรือไหม มีลูกเล่น มีแบบเพิ่มเติมมากขึ้น
          นอกจากนี้ บางบริษัท เช่น บริษัทผู้ผลิตรองเท้ายักษ์ใหญ่ในจีน เช่น Yue Yuen   มีแผนจะย้ายสายการผลิตสินค้าสำหรับตลาด mass หรือสินค้าราคาถูก ไปเข้าไปในจีนตอนในและประเทศผู้ผลิตใหม่ในเอเซีย ในขณะที่คงการผลิตสำหรับสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ไว้อยู่ที่เดิม ซี่งการย้ายฐานการผลิตเช่นนี้ถือเป็นการขยายสายการผลิตของจีน และไปแย่งส่วนแบ่งตลาดจากประเทศผู้ผลิตแถบอื่นๆ เช่น ลาตินอเมริกา ไม่ใช่จากจีน

ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าจีนไม่ใช่อยู่ที่ราคาอย่างเดียว
          เมื่อพิจารณาส่วนแบ่งตลาดสินค้าจีนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ต้นทุนการผลิตจะเพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกันก็ตาม แสดงว่าปัจจัยที่ทำให้สินค้าจีนสามารถแข่งขันไม่ใช่ขึ้นอยู่กับราคาอย่างเดียวแล้ว  ความคุ้มค่าของสินค้าเมื่อเปรียบเทียบกับราคา ความรวดเร็วในการผลิตและส่งมอบสินค้า   ตลอดทั้งความยืดหยุ่นในการสั่งซื้อสินค้าแต่ละรายการ ฯลฯ อาจเป็นปัจจัยบวกทำให้สินค้าจีนยังครองตลาดอยู่
          เช่น ผู้ประกอบการเสื้อผ้าในฮ่องกง อาจหาผู้ผลิตสินค้าพื้นๆ จากประเทศผู้ผลิตใหม่ๆ ในเอเซีย และอาเซียนได้ในราคาที่ถูกกว่าจีน โดยจะต้องสั่งซื้อในแต่ละครั้งเป็นจำนวนมาก แต่หากต้องการสินค้าที่มีแบบ มีดีไซด์ และต้องอาศัยฝีมือในการตัดเย็บที่สูงกว่า รวมทั้งต้องการจำนวนไม่มาก และต้องการด่วน  ผู้ผลิตในจีนโดยเฉพาะแถบ Pearl River Delta: PRD สามารถทำให้ได้ ซึ่งสำหรับผู้ประกอบการฮ่องกงแล้ว สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและมีดีไซน์ จะทำให้กำไรมากขึ้น โดยสินค้าเหล่านั้นต้องการการผลิตที่ใช้ฝีมือและส่วนใหญ่จะสั่งในจำนวนไม่มาก

จีนมีแรงงาน ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
          ค่าแรงสูงขึ้นของจีนเป็นการปรับให้เหมาะสมกับฝีมือแรงงานและประสิทธิภาพที่สูงขึ้น ดังจะเห็นจากตัวเลขผลผลิตโดยเฉลี่ยต่อหัวของคนงานในจีนสูงกว่า ในเวียดนาม บังคลาเทศ หรือกัมพูชา และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับประเทศผู้ผลิตใหม่ๆ ในเอเซียอื่นๆ

Average output* per employed person
 (Manufacturing Sector)
                    2008
China             22,500
Vietnam            8,100
Bangladesh         7,200
Cambodia           4,200
*manufacturing output in GDP accounting, in terms of PPP adjusted current US dollar
Source: HKTDC estimation, based on CEIC, various governments and IMF statistics


 Average annual growth of labour
  productivity (2000-20007)
                          %
                        2000-2007
China                    6.4
Vietnam                  3.9
Indonesia                3.9
Cambodia                 3.6
Bangladesh               1.9
India                    0.5

Source: APO Productivity Databook 2010, Asian Productivity Organization

การมี industrial cluster ที่เข้มแข็งเป็นข้อได้เปรียบของจีน

นอกจากฝีมือและประสิทธิภาพของแรงงานจีนแล้ว การรวมกลุ่มอุตสาหกรรม ตลอดสายการผลิตทีเข้มแข็ง (industrial cluster) รวมทั้งมีบริการสนับสนุนที่ครบครัน เช่น การขนส่ง การทดสอบทางห้องปฏิบัติการ ทำให้ผู้ประกอบการเมื่อได้รับคำสั่งซื้อก็เชื่อมั่นว่าจะสามารถหาวัตถุดิบ อุตสาหกรรมสนับสนุน หรืออะไหล่รองรับตลอดสายการผลิตในจีน ได้ง่าย สะดวก และประหยัด ซึ่งจะไม่เพียงแต่ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงเท่านั้น แต่จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและย่นระยะเวลาในการผลิตและส่งมอบสินค้าลงด้วยโดยคลัสเตอร์อุตสาหกรรมแถบลุ่มแม่น้ำเพิรล์( PRD) และ แม่น้ำแยงซี (YRD) จะอาศัยตลาดค้าส่ง เป็นเวทีในการพบปะโรงงานผู้ผลิต ผู้ค้าปลีก และลูกค้า ซึ่งจะช่วยร่นเวลาและต้นทุนในการหาผู้ค้า

จีนผลิตสินค้าที่มี Local Content เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ

อัตราส่วนการส่งออกต่อการนำเข้าสินค้าของจีน (net exports to imports raito) ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในสินค้าหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ สินค้าอิเลคทรอนิกส์ (HS84 และ HS85) จากที่ติดลบในปี 2003 ปรับเป็นบวกได้ในปี 2006 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสินค้าในหมวดนี้ใช้ local content มากขึ้นเป็นลำดับ

The ratio of net exports to imports*
    year    All manufactured         HS84     HS85
                   goods
    2002           20.8              -2.6    -11.1
    2003           18.7              16.6    -14.4
    2004           24.5              29.3     -8.7
    2005           39.2              55.4     -1.4
    2006           51.6              70.5      3.9
    2007           62.2              83.8     16.6
    2008           75.6              93.7     28.3
*(export-import)/imports*100
Source:  China Statistical Yearbook,various issues

ประเทศผู้ผลิตใหม่ยังต้องพึ่งพาวัตถุดิบนำเข้า
          เวียดนาม ยังต้องพึ่งการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศในการผลิตสินค้าเพื่อส่งออก วัตถุดิบกว่าร้อยละ 80 ของสินค้ารองเท้า และกว่าร้อยละ 70 ของสินค้าเสื้อผ้าที่ผลิตในเวียดนามต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และประเทศที่เป็นแหล่งป้อนวัตถุดิบหลักได้แก่ จีน และจากการขาดแคลนวัตถุดิบที่ผลิตได้ในประเทศ ทำให้ เฉพาะโรงงานผลิตใหญ่ๆ ในเวียดนาม ที่มีสายป่านยาวเท่านั้น ที่สามารถผลิตสินค้า โดยไม่มีปัญหาการหยุดชะงักการผลิตเนื่องจากขาดแคลนวัตถุดิบ
          สินค้าเสื้อผ้าส่งออกของเวียดนามขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้จีนส่งออกวัตถุดิบ  ผ้าผืนมากเวียดนามเพิ่มขึ้นด้วย โดยช่วงปี 2005-2008 การส่งออกผ้าผืนจากจีนมาเวียดนามขยายตัวในอัตราเฉลี่ยถึงกว่าร้อยละ 40  ปรากฎการณ์นี้จึงเป็นเสมือนการสร้างเครือข่ายการผลิตสินค้าสู่ตลาดโลก โดยจีนเป็นผู้ผลิตสินค้าปลายน้ำและใช้ประโยชน์จากประเทศผู้ผลิตใหม่ในเอเซียที่มีแรงงานราคาถูก ให้เป็นประโยชน์

ความประหยัดจากขนาดของการผลิต (Economy of Scale) ทำให้สินค้าจีนได้เปรียบ
          ในระยะยาว  เป็นที่คาดได้ว่า เมื่อสิทธิประโยชน์จากข้อตกลงระดับทวิภาคี ของประเทศต่างๆกับสหรัฐฯและสหภาพยุโรป หมดลงประเทศผู้ผลิตเล็กๆ   อาจพบความยากลำบากในการแข่งขันกับผู้ผลิตรายใหญ่ ที่มีความพร้อมด้าน supply chain ด้านมาตรฐานความยืดหยุ่นในจำนวนคำสั่งซื้อ

จีนให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี่และการวิจัยพัฒนา
          สำหรับอุตสาหกรรมอิเลคทรอนิกส์ ซึ่งจีนมีการเจริญเติบโตแบบก้าวกระโดด ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยจีนหันมาให้ความสำคัญ ด้าน R&D ในอุตสาหกรรมไฮเทค เพิ่มมูลค่าของสินค้า ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ในประเทศเพื่อป้อนอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเลคทรอนิกส์ รวมทั้งมีการขยายโรงงานผลิตเข้าไปในตอนในของจีนมากขึ้น จึงเป็นที่คาดได้ว่าความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมอิเลคทรอนิกส์ของจีนจะเพิ่มมากขึ้น

ผู้ประกอบการฮ่องกงยังเชื่อมั่นในการเป็นฐานการผลิตสินค้าของจีน
           จากการสำรวจของ HKTDC พบว่าผู้ประกอบการฮ่องกงยังคงเชื่อมั่นในความสามารถในการแข่งขันของจีนในการเป็นฐานการผลิตสินค้าของโลก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมในแถบลุ่มแม่น้ำเพิรล์ ( PRD)
          และเมื่อให้จัดลำดับความสำคัญฐานการผลิตสินค้าของโลก นักธุรกิจฮ่องกงเห็นว่า 5 อันดับแรกอยู่ในจีนทั้งหมดโดยมี บริเวณแถบลุ่มแม่น้ำเพิรล์ (PRD) และ แยงซี(YRD) ได้คะแนนสูงสุด  และมีเวียดนามเป็นคู่แข่งนอกประเทศที่สำคัญที่สุด

ภาพรวมความสามารถในการแข่งขันของจีน
          ความสามารถในการแข่งขันในการเป็นฐานการผลิตสินค้าของจีน หากพิจารณาเฉพาะปัจจัยด้านต้นทุน ค่าแรงงาน วัตถุดิบ และราคาที่ดินแล้ว เวียดนามอาจจะอยู่ในฐานะได้เปรียบกว่า แต่เมื่อพิจารณาแต่ละปัจจัยอย่างละเอียดแล้ว พบว่าจีนยังน่าสนใจอยู่ เช่นด้านแรงงาน แม้ค่าแรงจีนจะแพงกว่า แต่ในด้าน ฝีมือ ประสิทธิภาพการผลิต และพฤติกรรมคนงาน จีนจะมีภาษีดีกว่า จากผลสำรวจกระทรวงแรงงานเวียดนามเร็วๆ นี้ พบว่าแรงงานมีฝีมือในเวียดนามยังมีน้อย  ระดับค่าจ้างก็มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ค่าจ้างขั้นต่ำของคนงานในโรงงานต่างชาติปรับขึ้นถึงร้อยละ 8.7 ถึง 11.7 การประท้วงนัดหยุดงานเกิดขึ้นบ่อยครั้ง จาก 387 ครั้งในปี 2006 เป็น 773 ครั้งในปี 2008
          ด้านการพัฒนาสินค้า การออกแบบ และการบริหารจัดการซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการฮ่องกงให้ความสำคัญสูง เพราะเป็นการยกระดับการผลิตให้สินค้ามีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น พบว่าจีนมีการพัฒนามากกว่าเวียดที่เกี่ยวข้อง
          นอกจากนี้  จีนมีการรวมกลุ่มของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง (Cluster Industry) ที่เข้มแข็ง ตลอดสายการผลิต ทำให้สะดวก ประหยัดและรวดเร็วในการหาวัตถุดิบ
          การผลิตสินค้าที่เน้นการใช้แรงงาน หรือสินค้าที่มีความอ่อนไหวกับระดับราคาอาจย้ายฐานไปผลิตในประเทศผู้ผลิตใหม่ในเอเซีย  ในขณะที่จีนหันมาผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงมีความซับซ้อนในขั้นตอนการผลิต สินค้าใช้เทคโนโลยี่สูง โดยอาศัยการที่จีนมีตลาดในประเทศขนาดใหญ่รองรับสินค้าที่มีคุณภาพดี จะช่วยผลักดันนวตกรรมใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นอย่างเร็วและมีประสิทธภาพมากขึ้น ซึ่งในที่สุดก็จะเป็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของจีนเอง


          สำนักงานส่งเสริมการค้าฯ  ณ เมืองฮ่องกง

          ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ