America Goes Dark โดย Paul Krugman

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 24, 2010 13:58 —กรมส่งเสริมการส่งออก

Paul Krugman นักเศรษฐศาสตร์อเมริกันที่เคยได้รับรางวัลโนเบิล เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์ The New York Times เร็วๆนี้ โดยจั่วหัวเรื่องว่า "America Goes Dark"

อเมริกาจะเข้าสู่ยุคแห่งความมืดจริงดังที่ Paul Krugmanเขียนไว้หรือไม่ ลองมาอ่านเรื่องราวในบทความนี้กันก่อนดีกว่า เขาว่าไว้ดังนี้

"ไฟฟ้ากำลังจะดับทั่วอเมริกาอย่างแน่นอน" Colorado Springs สร้างเหตุการณ์ที่ทำให้ขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์จากความพยายาม (อย่างสิ้นหวัง) ที่จะประหยัดเงินโดยการปิดไฟถนนหนึ่งในสาม แต่เหตุการณ์ลักษณะคล้ายกันนี้กำลังเกิดขึ้นทั่วประเทศสหรัฐฯ ตั้งแต่ Philadelphia ไปจนถึง Fresno

"ประเทศที่ครั้งหนึ่ง (นานมาแล้ว) เคยทำให้โลกตกตะลึง ในวิสัยทัศน์การลงทุนด้านคมนาคม จากคลอง Erie Canal จนถึง ระบบทางหลวงเชื่อมระหว่างรัฐ ปัจจุบันกำลังไม่สามารถแม้แต่จะลาดยางปิดหน้าพื้นถนนตัวเองได้ รัฐบาลท้องถิ่นในหลายมลรัฐต้องปล่อยให้ถนนพังเป็นหลุมเป็นบ่อ เพราะไม่มีงบประมาณที่จะซ่อมบำรุง" เรื่องนี้เป็นเรื่องจริงแท้แน่นอนที่น่าประหลาดใจ คนไทยหลายคนที่ได้ไปเยี่ยมเยียนมหานครนิวยอร์ก จะตกใจกับถนนในเมืองใหญ่แห่งนี้ที่เต็มไปด้วยหลุมบ่อ โดยเฉพาะถนน Broadway บริเวณหน้า Wall Street ซึ่งเป็นจุดที่มีเงินสะพัดในการซื้อขายหุ้นอย่างมหาศาลในแต่ละวัน กลับเต็มไปด้วยหลุม พื้นหน้าถนนเสียหายจนต้องเอาแผ่นเหล็กมาปูทับไว้เป็นระยะๆ เวลาขับรถผ่านก็ต้องคดไปเคี้ยวมาหลบหลุมพวกนี้

"และประเทศที่ครั้งหนึ่งเคยมีชื่อเรื่องการศึกษา เคยเป็นประเทศอันดับต้นของโลกในการให้การศึกษาพื้นฐานกับเด็กๆ เดี๋ยวนี้กลับต้องตัดงบประมาณด้านนี้ ครูถูกลอยแพ โครงการต่างๆถูกยกเลิก และยังมีสัญญาณว่าจะมีการตัดโครงการและงบประมาณเพิ่มอีกในอนาคต"

"คนอเมริกันได้รับการบอกกล่าวว่า เราไม่มีทางเลือกอื่น หน้าที่พื้นฐานของรัฐบาลในการให้บริการที่สำคัญๆต่างๆมาทุกยุคทุกสมัย บัดนี้ไม่สามารถจะหาเงินมาใช้จ่ายได้แล้ว ซึ่งก็เป็นความจริงที่ว่าทั้งรัฐบาลของรัฐฯและรัฐบาลท้องถิ่นเจอมรสุมเศรษฐกิจถดถอย แต่ก็ยังไม่น่าจะต้องรัดเข็มขัดกิ่วแบบนี้ ถ้านักการเมืองจะพิจารณาอย่างน้อยที่สุดก็เรื่องการขึ้นภาษีรายได้ และรัฐบาลกลางที่สามารถออกพันธบัตรระยะยาวในอัตราดอกเบี้ย 1.04% เพื่อป้องกันเงินเฟ้อกลับไม่ต้องรัดเข็มขัดอะไรเลย จึงควรที่จะเสนอให้เงินช่วยเหลือรัฐบาลท้องถิ่น เพื่อปกป้องอนาคตของเด็ก (เรื่องการศึกษา) และของโครงสร้างพื้นฐาน (เรื่องคมนาคม)"

"แต่วอชิงตันกลับให้ความช่วยเหลือแบบกะปริบกะปรอย ยิ่งกว่านั้นคือเหมือนไม่เต็มใจ พรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครตบางพวกพากันพูดแต่ว่า เราต้องให้ความสำคัญอันดับแรกกับการลดการขาดดุลก่อน และยังต้องรักษาระดับการหั่นภาษีพวกคนรวยไว้ที่ต้นทุนงบประมาณ 700 พันล้านเหรียญฯในทศวรรษหน้า ผลก็คือ สิ่งที่นักการเมืองส่วนใหญ่ให้ความสำคัญ คือ ให้ทางเลือกพวกคนรวยที่สุด (2% ของคนอเมริกัน) ว่า จะกลับไปจ่ายภาษีในอัตราที่เคยจ่ายในยุคเฟื่องฟูของประธานาธิบดีคลินตัน หรือจะยอมให้โครงสร้างพื้นฐานของประเทศต้องแตกสลายไป (โดยเฉพาะเรื่องการศึกษาและถนนหนทาง) ปรากฎว่าคนรวยสุดๆพวกนี้เลือกอย่างหลัง!!!!! และทางเลือกนี้เป็นมหันตภัยต่อประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว"

"ในระยะสั้น การตัดงบประมาณของรัฐบาลแห่งรัฐฯและรัฐบาลท้องถิ่น จะเป็นตัวฉุดรั้งเศรษฐกิจ และเพิ่มอัตราการว่างงาน"

"สิ่งสำคัญคือ เราต้องคำนึงถึงรัฐบาลแห่งรัฐและรัฐบาลท้องถิ่นไว้ในใจเสมอ เวลาได้ยินคนโวยเรื่องการใช้จ่ายเงินของรัฐบาลโอบามาที่ออกนอกลู่นอกทาง ใช่แล้ว รัฐบาลกลางกำลังใช้จ่ายเงินมากขึ้นๆแต่รัฐบาลแห่งรัฐฯและรัฐบาลท้องถิ่นกำลังตั้งหน้าตั้งตาตัดงบประมาณ ซึ่งถ้ารวมสองเรื่องนี้เข้าด้วยกัน จะพบว่า การใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างใหญ่หลวงคือ โครงการตาข่ายรองรับกันตก (Safety-Net Program) เช่น การประกันการว่างงาน ซี่งทำให้ต้องใช้เงินสูงมาก"

"เป็นอันว่างบกระตุ้นเศรษฐกิจที่ล้มเหลว ก็คือ เมื่อเราดูการใช้จ่ายของรัฐบาลโดยรวมแล้ว จะเห็นว่าแทบไม่ได้กระตุ้นอะไรเลย และยิ่งการใช้จ่ายของรัฐบาลกลางยังซ้ำๆรอยเดิมในขณะที่รัฐบาลแห่งรัฐฯและรัฐบาลท้องถิ่นยังคงตัดงบประมาณต่อไป ผลก็คือเรากำลังเข้าเกียร์ถอยหลัง"

"ทีนี้ดูซิว่า การไม่ขึ้นภาษีคนรวยเป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยหรือไม่? คำตอบคือ ไม่ใช่แน่นอน เมื่อเรารักษางานไว้ให้ครูนั่นเป็นการช่วยเหลือเรื่องการจ้างงานอย่างชัดเจน แต่แทนที่จะทำอย่างนั้น เราเอาเงินมาให้คนรวยสุดๆมากขึ้น มีความเป็นไปได้สูงว่าเงินนั้นจะนั่งอยู่เฉยๆไม่เคลื่อนไหวไปไหน"

"แล้วเรื่องอนาคตของเศรษฐกิจล่ะ? ที่เรารู้มาเรื่องการเติบโตของเศรษฐกิจคือ ประชากรมีการศึกษาดีและโครงสร้างพื้นฐานคุณภาพสูง เป็นส่วนสำคัญ ประเทศที่กำลังเจริญเติบโตทั้งหลายต่างก็เร่งพละกำลังอย่างใหญ่หลวงเพื่อยกระดับคุณภาพถนน, ท่าเรือ, โรงเรียน แต่ในอเมริกา เรากำลังเดินถอยหลัง"

"เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร? มันเป็นผลสืบเนื่องมา 3 ทศวรรษของการปลุกปั่นให้แอนตี้รัฐบาล การปลุกปั่นซึ่งทำให้คนที่ลงคะแนนเลือกตั้งเชื่อว่า หนึ่งดอลล่าร์ที่ถูกเก็บภาษีไปเป็นหนึ่งดอลล่าร์ที่สูญเปล่า และภาครัฐบาลไม่สามารถทำอะไรที่ถูกต้องได้เลย การรณรงค์แอนตี้รัฐบาลมักจะมาในรูปวลีจากฝ่ายค้านว่า สูญเปล่าและขี้โกง (Waste and Fraud) ซี่งจริงๆแล้ว การสูญเปล่าและขี้โกงไม่ได้มีมากมายขนาดที่ถูกกล่าวหา ตอนนี้การรณรงค์ได้มาถึงจุดแล้ว เรากำลังได้เห็นเป้ายิงว่าใครควรจะต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ การบริการซึ่งทุกคน (ยกเว้นคนรวย)ต้องการ การบริการซึ่งรัฐบาลต้องเป็นผู้ให้ เช่นไฟข้างถนน, ถนนที่รถวิ่งได้, และโรงเรียนรัฐบาลที่มีมาตรฐานและเพียงพอสำหรับประชาชน ฯลฯ"

"ผลลัพธ์สุดท้ายของการรณรงค์ต่อต้านรัฐบาลอันยาวนาน ก็คือ เราได้เลี้ยวผิดทางอย่างอันตรายที่สุด อเมริกากำลังอยู่บนถนนที่ไม่ได้ลาดยางและไม่มีไฟ ซึ่งจะไม่ได้พาเราไปสู่ที่ไหนทั้งสิ้น"

Paul Krugman จบข้อเขียนของเขาอย่างคมชัดตามแบบฉบับ ถึงแม้จะฟังดูค่อนข้างผิดหวัง แต่ก็ยังแฝงการกระตุ้นทั้งฝ่ายรัฐบาลและประชาชนให้หันมาสนใจต่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศอย่างจริงจัง และสนับสนุนความคิดของเขาที่จะให้เก็บภาษีคนรวยเพิ่มขึ้น แน่นอนเรื่องนี้จะกลายเป็นประเด็นใหญ่อย่างแน่นอนในการหาเสียงเลือกตั้งที่กำลังใกล้เข้ามา เนื่องจากขณะนี้รัฐบาลกำลังถูกโจมตีอย่างมากในเรื่องการใช้งบกระตุ้นเศรษฐกิจที่ล้มเหลว และการอุ้มคนรวย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษี หรือการให้ความช่วยเหลือบริษัทการเงินใหญ่ๆที่มีปัญหา คงต้องดูกันว่า รัฐบาลโอบามาจะบริหารประเทศผ่านวิกฤตินี้ไปได้อย่างไร

สำนักงานส่งเสริมการค้ารระหว่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ