สถานการณ์สินค้าอิเล็คทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศญี่ปุ่น เดือนสิงหาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 1, 2010 12:02 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. ภาวะตลาดสินค้าอิเล็คทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า

1.1 จากการที่บริษัทผู้ผลิตสินค้าอิเล็คทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าได้พัฒนา และผลิตสินค้าที่มีรูปแบบ และการใช้งานที่แตกต่างกันตามรสนิยมของแต่ละประเทศ ทำให้เสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก ดังนั้นบริษัทจึงวางแผนที่จะลดค่าใช้จ่ายดังกล่าว โดยจะเน้นการผลิตสินค้าที่มีรูปแบบ และการใช้งานที่เหมือนกัน บริษัท Panasonic จะผลิตเครื่องฟอกอากาศที่ขายทั่วเอเชีย รวมทั้งญี่ปุ่น จีน และตะวันออกกลาง โดยใช้แม่พิมพ์เดียวกันสำหรับตัวเครื่อง และอุปกรณ์หลัก จะแตกต่างเฉพาะสีเท่านั้น ส่วน Mitsubishi จะเปิดตัวตู้เย็น 5 รุ่นที่มีรูปแบบ และขนาดเท่ากันเพื่อจำหน่ายในตลาดโลก และคาดว่าจะสามารถประหยัดต้นทุนได้ถึงร้อยละ 20 สำหรับค่าแม่พิมพ์ และ Toshiba จะผลิตเครื่องซักผ้าที่มีรูปแบบเดียวกันจำหน่ายในญี่ปุ่น จีน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

1.2 การแข่งขันในตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าค่อนข้างสูงในจีนทำให้บริษัท Sony จำต้องลดราคาสินค้า โดยจำหน่ายโทรทัศน์ขนาด 32 นิ้ว ราคา 38,000 เยน ลดลงร้อยละ 33 เพื่อดึงดูดกลุ่มลูกค้าในเมืองเล็ก และชนบท และ Panasonic ลดราคาสินค้าบางรุ่นถึงครึ่งหนึ่งของราคาเดิม คาดว่าจีนจะเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของโทรทัศน์จอแบนในปี 2554 ทั้งนี้ผู้ประกอบการญี่ปุ่นต้องประสบปัญหาการแข็งค่าขึ้นของเงินเยนต่อหยวนร้อยละ 7.4 ในขณะที่คู่แข่งจากเกาหลีค่าเงินวอนต่อหยวนลดต่ำลงร้อยละ 1.2

2. ผลประกอบการของบริษัทผู้ผลิตชั้นนำ

ผลจากปริมาณความต้องการโทรทัศน์ LCD และ LCD chip ขยายตัวสูงขึ้น ทำให้เหล่าบริษัทชั้นนำในญี่ปุ่นต่างมีผลกำไรในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 (เมษายน-มิถุนายน) ดังนี้

  • บริษัท Panasonic มีกำไรสุทธิ 4.36 หมื่นล้านเยน จากเดิมที่ขาดทุนถึง 5.29 หมื่นล้านเยนในปี 2552 ยอดจำหน่ายสูงขึ้นร้อยละ 35 จำนวน 2.16 แสนล้านเยน
  • บริษัท Sony มีกำไรสุทธิ 2.57 หมื่นล้านเยน ผลมาจากการที่ยอดขายโทรทัศน์พุ่งสูงขึ้นร้อยละ 60 ที่ 5.1 ล้านเครื่อง รวมทั้งการลดค่าใช้จ่ายทำให้บริษัทมีผลกำไรครั้งแรกในรอบ 8 ปี ยอดจำหน่ายสูงขึ้นร้อยละ 4 จำนวน 1.66 แสนล้านเยน
  • ส่วน Toshiba มีกำไรสุทธิ 400 ล้านเยน ผลมาจากความต้องการ LCD chip รวมทั้งจอภาพขนาดกลาง ทำให้ยอดจำหน่ายสูงขึ้นร้อยละ 10 จำนวน 1.46 แสนล้านเยน
  • บริษัท Sharp มีกำไรสุทธิ 1.06 หมื่นล้านเยน ผลมาจากการที่โทรทัศน์ LCD มียอดขายเพิ่มเป็น 2.69 ล้านเครื่อง รวมทั้งความต้องการโซลาร์เซลล์ที่สูงขึ้นทำให้ยอดจำหน่ายสูงขึ้นร้อยละ 24 จำนวน 7.4 หมื่นล้านเยน
3. ความเคลื่อนไหวของบริษัท

3.1 จากสภาวะการแข่งขันในตลาดในประเทศ รวมทั้งในตลาดโลก บริษัท Panasonic Corp. ประกาศภายหลังจากการประชุมผู้ถือหุ้นว่า จะควบรวมกิจการบริษัท Sanyo Electric และบริษัท Panasonic Electric Works ทั้งนี้ Panasonic Corp. ได้เข้าถือหุ้นใน Sanyo ร้อยละ 50.2 ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2552 และถือหุ้นใน Panasonic Electric Works ร้อยละ 52.1 ตั้งแต่ปี 2547 โดย Panasonic Corp. ตั้งใจที่จะรวมธุรกิจของทั้ง 2 บริษัท และปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ให้เสร็จภายในเดือนมกราคม 2555 โดยตั้งเป้าว่าจะเป็นผู้นำในการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และใช้แบรนด์ Panasonic กับสินค้าทุกตัว คาดว่าการที่จะซื้อบริษัททั้งสองแห่งครั้งนี้จะใช้เงินมากกว่า 8 พันล้านเหรียญสหรัฐ

3.2 บริษัท Sharp จะเพิ่มปริมาณการผลิตสินค้าในเอเชีย โดยจะผลิตตู้เย็นจำนวน 1.5 ล้านเครื่อง และ โทรทัศน์ LCD จำนวน 120,000 เครื่องต่อปี ที่ประเทศอินโดนีเซีย ส่วนในประเทศไทยจะเพิ่มการผลิตตู้เย็นจำนวน 1 ล้านเครื่องต่อปี และบางส่วนจะส่งไปจำหน่ายในยุโรป และตะวันออกกลาง ทั้งนี้ Sharp วางแผนที่จะขยายตลาดไปยังแอฟริกา โดยจะจ้างผลิตโทรทัศน์จำนวน 90,000 เครื่องในอียิปต์ โดยใช้ชิ้นส่วนจากญี่ปุ่น และเปิดสำนักงานขายในอียิปต์ แอฟริกาใต้ และอิหร่าน

4. ภาวะการส่งออกและนำเข้าสินค้าอิเล็คทรอนิกส์ของญี่ปุ่น

การส่งออกสินค้าอิเล็คทรอนิกส์ในเดือนมิถุนายน 2553 มีมูลค่า 9.1 แสนล้านเยน เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 จากปี 2552 และการส่งออกตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน 2553 มีมูลค่า 5 ล้านล้านเยน เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.5 จากระยะเดียวกันของปี 2552 ประเทศที่ส่งออกไปยัง 5 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน สหราชอาณาจักร ไต้หวัน และ ออสเตรเลีย

ส่วนการนำเข้าสินค้าอิเล็คทรอนิกส์ในเดือนพฤษภาคม 2553 มีมูลค่า 6.5 แสนล้านเยน เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.1 จากปี 2552 และการนำเข้าตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤษภาคม 2553 มีมูลค่า 3.2 ล้านล้านเยน เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.4 จากระยะเดียวกันของปี 2552 ประเทศที่นำเข้า 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน มาเลเซีย ไทย เกาหลี และสหรัฐอเมริกา

สำนักงานส่งเสริมการค้าฯ ณ นครโอซากา

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ