เกิดอะไรขึ้นกับฮังการีเมื่อไม่มี IMF

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 1, 2010 12:32 —กรมส่งเสริมการส่งออก

นายกรัฐมนตรีฮังการี Victor Orban เชื่อว่าประเทศไม่ต้องการความช่วยเหลือจาก IMF อีก และสามารถจัดหาทุนได้จากตลาดเงิน แม้ว่าความสำเร็จจากการขายพันธบัตรรัฐบาล จะสามารถทำให้การตื่นวิตกของตลาดเงินสงบลง แต่หลายๆคนยังคิดว่า ฮังการีไม่สามารถไปรอดโดยปราศจาก IMF สถาบันการเงินระหว่างประเทศให้เงินช่วยเหลือฮังการี 20 พันล้านยูโร ในเดือนตุลาคม 2551 เป็นที่รับรู้กันว่าทางรัฐบาลเองมีการดำเนินการมากมาย เพื่อแก้ไขงบประมาณขาดดุลในปีนี้ โดยเฉพาะการตัดลดงบประมาณค่าใช้จ่ายในส่วนต่างๆ แต่ทั้งนี้ ขบวนการแก้ไขดังกล่าว ยังไม่เพียงพอกับความต้องการที่จะกู้ภาวะเศรษฐกิจ และเป็นการแก้ไขปัญหาเพียงชั่วคราวเท่านั้น

การมาเยือนของคณะผู้แทนจาก IMF และ EU ตามกำหนดการเมื่อกลางเดือนกรกฎาคม 2553 ได้เสร็จสิ้นลงอย่างรวดเร็วเมื่อ 2-3 วันต่อมา หลังจากรัฐบาลฮังการีปฏิเสธข้อเสนอแนะ จากคณะผู้แทนสถาบันการเงินระหว่างประเทศที่ไม่เห็นด้วยกับการเก็บภาษี จากภาคธนาคารและการเงิน ถึงแม้จะช่วยลดปัญหาการขาดดุลในระยะต้น แต่อาจส่งผลกระทบติดลบ ต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวได้ และจากความขัดแย้งนี้เอง ทำให้การเจรจาต้องหยุดชะงักลงชั่วคราว สถาบันการเงินยังคงพยายามผลักดัน ให้รัฐบาลมีการทบทวนในเรื่องนี้ซ้ำอีกครั้ง

หลังจากคณะผู้แทนได้เดินทางออกจากประเทศฮังการี นายกรัฐมนตรีได้แถลงอย่างชัดเจนว่า ไม่ต้องการทำสัญญาเงินกู้อื่นๆกับ IMF อีก แต่จะทำการเจรจาต่อรองกับ EU เท่านั้นในอนาคต และเชื่อว่าฮังการี สามารถหาเงินทุนได้เองจากตลาดทางการเงิน สิ่งนี้เองที่ทำให้หลายๆคนชื่นชมต่อการตัดสินใจที่กล้าหาญเด็ดเดี่ยวแต่ขณะเดียวกัน ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะเป็นไปได้แค่ไหน

หลังจากการล้มเหลวทางการเจรจา ส่งผลกระทบทันทีต่อค่าเงินโฟรินท์ ซึ่งตกต่ำสุดในรอบ 14 เดือน เมื่อเทียบกับเงินยูโร และ Credit Default swap อัตราประกันความเสี่ยงลดลงอย่างชัดเจนจาก 365 จุดเป็น 325 จุด เช่นเดียวกับพันธบัตรรัฐบาลประเภท 3 เดือน ซึ่งขายได้เพียง 35 พันล้านโฟรินท์ จากเดิมที่ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 45 พันล้านโฟรินท์ อย่างไรก็ตาม ทัศนคติต่อภาวะตลาดถูกเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น การประมูลพันธบัตรในวันที่ 29 กรกฎาคม ความต้องการสูงขึ้นเกินความคาดหมาย รัฐบาลจึงปรับลดการขายพันธบัตรประเภท 3 ปี แต่เพิ่มมากขึ้นในประเภท 5 ปีและ 15 ปี ซึ่งจะมีมูลค่ารวมกันที่ 12.5 พันล้านโฟรินท์ ส่วนพันธบัตรที่รัฐบาลกำหนดราคาขาย โดยไม่ผ่านการประมูล ประเภท 5 ปีมีมูลค่าที่ 8 พันล้านโฟรินท์ และประเภท 15 ปีมีมูลค่าที่ 2.6 พันล้านโฟรินท์ แม้ว่าอัตราผลตอบแทนการลงทุนของพันธบัตรระยะยาวจะลดลง แต่ในพันธบัตรประเภทหลัง (ไม่ผ่านการประมูล) ค่าตอบแทนยังคงที่

สำนักข่าวรอยเตอร์ ได้เสนอความคิดเห็นของผู้ทำการค้าระหว่างประเทศว่า ภาพรวมของตลาดเงินฮังการี ดูจะไปได้ดี แม้ว่านโยบายจะไม่แน่นอน ส่วนนักวิเคราะห์จากธนาคาร CIB ของฮังการี กล่าวว่า การประมูลประสบผลสำเร็จ หลังจากความปั่นป่วนของตลาดเงินในช่วงต้น ถ้าพิจารณาให้ดีจะเห็นว่า ผลของการประมูลเป็นเครื่องชี้วัดการประเมินค่าตลาดในฮังการี ซึ่งผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ

สิ่งที่เกิดขึ้นดูเหมือนจะพิสูจน์ว่า แผนการของนายกรัฐมนตรีที่จะจัดหาเงินทุนผ่านทางตลาดเงิน โดยปราศจาก IMF นั้น เป็นความคิดที่ถูกต้อง แต่นักวิเคราะห์หลายๆ หน่วยงานต่างเตือนว่า อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อประเทศเช่นกัน นักลงทุนต่างชาติอาจซื้อพันธบัตรเพียงเพื่อเก็งกำไร ถึงแม้การลงทุนในพันธบัตรแบบระยะยาวจะแสดงถึงความมั่นใจ ที่มีต่อประเทศฮังการี แต่สถานการณ์เช่นนี้ อาจจะไม่ยืนยาวนัก คาดว่าตั้งแต่ช่วงฤดูใบไม้ผลิจนถึงปี 2554 ภาวะตลาดจะอ่อนแอลง สถานการณ์ปัจจุบันเปรียบเสมือน bull market ช่วงที่ราคาหุ้นเพิ่มสูงขึ้นเท่านั้น

การที่ฮังการีไม่ต้องการพึ่งพา IMF และหาเงินด้วยตัวเองนั้น ถือว่าอยู่ในภาวะที่อันตราย เพราะรายได้ที่เข้ามาในปัจจุบัน เหมือนกระแสเงินที่ไหลตามความต้องการสินค้าเฉพาะช่วงเท่านั้น

จากการประกาศของสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือในการลงทุนเมื่อเร็วๆ นี้ มีความเป็นไปได้ที่ฮังการีจะถูกลดระดับลงมา แม้ว่า Credit Default Swap จะจัดระดับฮังการีอยู่ที่ junk-rated credit (มีความเสี่ยงสูง) แต่ทางสถาบันจะยังคงไม่ทำอะไรในตอนนี้ ถ้าฮังการีจะถูกลดระดับ คงจะมาจากบริษัท Standard & Poor’s ผู้ซึ่งให้เกรด BBB ต่ำสุดในการลงทุน แก่ฮังการีอยู่แล้ว

Victor Orban อาจจะตระหนักดีถึงภาวะความเป็นไปได้ ในการถูกปรับลดระดับความน่าเชื่อถือ แต่อาจจะไม่ได้เตรียมตัวต่อผลกระทบที่เป็นไปได้ ในด้านความสามารถที่จะการแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้น บริษัทจัดอันดับกำลังรอที่จะเห็นการร่วมมือกับ IMF อีกครั้ง แต่ถ้าฮังการียังคงยืนยันท่าทีเดิม อาจจะถูกลดระดับความน่าเชื่อถือลงในที่สุด

เศรษฐกิจฮังการี กลับสู่ภาวะที่มีการเติบโต และเป็นหนึ่งในประเทศที่มีงบประมาณขาดดุลต่ำสุด ของสหภาพยุโรปในขณะนี้ การตัดสินใจที่จะรักษาภาวะขาดดุลตามเป้าหมายปี 2553 ถือว่าเป็นความคิดที่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาการขาดดุลงบประมาณในปีหน้า ดูจะเป็นเรื่องยากลำบาก และต้องใช้ความระมัดระวังอย่างสูง เพื่อสร้างความมั่นคงในด้านการลงทุน ทั้งภายในและภายนอกประเทศ

สคร. ณ กรุงบูดาเปสต์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ