ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP สาธารณรัฐตุรกี)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 6, 2010 14:36 —กรมส่งเสริมการส่งออก

การให้สิทธิ
  • สาธารณรัฐตุรกี เริ่มจัดให้มีระบบ GSP ของตนเอง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2545 โดยให้สิทธิ์ลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีนำเข้าแก่ประเทศกำลังพัฒนา ปัจจุบันตุรกีได้มีการปรับปรุงโครงการ GSP ของตนให้สอดคล้องกับ GSP สหภาพยุโรปรอบใหม่ (พ.ศ. 2549 — 2551) ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมที่จะเข้าเป็นสมาชิกสหสภาพยุโรปในอนาคต ตุรกีได้ประกาศรายการสินค้าที่ได้รับสิทธิพิเศษ GSP ของแต่ละประเทศ ประจำปี 2549 โดยประกาศเป็น Supplementary to the Ministerial on Import Regime ในกิจจานุเบกษา เลขที่ 26040 (ทวิ) ลงวันที่ 31 ธันวาคม 2548 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2549 ซึ่งไทยก็ได้รับสิทธิพิเศษ GSP ในฐานะเป็นประเทศกำลังพัฒนา
ระยะเวลาโครงการ
  • ทบทวนทุกปี
ประเทศที่ได้รับสิทธิ GSP
  • ประเทศที่ได้รับสิทธิ GSP ได้แก่ ประเทศที่กำลังพัฒนาและดินแดนในเขตปกครอง ตุรกียึดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาให้สิทธิ GSP แบบเดียวกันกับ

สหภาพยุโรป กล่าวคือ ประเทศได้รับสิทธิ GSP จะต้องไม่ใช่ประเทศที่มีรายได้สูง (High Income Country) ตามการจัดอันดับของธนาคารโลก นอกจากนี้ภายใต้ระบบ GSP ตุรกีนั้นจะทำการพิจารณาประเทศที่จะได้รับสิทธิ์ดังกล่าวทุกปี

รายการสินค้าที่ได้รับสิทธิ GSP
  • การให้สิทธิพิเศษทางภาษีนำเข้าของตุรกีนั้น จะให้แก่สินค้าอุตสาหกรรมซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภทวัตถุดิบและสินค้ากึ่งสำเร็จรูปกว่า 2,500 รายการ คิดเป็นร้อยละ 15-20 ของรายการสินค้าทั้งหมด โดยสินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าใน Chapter 28, 29,37,38,82, 84 และ85 และมีบางรายการจาก Chapter อื่นๆ รวมอยู่ด้วย ทั้งนี้ตุรกีไม่ให้ GSP แก่สินค้าเกษตร
  • ท่านสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายการสินค้าและอัตราภาษีของระบบ GSP ตุรกี ได้ที่ www.dtm.gov.tr หรือ http://www.gumruk.gov.tr/english/content.aspx?cT=3&cId=b_tariff และ http://www.gumruk.gov.tr/tariff/list2.htm
รายการสินค้าที่ถูกตัดสิทธิ

ปัจจุบันสินค้า 2 กลุ่ม (Sector) ที่ไทยถูกตัดสิทธิ์ คือ

1. Sector 14 กลุ่มสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับโดยครอบคลุมสินค้าใน Chapter ที่ 71 ทุกรายการ

2. Sector 17 กลุ่มสินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์ส่วนประกอบที่เกี่ยวข้อง โดยครอบคลุมสินค้าใน Chapter ที่ 86-89 ทุกรายการ

การลดหย่อนภาษี
  • ตุรกีกำหนดอัตราการลดหย่อนภาษีตามประกาศรายการสินค้าที่ได้รับสิทธิ GSP โดยใน ปี 2006 ประกาศเป็น Supplementary to the Ministerial Decree on Import Regime (ประกาศในกิจจานุเบกษาที่ 26040 (ทวิ) ลงวันที่ 31 ธันวาคม 2548 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2549)
เงื่อนไขการขอรับสิทธิ GSP
  • เป็นสินค้าที่อยู่ในรายการสินค้าที่ตุรกีให้สิทธิ GSP และไม่ได้อยู่ในบัญชีรายการสินค้าที่โดนตัดสิทธิ และ
  • ต้องผลิตถูกต้องตามกฎแหล่งกำเนิดสินค้าภายใต้สิทธิพิเศษ GSP ที่ทางตุรกีกำหนด และ
  • ส่งตรงจากประเทศที่ทำการผลิตไปยังตุรกี และ
  • มีหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าประกอบการขอใช้สิทธิ์
มาตรการตัดสิทธิ
  • ตุรกียึดหลักการในการพิจารณาตัดสิทธิ GSP เช่นเดียวกันกับระบบ GSP ของสหภาพยุโรป
กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า

สินค้าที่จะขอรับสิทธิพิเศษ GSP ได้ จะต้องผลิตตามกรรมวิธีที่กำหนด ดังนี้

1. ผลิตโดยใช้วัตถุดิบภายในประเทศผู้ผลิตทั้งหมด (Wholly Obtained Goods) หรือ

2. ผลิตจากวัสดุนำเข้าที่ได้รับการแปรสภาพอย่างเพียงพอ (Sufficient process) จนกลายเป็นสินค้าใหม่ภายใต้พิกัดศุลกากรที่แตกต่างไปจากพิกัดศุลกากรของวัสดุนำเข้า หรือ ผลิตจากวัสดุนำเข้าตามอัตราส่วนร้อยละของมูลค่าที่กำหนด ทั้งนี้จะต้องเป็นไปตามกฎที่ระบุไว้แตกต่างกันไปตามแต่เฉพาะรายการสินค้า

ในกรณีที่มีการนำเข้าวัสดุจากต่างประเทศมาใช้ในการผลิตให้ถือว่า

1. วัสดุที่มีแหล่งกำเนิดในตุรกีเปรียบเสมือนหนึ่งวัสดุของประเทศผู้รับสิทธิ GSP ที่เป็นผู้ ผลิตตามกฎการใช้วัสดุของประเทศผู้ให้สิทธิ GSP (Donor Country Content Rule) โดยวัสดุดังกล่าวจะต้องมีหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า EUR I จากตุรกีกำกับมาด้วย วัสดุที่มีแหล่งกำเนิดในสหภาพยุโรป สวิตเซอร์แลนด์ และนอรเวย์ให้เปรียบ เสมือนหนึ่งวัสดุของประเทศผู้รับสิทธิ GSP สามารถนำมาสะสมแหล่งกำเนิดสินค้าได้เช่นกัน ทั้งนี้ วัสดุดังกล่าวจะต้องมีหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า EUR I กำกับมาด้วย

2. ระบบ GSP ตุรกีไม่อนุญาตให้มีการสะสมแหล่งกำเนิดสินค้าสำหรับพิกัด 01-24 ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าเกษตร

เอกสารที่จำเป็นในการขอใช้สิทธิ
  • หนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า Form A ที่ออกโดยกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

ข้อมูล จากกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ