สถานะการณ์ข้าวในประเทศแอฟริกาตอนใต้ แอฟริกาใต้ อังโกลา โมซัมบิก มอรีเชียส แซมเบีย นามีเบีย บอตสวานา สวาซีแลนด์ เลโซโท มาลาวี ซิมบับเว

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 9, 2010 11:27 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ประชากร : ประมาณ 128 ล้านคน

อาหารหลัก : แป้งข้าวโพด/มันสำปะหลัง ขนมปัง และข้าว

การบริโภคข้าวในแถบแอฟริกาตอนใต้ มีบริโภคข้าวประเภทข้าวขาว และข้าวนึ่ง เป็นหลัก สำหรับข้าวหอมมะลิ มีการบริโภคยังไม่สูงมากนักเนื่องจากระดับราคาที่สูง และการบริโภคส่วนใหญ่อยู่ในกล่มผู้บริโภคเอเชีย และตามร้านอาหารไทย จีน ทั้งนี้สามารถแบ่งกลุ่มการบริโภคข้าวพิจารณาจากปริมาณการบริโภคและการนำเข้า สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ ตลาดหลัก ประกอบด้วย แอฟริกาใต้ โมซัมบิก อังโกลา และมอรีเชียส และตลาดรอง ประกอบด้วย นามีเบีย บอตสวานา เลโซโท สวาซีแลนด์ ซิมบับเว แซมเบีย และมาลาวี

ตลาดหลัก
แอฟริกาใต้ :

เป็นตลาดหลักที่สำคัญมีการนำเข้าข้าวจากไทยมากที่สุดของภูมิภาค และมีกำลังซื้อของผู้บริโภคสูงของกลุ่มฯ

อาหารหลักของการบริโภคของประชาชนส่วนใหญ่ เป็นข้าวโพด(แป้ง) ขนมปัง

ข้าวจัดได้ว่าเป็นอาหารที่มีระดับ และจากการขยายตัวของระดับรายได้ประชากรไปสู่ชนชั้นกลางมากขึ้น ส่งผลให้มีการขยายตัวของการบริโภคข้าวเพิ่มตามไปด้วย เพื่อแสดงถึงสถานะทางสังคม

ข้าวที่มีการบริโภคสูงสุดเป็นประเภทข้าวนึ่ง เนื่องจากมีการทำตลาดมาเป็นระยะเวลานาน ส่วนใหญ่เป็นการบริโภคในกลุ่มคนที่มีรายได้ปานกลาง/ต่ำ เนื่องจากมีราคาต่ำและสามารถปรุงได้รวดเร็ว นอกจากนี้มีผู้ย้ายถิ่นฐานจากประเทศแอฟริกาตะวันตกเข้าไปอาศัยในแอฟริกาใต้เป็นจำนวนมาก ซึ่งกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มนี้นิยมบริโภคข้าวนึ่งอยู่แล้ว ทั้งนี้มีการบริโภคข้าวขาวอื่นๆอยู่ในระดับที่สูงเช่นกันในกลุ่มผู้บริโภคที่มีระดับรายได้ปานกลาง และกลุ่มคนเอเชียอื่นๆ ในขณะที่ข้าวหอมมะลิ หรือ ข้าวบัสมาติ เป็นการบริโภคในกลุ่มคนที่มีระดับรายได้สูง

การแข่งขันด้านราคาค่อนข้างสูงระหว่างผู้นำเข้าด้วยกันเอง ไม่ได้ให้ความสำคัญกับคุณภาพหรือประเทศแหล่งผลิตมากนัก ทำให้เป็นอุปสรรคของการขยายการนำเข้าข้าวของไทยถึงแม้ว่าจะเป็นที่ยอมรับในกลุ่มผู้นำเข้าว่าข้าวจากประเทศไทยมีคุณภาพดีก็ตามปริมาณการนำเข้าขึ้นกับราคาเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งขัน

การค้าขายเปิดเป็นระบบเสรี นอกจากการแข่งขันด้านราคากับสินค้าด้วยกันเองแล้ว ยังจะต้องแข่งขันกับระดับราคาสินค้าอาหารหลักอื่นที่ผลิตได้เองภายในประเทศอีกด้วย เนื่องจากแอฟริกาใต้เป็นประเทศที่มีการผลิตสินค้าเกษตรได้ผลผลิตที่ดี

ผู้บริโภคทั่วไปมีความนิยมและชื่นชอบข้าวไทยสืบเนื่องจากการประชาสัมพันธ์ การจัดกิจกรรมส่งเสริมข้าวและอาหารไทยอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนนักท่องเที่ยวแอฟริกาใต้ที่เดินทางไปท่องเที่ยวยังประเทศไทยที่รู้จักและนิยมรับประทานอาหารไทย

ปริมาณการนำเข้าข้าวประมาณปีละ 800,000 ตัน (2009)

อังโกลา :

อังโกลาเป็นประเทศใหญ่ แม้จะมีทรัพยากรธรรมชาติและแร่ธาตุที่มั่งคั่ง ได้แก่ น้ำมัน เพชร ทองคำ ทองแดง เหล็ก แมงกานีส ยูเรเนียม และทรัพยากรประมง แต่รายได้จากน้ำมันและเพชรของประเทศนำไปในการซื้ออาวุธเพื่อทำสงครามต่อสู้กับฝ่ายตรงข้ามที่ยืดเยื้อนานกว่า 27 ปี พื้นที่ส่วนใหญ่ถูกปล่อยทิ้งว่างเปล่าทำให้การผลิตและการเพาะปลูกไม่เพียงพอ ขาดแคลนอาหารจนต้องนำเข้าอาหารจากต่างประเทศถึงร้อยละ 75 จากเดิมที่เคยเป็นประเทศส่งออกสินค้าเกษตรกรรมเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันอังโกลามีรายได้จากการส่งออกน้ำมันที่มีราคาสูงขึ้นเป็นมูลค่ามหาศาล ประกอบกับการบรรลุข้อยุติทางความขัดแย้งภายในประเทศมีการพัฒนาและปรับปรุงสิ่งปลูกสร้างและสิ่งสาธารณูปโภคพื้นฐานเป็นจำนวนมาก ทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น

เคยเป็นประเทศเมืองขึ้นของปอร์ตุเกส ซึ่งมีการบริโภคข้าวเป็นอาหารหลักที่สำคัญ ทำให้ชาวอังโกลาส่วนใหญ่นิยมบริโภคข้าวตามไปด้วย และเนื่องจากมีการเพาะปลูกได้เพียงเล็กน้อย จึงต้องอาศัยการนำเข้าเป็นหลัก

ประชาชนส่วนใหญ่ขาดอาหาร และไม่เพียงพอ บางครั้งรัฐบาลพึ่งพาความช่วยเหลือจากต่างชาติ

การบริโภคข้าวส่วนใหญ่เป็นการบริโภคข้าวขาว และเนื่องจากระดับรายได้และความเป็นอยู่เริ่มดีขึ้นกว่าสมัยอยู่ในภาวะสงคราม จึงมีแนวโน้มการบริโภคข้าวเพิ่มมากขึ้น

โมซัมบิก :

โมซัมบิกเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูประเทศ ภายหลังจากปัญหาความไม่สงบภายในประเทศ โดยนโยบายด้านเศรษฐกิจชุดปัจจุบัน เน้นการแก้ไขปัญหาความยากจน จึงทำให้ระบบเศรษฐกิจมวลรวมของประเทศมีเสถียรภาพ และปรับปรุงการบริการด้านสาธารณะให้ดีขึ้น โดยมุ่งหมายว่า หากสามารถทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ในระดับที่กำหนดไว้ จะสามารถลดปัญหาความยากจนได้ ในส่วนของนโยบายด้านการคลัง รัฐบาลได้ใช้จ่ายเงินงบประมาณเป็นจำนวนมาก ในโครงการบรรเทาความยากจน นอกจากนี้นโยบายที่ควบคุมปัญหาภาวะเงินเฟ้อ รวมถึงการเสริมสร้างบรรยากาศการลงทุนให้เป็นที่น่าเชื่อถือและมีหลักประกัน ส่งผลให้มีการขยายการลงทุนในประเทศเป็นจำนวนมาก

บริโภคข้าวขาวเป็นหลัก เช่นเดียวกับอังโกลาที่เคยเป็นเมืองขึ้นของปอร์ตุเกสทำให้ได้รับอิทธิพลการบริโภคข้าวของปอร์ตุเกสตามมาด้วย

ปัจจุบันประสบปัญหาด้านการเพาะปลูกข้าวเนื่องจากได้รับผลกระทบจากสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง ทั้งภาวะแห้งแล้ง และ ภาวะน้ำท่วม ส่งผลให้มีผลผลิตต่ำ

ข้าวไทย ข้าวอินเดีย และข้าวปากีสถาน เป็นที่นิยมของผู้บริโภค ในขณะที่ข้าวนึ่งมีการนำเข้าผ่านชายแดนจากแอฟริกาใต้เป็นบางส่วน และการนำเข้าข้าวส่วนใหญ่ผูกขาดโดยผู้นำเข้าเพียงไม่กี่รายเท่านั้น

ประชากรส่วนใหญ่ยังมีระดับรายได้ต่ำ ระดับราคาจะเป็นตัวตัดสินใจในการซื้อ

มอรีเชียส :

ตั้งแต่ได้รับเอกราชในปี ค.ศ. 1968 มอริเชียส ได้พัฒนาประเทศจากที่มีรายได้ต่ำ และเน้นการเกษตร เป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง และมีความเจริญ เติบโตในภาคอุตสาหกรรม การเงิน และการท่องเที่ยว ความสำเร็จทาง ด้านเศรษฐกิจจะเห็นได้จากการเฉลี่ยรายได้อย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น ประชากรมีอายุยืนยาวมากขึ้น อัตราการตายของทารกต่ำลง ยุทธศาสตร์ การพัฒนาที่สำคัญของประเทศซึ่งมุ่งไปที่การลงทุนจากต่างประเทศ ในภาคอุตสาหกรรมที่หลากหลายพยายามไม่พึ่งพาอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง ซึ่งส่งผลให้มอริเชียส มีความเจริญก้าวหน้าทางด้านเศรษฐกิจ ล้ำหน้ากว่า ประเทศอื่น ๆ ในทวีปแอฟริกา

ประชากรส่วนใหญ่เป็นเชื้อสายอินเดีย จีน ซึ่งบริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก และถือเป็นอาหารจำเป็น ดังนั้นรัฐบาลจะเป็นผู้ควบคุมผ่านบริษัทวิสาหกิจของรัฐ

สำหรับการบริโภคข้าวในตลาดประเทศอื่นยังคงมีปริมาณไม่มากนัก เนื่องจากจำนวนประชากรไม่สูง ระดับรายได้ในบางประเทศต่ำ และการนำเข้าส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าผ่านประเทศแอฟริกาใต้

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงพริทอเรีย

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ