ประเทศอินเดียมีการจำแนกประเภทสินค้านำเข้าจากต่างประเทศออกเป็น 4 กลุ่ม คือ 1. สินค้านำเข้าโดยเสรี 2. สินค้าที่ต้องมีใบอนุญาตการนำเข้า 3. สินค้านำเข้าที่อนุญาตเฉพาะบางองค์กรหรือเฉพาะหน่วยงานของรัฐ และ 4. สินค้าที่ห้ามนำเข้าโดยเด็ดขาด
1. สินค้านำเข้าโดยเสรี(Freely Importable Items)โดยจะมีหรือไม่มีใบอนุญาตการนำเข้า ก็ได้ ก็คือ สินค้าทุน(Capital Goods)นั่นเอง สินค้าทุน คือ สินค้าที่ถูกใช้เพื่อดำเนินการผลิตต่อไป เช่น เครื่องจักรกลและเครื่องมือต่างๆที่สร้างขึ้นเพื่อช่วยในการผลิตสินค้า และบริการ เป็นต้นว่า รถแทรกเตอร์ เครื่องจักรโรงงาน รวมทั้งสิ่งที่คนเราสร้างขึ้นมาเพื่อนำไปใช้ในการผลิต ส่วนใหญ่สามารถนำเข้าประเทศอินเดียได้อย่างเสรี แต่ถ้ามีอยู่แล้ว ใบอนุญาตการนำเข้าสินค้าฯดังกล่าวจะมีอายุยาวถึง 24 เดือนและสามารถต่ออายุได้ด้วย
2. สินค้าที่ต้องมีใบอนุญาตการนำเข้า (Import License) อินเดียกำหนดเงื่อนไขไว้ว่าผู้นำเข้าฯจะต้องมีใบอนุญาตการนำเข้าที่ออกให้โดยกรมการค้าต่างประเทศของอินเดีย ซึ่งจะมีอายุ 18 เดือนและสามารถต่ออายุได้ สินค้าฯประเภทดังกล่าวได้แก่สินค้าบริโภค สินค้าเครื่องประดับหินมีค่าต่างๆ สินค้าเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัย สินค้าจำพวกเมล็ดพันธ์พืชและสัตว์ รวมทั้งสารเคมียาฆ่าแมลง เป็นต้น ถึงแม้ว่าอินเดียจะกำหนดให้ต้องมีใบอนุญาตการนำเข้าฯ ก็มิได้เป็นอุปสรรคแต่อย่างใดเนื่องจากปัจจุบันการขอใบอนุญาตการนำเข้าฯไม่ยุ่งยากเหมือนแต่ก่อน
3. สินค้านำเข้าที่อนุญาตเฉพาะบางองค์กรหรือเฉพาะหน่วยงานของรัฐ เช่น สินค้าจำพวกน้ำมันปิโตเลี่ยม นำเข้าได้เฉพาะบริษัทน้ำมันอินเดีย (Indian Oil Corporation) สินค้าจำพวกปุ๋ย (Nitrogenous Phosphate) นำเข้าได้เฉพาะบริษัทค้าสินแร่และเหล็ก ซึ่งทั้ง 2 บริษัทฯรัฐบาลอินเดียเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่
4. สินค้าที่ห้ามนำเข้าโดยเด็ดขาด ได้แก่ ไขมันสัตว์ที่ใช้สำหรับทำเทียนไข (Tallow Fat) เอ็นไซม์ที่ได้จากสัตว์(Animal Rennet)โดยนำมาใช้ในกระบวนการผลิตเนยแข็งซึ่งอินเดียห้ามนำเข้าสินค้าดังกล่าว นอกจากนี้สินค้าที่เกี่ยวกับสัตว์ป่า และงาช้างที่ยังไม่ได้แปรรูป ก็ถูกห้ามนำเข้าโดยเด็ดขาดเช่นกัน
ข้อมูลดังกล่าวข้างต้น หวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ส่งออกไทยและเป็นความรู้สำหรับบุคคลทั่วไป ไม่มากก็น้อย
สคร.นิวเดลี
ที่มา: http://www.depthai.go.th