ธุรกิจโลจิสติกส์กับการขับเคลื่อนการค้าไทยในยูนนาน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 9, 2010 11:33 —กรมส่งเสริมการส่งออก

การค้าการลงทุนระหว่างไทยและยูนนานเพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยทั้งสองฝ่ายมีความต้องการสินค้าและบริการซึ่งกันและกัน กระบวนการเคลื่อนย้าย จัดเก็บ กระจายสินค้าจากแหล่งที่ผลิต Source of Originคือผู้ส่งออก(ไทย)จนสินค้าได้ส่งมอบให้กับลูกค้า Source of Consumption(ยูนนาน) หรือกลับกันระหว่างไทยกับยูนนานถือได้ว่ามีการพัฒนาด้านธุรกิจโลจิสติกส์ให้พัฒนาก้าวหน้าขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง ความสำคัญด้าน โลจิสติกส์ที่ส่งเสริมธุรกิจไทยใน ยูนนานและในจีน มีดังนี้

การพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่ง

1. เส้นทางน้ำ เดิมเป็นเส้นทางการขนส่งสินค้าที่สำคัญระหว่างไทยกับยูนนาน โดยได้ใช้เส้นทางการขนส่งทางน้ำผ่านแม่น้ำโขง จากเมืองสิบสองปันนา(ท่าเรือกวนเหล่ย และท่าเรือจิ่งหง) ในมณฑลยูนนานล่องเรือตามแม่น้ำโขง(ในจีนเรียกแม่น้ำหลานชาง) ระยะทางระหว่างจิ่งหงถึงอำเภอเชียงแสนประมาณ 344 กิโลเมตร การขนส่งสินค้าจากยูนนานเป็นขาล่องตามน้ำจะใช้เวลาประมาณ 1 วัน ส่วนการขนส่งจากไทยมายังยูนนานจะเป็นทวนน้ำ จะใช้เวลาประมาณ 2 วัน เมื่อสินค้าล่องมาถึงท่าเรือในสิบสองปันนาแล้วจะต้องขนส่งทางบกมายังนครคุนหมิง ซึ่งมีระยะห่างจากเชียงรุ่งถึงคุนหมิงประมาณ 590 กิโลเมตร เส้นทางในยูนนานเป็นเส้นทางด่วนตัดผ่านภูเขาสูงในยูนนาน ใช้เวลาขนส่งประมาณ 10-12 ชั่วโมง

2. เส้นทางการบิน ปัจจุบันมีเส้นทางการบินระหว่างกรุงเทพฯมายังนครคุนหมิง ใช้เวลาบินประมาณ 1.50 ชั่วโมง(สายการบินไทยและChina Eastern Airline)และเส้นทางการบินระหว่างกรุงเทพฯมายังเมืองสิบสองปันนา(China Eastern Airline)ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ปัจจุบันนอกจากการขนส่งผู้โดยสารแล้ว ยังมีการขนส่งสินค้าไทยทางอากาศ ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าประมง และมีจุดหมายปลายทาง ที่นครคุนหมิง (อนึ่ง นครคุนหมิงกำลังสร้างสนามบินพลเรือนแห่งใหม่ในเขตเมืองใหม่ของนครคุนหมิงคาดว่าจะสร้างแล้วเสร็จในราวปลายปี 2011 หรือต้นปี 2012และจะทำให้สนามบินคุนหมิงแห่งใหม่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของประเทศจีนรองจาก ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กวางโจว และคุนหมิง)

3. เส้นทางบก การขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางบกได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นนับตั้งแต่การเปิดใช้เส้นทางถนน คุนมั่นกงลู่ (คุนหมิง — กรุงเทพฯ) หรือเส้นทาง R 3 โดยเส้นทางนี้ได้สร้างเป็น 2 เส้นทางจากประเทศไทยมายังจีน คือผ่านประเทศลาวและผ่านประเทศพม่าเพื่อเข้าสู่ยูนนาน ระยะทางระหว่างกรุงเทพฯ มายังคุนหมิงประมาณ 1,800 กิโลเมตร ปัจจุบันการขนส่งทางบกจะใช้ประเทศลาวเป็นส่วนใหญ่ โดยจะออกจากเมืองสิบสองปันนาในยูนนานผ่านแขวหลวงน้ำทา และแขวงบ่อแก้วในลาว เข้าสู่ประเทศไทยด้านอำเภอเชียงของ ข้ามแม่น้ำโขงในช่วงนี้ด้วยแพขนานยนต์ ทั้งนี้ รัฐบาลไทยและจีนได้บรรลุข้อตกลงที่จะออกค่าใช้จ่ายเฝ่ายละครึ่งเพื่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงในช่วงนี้ เส้นทางในพม่ามีการใช้น้อยกว่า เนื่องจากปัญหาในเรื่องชนกลุ่มน้อยในพม่า

4. เส้นทางรถไฟ จีนมีแผนการสร้างทางรถไฟเพื่อเชื่อมเข้าไปยังประเทศต่าง ๆ รอบ ๆ ประเทศจีน โดยมีแผนสร้างทางรถไฟไป เวียดนาม ลาว และพม่าทางจีนตอนใต้ เส้นทางในลาวเพื่อเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟของไทยไปยังมาเลเซียและสิงคโปร์ เส้นทางในพม่าจะเชื่อมต่อไปยังบังคลาเทศ อินเดีย และปากีสถานต่อไป ปัจจุบันได้ดำเนินการสร้างเส้นทางรถไฟในส่วนของมณยูนนานไปมากแล้ว คาดว่า เส้นทางรถไฟในมณฑลยูนนานเพื่อเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านยูนนานจะแล้วเสร็จในปี 2012 ปัจจุบันรัฐบาลจีนได้ไปเจรจากับประเทศที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแผนการสร้างทางรถไฟในประเทศเหล่านั้น เช่น พม่า ลาว โดยจีนอาจจะให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือรูปแบบอื่นสำหรับการสร้างเส้นทางรถไฟ

การจัดเก็บสินค้า/ช่องทางการกระจายสินค้าไทย

สินค้าไทยที่ถูกขนส่งเข้ามาคุนหมิงตามช่องทางต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น รวมทั้ง นำเข้าจากเมืองอื่น ๆ ในจีน จะเข้าสู่ตลาดค้าส่งสินค้า เช่น ตลาดค้าส่งผลไม้ ตลาดค้าส่งสินค้าประมง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีนักลงทุนไทยขนาดกลางและเล็กเข้ามาแสวงหาโอกาสการค้าในคุนหมิงมากขึ้น ผู้ประกอบการไทยได้เปิดกิจการค้าในศูนย์ค้าส่งขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงของคุนหมิงได้แก่

1. ศูนย์กระจายสินค้าไทยในศูนย์ค้าส่งหยุนฝั่ง เริ่มเปิดดำเนินการตั้งแต่ปี 2551 มีผู้ประกอบการไทยและจีนที่ค้าขายสินค้าไทยประมาณเกือบ 20 แห่ง จำหน่ายสินค้าประเภท สินค้าอาหารของขบเคี้ยว เครื่องตกแต่งบ้านประเภทไม้ เสื้อผ้าเครื่องประดับ เครื่องแก้ว ฯลฯ

2. Thai Product City ในศูนย์ค้าส่งโหลสุวรรณ ดำเนินการกลางปี 2553โดยกลุ่มนักลงทุนของสมาคมการค้าไทยยูนนานจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ชื่อบริษัทรามคำแหงเข้าเช่าพื้นที่จากศูนย์ค้าส่งโหลสุวรรณ 2,500 ตารางเมตรเพื่อประกอบธุรกิจการค้าสินค้าไทย บริษัทฯ ได้จัดพื้นทีส่วนหนึ่งเพื่อดำเนินการเองประมาณ 400 ตารางเมตร จำหน่ายสินค้าประเภทหัตถกรรม สินค้าเครื่องใช้ ของตกแต่งบ้านจากประเทศไทย และจัดพื้นที่ส่วนหนึ่งมาเป็นจุดจำหน่ายสินค้าของศูนย์ศิลปาชีพจากประเทศไทย ถือเป็นจุดจำหน่ายสินค้าศิลปาชีพแห่งแรกนอกประเทศไทยอย่างเป็นทางการ นอกจากนี้ บริษัทรามคำแหงยังได้จัดแบ่งพื้นที่ให้ผู้ประกอบการไทย/จีน เช่าต่อเพื่อจำหน่ายสินค้าไทย ประเภท ของใช้ ของตกแต่งบ้านประเภทไม้ ผ้า เครื่องประดับ และสินค้าอาหารประเภทอาหาร หมูหยอง ฯลฯ เป็นต้น

3. นอกจากสินค้าไทยในศูนย์กระจายสินค้าแล้ว ในคุนหมิงสามารถซื้อหาสินค้าไทยในร้านค้าปลีก เช่น ขนมขบเคี้ยวโก๋แก่ ปลากระป๋องปุ๋มปุ้ย น้ำถั่วเหลืองไวตามิลค์ ฯลฯ นอกจากนี้ ในเมืองฉู่สง(ตะวันตกของนครคุนหมิง) มีร้านค้าจำหน่ายสินค้าไทยประเภทของที่ระลึกประมาณ 30 ร้านค้าในเมืองโบราณชนชาติอี๋อีกด้วย

ผู้บริโภคจีน

1. ผู้บริโภคในยูนนานหรือจีนต้องถือได้ว่ามีกำลังซื้อสินค้ามากขึ้น ผู้ผลิตทั้งในและนอกประเทศจีนต่างแข่งขันผลิตสินค้าเพื่อให้ผู้บริโภคจีนเลือกซื้อ สินค้านำเข้าจากไทยได้รับความนิยมมากพอสมควร หากเปรียบเทียบสินค้านำเข้าอื่น ๆ ก็มีเพียงสินค้าที่มียี่ห้อจากประเทศตะวันตก สินค้าจากประเทศญี่ปุ่น และเกาหลีที่สามารถจำหน่ายในจีนได้ดีกว่าเท่านั้น สินค้าไทยได้รับความนิยมเนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่เห็นว่าสินค้าไทยนำเข้ามาเป็นสินค้าคุณภาพดี และราคาไม่แพงเกินไปนัก สินค้าไทยมีจำหน่ายเป็นการทั่วไปในนครคุนหมิง ทั้งในห้างสรรพสินค้าและร้านค้าภายนอก ที่เห็นเด่นชัดเกือบทุกพื้นที่ในนครคุนหมิงจะเป็นผลไม้สดจากประเทศไทย มังคุด ทุเรียน ฯลฯ

2. ปัจจุบันผู้บริโภคจีนมีควาตระหนักในเรื่อง ความปลอดภัยของสินค้าอย่างยิ่ง เนื่องจากในหลายปีที่ผ่านมา สินค้าอุปโภคและบริโภคของจีนประสบปัญหาการปลอมปน การปนเปื้อน โดยเฉพาะสินค้าอาหารดังนั้น ผู้บริโภคจะเลือกซื้อสินค้าจะเป็นสินค้าที่มีมาตรฐานความปลอดภัย รวมทั้งสินค้าประเภทอินทรีย์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ผู้บริโภคในเมืองใหญ่จะคำนึงถึงความปลอดภัยของสินค้ามาก

3. สินค้นำเข้าผ่านคุนหมิงเข้าสู่ตลาดค้าส่งต่าง ๆ จะมีการกระจายสินค้าไปยังมณฑลอื่น โดยเฉพาะหัวเมืองด้านตะวันตก เช่น เฉิงตู ฉงชิ่ง ซีอาน เป็นต้น อุปสรรคและโอกาสของการค้าสินค้าไทย

1. ข้อจำกัดในการขนส่งระหว่างไทย กับยูนนาน
  • ทางกายภาพ การขนการขนส่งสินค้าผ่านทางแม่น้ำโขงมีข้อจำกัดหลายประการ เช่น ปริมาณน้ำ
ในแม่น้ำ การขนส่งมิได้อยู่ในรูปแบบคอนเทนเนอร์ทำให้สินค้าแตกหักชำรุดเสียหาย ส่วนการขนส่งผ่านเส้นทางถนน มีข้อจำกัดคือ ขนส่งได้ครั้งละไม่มากและค่าขนส่งค่อนข้างสูง
  • ทางเทคนิค การขนส่งทางถนนคุนมั่นกงลู่ ยังไม่ได้รับการอำนวยความสะดวกจากลาว มีความจำเป็นต้องเจรจากับลาวเพื่อให้เป็นการขนส่งสินค้าผ่านแดนเช่นเดียวกับการขนส่งทางแม่น้ำโขงผ่านลาว พม่า ซึ่งถือเป็นสินค้าผ่านแดน (ปัจจุบัน ยังไม่มีข้อตกลงเกี่ยวกับการส่งสินค้าผ่านแดน Cross Border Trade Agreement ระหว่างไทย ลาว และจีน)
2. ข้อจำกัดด้านกฎระเบียบการนำเข้าของจีน
  • หน่วยงานด้านสุขอนามัยของจีนมีการตรวจสอบสินค้าเกษตร อาหาร เครื่องสำอางค์ สปานำเข้าอย่างเข้มงวด เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกสินค้าไทย
3. ความนิยมสินค้าไทย
  • ความใกล้ชิดทั้งด้านเชื้อชาติ (ในสิบสองปันนา และภาคเหนือของไทย-คนไทยลื้อ) ทำให้ผู้บริโภคในยูนนานคุ้นเคยกับอาหารตลอดจนขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมของไทย ทำให้ผู้บริโภคเปิดใจรับสินค้าไทยง่ายขึ้น
  • ปัจจุบันมีนักศึกษาจีนเข้าไปเรียนในประเทศไทยมากถึงปีละ 2,000 ราย ได้รับหรือซึมซับวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียม มีความนิยมชมชอบอาหาร สินค้า เครื่องใช้ของไทย ทำให้สินค้าไทยจำหน่ายในกลุ่มนี้และเผยแพร่ไปสู่ผู้บริโภคกลุ่มอื่น ๆ เป็นการทั่วไป ซึ่งในเรื่องความนิยมไทยสามารถเห็นเป็นรูปธรรมได้จาก จำนวนร้านอาหารไทยที่เปิดเพิ่มมากขึ้นในคุนหมิง ซึ่งมีไม่ต่ำกว่า 20 แห่ง (เมื่อเทียบกับปี 2550 มีร้านอาหารไทยเพียง 3 แห่ง) การที่ร้านอาหารไทยได้รับความนิยมก็มีส่วนให้ผู้บริโภคนิยมสินค้าประเภทอื่น ๆ ด้วย
4. คุนหมิงเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าด้านจีนตะวันตกเฉียงใต้ของจีน สินค้าไทยที่ผ่านมาทาง

ชายแดนจะมีการขนส่งไปยังเมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศจีน โดยเฉพาะ ในมณฑลเสฉวน ฉงชิ่งซึ่งผู้บริโภครับสินค้านำเข้า ในนครคุนหมิงเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าไปทั่วประเทศจีนโดยทางรถยนต์ รถไฟ และทางอากาศ

5. รัฐบาลกลางปักกิ่งให้การสนับสนุนการพัฒนาในพื้นที่มณฑลด้านตะวันตก
  • สนับสนุนมาตรการที่จะให้คุนหมิงเป็นสะพานเชื่อมสู่นอกประเทศด้านตะวันตกเฉียงใต้ (Guiding Ideas for Supporting Acceleration of the Construction of Yunnan Province into China’s open Bridgehead to the Southwest) โดยการผลักดันให้นักธุรกิจจีนไปทำการค้าและการลงทุนในประเทศอื่น
  • นโยบายมุ่งตะวันตก (Go West Policy) โดยจีนจะพัฒนากลุ่มมณฑลด้านตะวันตกให้มีความใกล้เคียงกับกลุ่มมณฑลด้านตะวันออกด้านเศรษฐกิจและสังคมมากที่สุด นโยบายที่สำคัญจะเกี่ยวกับการดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในแถบตะวันตก และยังคงสิทธิพิเศษด้านการลงทุนให้กับนักลงทุนต่างชาติขนาดใหญ่ เป็นต้น
6. เขตการค้าเสรีอาเซียน จีน (China — Asean Free Trade Area)
  • สินค้าจำนวนมากกว่า 7,000 รายการจะมีภาษีนำเข้าร้อยละ 0-5 สินค้าส่วนใหญ่ที่มีมีการซื้อขาย

แลกเปลี่ยนกันจะเป็นสินค้าประเภท ผลไม้ ผักสด สิ่งทอ และเครื่องจักร(คิดเป็นร้อยละ 90 ของมูลค่าการค้าระหว่าง อาเซียนกับ จีน) การเปิดการค้าเสรีจะเป็นโอกาสให้สินค้าประเภทอื่น ๆ ด้วย

7. โครงการนำร่องใช้เงินหยวนในธุรกรรมการค้ากับประเทศอาเซียน
  • เดิมการค้าระหว่างอาเซียนกับจีนยังคงใช้สกุลเงินดอลล่าร์หรือเงินยูโร รัฐบาลกลางปักกิ่งได้ผลักดันให้มณฑลที่มีชายแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเช่น ยูนนาน กวางสี ได้ทำธุรกรรมการค้ากับประเทศที่ติดชายแดนจีนและประเทศในอาเซียน โดยใช้สกุลเงินหยวนเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งจะทำให้ต้นทุนสินค้าถูกลงเป็นประโยชน์ต่อการส่งออกและนำเข้าของจีน และจีนมีโครงการที่จะนำเงินหยวนไปใช้ในการลงทุนด้านสาธารณูปโภคในประเทศอื่นแถบนี้ด้วย
  • นครคุนหมิงได้สร้างตนเองขึ้นเป็นศูนย์กลางการเงินที่จะใช้สกุลเงินหยวนในการทำธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ และเปิดโอกาสให้ธนาคารจีนหลายแห่ง เช่น ธนาคารการเกษตรจีน (Agricultural Bank of China) ธนาคารแห่งประเทศจีน (Bank of China) เป็นธนาคารนำร่องการทำธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศด้วยเงินหยวน
สรุป

จีนเป็นตลาดใหญ่ที่เปิดรับธุรกิจการค้าการลงทุนจากต่างชาติ ในปัจจุบันผู้บริโภคจีนมีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น ชนชั้นกลางในสังคมมีเพิ่มมากขึ้น ชาวจีนมีการศึกษามากขึ้น รู้จักเลือกสินค้าที่มีคุณภาพ ตลอดจนสถานการณ์ทางการค้าต่าง ๆ เช่น การพัฒนาด้านโลจิสติกส์ การเปิดเขตการค้าเสรีล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้กับนักธุรกิจไทยเข้ามาประกอบกิจการการค้าในจีนได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม คู่แข่งทางการค้าของไทยในจีนก็มีไม่น้อย ดังนั้น การจะเข้ามาประกอบธุรกิจการค้าในจีนจึงจำเป็นต้องมีการศึกษาอย่างจริงจังทั้งพฤติกรรมการบริโภค สังคมและวัฒนธรรม การเป็นอยู่ ความนิยม เช่นในเทศกาลต่าง ๆ ของจีน ชาวจีนจะนิยมส่งของขวัญให้กันและกัน เพื่อแสดงความนับถือ หรือสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน ชาวจีนนิยมสีแดงมากกว่าสีอื่น เพราะถือว่าเป็นสีมงคล ชาวจีนชอบเลข 8 6 9 มากกว่าตัวเลขอื่นเพราะการออกเสียงตัวเลขเหล่านั้นมีความหมายอันเป็นมงคล การศึกษาข้อสังเกตุเหล่านี้จะช่วยในการเข้าตลาดจีนของนักธุรกิจไทย นอกจารนี้ เรื่องกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ธุรกิจโลจิสติกส์ดังกล่าวข้างต้นก็มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการค้าไทยในยูนนานให้ประสพความสำเร็จในตลาดต่อไป

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครคุนหมิง

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ