การค้าระหว่างประเทศ ไทย-แคนาดา มกราคม-กรกฏาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 9, 2010 12:38 —กรมส่งเสริมการส่งออก

มูลค่าการค้าระหว่างประเทศ
  • การค้าระหว่างไทย-แคนาดา ในปี 2552 มีมูลค่า 1,927.15 ล้านเหรียญสหรัฐฯส่งออกมีมูลค่า 1,253.80 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นำเข้า 673.35 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ไทยได้ดุลการค้า 580.45 ล้านเหรียญสหรัฐฯไทยครองส่วนแบ่งตลาดในแคนาดาร้อยละ 0.63 เพิ่มขึ้นจากปี 2551 ที่ครองส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 0.57
  • การค้าระหว่างไทย-แคนาดา ในช่วงเดือนมกราคม-กรกฏาคม 2553 มีมูลค่า 1,313.36 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.27 การส่งออกมีมูลค่า 775.25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 0.62 ของการส่งออกรวมของไทย ขยายตัวร้อยละ 14.35 การนำเข้ามีมูลค่า 538.10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ไทยได้ดุลการค้าเป็นมูลค่า 237.15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
การส่งออกของไทยไปแคนาดา

ระหว่างปี 2542-2552 การส่งออกของไทยไปแคนาดาขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น จากมูลค่าส่งออกในปี 2542 จำนวน 701.99 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็น 1,311.81 ล้านเหรียญสหรัฐฯในปี 2552 ขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละร้อยละ 8 โดยในปี 2551 มีมูลค่าสูงสุดที่ 1,427.68 ล้านเหรียญสำหรับปี 2552 การส่งออกลดลงเนื่องจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลก แคนาดาเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 28 ของไทย และไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 19 ของแคนาดา

สินค้าส่งออกของไทยมาแคนาดา
  • ปี 2552 สินค้าส่งออกของไทยอันดับแรกเป็นกลุ่มสินค้าอาหาร ร้อยละ 41.13 รองลงมาเป็นกลุ่มสินค้าอีเล็กทรอนิกส์ ร้อยละ 20.31 อันดับสามเป็นกลุ่มสินค้าผลิตภัณฑ์ยาง ร้อยละ 7.45 สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าร้อยละ 6.98 สินค้าเสื้อผ้า/สิ่งทอ ร้อยละ 5.21 สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับร้อยละ สินค้าอุปกรณ์ชิ้นส่วนรถยนต์ ร้อยละ 2.94 สินค้าอุปกรณ์วัสดุก่อสร้าง ร้อยละ 2.31
  • มกราคม-กรกฏาคม 2553 สินค้าส่งออกของไทยได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รองลงมาเป็นสินค้า อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ยางพารา ข้าว กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผลไม้กระป๋องและแปรรูป เครื่องใช้ไฟฟ้า เหล็ก ผลิตภัณฑ์ยาง

สินค้าที่มีการส่งออกลดลงในช่วงระหว่าง มค-กค 53 ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เนื่องจากไทยเผชิญคู่แข่งอาทิ จีน อินเดีย กัมพูชา ที่มีราคาต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่า (Low cost country) ที่เป็นสินค้าตลาดกลางและล่าง (Medium to Low End product) สำหรับตลาดบน (Premium Product) ไทยเสียเปรียบคู่แข่ง อาทิ สหรัฐฯ ฝรั่งเศล อิตาลี เนื่องจากไม่มีแบรนด์สินค้าระดับโลก และไม่มีร้านค้า (Outlet Retail) เป็นของตนเอง เมื่อเปรียบเทียบกับแบรนด์ GAP ZARA และ Mango

ส่วนแบ่งตลาดสินค้าในแคนาดา

ไทยครองส่วนแบ่งตลาดในแคนาดาที่ 0.57-0.63% เป็นอันดับที่ 19 โดยคู่แข่งขันของไทย ได้แก่ สหรัฐฯซึ่งครองส่วนแบ่งตลาด (2550-2552) อันดับที่ 1 ที่ 51.11-54.17% จีน 9.43-10.88% เม็กซิโก 4.23-4.55% ญี่ปุ่น 3.38-3.79% เยอรมันนี 2.83-2.91% เกาหลีใต้ 1.32-1.63% มาเลเซีย 0.63-0.72% โดยในช่วงที่ผ่านมาในปี 2550-2551 ไทยมีส่วนแบ่งตลาด ในแคนาดาเพิ่มขึ้นโดยเพิ่มขึ้น จาก 0.57% ในปี 2551 เป็น 0.63% ในปี 2552 (มค-พค 53 มีส่วนแบ่ง 0.58%)

สินค้านำเข้าของไทยจากแคนาดา

ไทยนำเข้าสินค้าจากแคนาดา ได้แก่ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ เยื่อกระดาษ ปุ๋ย ยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ แผงวงจรไฟฟ้า พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช สินแร่ เครื่องจักรกล เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้า เหล็กกล้า

เศรษฐกิจแคนาดา
  • จากข้อมูลล่าสุด GDP ไตรมาสที่ 1 ของปี 53 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.5% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 แสดงถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแคนาดาเนื่องมาจากรัฐบาลแคนาดาได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิโครงการก่อสร้างระบบสาธาณูปโภค โครงการสนับสนุนการก่อสร้างบ้านพักอาศัย ฯลฯ
  • อัตราการว่างงานในเดือน ก.ค. 53 อยู่ที่ระดับ 8.0% เพิ่มขึ้น 0.1% ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจอาจมีการขยายตัวในอัตราลดลง
  • อัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลดอลลาร์แคนาดามีความผันผวนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเนื่องจากมีข่าวการเข้าซื้อเทคโอเวอร์ บริษัท Potash of Saskatchewan ที่มีมูลค่าสูงถึง 38.6 พันล้านเหรียญ (ประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท) โดยบริษัท BHP Billiton (บริษัทเหมืองแร่ที่ใหญ่ที่สุดในโลกจากออสเตรเลีย) ส่งผลให้ค่าเงินแคนาดาแข็งค่าขึ้นซึ่งจะส่งผลดีให้กับการนำเข้าสินค้าจากไทย และจากทั่วโลก
  • ธนาคารชาติแคนาดายังคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.75% ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค. 53 ทั้งนี้มีการคาดการณ์ว่าธนาคารชาติแคนาดาจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับนี้ไว้อีกระยะเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ถึงแม้ว่าจะได้รับแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น
  • อัตราเงินเฟ้อในแคนาดา ธนาคารชาติแคนาดาตั้งเป้าอัตราเงินเฟ้อในปี 2553 ที่ร้อยละ 1-3 แต่ขณะนี้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้นมากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ เนื่องจาก ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในแคนาดาปรับเพิ่มสูงขึ้น เช่น หมวดอาหาร ผัก ผลไม้ อาหารกระป๋อง เพิ่มสูงขึ้น 12.6% น้ำตาลและขนมปังและขนมขบเขี้ยว 8.6% อาหารสัตว์เลี้ยง 8.5% ค่าโดยสารรถยนต์ รถเมล์ ค่าทางด่วน 9.3% ค่าเล่าเรียน 4.1% ค่าประกันภัยทุกประเภท ค่าธรรมเนียมธนาคาร ค่านิตยสารและค่าเสื้อผ้า 10-15%
  • แคนาดามีการปรับภาษีขาย (Sales Tax) เป็น HST มีอัตราร้อยละ 13 ตั้งแต่วันที่ 1 กค 53 (ในมณฑล Ontario และ British Columbia) ทำให้สินค้าอุปโภคบริโภค มีราคาสูงขึ้นอาทิ น้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า ประปา แสตมป์ ฯลฯ ซึ่งส่งผลทางอ้อมต่อเงินเฟ้อ
  • การส่งออกของแคนาดาในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 (มูลค่า 97,900.94 ล้านเหรียญฯ) เพิ่มขึ้น 6.59% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 เนื่องจากราคาสินค้าส่งออกหลักของแคนาดามีแนวโน้มสูงขึ้น อาทิ พลังงาน สินแร่โลหะ ปุ๋ย เคมีภัณฑ์ การส่งออกทั้งปี 2552 มีมูลค่า 316,761.08 ล้านเหรียญฯ ลดลง -30.62% จากปี 2551 แคนาดาตั้งเป้าหมายว่าการส่งออกในปี 2553 จะขยายตัวเพิ่มขึ้น 7.2%
  • การนำเข้าในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 เพิ่มขึ้น 10.42 % (มูลค่า 98,934.66 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เมื่อเทียบกับไตรมาสที่1 ของปี 2553 เนื่องจากค่าเงินแคนาดาแข็งค่าขึ้น สินค้านำเข้าจะมีราคาถูกกว่าสินค้าที่ผลิตในประเทศ การนำเข้าของแคนาดาในปี 2552 มีมูลค่า 321,487.75 ล้านเหรียญฯ ลดลง -21.37 % เมื่อเทียบกับปี 2551 คาดว่าในปี 2553 จะมีการนำเข้าเพิ่มขึ้น 11.0 %

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นคร โตรอนโต

ที่มา: http://www.depthai.go.th


แท็ก สหรัฐ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ