สถานการณ์ผลิตภัณฑ์ทำด้วยยางของไทยในตลาดเยอรมนีเดือนสิงหาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 10, 2010 11:22 —กรมส่งเสริมการส่งออก

อุตสาหกรรมในประเทศ

จากการที่เยอรมนีส่งออกสินค้าได้มากขึ้น (ร้อยละ 17.1) ทำให้ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี2553 นี้ เศรษฐกิจของเยอรมนีขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีนี้ เป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ความต้องการสินค้าประเภททุนมีมากขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่งผลให้ความต้องการผลิตภัณฑ์ทำด้วยยางเพิ่มสูงขึ้นด้วยโดยเฉพาะยางรถยนต์ (มีการส่งออกรถยนต์นั่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 44.6) ผลิตภัณฑ์ยางต่างๆที่ใช้ในการผลิตเครื่องจักรกล และปะเก็นต่างๆ (มีการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.2) รวมทั้งผลิตภัณฑ์ยางต่างๆ ที่ใช้ในด้านการแพทย์ เช่น ถุงมือยาง เป็นต้น

แหล่งนำเข้าของเยอรมนี

ตามตัวเลขสถิติการค้าของเยอรมนี ในช่วง 6 เดือนแรกปี 2553 (ม.ค.-มิ.ย.) เยอรมนีนำเข้ายางพาราเป็นมูลค่า 1,209 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้นจากปีก่อนระยะเดียวกันร้อยละ103.5 ผลิตภัณฑ์ทำด้วยยางมูลค่า 4,826 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้นจากปีก่อนระยะเดียวกันร้อยละ 27.8 ในส่วนของผลิตภัณฑ์ทำด้วยยางมีแหล่งนำเข้าที่สำคัญๆ ได้แก่ ฝรั่งเศส(ส่วนแบ่งตลาด 13%) เช็ก (9%) อิตาลี (7 %) โปแลนด์ (6%) สโลเวเกีย(5%) เป็นต้นสำหรับไทยมีการนำเข้าเป็นอันดับที่ 17 มูลค่า 113.4 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.2

สินค้าส่งออกของไทย

ผลิตภัณฑ์ทำด้วยยางของไทยที่ส่งออกไปเยอรมนีมูลค่ามากเป็นอันดับแรก จะเป็นถุงมือยางใช้ในด้านการแพทย์ รองลงมาจะเป็น ยางใหม่สำหรับยานพาหนะ คู่แข่ง/คู่ค้าที่สำคัญๆ ของเยอรมนีจะเป็นประเทศอื่นๆ ในยุโรป ที่ประเทศผู้ผลิตรถยนต์สำคัญๆ ใช้เป็นฐานผลิตรถยนต์ได้แก่ โปแลนด์ เช็ค ฮังการี และโรมาเนีย เป็นต้น

สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปเยอรมนี

มีส่วนแบ่งตลาดและของประเทศคู่แข่งสำคัญๆ ดังนี้ยางยานพาหนะ ฝรั่งเศส 15% เช็ค 11% สโลเวเกีย 7 % เนเธอร์แลนด์ 7% ไทย 0.7%ถุงมือยาง มาเลเชีย 27% จีน 17% ไทย 13% เบลเยี่ยม 10% ฝรั่งเศส 6%ผลิตภัณฑ์ใช้ทางเภสัช ฝรั่งเศส 19% ฮังการี 14% อิตาลี 11% เบลเยี่ยม 10% ไทย 5%หลอด ท่อยาง เช็ค 14% อิตาลี 12% ฮังการี 11% โปแลนด์ 9% ไทย 0.5%

เพื่อมิให้ส่วนแบ่งตลาดของไทยลดลง ผู้ผลิตไทยจะต้องควบคุมการผลิต ดูแลด้านคุณภาพคุณสมบัติของสินค้าให้ถูกต้อง สม่ำเสมอ โดยจะต้องมีคุณภาพถูกต้อง ได้มาตรฐาน และเหมาะสมกับลักษณะการใช้งาน ในกรณีที่มีความผิดพลาด ก่อให้เกิดอันตรายกับผู้ใช้โดยสามารถพิสูจน์ได้ว่า เกิดจากความผิด ความบกพร่องของผู้ผลิต ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าจะต้องรับผิดชอบ ชดใช้ความเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้น

ปัญหาอุปสรรค

1. สินค้าไทยมีแนวโน้มราคาเพิ่มสูงขึ้น แต่เนื่องจากยังมีคุณภาพดี มีการส่งมอบสินค้าตรงเวลา เป็นที่ไว้วางใจได้ จึงยังเป็นที่สนใจของผู้นำเข้า

2. การประกาศใช้ระเบียบ Reach ให้ลงทะเบียนและควบคุมสารเคมีที่ใช้ในการผลิต จะทำให้เกิดปัญหากับสินค้าบางชนิดได้ และทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นบ้าง

3. คู่แข่งสำคัญ โดยเฉพาะจีนและมาเลเชีย มีความสามารถผลิตสินค้าได้มาตรฐานมากขึ้น และมีราคาต่ำกว่าสินค้าประเภทเดียวกันจากไทย

4. มีสินค้าเข้าตลาดเยอรมนีมากขึ้นจากฐานการผลิตสินค้าในยุโรปกลางที่ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนโดยผู้ประกอบการเยอรมัน

5. สินค้าทำด้วยยางในเยอรมนีส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูงในการผลิต ซึ่งไทยยังไม่สามารถผลิตได้

ที่มา: http://www.depthai.go.th


แท็ก เยอรมนี  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ