โอกาสและลู่ทางการส่งออกสินค้ากุ้งแช่แข็งไปยังแอฟริกาใต้

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 10, 2010 11:46 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ภาพรวม

แอฟริกาใต้ เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่และมั่นคงที่สุดในแอฟริกาและเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีประชากรประมาณ 47.6 ล้านคน เป็นศูนย์กลางการค้า การคมนาคม การลงทุน ของภูมิภาค และมีสิ่งสาธารณูปโภคพื้นฐานที่พร้อมมูล ทั้งนี้คาดการณ์ว่าในปี ค.ศ. 2010 จะมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ประมาณ 2 ถึง 2.7 ขณะนี้มีอัตราเงินเฟ้อที่ประมาณร้อยละ 10 และอัตราการว่างงานสูงร้อยละ 25-30 ภาคการผลิต การเหมืองแร่ การเกษตร การท่องเที่ยว การเงิน และการคมนาคม เป็นภาคธุรกิจที่มีบทบาทที่สำคัญของประเทศ มีอุตสาหกรรมการผลิตอาหารที่ทันสมัยและก้าวหน้า รวมถึงมีผลผลิตด้านการเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ ข้าวโพด สัตว์ปีก ปศุสัตว์ ผลไม้ตามฤดูกาล อ้อย นมสด ข้าวสาลี ไข่ไก่ และผลไม้เมืองร้อน เช่น ลิ้นจี่ มะม่วง มะละกอ สัปปะรด ฝรั่ง เป็นต้น อุตสาหกรรมอาหารของประเทศแอฟริกาใต้ถือได้ว่ามีความก้าวหน้าเป็นมาตรฐานสากลที่สุดของภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้ผลิตได้เพียงพอกับความต้องการภายในประเทศ และส่งออกไปยังตลาดอื่นๆ ถึงแม้ว่าแอฟริกาใต้จะมีผลผลิตทางการเกษตร อาหารเป็นจำนวนมากมาย แต่ก็ยังคงมีการนำเข้าสินค้าอาหารเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคภายในประเทศที่ประชากรประกอบด้วยหลากหลายเชื้อชาติทั้งแอฟริกัน ยุโรป เอเชียน ดังนั้นจึงมีความต้องการของผลิตภัณฑ์อาหารที่หลากหลาย และรวมถึงการส่งออกต่อไปยังประเทศอื่นๆในภูมิภาคอีกด้วย สำหรับตลาดสินค้ากุ้งแช่แข็งในแอฟริกาใต้นั้น ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากสภาพอากาศที่ไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของกุ้ง (Shrimp & Prawn) ยกเว้น Lobster และอุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้งภายในประเทศมีเพียงเล้กน้อยซึ่งมีผลผลิตไม่มากนัก ประมาณ 150 ตันต่อปี จากเหตุผลด้านสภาพภูมิอากาศ โดยฟาร์มเลี้ยงจะอยู่ในแถบรัฐ Kwazulu Natal ที่ตั้งอยู่บนฝั่งมหาสมุทรอินเดียและมีอากาศที่อุ่นกว่าแถบพื้นที่แถบฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติค นอกจากนี้กฎระเบียบมาตรฐานต่างๆในแอฟริกาใต้ที่เข้มงวดส่งผลให้มีต้นทุนที่สูงกว่าการนำเข้า กุ้งเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมในแอฟริกาใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจุบันที่อาหารประเภทซูชิ กำลังเป็นที่นิยมในหมู่ผู้บริโภคชาวแอฟริกาใต้ ดังนั้นนอกจากกุ้งจะใช้เป็นส่วนประกอบในการปรุงอาหารอื่นๆแล้วโดยเฉพาะอาหารประเภทปิ้งๆย่างๆ (Braai) ส่วนหนึ่งก็จะนำไปใช้เป็นส่วนประกอบของการทำซูชิ ประมาณว่าในปีหนึ่งๆแอฟริกาใต้บริโภคกุ้งแช่แข็งประมาณ 8,000 ตัน และส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าจากอินเดีย ไทย โมซัมบิก และมักเป็นการนำเข้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของผู้นำเข้าจากนั้นส่งกระจายต่อไปยังผู้ค้าส่งเพื่อกระจายต่อไปยังผู้ค้าปลีกและร้านอาหารทั่วไป แต่ก็มีผู้นำเข้าบางส่วนที่ส่งตรงไปยังผู้ค้าปลีกและร้านอาหารโดยตรง ในปี ค.ศ. 2009 การนำเข้ากุ้งแช่แข็งจากอินเดียมากสุดเป็นอันดับหนึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 61 จากไทยร้อยละ 16 และโมซัมบิก ร้อยละ 7 นอกจากนั้นเป็นการนำเข้าจากที่อื่นๆ โดยมีระดับราคาเฉลี่ยต่อกิโลกรัม 5.64 เหรียญสหรัฐฯ (อินเดีย) 4.8 เหรียญสหรัฐฯ (ไทย) และ 4.43 เหรียญสหรัฐฯ (โมซัมบิก) ตามลำดับ ขณะที่ในปี ค.ศ. 2007 นำเข้าจากอินเดีย ร้อยละ 64 ไทยร้อยละ 11 และโมซัมบิกร้อยละ 8 มีระดับราคาเฉลี่ยต่อกิโลกรัม 5.38 เหรียญสหรัฐฯ (อินเดีย) 5.07 เหรียญสหรัฐฯ (ไทย) และ 5.23 เหรียญสหรัฐฯ (โมซัมบิก) ซึ่งสินค้ากุ้งแช่แข็งจากไทยมีการขยายตัวในตลาดแอฟริกาใต้เพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 11 ในปี ค.ศ. 2007 เป็นที่ระดับร้อยละ 16 ในปี ค.ศ. 2009 ซึ่งปัจัยหลักสำคัญคือราคาที่สามารถแข่งขันได้ อนึ่งการนำเข้าจากโมซัมบิกมีไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับการนำเข้าจากอินเดีย และไทย ทั้งๆที่ระดับราคาเฉลี่ยจะต่ำกว่า เนื่องจากส่วนใหญ่แล้วอุตสาหกรรมการทำกุ้งในโมซัมบิกเป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐบาลกับผู้ประกอบการต่างชาติที่เมื่อได้ผลผลิตมาแล้วจะถูกนำส่งออกต่อไปยังบริษัทแม่ในต่างประเทศ โดยที่มีบางส่วนเป็นการจับโดยชาวประมงแล้วส่งออกต่อไปยังแอฟริกาใต้แต่ก็มีจำนวนไม่มากนักเนื่องจากไม่มีอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือในการจับที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ ถึงแม้จะมีราคาต่ำกว่ากุ้งจากไทย หรืออินเดียก็ตาม

ช่องทางการจำหน่าย

ผู้นำเข้านำเข้าหลังจากนำเข้าแล้วจะขายไปยังผู้ค้าส่ง ซึ่งผู้ค้าส่งก็จะกระจายสินค้าส่งต่อไปยังผู้ค้าปลีก ร้านอาหาร/Catering โดยที่มีผู้นำเข้าบางรายที่จำหน่ายไปยังร้านอาหาร และผู้ค้าปลีกโดยตรง

ช่องทางการจำหน่ายกุ้งแช่แข็ง (อาหารทะเล) ในแอฟริกาใต้
ภาษีนำเข้า 0%
พฤติกรรมผู้บริโภค

มีความหลากหลายเนื่องจากมีความแตกต่างทางพื้นฐานทางวัฒนธรรม เชื้อชาติ รายได้ และรสนิยมความต้องการ โดยทั่วไปผู้บริโภคนิยมที่จะจับจ่ายซื้อหาสินค้าอุปโภคบริโภคอาทิตย์ละ 1 ครั้ง ปกติจะเป็นวันเสาร์ สำหรับใช้ทั้งอาทิตย์ โดยนิยมที่จะซื้อสินค้าที่ซูปเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์เก็ต ขนาดใหญ่ และตามร้านขายผัก ผลไม้ขนาดใหญ่ ที่มักจะมีร้านขายเนื้อและอาหารทะเลตั้งควบคู่ไปด้วย ทั้งนี้จะหาซื้อสินค้าอาหารเพิ่มเติมระหว่างสัปดาห์ นอกจากนี้แนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคที่ส่วนใหญ่มีความต้องการสินค้าที่สามารถหาซื้อได้ง่ายและสะดวกซื้อ เนื่องจากการขยายตัวของรายได้ ประกอบกับผู้หญิงจำนวนมากที่ต้องทำงานด้วยดังนั้นอาหารพร้อมรับประทานและอาหารที่สะดวกซื้อจึงได้รับความนิยมเพิ่มสูงมากตามลำดับ รวมทั้งอาหารเพื่อสุขภาพก็เป็นที่นิยมมากด้วยเช่นกัน สำหรับพฤติกรรมการบริโภคอาหารทะเลซึ่งถึงแม้ว่าแอฟริกาใต้จะมีความอุดมสมบูรณ์ของอาหารทะเล และไม่ได้เป็นชนชาติที่บริโภคอาหารทะเลเป็นหลักเนื่องจากอาหารทะเลเป็นอาหารที่มีราคาสูง เมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์อื่นๆ ก็ตาม การบริโภคส่วนใหญ่บริโภคโดยผู้มีรายได้ปานกลางและสูง การบริโภคอาหารทะเลส่วนใหญ่มีตลาดหลักคือที่นครโจฮันเนสเบอร์ก เมืองใหญ่หลักๆ และเมืองตามชายฝั่งทะเล ทั้งนี้ฤดูกาลการบริโภคคือฤดูร้อน ระหว่างเดือนพฤศจิกายน และธันวาคม โดยเดือนธันวาคมจะมีการบริโภคที่เพิ่มมากขึ้นในแถบเมืองตามชายฝั่งเนื่องจากชาวแอฟริกาใต้เดินทางไปฉลองเทศกาลคริสมาสต์ที่ตามเมืองชายฝั่งโดยเฉพาะที่เมืองเคปทาวน์และใกล้เคียง ปัจจุบันกุ้งแช่แข็ง เป็นสินค้าที่ต้องการของตลาดเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันอาหารประเภทซูชิ เป็นอาหารที่ได้รับความนิยมสูงในหมู่ผู้บริโภคชาวแอฟริกาใต้ ดังจะเห็นได้จากร้านอาหารเอเชียจำนวนมาก ร้านอาหารทะเล หรือแม้แต่ตามซูปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ตามชุมชนที่มีระดับรายได้ปานกลางจนถึงสูง จะมีซูชิ เป็นอาหารพร้อมรับประทานวางขาย ซึ่งกุ้งเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการประกอบการทำหน้าซูชิ

ขั้นตอน กฎระเบียบการนำเข้าสินค้าอาหารของแอฟริกาใต้

การนำเข้ามีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก นอกจากการผ่านกระบวนการการตรวจสอบจากหน่วยงานที่รับผิดชอบในแต่ละประเภทของสินค้า เพื่อขอมี Import permit ที่เกี่ยวข้องโดยจะต้องได้รับก่อนวันที่ที่จะมีการส่งสินค้าออก ซึ่งใบอนุญาตนี้โดยทั่วไปมีระยะเวลา 1 ปีและไม่สามารถเปลี่ยนโอนให้ผู้อื่นได้ ทั้งนี้จะระบุประเภทสินค้าและประเทศเฉพาะที่เจาะจงสำหรับสินค้า กุ้งแช่แข็ง ที่จะส่งออกไปยังแอฟริกาใต้จะต้องผ่านการตรวจสอบให้เป็นไปตามคุณภาพและมาตรฐาน จาก The National Regulator for Compulsory Specifications (NRCS) โดยมาตรฐานพื้นฐานหลักๆของสินค้ากุ้งแช่แข็ง ได้แก่ ข้อกำหนดการใช้สารถนอมหรือส่วนประกอบของสารเคมีในสินค้า รายละอียดข้อมูลต่างๆที่กำหนดให้ต้องระบุลงในฉลากสินค้าต้องครบถ้วน มีบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม การใช้สีในผลิคภัณฑ์ ตลอดจนเอกสารกำกับอื่นตามที่กำหนด (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.nrcs.org.za) และหากสินค้าไม่ได้มาตรฐานที่กำหนดไว้สินค้านั้นจะต้องถูกส่งกลับออกไป หรือ ต้องแสดงบนฉลากสินค้าว่าเป็นสินค้าต่ำกว่าระดับมาตรฐาน (Sub-Standard) แต่หากตรวจสอบแล้วพบว่าไม่ปลอดภัยต่อการบริโภคจะต้องทำลายทิ้งหรือส่งกลับไปเท่านั้น

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงพริทอเรีย

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ