ไทยเกาะขบวนรถไฟสายสาธารณูปโภคจีน-ญี่ปุ่น

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 17, 2010 16:45 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ไทยเกาะขบวนรถไฟสายสาธารณูปโภคจีน-ญี่ปุ่น สบโอกาสกำลังซื้อเพิ่ม เฟ้นกลยุทธ์การตลาดสร้างพันธมิตร พ่วงเอสเอ็มอีตะลุย เน้นต้องสร้างแบรนด์สินค้า-บริการ ชูอุตสาหกรรมสีเขียว เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมใช้เกษตรเป็นจุดแข็งดันไทยเป็นผู้นำอาเซียน

นางอัมพวัน พิชาลัย อัครราชทูต (ฝ่ายการพาณิชย์) สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยถึงบทบาทของจีนและญี่ปุ่นในความพยายามรักษาบทบาทผู้นำ การแสวงหาโอกาสและอำนาจในภูมิภาคเอเซียว่า การสนับสนุนการลงทุน หรือให้กู้ยืมเงินเพื่อการก่อสร้างโครงสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือสำคัญที่ทั้งสองประเทศเสนอให้ความช่วยเหลือ เนื่องจากเล็งเห็นว่าโครงสร้างสาธารณูปโภคเป็นความจำเป็นขั้นพื้นฐานที่ยังต้องการอีกมากในภูมิภาคนี้ ซึ่งนอกจากการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและเป็นยุทธศาสตร์สร้างการเจริญเติบโตรูปแบบใหม่แล้ว ยังขยายโอกาสสู่ภูมิภาคที่กำลังเติบโต ถือเป็นการช่วงชิงโอกาสและอำนาจในเอเซีย

“แนวโน้มที่ทั้งจีนและญี่ปุ่นจะใช้การลู่ทางการออกไปลงทุน เพื่อแผ่ขยายอำนาจ และเพิ่มการส่งออก นำพา เอสเอ็มอีของตนออกไปค้าขายในประเทศเป้าหมาย และวางเครือข่ายธุรกิจ จะยิ่งทวีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยจีน และญี่ปุ่น ต่างหันมาเร่งวางเครือข่ายด้านกิจการสาธารณูปโภค โลจิสติกส์ และคมนาคม ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจของการพัฒนาในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งกำลังเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจใหม่ของโลก โดย ญี่ปุ่น เน้นการเข้าไปในอาเซียน ขณะที่ จีน แทรกซึมเข้าอาเซียนมานานแล้ว จึงขยายไปยังประเทศในเอเชียใต้ เป็นการเชื่อมต่อกับอินเดีย ซึ่งมีประชากรมหาศาล”นางอัมพวัน กล่าว

ทั้งนี้การเข้ามาลงทุนของจีน และญี่ปุ่น จะสร้างงาน รายได้ และเพิ่มอำนาจซื้อของประเทศเหล่านี้ ซึ่งยังมีความต้องการสินค้าจำเป็นพื้นฐานต่อการครองชีพจำนวนมาก จึงเป็นโอกาสของไทยที่จะขายสินค้าอุปโภคบริโภคและบริการให้ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ในชาติเอเซียเช่น อินเดีย และเกาหลีใต้กำลังจ้องมองความเคลื่อนไหวของ จีน และญี่ปุ่น ซึ่งได้เริ่มคืบคลานเข้าไปลงทุน วางเครือข่ายด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะบทบาทของเกาหลี ในประเทศกลุ่ม CLMV(กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม) ซึ่งญี่ปุ่นเข้าดำเนินการน้อย

สำหรับโอกาสและการปรับตัวของไทยในด้านการตลาดนั้น กำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น ย่อมหมายถึงโอกาสการส่งออกในภูมิภาค เนื่องจากสินค้าไทย มีภาพพจน์ที่ดี จึงต้องรักษาและขยายฐานตลาดให้กว้างขึ้น ประเทศไทย ต้องวางกลยุทธ์ ด้วยการสร้างพันธมิตรที่ชาญฉลาด เพราะภาพลักษณ์ของไทยในสายตาต่างชาติ คือ เป็นมิตรใกล้ชิดและให้ความสนใจต่อญี่ปุ่นมากกว่าคู่ค้าอื่น การลงทุนของเอสเอ็มอีไทยต้องพิจารณาการออกไปลงทุน ร่วมทุน และเร่งสร้างแบรนด์ของสินค้าและบริการ เพื่อยกระดับสินค้า หนีสินค้าราคาถูกจากจีน

“ทำอย่างไรจะถ่วงดุลระหว่างจีนและ เกาหลี ซึ่งอุตสาหกรรมหลายสาขาของเกาหลี โดยเฉพาะอิเล็คทรอนิกส์กำลังแซงหน้า ญี่ปุ่น ซึ่งอาจจะเป็นผู้นำด้านอิเล็คทรอนิกส์ของโลกรายต่อไป ในขณะที่อินเดีย ก็เป็นตลาดใหญ่ และภาครัฐ-เอกชน ร่วมมือกันใกล้ชิดมากเชื่อว่าในอนาคตอันใกล้ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี และอินเดีย จะใช้นโยบายเชิงรุก กดดันประเทศคู่เจรจา รวมทั้งไทย ในเวทีต่างๆ เพื่อผลประโยชน์ด้านการลงทุน ในโครงการของรัฐ ในประเทศต่างๆ มากขึ้นด้วย”นางอัมพวัน กล่าวและว่า ดังนั้นไทยต้องติดตามความเคลื่อนไหวของโครงการ และนโยบายของประเทศต่างๆ ในภูมิภาค เพื่อไม่ให้เสียเปรียบ และดึงโครงการที่เป็นประโยชน์ ที่จะสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียนไว้ให้ได้

อย่างไรก็ตามไทยคงต้องคิดถึงการนำพาประเทศไปสู่ความเป็นผู้นำเรื่อง อุตสาหกรรมสีเขียว(green industry), เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม(eco friendly) และ ปริมาณรวมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซเรือนกระจก(carbon footprint) ในเชิงการรักษาสิ่งแวดล้อม เพราะไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม น่าจะใช้จุดนี้เป็นจุดแข็ง และสร้างความเป็นผู้นำให้ได้

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ