การค้าอย่างเป็นธรรม (Fair Trade) ในสหรัฐอเมริกา

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 20, 2010 17:36 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ความเป็นมา

การค้าอย่างเป็นธรรม (Fair Trade) เป็นการเคลื่อนไหวที่เน้นความยุติธรรมและ มนุษยธรรม ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายสินค้าเป็นบริบทสำคัญ เพื่อสนับสนุนมาตรฐานสากลในเรื่อง

แรงงาน สิ่งแวดล้อม และสังคม สำหรับสินค้าและบริการ โดยเฉพาะที่มาจากประเทศกำลังพัฒนาไปยังประเทศที่พัฒนาแล้ว (Developed Countries) การดำเนินการเป็นแบบสมัครใจ แต่อยู่ภายใต้ การบังคับขององค์กรระหว่างประเทศที่ดูแลด้านการค้าอย่างเป็นธรรม

แนวความคิดการค้าอย่างเป็นธรรม (Fair Trade) ปรากฎอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อปี 2531 ที่ประเทศ เนเธอร์แลนด์ เมื่อองค์การ เอ็นจีโอ (NGO) และบริษัทชาวดัทช์ร่วมมือกันนำหลักการของ Fairtrade Label มาใช้กับสินค้ากาแฟ ภายใต้เครื่องหมายการค้า "Max Havelaar" ความสำเร็จของ Max Havelaar ถือเป็นครั้งแรกในโลกที่บริษัทผู้ขายกาแฟกระแสหลัก (Mainstream) สามารถนำสินค้า Fairtrade ที่มีนิยามและมาตรฐานชัดเจน มาวางขายอย่างเป็นระบบ Max Havelaar และ Fairtrade Label อีกหลายองค์กร ร่วมกันจัดตั้งหน่วยงานอิสระชื่อ Fairtrade Labelling Organizations International หรือย่อว่า FLO เพื่อทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานและออกใบรับรองให้กับผู้ผลิตสินค้า Fairtrade

นิยามของสินค้า "Fair Trade"

สมาคมการค้า Fair Trade สากล (International Fair Trade Association - IFAT) และ หน่วยรับรอง Fair Trade สากล (Fairtrade Labelling Organisations International - FLO) ได้ร่วมกันให้คำนิยามความหมายของ Fair Trade ไว้ว่า "หุ้นส่วนทางการค้า ซึ่งตั้งอยู่บนรากฐานขอ ความโปร่งใสและการเคารพซึ่งกันและกัน เพื่อให้เกิดความเสมอภาคทางการค้าระหว่างประเทศ Fair Trade และช่วยสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยการทำให้เกิดเงื่อนไขทางการค้าที่ดีขึ้น และช่วยปกป้องสิทธิของ

ผู้ผลิตและลูกจ้าง ที่ด้อยโอกาส โดยเฉพาะผู้ผลิตและลูกจ้างในประเทศที่กำลังพัฒนา"

จุดประสงค์หลักของ Fair Trade

1. พัฒนาความเป็นอยู่ของผู้ผลิต (เกษตรกร) โดยการเพิ่มอำนาจในการต่อรอง และประกันราคาที่เป็นธรรม

2. ไม่ใช้แรงงานเด็ก และ เพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางการผลิตและการค้าของผู้ด้อยโอกาสโดยเฉพาะผู้หญิงและชาวพื้นเมือง

3. กระตุ้นให้ผู้บริโภคตระหนักถึงความสำคัญของการค้าโดยชอบธรรม

4. เพื่อเป็นตัวอย่างของการค้าที่โปร่งใส ชอบธรรมและมีความรับผิดชอบ

5. รณรงค์ให้มีการเปลี่ยนแปลงของกฏเกณฑ์และวิถีการค้าขายแบบดั้งเดิมที่ผู้ผลิตรายย่อยมักจะถูกเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง

6. ปกป้องสิทธิมนุษยชน แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม กระบวนการค้า เศรษฐกิจแบบยั่งยืน

หลักการของการค้า Fair Trade

1. ช่วยให้ผู้ผลิตที่ด้อยโอกาสได้เข้าถึงตลาด โดยเน้นการผลิตแบบพื้นบ้าน และส่งเสริมคุณค่าของผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน ที่ได้ประโยชน์ทางสังคมและชุมชนเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้ห่วงโซ่การค้าสั้นลง และผู้ผลิตสามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์ได้ราคาที่สูงขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับการขายผ่านกลไกการตลาดทั่วไป

2. ความสัมพันธ์ทางการค้าที่เท่าเทียมและยั่งยืน โดยคู่ค้าจะพิจารณาถึงต้นทุนทั้งหมด ของการผลิต ทั้งต้นทุนทางตรงและต้นทุนทางอ้อม รวมถึงต้นทุนในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ และการลงทุนเพื่ออนาคต นอกจากนี้ ผู้ประกอบการ Fair Trade จะให้ความสำคัญกับวิถีชีวิตของผู้ผลิตและคนงาน ที่ควรจะได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม ซี่งไม่เพียงแต่จะต้องเพียงพอที่จะตอบสนองต่อความจำเป็นทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน แต่ยังครอบคลุมถึงการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ในอนาคต

3. การเสริมสร้างความสามารถและความเข้มแข็งให้กับองค์กรผู้ผลิต ให้ได้มีโอกาส เรียนรู้และเข้าใจเกี่ยวกับสภาพเงื่อนไขของตลาดและการค้า ตลอดจนทิศทางแนวโน้ม เพื่อให้เกิดการพัฒนาความรู้ ทักษะ และทรัพยากร ที่จะช่วยให้องค์กรผู้ผลิตสามารถควบคุมและจัดการวิถีชีวิตของตัวเองได้มากขึ้น

4. การสร้างการรับรู้กับผู้บริโภคและการรณรงค์ โดยการเชื่อมโยงผู้ผลิตกับผู้บริโภค ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคได้รับทราบถึงความยุติธรรมทางสังคม และแนวทางในการดำเนินการเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทางสังคม การสนับสนุนจากผู้บริโภคช่วยทำให้องค์กร Fair Trade สามารถรณรงค์ให้เกิดการปฏิรูปกฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศ อันจะนำไปสู่ระบบการค้าโลกที่เป็นเป็นธรรมและเท่าเทียมในที่สุด

5. การค้าที่เป็นธรรมในฐานะ "สัญญาทางสังคม" การปฏิบัติตามหลักการ Fair Trade เหล่านี้จะเกิดขึ้นได้จะต้องเริ่มต้นที่ความมุ่งมั่นในการเป็นหุ้นส่วนทางการค้า ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของความยุติธรรม ความโปร่งใส และการเคารพซึ่งกันและกัน การค้าขายแบบแฟร์เทรดนี้เกิดขึ้นภายใต้ "สัญญาทางสังคม" ที่ผู้ซื้อตกลงที่จะทำบางสิ่งบางอย่างมากกว่าระบบตลาดทั่วไปในการช่วยกลุ่มผู้ผลิตและกลุ่มผู้ผลิตตกลงที่จะใช้รายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการค้าที่เป็นธรรม ในการปรับปรุงสภาพเศรษฐกิจและสังคมของสมาชิกในกลุ่ม โดยเฉพาะสมาชิกทีเป็นผู้ผลิตที่ด้อยโอกาสในกลุ่ม ดังนั้น การค้าที่เป็นธรรมจึงไม่ใช่การกุศลแบบให้เปล่า แต่เป็นหุ้นส่วนทางการค้า เพื่อการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนา

ฉลากสินค้าแสดงความชอบธรรม

Fair Trade Label หรือ "ฉลากสินค้าที่เป็นธรรม" เป็นเครื่องหมายการค้า (trademark) ที่ผนึกกับบรรจุภัณฑ์สินค้า เช่น กาแฟ ผลไม้ ข้าว ชา เครื่องเทศ และ ฝ้าย เป็นต้น ตรารับรอง Fair Trade เป็นเครื่องช่วยยืนยันให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่า สินค้าที่มีเครื่องหมายนี้เป็นผลผลิตของกระบวนการ "การค้าที่เป็นธรรม" และ สินค้าได้มาตรฐานของ Fair Trade

ดังนั้น การซื้อสินค้าที่มีเครื่องหมาย Fair Trade จะเป็นการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ทางอ้อมได้ โดยซื้อสินค้าในกลุ่มนี้จะมีราคาแพงกว่าปกติเพียงเล็กน้อย และได้รับความภูมิใจในการมีส่วนร่วมช่วยเหลือและยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรผู้ยากไร้ในโลก

ตลาดการค้าสินค้าอย่างเป็นธรรมในสหรัฐฯ

ตลาดสินค้า Fair Trade ในสหรัฐฯ เติบโตอย่างต่อเนื่อง ในช่วงปี 2548-2550 ขยายตัว เพิ่มขึ้นประมาณร้อย 33 และตลาดมีมูลค่าประมาณ 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปัจจุบัน มีร้านค้าปลีกจำนวนกว่า 35,000 แห่งในสหรัฐฯ มีสินค้ามาตรฐาน Fair Trade จำหน่าย เช่น ร้านกาแฟ Starbuck ร้านซุปเปอร์มาร์เกต Whole Food และโรงงานผลิตสินค้ากว่า 400 แห่งในสหรัฐฯ ซื้อวัตถุดิบในการผลิตโดยวิธี Fair Trade การขยายตัวของตลาด ส่วนหนึ่งเป็นผลจากกระแสความรับผิดชอบทางสังคม (Corporate Social Responsibility : CSR) ที่กำลังมาแรงทั่วโลก ปัจจุบัน ผู้ประกอบการและผู้บริโภคสหรัฐฯ ส่วนหนึ่ง ที่ใส่ใจต่อความเป็นอยู่ของคนยากคนจนในประเทศกำลังพัฒนา/ด้อยพัฒนา และหันมาให้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษยชาติ ด้วยการยินดีซื้อสินค้าในราคาแพงกว่าปกติหรือสูงกว่าท้องตลาด แม้ว่าจะประโยชน์ที่ได้รับจากสินค้าที่จ่ายเงินเพิ่มขึ้น จะเท่ากับสินค้าที่มีราคาต่ำกว่า

การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมและศักยภาพ (SWOT Analysis) Fair Trade ในสหรัฐฯ
Strengths:

1. สหรัฐฯ เป็นตลาดที่มีความต้องสินค้าที่ให้คุณค่าแก่สังคม (Social Value)

2. ผู้บริโภคสหรัฐฯมีรายได้สูงพอที่จะจับจ่ายซื้อสินค้า Fair Trade ได้

3. ภาคการผลิตสินค้าโดยเฉพาะสินค้าอาหารมีความต้องการวัตถุด้านเกษตรกรรมจำนวนมาก

4. องค์กรภาคเอกชน และ สถาบันการศึกษาให้การสนับสนุน

5. ความต้องการสินค้า Fair Trade ขยายตัวต่อเนื่อง

6. ช่องทางจัดจำหน่ายสินค้า ช่วยในการกระจายสินค้า Fair Trade ได้รวดเร็ว

7. การเพิ่มจำนวนของผู้บริโภคมีคุณธรรม

Opportunities:

1. จำนวนผู้บริโภคประมาณ 310 ล้าน และกลุ่มที่ให้ความสนใจ Fair Trade คือ กลุ่ม Gen-X & Gen-Y ซึ่งมีประมาณ 40 ล้านคน

2. การเพิ่มจำนวนผู้บริโภคที่ใส่ใจในสิ่งแวดล้อม (Green Consumer) จะช่วยขยายตลาดและความต้องการสินค้า Fair Trade

3. ผู้บริโภคสหรัฐฯ ไม่ต้องการสินค้าจำเจ และ มองหาสินค้าที่ให้คุณค่า และแสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อสังคม

4. ตลาดสหรัฐฯ เปิดกว้างต้อนรับสินค้า Fair Trade นำเข้าจากต่างประเทศ

Weaknesses:

1. ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่อง Fair Trade

2. การยอมรับสินค้า Fair Trade ยังอยู่ในวงแคบ

3. ขาดการสนับสนุนจากรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นของสหรัฐฯ และไม่มีนโบยายที่ชัดเจนในการผลักดันและส่งเสริมการค้าแฟร์เทรด หรือมีกฎระเบียบ และ กฎหมายเข้ามาช่วยสนับสนุน

4. กลุ่มร้านค้าปลีกรายใหญ่และร้านค้าปลีกลูกโซ่ยังให้ความสำคัญด้าน Fair Trade ในระดับต่ำ

5. การรณรงค์สร้างการรับรู้ Fair Trade ไม่สามารถทำได้เต็มที่ เนื่องจากขาดการสนับสนุนด้านการเงิน

6. ข้อมูลเชิงลึกของตลาดและสินค้า Fair Trade ในสหรัฐฯ มีจำกัด

7. เครือข่ายของ Fair Trade ในสหรัฐฯ ยังไม่เข้มแข็ง

Threats:

1. การแข่งขันของสินค้า Fair Trade จากคู่แข่งขันจากกลุ่มประเทศเอเซียใต้ และอัฟริกา และ ลาตินอเมริกา

2. ความหลากหลายของสินค้า Fair Trade ที่นำเสนอต่อผู้บริโภคมีจำนวนจำกัด

3. ภาวะเศรษฐกิจขยายตัวในอัตราต่ำ เป็นผลให้ผู้บริโภคลดการใช้จ่ายสินค้าที่มีราคาสูง ส่งผลต่อการลดการซื้อสินค้า Fair Trade

4. แนวทาง Fair Trade ไม่ตรงกับกลไกด้านการตลาดการซื้อ-ขายในสหรัฐฯ มีกลุ่มต่อต้านไม่เห็นด้วยกับหลักการ Fair Trade ซึ่งขัดกับหลักการ Free Trade

5. ค่าเงินดอลล่าร์อ่อนตัวทำให้ราคาสินค้านำเข้าสูง จึงไม่สนับสนุนสินค้า Fair Trade เนื่องจากราคาจะสูงกว่าปกติ

มุมมองตลาดการค้า Fair Trade ในสหรัฐฯ

1. ผู้บริโภคสหรัฐฯ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ มีจิตใจ จริยธรรม และ มนุษยธรรมสูงขึ้น มีความเห็นใจ และยินดีที่จะช่วยเหลือผู้ด้อยว่าในประเทศด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนา

2. ผู้บริโภคสหรัฐฯ กลุ่มหนึ่ง มีความเห็นว่า ประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ ไม่ควรเอารัดเปรียบประเทศด้อยพัฒนาและกำลังพัฒนา ในทางกลับกัน ควรที่จะสนับสนุนและยกระดับประเทศเหล่านั้น

3. ผู้บริโภคสหรัฐ ส่วนหนึ่งมีเจตนารมณ์ที่จะช่วยเหลือผู้ที่ด้อยโอกาส และมีความยินดีที่จะจ่ายเพิ่มในราคาสินค้าเพื่อสร้างความอยู่กินดีให้แก่ประเทศด้อยพัฒนา

4. ผู้บริโภคสหรัฐฯ โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ กลุ่ม Generation-X (Gen-X: เกิดระหว่างปี 2504-2524) และ กลุ่ม Generation-Y (Gen-Y: เกิดระหว่างปี 2525-2538) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริโภคมีความรู้จักและคุ้นเคยกับชื่อ Fair Trade และมีความสนใจในสวัสดิภาพ ความเป็นอยู่ของประชากรในประเทศกำลังพัฒนาซึ่งถูกเอาเปรียบจากประเทศพัฒนาแล้ว

5. ผู้บริโภคสหรัฐฯ มีความเห็นว่า การซื้อสินค้า Fair Trade เป็น Consumer's choice

ความเคลื่อนไหวของการค้าอย่างเป็นธรรมในสหรัฐฯ

1. สหรัฐฯ ผลักดันในเรื่องการค้า Fair Trade มีมานานกว่า 30 แต่ยังไม่ได้รับการยอมรับ และปฏิบัติได้อย่างกว้างขวางเช่นยุโรป แต่การค้า Fair Trade เติบโตและขยายตัวโดยสม่ำเสมอ เนื่องจากตลาดมีความต้องการสินค้า Fair Trade

2. สินค้า Fair Trade ในสหรัฐฯ เน้นภาคเกษตรกรรมเป็นสำคัญ โดยเฉพาะกาแฟ Fair Trade มีมูลค่าประมาณ ร้อยละ 80 ของตลาดสินค้า Fair Trade ทั้งหมด สินค้ากลุ่ม Non-agriculture ซึ่งได้แก่ สินค้าหัตถกรรม งานการฝีมือ เพิ่งได้รับความนิยมในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

3. ผู้นำตลาดการค้า Fair Trade รายสำคัญของสหรัฐ ได้แก่ Starbuck, Proctor & Gamble, McDonald's, Safeway, Whole Foods, Traders Joe's และ Kroger เป็นต้น

4. ปัจจุบัน มีองค์กรที่ผลักดันและสนับสนุนการค้า Fair Trade ในสหรัฐฯ ได้แก่ Equal Exchange, Fair Trade Resource Network, Fair Trade Town USA, Fair Trade Federation, Global Exchange, Green America, Trans Fair USA, และ United Students for Fair Trade (USFT)

5. องค์การรับรองมาตรฐาน Fair Trade ในสหรัฐฯ มี 2 องค์การ คือ Trans Fair USA และ Fair Trade Federation

6. การรณรงค์จัดตั้ง Fair Trade Town ขึ้นในสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบัน มีเมืองขนาดเล็กและขนาดกลาง จำนวน 19 เมือง ได้รับการรับรองมาตรฐาน Fair Trade Town ประกาศตัวเองเป็น Fair Trade Town เช่น Milwaukee ในรัฐ Wisconsin เมือง Boston ในรัฐ Massachusetts และ เมือง San Francisco ในรัฐ California เป็นต้น และจำนวนจะเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ โดยในขณะนี้ นครชิคาโกกำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการเพื่อเป็น Fair Trade Town

ประเด็นท้าทายด้านการตลาดการค้าอย่างเป็นธรรมในสหรัฐฯ

1. ความสับสน (Confusion): เป็นผลจากความไม่เข้าใจในคำจำกัดความที่ใช้เกี่ยวกับ Fair Trade เช่น Fair Trade Certified, Fairtrade, Fairly traded ซึ่งคำต่างๆ ดังกล่าวสร้างความสับสนและความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค แสดงให้เห็นว่า Fair Trade ในสหรัฐฯ ยังไม่มีความเป็นเอกลักษณ์ แบรนด์ Fair Trade ของสหรัฐฯ ยังไม่มีเครื่องหมายเป็นกลาง ที่สามารถสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค

2. การยอมรับ (Awareness): ร้านค้าปลีกมีความเห็นว่า ระดับการยอมรับ Fair Trade ในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ แต่เป็นอัตราที่ไม่สูงเพียงพอที่จะเป็นปัจจัยในการผลักดันยอดขาย เนื่องจากขาดการรณรงค์ ความร่วมมือ และ ส่งเสริมอย่างเต็มที่จากองค์กรเอกชนและภาครัฐบาล

3. จำนวนสินค้าที่นำเสนอ (Availability): ข้อจำกัดในด้านจำนวนและประเภทสินค้า Fair Trade เป็นประเด็นหนึ่งที่ร้านค้าและผู้บริโภคมีความเป็นห่วงและกังวลเนื่องจาก สินค้า Fair Trade ขาดความหลากหลาย และมีจำกัดจำนวน ไม่สามารถสนองความต้องการผู้บริโภคที่ต้องการสินค้าใน รูปแบบต่างๆ ได้เต็มที่

4. ความยาก/ง่ายในการค้นหาสินค้า (Accessibility) เป็นกุญแจสำคัญประการหนึ่งที่ มีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้า Fair Trade ผู้บริโภคสามารถมองหาสินค้าในร้านค้าได้ง่ายหรือไม่ เนื่องจาก ในปัจจุบัน ร้านค้ามิได้ให้ความสนใจในการจัดวางสินค้า Fair Trade แยกเฉพาะกลุ่มให้ชัดเจน เพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคเลือกซื้อ

5. ข้อขัดแยัง (Controversies): Fair Trade ไม่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นเอกฉันท์ใน สหรัฐฯ มีกลุ่มต่อต้านไม่เห็นด้วยกับหลักการ Fair Trade ซึ่งถูกมองว่า ขัดกับหลักการค้าเสรี (Free Trade) การกำหนดราคาซื้อ-ขายที่แน่นอนไม่ถูกต้องตามกลไกตลาด นอกจากนั้นแล้ว และ ยังมีความขัดแย้งภายใน คือ องค์กรที่พยายามผลักดันและเคลื่อนไหวด้าน Fair Trade ในสหรัฐฯ โดยพยายามสร้างภาพว่าการดำเนินการก่อให้เกิดราคาเป็นธรรมต่อเกษตรกร/ผู้ผลิต แต่ในแง่ของผู้ผลิต/เกษตรกรยังไม่ได้รับราคาเป็นธรรม

แหล่งข้อมูลด้านการค้าโดยชอบธรรมในสหรัฐฯ

1. Fair Trade Federation www.fairtradefederation.org

2. Trans Fair USA www.transfairusa.org

3. Fair Trade Action Network www.fairtradeaction.net

4. United Students for Fair Trade (USFT) www.usft.org

5. Fair Trade Towns USA www.fairtradetownsusa.org

6. Global Exchange www.globalexchange.org

7. Green America www.greenamericatoday.org

8. Fair Trade Network www.fairtraderesource.org

9. Equal Exchange www.equalexchange.coop

ข้อคิดเห็นและเสนอแนะ

Fair Trade ยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากนักในหมู่คนไทยทั่วไป แต่ที่จริงแล้ว ประเทศไทยได้ดำเนินตามหลักเกณฑ์ของ Fair Trade มานานแล้ว กลุ่มผู้บริโภคคนไทยรู้จักและให้การสนับสนุนสินค้าโครงการหลวง ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่คล้าย คลึงกับวัตถุประสงค์ของ Fair Trade คือช่วยเหลือชาวเขาและผู้ด้อยโอกาสให้สามารถลืมตาอ้าปากได้ ถึงแม้ว่าสินค้าโครงการหลวงจะไม่ตรารับรองมาตรฐาน ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีที่บ่งบอกให้เห็นถึงโอกาสที่ตลาด Fair Trade ในประเทศไทย

ปัจจุบัน การผลักดันในเรื่อง Fair Trade ในประเทศไทยยังอยู่ในระดับต่ำ การผลักดัน และส่งเสริมผู้ผลิตให้ดำเนินการด้าน Fair Trade สินค้าไทย จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ภาครัฐบาลและภาคเอกชนจะต้องร่วมมือกันพัฒนา Fair Trade ในประเทศไทย โดยเฉพาะสินค้าเกษตรกรรมและสินค้าหัตถกรรมซึ่งสคร.ชิคาโกขอเรียนแนวทางในการดำเนินการ ดังนี้

1. การเชิญเจ้าหน้าที่ขององค์กรด้าน Fair Trade นานาชาติในสหรัฐฯ คือ Trans Fair USA หรือ Fair Trade Federation มาบรรยายเกี่ยวกับตลาดสินค้า Fair Trade ในสหรัฐฯ

2. การผลักดันให้ผู้ประกอบการสินค้าหัตถกรรมที่สนใจเรื่องการค้าอย่างเป็นธรรม ขอรับรองมาตรฐานจากองค์กร Fair Trade Federation (www.fairtradefederation.org) สหรัฐฯ ซึ่งจะเน้นสินค้าหัตถกรรม (Craft) เพื่อใช้เป็นจุดเริ่มต้น แล้วจึงขยายไปสู่สินค้ากลุ่มอื่นๆ

3. ภาครัฐควรเข้ามามีบทบาทในการกำหนดระเบียบและกรอบการดำเนินการรับรองมาตรฐาน Fair Trade และผลักดันให้เกิดองค์กรทำหน้าที่รับรองมาตรฐาน และมีการทำงานอย่างโปร่งใส หรือ การพิจารณายกระดับเครื่องหมาย SR ของกระทรวงพาณิชย์ ให้ครอบคลุม Fair Trade และให้เป็นที่ยอมรับอย่างสากลทั่วโลก

4. การให้ความรู้การศึกษาและการเคลื่อนไหวให้แก่กลุ่มยุวชน นักเรียน ให้มีความสำนึกและเข้าใจ ซึ่งจะส่งผลต่อประชาชนส่วนรวมของประเทศมีความเข้าใจและยอมรับในแนวทางของระบบแฟร์เทรดมากขึ้น และหลีกเลี่ยงการเอาเปรียบเกษตรกรเพื่อนร่วมประเทศ

5. การประสบความสำเร็จในการส่งสินค้า Fair Trade ไปขายในต่างประเทศ จำเป็นต้องมีรากฐานที่มั่นคง มีระบบ Fair Trade ที่แข็งแกร่ง ดังนั้น การสร้างศักยภาพสินค้า Fair Trade ในประเทศไทย ควรพิจารณาสินค้าในกลุ่มที่มีศักยภาพ เช่น หากพิจารณาเห็นว่า สินค้าหัตถกรรมเป็นสินค้าที่มีศักยภาพ เหมาะสม และเห็นว่าจังหวัดเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางด้านหัตถกรรมของประเทศไทย อาจจะผลักดันให้จังหวัดเชียงใหม่เป็น Fair Trade Town แห่งแรกของประเทศไทย (ซึ่งต้องดำเนินตามหลักเกณฑ์ของ International Fairtrade Town movement: www.fairtradetowns.org)

6. ควรดำเนินการสร้าง Network กับองค์กรในประเทศ เช่น Organic Trade Association, Green Net หรือ หน่วยงานที่ดำเนินการด้าน Fair Trade อยู่แล้วในประเทศไทย (Thai Tribal Craft Fair Trade) เป็นต้น และหน่วยราชการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ Fair Trade ของประเทศไทย

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครชิคาโก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ