ผลกระทบต่อสินค้าไทยในเวียดนามจากกรณีค่าเงินบาทแข็งขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 21, 2010 16:00 —กรมส่งเสริมการส่งออก

สถานการณ์เศรษฐกิจในเวียดนาม

เศรษฐกิจของเวียดนามในปี 2553 ฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดและแนวโน้มยังคงดำเนินต่อไปในช่วงครึ่งหลังของปีซึ่งคาดว่าจะขยายตัวถึง 7.5% ซึ่งหากเป็นไปตามนี้ GDP ทั้งปีจะขยายตัวถึง 6.7% ซึ่งสูงกว่าที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ที่ 6.5%

อย่างไรก็ตาม เวียดนามยังไม่มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค เพราะการขาดดุลการค้าอย่างมากติดต่อกันในช่วงที่ผ่านมา ทำให้สำรองเงินตราต่างประเทศลดลงและกดดันให้เวียดนามต้องลดค่าเงินด่องหลายครั้ง รัฐบาลเวียดนามจึงมุ่งเน้นการควบคุมการขาดดุลการค้า โดยในปี 2553 ตั้งเป้าลดการขาดดุลการค้าให้ต่ำกว่า 20% ของมูลค่าส่งออก

ต่อมาภายหลังจากการนำเข้า 6 เดือนแรกของปี 2553 ได้เพิ่มขึ้นรวดเร็วกว่าการส่งออก ทำให้รัฐบาลต้องปรับประมาณการขาดดุลการค้าทั้งปีจาก 12 พันล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 14 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยคาดว่าการนำเข้าทั้งปี 2553 จะเป็น 80 — 81 พันล้านเหรียญสหรัฐ และการส่งออกทั้งปีจะเป็น 60 — 61 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเท่ากับเวียดนามไม่สามารถควบคุมเป้าหมายการขาดดุลการค้าไม่ให้เกิน 20% ของมูลค่าส่งออกในปีนี้ได้

การลดค่าเงินเวียดนามด่อง

การขาดดุลการค้าจำนวนมากกดดันให้เวียดนามต้องปรับอัตราแลกเปลี่ยนเงินด่องต่อเงินเหรียญสหรัฐบ่อยครั้ง ซึ่งเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2553 ธนาคารแห่งรัฐของเวียดนาม ( State Bank of Vietnam : SBV ) ได้ปรับอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างธนาคารโดยเฉลี่ย 2.1% เป็น 18,932 ด่อง/เหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นการลดค่าเงินเป็นครั้งที่ 3 นับจากเดือนพฤศจิกายน 2552 และคาดว่าเงินด่องจะมีการซื้อขายในตลาดในอัตรา 19,500 ด่องต่อเหรียญสหรัฐ ไปจนถึงสิ้นปีหลังจากนั้น อาจจะมีการปรับลดค่าเงินด่องอีก

พฤศจิกายน 2552 SBV ปรับอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างธนาคาร 5.44 % เป็น 17,961 ด่อง / เหรียญสหรัฐ

11 กุมภาพันธ์ 2553 SBV ปรับอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างธนาคาร 3.60 % เป็น 18,544 ด่อง / เหรียญสหรัฐ

18 สิงหาคม 2553 SBV ปรับอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างธนาคาร 2.10 % เป็น 18,932 ด่อง / เหรียญสหรัฐ

ผลกระทบต่อสินค้าไทยในตลาดเวียดนาม

ปัจจุบัน สินค้าไทยที่นำเข้าไปจำหน่ายในเวียดนามต้องเผชิญปัญหาที่เกิดจากมาตรการของเวียดนามคือการลดค่าเงินด่องและการออกกฏระเบียบกีดกันการค้า รวมทั้งปัญหาจากการแข็งค่าเงินบาทของประเทศไทยซึ่งล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบในทางลบต่อการค้าของไทยในเวียดนาม คือ

ผลจากการแข็งค่าเงินบาท

  • ทำให้ผู้ส่งออกต้องกำหนดราคาสินค้าให้สูงขึ้นเพื่อมิให้ขาดทุนจากการแลกเปลี่ยนเงินตราสกุลท้องถิ่นเป็นเงินเหรียญสหรัฐและเป็นเงินไทย หากคำนวณง่าย ๆ จากช่วงเดือนมิถุนายน 2553 ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนเป็น 32.40 บาท/เหรียญสหรัฐ และเดือนสิงหาคม 2553 อัตราแลกเปลี่ยนเป็น 30.30 บาท/เหรียญสหรัฐ เท่ากับว่าในช่วง 4 เดือนค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นถึง 7% ผู้ส่งออกจึงจำเป็นต้องปรับราคาเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันราคาสินค้าไทยในตลาดเวียดนามมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นแล้ว 10% ( เป็นผลจากค่าเงินด่องลดลงและค่าเงินบาทแข็งขึ้น )
  • คำสั่งซื้อสินค้าไทยลดลง ในกรณีที่ผู้นำเข้าเวียดนามไม่มีการเซ็นสัญญานำเข้าระยะยาวหรือเป็นรายปี ก็มักจะชะลอการนำเข้า เพราะอุปสรรคที่ต้องเผชิญมิใช่เฉพาะการที่สินค้านำเข้ามีราคาแพงขึ้นเท่านั้น หากแต่รัฐบาลเวียดนามออกกฏระเบียบกีดกันการค้าโดยเฉพาะมาตรการ automatic import licensing

ผลการลดค่าเงินด่อง

  • ทำให้ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของสินค้าไทยลดลง ทั้งนี้ สินค้าประเภทอุปโภคบริโภคของไทยหลายชนิดมีสินค้าของเวียดนามเป็นคู่แข่งขันที่สำคัญในตลาดเวียดนาม
  • สินค้าไทยมีราคาสูงขึ้น หรือมิเช่นนั้นผู้เป็นเจ้าของสินค้าอาจต้องรับภาระขาดทุนร่วมด้วย

การที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นว่าค่าเงินบาทแข็งขึ้นไม่น่าจะมีผลกระทบเท่าที่ควร อาจเป็นเพราะ ธปท.พิจารณาเฉพาะตัวเลขว่าไม่มีความแตกต่างมากนักในภูมิภาค โดยมิได้คำนึงว่าสินค้าที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการส่งออกนั้นเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคซึ่งสามารถทดแทนได้ และปัจจุบันเวียดนามก็เริ่มออกกฏระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการค้ามากขึ้น เช่น มาตรการ automatic import licensing ซึ่งผู้นำเข้าต้องแจ้ง / ยื่นเอกสารทุกครั้งที่มีการนำเข้าสินค้า โดยการยื่นต้องกระทำโดยทางไปรษณีย์เท่านั้น คำตอบที่หน่วยงานรัฐแจ้ง ก็ต้องกระทำโดยทางไปรษณีย์ด้วยเช่นกัน รวมทั้งการขยายเวลาแจ้งผลจาก 5 วันทำการเป็น 7 วันทำการ เป็นต้น ซึ่งปัญหาที่เกิดจากการดำเนินการของเวียดนามต้องใช้เวลาในการเจรจาต่อรอง สิ่งที่รัฐบาลสามารถกระทำได้ทันทีเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยคือการเข้ามาแทรกแซงตลาดเงินเพื่อดูแลมิให้ค่าเงินบาทแข็งมากเช่นทุกวันนี้

สคร.นครโฮจิมินห์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ