ญี่ปุ่นเป็นตลาดสำคัญที่นำเข้ากล้วยไม้ โดยมีมูลค่านำเข้าประมาณ 61 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2552 โดยนำเข้าจากไทยเป็นอันดับที่ 1 ร้อยละ 51.89 มูลค่า 31.8 ล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาคือไต้หวัน ร้อยละ 21.5 มูลค่า 13.2 ล้านเหรียญสหรัฐ นิวซีแลนด์ ร้อยละ 14.44 มูลค่า 8.8 ล้านเหรียญสหรัฐ มาเลเซีย ร้อยละ 7.3 มูลค่า 4.4 ลานเหรียญสหรัฐ และ เวียดนาม ร้อยละ 2.74 มูลค่า 1.68 ล้านเหรียญสหรัฐ
กล้วยไม้ส่วนใหญ่ญี่ปุ่นสามารถผลิตได้เอง รวมทั้งกล้วยไม้เมืองร้อนที่ปลูกในโอกินาวา ทั้งยังมีไม้ตัดดอกประเภทอื่นๆ โดยเฉพาะดอกเบญจมาศจากเนเธอร์แลนด์ ไต้หวัน มาเลเซีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน และจีน ดอกกุหลาบและลิลลี่จากอินเดีย เนเธอร์แลนด์
ความต้องการกล้วยไม้ตัดดอกของญี่ปุ่นยังคงขยายตัว เนื่องจากในญี่ปุ่นมีเทศกาลที่หลากหลายที่นิยมให้ดอกไม้เป็นของขวัญ เช่นวันแม่ ช่วงเดือนแห่งการแต่งงานในเดือนพฤษภาคม มิถุนายน และธันวาคม เทศกาลไหว้บรรพบุรุษ หรือโอบง ในช่วงเดือนสิงหาคม รวมทั้งการใช้ไม้ตัดดอกในชีวิตประจำวัน การจัดงานสังสรรค์ งานแต่งงาน รวมทั้งการใช้ตกแต่งสถานที่ เช่น โรงแรม
กล้วยไม้จากไทยที่ผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นให้ความนิยม ได้แก่ กล้วยไม้สกุลหวาย(Dendrobium) หรือในญี่ปุ่น เรียกว่า Den-Phalae สีที่นิยมคือสีอ่อน เช่น สีขาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งใช้ในงานแต่งงาน และงานศพ ส่วนในโอกาสอื่นจะนิยมสีชมพูอ่อน ส่วนคัทลียา จะนิยมใช้ในโอกาสพิเศษ เช่น เปิดกิจการใหม่ ชนะการประกวด เป็นต้น การนำเข้าจะนำเข้าตลอดปี แต่ปริมาณจะน้อยช่วงหลังเดือนพฤษภาคม เนื่องจากเป็นฤดูฝนของไทย และปริมาณผลผลิตลดน้อยลง กล้วยไม้จากประเทศไทยจำหน่ายในราคา 20-30 เยน/ช่อ ในขณะที่กล้วยไม้จากสิงคโปร์ และมาเลเซียจำหน่ายในราคา 50-90 เยน/ช่อ
- กล้วยไม้มีข้อจำกัดด้านเวลาในการขนส่งสินค้า เนื่องจากการส่งออกกล้วยไม้ต้องอาศัยการขนส่งทางอากาศเท่านั้น ซึ่งมีเนื้อที่ค่อนข้างจำกัด และไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิเพื่อรักษาความสดของกล้วยไม้ ทำให้บางครั้งกล้วยไม้จากไทยไม่สด และอยู่ได้เพียงเวลาสั้น 1-2 วัน
- บรรจุภัณฑ์ ที่บรรจุกล้วยไม้ที่ไม่ได้มาตรฐาน ทำให้ไม่สามารถรักษาคุณภาพของกล้วยไม้
- ความไม่หลากหลายของพันธุ์ที่นำเข้า กล้วยไม้ไทยพันธุ์อื่นๆยังไม่เป็นที่รู้จักของตลาด
- ตลาดไม้ตัดดอกของญี่ปุ่นเป็นที่สนใจของประเทศผู้ส่งออกไม้ตัดดอกทั่วโลก ผู้ส่งออกกล้วยไม้ของไทยต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรง ความต้องการของตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไทยเสียตลาดบางส่วนให้กับไต้หวันสิงคโปร์ และนิวซีแลนด์ ที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีกล้วยไม้ทำให้ปรับปรุงคุณภาพของสินค้าได้ดี ทำให้ส่วนแบ่งตลาดกล้วยไม้ไทยในญี่ปุ่นมีขนาดเล็กลงทุกปี
- ตลาดญี่ปุ่นต้องการความแปลกใหม่และหลากหลาย รวมทั้งคุณภาพที่ได้มาตรฐานไทยจึงควรปรับปรุงพันธุ์กล้วยไม้ โดยอาศัยการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต การคิดค้นพันธุ์กล้วยไม้ใหม่ๆ ทั้งในด้านสีสรรและรูปทรง
- ประชาสัมพันธ์กล้วยไม้ที่มีราคาสูงให้เป็นที่รู้จักเพื่อเพิ่มมูลค่าการค้า
- มีการควบคุมคุณภาพ ป้องกันกำจัดแมลงอย่างมีประสิทธิภาพ
- การส่งออกดอกกล้วยไม้ร่วงเพื่อประดับอาหารหรือเครื่องดื่มจำหน่ายให้กับร้านอาหารเป็นแนวทางในการขยายตลาดกล้วยไม้
- พัฒนาในด้านการขนส่งเพื่อรักษาความสดของกล้วยไม้
สำนักงานส่งเสริมการค้าฯ ณ นครโอซากา
ที่มา: http://www.depthai.go.th