ผลกระทบค่าเงินบาทแข็งค่าต่อการนำเข้าสินค้าของสหรัฐอเมริกาจากประเทศไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 21, 2010 16:57 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ค่าเงินบาทได้แข็งค่ามาโดยต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันเงินบาทแข็งค่าขึ้น กว่าร้อยละ 12 โดยในระยะช่วงเวลาต้นเดือนกันยายน 2553 ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทและเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ จะแตะ 30 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ ปัจจุบัน ซึ่งผู้ประกอบการส่งออกของไทยหลายๆ กลุ่ม เช่น ธุรกิจการเกษตร สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า เครื่องหนัง เฟอร์นิเจอร์ ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิคส์ และ อาหาร ต่างวิตกกังกลต่อการที่จะได้รับผลกระทบต่อค่าเงินบาทที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครชิคาโกได้สอบถามความเห็นผู้นำเข้า สหรัฐฯ ในเขตความดูแล (เขตตอนกลางของประเทศสหรัฐฯ) และ ผู้นำเข้าสหรัฐฯ ให้ความเห็นในระดับที่แตกต่างกัน จึงขอสรุป ดังนี้

1. ผู้นำเข้าสหรัฐฯ มีความเข้าใจในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน และเห็นว่า เป็นเรื่องธรรมดา ของประเทศที่มีนโยบายที่ปล่อยให้เงินเข้า-ออกเสรี รวมถึงประเทศไทย ดังนั้น ค่าเงินจะแข็งหรืออ่อนสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป ผู้นำเข้ารายสำคัญ/รายใหญ่จะให้ความสำคัญต่อความผันแปรของอัตราแลกเปลี่ยนของเงินสกุลสำคัญๆ ไปพร้อมๆ กัน เช่น เงินยูโร หรือ เงินเยน ซึ่งจะส่งผลต่อการตัดสินใจสั่งซื้อสินค้า ผู้นำเข้ามีความเข้าใจในเรื่องค่าเงิน ผันผวน และได้มีการวางแผนไว้ล่วงหน้า เช่น ในด้าน การจองเรือขนส่งสินค้าในระยะยาวการซื้อ-ขายเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ ในตลาดล่วงหน้าเพื่อนำมา Offset ในเรื่องค่าของเงิน เป็นต้น ผู้นำเข้าเชื่อว่า ปัญหาค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ อ่อนตัวเป็นปัญหาระยะสั้น เศรษฐกิจของสหรัฐฯ น่าจะปรับตัวดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลในการปรับค่าของเงินไปในตัว

2. การย้ายหรือหาแหล่งนำเข้าสินค้าไม่สามารถดำเนินการได้ในระยะสั้น เนื่องจากจะต้องใช้เวลาในการศึกษาศักยภาพของแหล่งนำเข้าใหม่ หากในระยะยาว ปัญหาในเรื่องค่าเงินแข็งค่าของเงินบาทไม่คลี่คลาย ผู้นำเข้าจะหันไปนำเข้าสินค้าจากแหล่งอื่นที่มีความพร้อม เช่น จีน หรือ เวียดนาม มาทดแทนสินค้าไทย นอกจากนั้นแล้ว การย้ายหรือเปลี่ยนแหล่งนำเข้าสินค้ามิใช่เหตุผลจากค่าเงินแข็งค่าเพียงประการเดียวเท่านั้น ปัญหาด้านวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้ามีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ผู้นำเข้าสนใจะติดตามภาวะของวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้า ที่ตนต้องการ เพื่อเตรียมพร้อมในการหาแหล่งสำรองในการผลิตอยู่เสมอ เช่น ผลผลิตสับปะรดของไทยในฤดูเก็บเกี่ยว 2553 ลดลงจำนวนมาก ผู้นำเข้าซึ่งต้องการซื้อสับปะรดกระป๋องเพิ่มจากไทย ก็ไม่สามารถทำได้และต้องหันไปเพิ่มนำเข้าจากแหล่งนำเข้าอื่นๆ แทน

3. เงินบาทแข็งค่าส่งผลกระทบต่อการสั่งซื้อสินค้าจากประเทศไทย โดยเฉพาะสินค้า ชนิดเดียวกันที่คู่แข่งขันของไทยผลิตได้ ซึ่งจะผลักดันให้ไปนำเข้าจากประเทศคู่แข่งขันแทนการนำเข้าจากประเทศไทย เช่น สินค้าผักผลไม้กระป๋อง เส้นก๋วยเตี๋ยว เพื่อการรักษาระดับราคาและการแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ สำหรับสินค้าไทยบางชนิดหรือบางแบรนด์ที่ติดตลาด มีศักยภาพ และมีความต้องการในตลาดสหรัฐฯ สูง เช่น กะทิ หรือ บะหมี่สำเร็จรูป และ น้ำปลา ยังคงต้องนำเข้าจากประเทศไทย แม้ว่าสินค้าข้าว ผู้นำเข้ามีแนวโน้มหันไปซื้อข้าว Jasmine Rice จากคู่แข่งขันของไทยแทน เนื่องจากมีราคาต่ำกว่าข้าวหอมมะลิไทยมาก

4. ผู้นำเข้าสินค้าอาหารสหรัฐฯ จากประเทศไทยมีความเห็นว่า กลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้ วัตถุดิบในประเทศในอัตราสูงจะได้รับผลกระทบมากจากค่าเงินบาทแข็งค่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมสินค้าอาหาร ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้นำเข้า เนื่องจากราคาสินค้าอาหารส่งออกของไทยจะสูงขึ้น ผู้ผลิต/ส่งออกไม่มีความมั่นใจต่อการผันผวนของค่าเงิน และจะส่งผลให้ผู้ผลิต/ส่งออกไทย ชะลอรับคำสั่งซื้อสินค้าจากผู้นำเข้าสหรัฐฯ เพราะไม่สามารถส่งสินค้าในราคาที่ลูกค้าต้องการได้

ข้อคิดเห็นและเสนอแนะ

ในการแก้ไขปัญหา ผู้นำเข้าให้ข้อคิดเห็นและแนวทางดำเนินการ ดังนี้

1. ค่าเงินบาทแข็งตัวไม่เป็นปัจจัยสำคัญต่อสินค้าคงทน เช่น เฟอร์นิเจอร์ คู่แข่งของไทย เช่น มาเลเซีย ก็เผชิญปัญหาเช่นเดียวกับประเทศไทย การรักษาสถานภาพทางการค้าของประเทศของไทย จะต้องคำนึงถึงการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตให้ทัดเทียมหรือได้เปรียบคู่แข่งขัน

2. การลดต้นทุนการผลิต เช่น ต้นทุนวัตถุดิบ บรรจุภัณฑ์ ค่าขนส่ง และ การส่งมอบสินค้าให้ได้รวดเร็วและตามกำหนดเวลา เพื่อใช้เป็นปัจจัยในการรักษาลูกค้า

3. ผู้นำเข้าเสนะแนะให้รัฐบาลไทยดำเนินการดังนี้

3.1 รัฐบาลและหน่วยงานส่งเสริมการค้าของไทยควรดำเนินกลยุทธ์รักษาลูกค้าเดิม (ผู้นำเข้า) โดยการให้สิ่งสูงใจ (Incentive) ให้มากยิ่งขึ้น และมุ่งเป้ากลุ่มลูกค้าไปยังกลุ่มผู้จัดจำหน่าย/ผู้นำเข้า แทนกลุ่มร้านค้าปลีก Chain Store

3.2 รัฐบาลไทยควรพิจารณาในเรื่องการอุดหนุน (Subsidy) ค่าขนส่ง (Freight)

3.3 รัฐบาลไทยใช้กลไกทางการตลาดซื้อ-ขายเงินบาท เพื่อควบคุบ ปัจจัยด้านอุปสงค์และอุปทาน(Demand and Supply) เพื่อให้เงินบาทมีเสถียรภาพ

3.4 รัฐบาลไทยควรกำหนดมาตรการระยะสั้น ปานกลาง และระยะยาว ในการแก้ไขปัญหาเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประเทศคู่ค้า

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครชิคาโก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ