สรุปสถานการณ์การค้าระหว่างไทย-สเปน ช่วง ม.ค.-ส.ค. ปี 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 22, 2010 15:54 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ตารางแสดงมูลค่าการค้าไทย-สเปน ช่วง 8 เดือนแรกของปี 2553

                                  ส.ค. 2553                       ม.ค.-ส.ค.2553
                      มูลค่า (Mil.US$)      เพิ่ม/ลด (%)     มูลค่า (Mil.US$)     เพิ่ม/ลด (%)
                                         จากเดือนก่อน                         ช่วงเดียวกันปีก่อน
ส่งออก                    90.60              -6.83              712.3          +51.56
นำเข้า                    37.81              +6.91              311.8          +28.73
การค้ารวม                128.41              -3.17            1,024.1          +14.34
ดุลการค้า                 +52.79             -14.69             +400.5          +75.81
ที่มา: ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร


          ในเดือนสิงหาคม 2553 ไทยกับสเปนมีมูลค่าการค้ารวม 128.41 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไทยเป็นฝ่ายส่งออกไปสเปน 90.60 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ -6.83 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา โดยมีหมวดสินค้าสำคัญที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ เสืBอผ้าสำเร็จรูป (-9.19%) กุ้งสดแช่เย็น/แช่แข็ง (-19.73%) และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (-6.65%) ขณะที$นำเข้าจากสเปนรวม 37.81 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.91 ทั้งนี้ไทยได้ดุลการค้าในเดือนนี้เพิ่มขึ้นอีก 52.79 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
          ในช่วง 8 เดือนแรก ปี 2553 ไทย-สเปน มียอดการค้ารวม 1,024.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.34 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยไทยมียอดส่งออกมาสเปนรวม 712.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 51.56 ซึ่งสามารถแบ่งโครงสร้างสินค้าส่งออก ได้ดังนี


ตารางแสดงโครงสร้างสินค้าส่งออกไทยมายังสเปน ช่วง 8 เดือนแรกของปี 2553
ที่    ประเภทสินค้า                        มูลค่า (Mil.USD)    สัดส่วน (%)      เปลี่ยนแปลง (%)
1  เกษตรกรรม (กสิกรรม+ปศุสัตว์+ประมง)          145.7           20.46           +82.25
2  อุตสาหกรรมการเกษตร                        42.0            5.89            +3.05
3  อุตสาหกรรม                               524.6           73.65           +50.27
       รวม                                 712.3           100.0           +51.56
ที่มา: ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร


          เมื่อเทียบกับช่วง 8 เดือนแรกของปีที่ผ่านมา พบว่าประเภทสินค้าเกษตรกรรม มีอัตราการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 82.25 และสามารถเพิ่มสัดส่วนได้เกินกว่าร้อยละ 20 อันเนื่องมาจากมีความต้องการยางพาราเพิ่มสูงมาก เช่นเดียวกับการบริโภคสินค้ากุ้งแช่สด/แช่แข็ง ขณะเดียวกัน ประเภทสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรขยายตัวได้เล็กน้อยร้อยละ 3.05 แต่มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 5.89 ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมยังคงรักษาสัดส่วนอย่างคงที่ประมาณ 3 ใน 4 ของสินค้าส่งออกไทยโดยรวม ก็สามารถเติบโตได้ดีถึงร้อยละ 50.27
          หมวดสินค้าหลักดั้งเดิมที่สามารถกลับมาขยายตัวในอัตราสูง ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (+126.21%) ยางพารา (+319.90%) และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (+339.53%) รวมทั้งเสื้อผ้าสำเร็จรูป (+19.50%) ขณะที่นำเข้าจากสเปน 311.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.73 ทำให้ไทยได้ดุลการค้าจากสเปนสะสม จำนวน 400.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 75.81 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน


ตารางแสดงมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยมายังสเปน 10 อันดับแรก ช่วง 8 เดือนแรกของปี 2553
สินค้า                             มูลค่า (Mil.USD)      สัดส่วน (%)     เปลี่ยนแปลง (%)
1 เสื้อผ้าสำเร็จรูป                       106.0             14.88            +19.50
2 เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ          103.6             14.54           +126.21
3 ยางพารา                             86.2             12.11           +319.90
4 รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ            43.2              6.07           +339.53
5 กุ้งสดแช่เย็น/แช่แข็ง                     39.2              5.50            +99.27
6 ผลิตภัณฑ์ยาง                           27.3              3.83            +45.87
7 เลนส์                                24.0              3.37            +27.42
8 เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ        21.8              3.06           +139.14
9 ผลไม้กระป๋องและแปรรูป                  21.7              3.04            +20.54
10 เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ         19.9              2.79           +174.71
ที่มา: ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร


          จากโครงสร้างสินค้าส่งออกของไทย พบว่าสินค้า 5 อันดับแรก มีสัดส่วนเกินกว่าร้อยละ 50 ของยอดส่งออกทั้งหมด โดยมีเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และเสื้อผ้าสำเร็จรูป ครองสัดส่วนสูงที่สุด แต่ถ้านับรวมสินค้า 10 อันดับแรก ก็จะมีสัดส่วนการส่งออกถึงร้อยละ 70 จึงทำให้การเปลี่ยนแปลงของสินค้าที่เหลือไม่ค่อยมีผลกระทบกับยอดการส่งออกมากนัก
          ถึงแม้ผลการส่งออกของไทยในตลาดสเปนที่สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วตั้งแต่ตอนต้นปี 2553 มาจนถึงกลางปี แต่ขณะนี้สินค้าหลักได้แสดงสัญญาณการชะลอตัวลงอย่างชัดเจน ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ทั้งนี้ เนื่องจากรัฐบาลได้ถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและมีปัญหาการว่างงานเรื้อรังทื่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ รวมทั้งปัญหาที่รัฐบาลได้ออกมาตรการด่วนในการตัดค่าใช้จ่ายของภาครัฐควบคู่ไปกับการขึ้นอัตราภาษี ซึ่งล้วนแต่ส่งผลกระทบกับรายได้สำหรับใช้จ่ายของผู้บริโภคทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม สินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูป ยังสามารถขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่องและมียอดการส่งออกสะสมสูงเป็นอันดับหนึ่งแซงหน้าเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบไปได้อีกครั้ง นอกจากนั้น สินค้ายางพาราก็ยังมีความต้องการในตลาดสูงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน จนมีสัดส่วนเกินกว่าระดับร้อยละ 10 ขณะที่สินค้ากุ้งแช่เย็น/แช่แข็งของไทยที่สามารถเพิ่มปริมาณและมูลค่าการส่งออกได้อย่างมากในช่วงครึ่งแรกของปี กำลังประสบปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ จนทำให้ยอดการส่งออกปรับตัวลดลงติดต่อกันมา 2 เดือน
          ในช่วงเดียวกันไทยนำเข้าสินค้าจากสเปน เป็นมูลค่า 311.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 28.73 ซึ่งสินค้าส่วนมากเป็นสินค้าที่นำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตได้แก่ เคมีภัณฑ์ เหล็ก โลหะ และสัตว์น้ำสด เป็นต้น รองลงมาเป็นสินค้าประเภททุน ได้แก่ เครื่องจักรต่างๆ และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์เวชภัณฑ์/เภสัชกรรม โดยมีรายละเอียดการนำเข้าสินค้า 5 อันดับแรกที่มีมูลค่าสูงสุด ดังนี


ตารางแสดงมูลค่าการนำเข้าสินค้าจากสเปน 5 อันดับแรก ช่วง 8 เดือนแรก ปี 2553
สินค้า                             มูลค่า (Mil.USD)      สัดส่วน (%)     เปลี่ยนแปลง (%)
เคมีภัณฑ์                                54.9              17.61         +62.94
เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ                38.7              12.43         +61.07
ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม              30.2               9.67          -1.27
สัตว์น้ำสดแช่เย็น/แช่แข็ง/แปรรูป/กึ่งสำเร็จรูป    18.3               5.88         +16.64
เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ              15.1               4.84         +47.00
ที่มา: ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร


สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของราชอาณาจักรสเปนที่มีผลกระทบกับการส่งออกของไทย
          ปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจของสเปนกลับมาขยายตัวได้อีกครั้งในช่วงครึ่งแรกของปี เช่น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ รวมทั้งการปรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่เป็นตัวเร่งให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อสินค้าก่อนที่การปรับเพิ่มภาษีจะมีผลบังคับใช้นั้น ขณะนี้ปัจจัยเหล่านั้นไม่สามารถนำมาใช้ได้ในช่วงหลังของปีอีกต่อไปและอาจจะก่อให้เกิดความผันผวนต่อเศรษฐกิจได้สูง ดังนั้น จึงมีการคาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะหันกลับไปติดลบอีกครั้งถึงแม้จะไม่รุนแรงเหมือนในปีที่ผ่านมาก็ตามดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจบางตัวเริ่มแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคได้ลดการจับจ่ายใช้สอยลง ขณะเดียวกันภาครัฐก็ปรับลดรายจ่ายลง เช่นกัน
          จากเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น จึงทำให้การว่างงานยังคงเป็นปัญหาใหญ่เรื้อรังอยู่ต่อไป ซึ่งขณะนี้มีอัตราสูงกว่าร้อยละ 20 ของตลาดแรงงานแล้ว ดังนั้น การฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการปฏิรูปกันอย่างถึงรากถึงโคนจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อจะลดอัตราคนว่างงานลงให้ได้ระดับมาตรฐานของประเทศอื่นๆ ในยุโรปให้ได้
          ในขณะที่สเปนยังไม่สามารถปลดตัวเองให้ออกจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้อย่างสมบูรณ์ซึ่งสวนทางกับภาพรวมของประเทศอื่นๆในเขต Euro Zone ที่สามารถกอบกู้ความเข้มแข็งกลับคืนมาได้โดยมีอัตราการเติบโตของ GDP ประมาณร้อยละ 1 ในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน อันเนื่องมาจากการกระตุ้นการลงทุนและการส่งออก รวมทั้งการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ โดยเฉพาะประเทศเยอรมนีและฟินแลนด์ที่ถือว่ามีผลประกอบการสูงที่สุด ส่วนสหราชอาณาจักรก็สามารถหลุดพ้นจากภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจจนกลับมายืนได้อย่างมั่นคงอีกครั้ง
          ทั้งนี้ จากผลการเติบโตของ GDP ใน Euro Zone ที่ดีในช่วงครึ่งปีแรก ทำให้ธนาคารกลางของสหภาพยุโรปต้องปรับเพิ่มตัวเลขพยากรณ์เศรษฐกิจสำหรับปี 2553-2554 ใหม่ จากร้อยละ 1.4 เป็น 1.8 ถึงแม้ว่าสถานการณ์ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2553 จะมีแนวโน้มอ่อนตัวลงก็ตาม และธนาคารกลางของสหภาพยุโรปก็จะพยายามรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ 1 ต่อไป


          ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ