ประเทศเม็กซิโกเป็นผู้ผลิตรถยนต์อันดับ 9 ของโลก และมีความสามารถผลิตได้ประมาณ 2 ล้านหน่วยต่อปี โดยได้มีการคาดคะเนว่าเม็กซิโกจะมีความสามารถเพิ่มการผลิตและจะเป็นผู้ผลิตรถยนต์อันดับ 5 ของโลกได้ภายในปี 2554-55 เทียบระดับการแข่งขันได้เท่าเทียมกับผู้ผลิตสำคัญ ๆ ของโลก เช่น สหรัฐฯ จีน อินเดีย และสโลวาเกีย อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจเม็กซิโก โดยมีส่วนแบ่งเป็นสัดส่วนร้อยละ 19 ของการส่งออก และมีสัดส่วนในผลผลิตรวมแห่งชาติร้อยละ 24 รวมทั้งมีการจ้างแรงงานทางตรงและทางออ้มทั้งหมดประมาณ 1.9 ล้านคน
อุตสาหกรรมรถยนต์ของเม็กซิโกได้เติบโตอย่างรวดเร็วเนื่องจากได้รับการกระตุ้นจากความตกลงเขตการค้าเสรีนาฟต้า อันเป็นผลให้เม็กซิโกได้รับการลงทุงใหม่จากต่างประเทศระหว่างปี 2537 และ 2544 เป็นหลายหมื่นล้านเหรียญฯ เป็นการลงทุนระยะยาวในการสร้างโรงงานและการลงทุนซื้อหรือปรับปรุงเครื่องจักรใหม่ อันเป็นผลให้โรงงานในเขตภาคเหนือและภายกลางของเม็กซิโก เป็นโรงงานผลิตรถยนต์ที่ทันสมัยที่สุดในระดับอุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลก และได้มีการเกิดกลุ่มการผลิตเฉพาะ (specialized cluster) ในพื้นที่รอบข้างโรงงานผลิตรถยนต์รายใหญ่ ๆ การมี supply chain ที่เข้มแข็ง และการขยายธรุกิจรองรับในแนวนอน (vertical integration)
โรงงานผู้ประกอบรถยนต์รายใหญ่ ๆ ในเม็กซิโกมี 14 ราย อาทิ General Motors, Daimler-Chrysler, Volkswagen, Nissan, Ford, Honda, และ Seat กระจายไปตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศเม็กซิโก นอกจากนี้แล้ว มีโรงงานผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์อีกจำนวนราว 1,000 รายโดยในจำนวนนี้ ร้อยละ 70 เป็นบริษัทผู้ผลิตของสหรัฐอเมริกาที่เข้ามาตั้งโรงงานในเม็กซิโกโดยชิ้นส่วนรถยนต์ที่ผลิตในประเทศเม็กซิโกมีการส่งออกไปยังผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของโลก 32 ประเทศ
ภาวะวิกฤตการณ์การเงินในสหรัฐฯ ในปี 2552 ได้ส่งผลกระทบที่ร้ายแรงที่สุดต่อภาคผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ของเม็กซิโก โดยได้มีการไล่คนงานออกจากภาคการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์จำนวน 18,000 ในระยะเวลา 14 เดือน ในช่วงระหว่างปี 2549-2551 เม็กซิโกเคยผลิตรถยนต์ได้ราว 2 ล้านคัน แต่วิกฤตการณ์เศรษฐกิจปี 2552 ได้มีผลให้การผลิตลดลงเหลือเพียง 1.5 ล้านคัน และได้มีการคาดว่าการผลิตจะเพิ่มขึ้นได้ 1.7 ล้านคันในปี 2553 แต่จะไม่สามารถเพิ่มการผลิตถึงระดับ 2 ล้านคันต่อปีจนกว่าจะถึงปี 2554 หากภาวะเศรษฐกิจโลกยังคงรักษาระดับการขยายตัวที่ดี
ยอดขายรถยนต์ใหม่ภายในประเทศของเม็กซิโกได้มีปริมาณสูงสุดในปี 2548 ประมาณ 1.1 ล้านคัน วิกฤตการณ์การเงินจากสหรัฐฯ ได้สร้างผลกระทบต่อตลาดการขายรถยนต์ในเม็กซิโกทำให้ยอดขายในปี 2552 ตกลงเหลือเพียง 750,000 คันในปีนั้น และได้มีการประเมินว่ายอดการขายรถยนต์ในตลาดเม็กซิโกจะไม่กลับไปสู่ยอด 1 ล้านคันต่อปีในระยะ 5 ปีข้างหน้า
ตลาดชิ้นส่วนและส่วนประกอบรถนยต์มีสำคัญมากสำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ของเม็กซิโกและยังคงเป็นตลาดที่มีโอกาสการขยายตัวสูง ปัจจุบันการผลิตชิ้นส่วนฯ มีมูลค่าการผลิตประมาณ 20 พันล้านเหรียญ มี ผู้supply ชิ้นส่วนรถยนต์ ประมาณ 1,000 บริษัท สองส่วนสามเป็นบริษัทต่างชาติ อีกหนึ่งส่วนสามเป็นบริษัทเม็กซิกัน ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไทยอาจจะมีโอกาสการเจาะเข้าตลาดซัพพลายด้าน OEM และส่วนประกอบ และสำหรับการบริการหลังการขาย โดยมีโอกาสสำหรับมีสินค้าที่มีความต้องการสูงได้แก่ ชิ้นส่วนสำหรับซ่อมแซมส่วนเสียหาที่เกิดจากการชนปะทะ ส่วนประกอบของรถยนต์ดัดแปลง ระบบป้องกันการสั่นสะเทือน ชิ้นส่วนstamping อุปกรณ์อิเล็กตรอนนิกส์ เครื่องมือและอุปกรณ์เฉพาะด้าน อุปกรณ์ที่ช่วยลดสารเป็นพิษในระบบท่อไอเสีย พวงมาลัย ระบบเสียง ระบบนำทาง GPS ส่วนประกอบอื่น ๆ และเครื่อง ประดับรถยนต์ เป็นต้น
ปัจจุบันช่องทางการขายสินค้าชิ้นส่วนและอะไหล่รถยนต์ของเม็กซิโกจะขายผ่านผู้กระจายสินค้าที่มีอยู่ราว 300 ราย โดยในจำนวนนี้ 30 รายนับเป็นผู้จัดจำหน่ายรายใหญ่ อาทิ Auto Zone, California และ Rogelio สำหรับในระดับค้าปลีกมีผู้ประกอบการอยู่ราว 39,410 รายมีกำลังแรงงานในธุรกิจค้าปลีกนี้ราว 167,809 คน และในส่วนของอู่ซ่อมรถยนต์มีอยู่ราว 146,720 แห่ง มีกำลังแรงงานในธุรกิจนี้ราว 322,784 คน
เม็กซิโกมีการนำเข้าสินค้ารถยนต์จากประเทศไทยสามประเภท ได้แก่ รถบรรทุก ชิ้นส่วนรถยนต์ และยางรถยนต์ โดยในปี 2552 ได้มีการนำเข้ารถบรรทุกมูลค่า 16.5 ล้านเหรียญฯ คาดว่าเป็นการนำเข้าโดยบริษัท Hino ซึ่งได้มาเปิดโรงงานประกอบรถบรรทุกที่รัฐ Guanajuato เมื่อประมาณสองปีที่ผ่านมา การนำเข้าชิ้นส่วนในปี 2552 มีมูลค่า 13.87 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และการนำเข้ายางรถยนต์ในปีเดียวกันมีมูลค่า 15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นอกจากนี้แล้ว ในระยะสามปีที่ผ่านมา ได้มีการนำเข้ารถมอเตอร์ไซค์จากประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ โดยในปี 2550 2551 และ 2552 ได้มีการนำเข้ามูลค่า 0.611 2.964 และ 1.552 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงเม็กซิโก
ที่มา: http://www.depthai.go.th