แนวคิดด้านตลาดสินค้า Fair Trade ในประเทศแคนาดา

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 5, 2010 16:06 —กรมส่งเสริมการส่งออก

แคนาดาเป็นหนึ่งในประเทศที่ขึ้นชื่อว่าให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของประชากร สิ่งแวดล้อม และสิทธิมนุษยชนและความมีธรรมาภิบาลในด้านต่างๆ โดยได้ยึดหลักความมีคุณธรรม ในการอยู่ร่วมกันของสังคมส่วนใหญ่ จึงเป็นประเทศหนึ่งที่สนับสนุนแนวความคิดเรื่อง Fair Trade หรือ การค้าที่เป็นธรรม ซึ่งเป็นแนวความคิด และการเคลื่อนไหวด้านการค้าเพื่อสนับสนุนการสร้างความยุติธรรมในการค้า และให้ความช่วยเหลือด้านการตลาดแก่ผู้ผลิตจากประเทศที่ด้อยโอกาสด้านเศรษฐกิจและไม่สามารถแข่งขันได้ในภาวะตลาดที่มีการแข่งขันรุนแรงในปัจจุบันตลอดทั้งเพื่อสนับสนุนการสร้างมาตรฐานสากลในเรื่อง แรงงาน สิ่งแวดล้อม และสังคม สำหรับสินค้าและบริการ โดยเฉพาะที่ส่งออกมาจากประเทศด้อยพัฒนาและประเทศกำลังพัฒนาไปยังประเทศพัฒนาแล้ว มาตรฐานเหล่านี้อาจเป็นแบบสมัครใจ หรือแบบที่บังคับโดยรัฐบาลหรือองค์กรระหว่างประเทศก็ได้ นอกจากนั้น นครแวนคูเวอร์ ได้เห็นความสำคัญในแนวความคิดนี้ และได้ปรับปรุงสภาพเมืองเพื่อเข้าสู่การเป็น FAIR TRADE TOWN อย่างสมบูรณ์แห่งแรกของแคนาดาในปี 2010 นี้

I. จุดมุ่งหมายหลักของแฟร์เทรด
  • เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ความกินดี อยู่ดีของผู้ผลิต โดยเฉพาะผู้ผลิตรายย่อย ที่ไม่สามารถฅแข่งขันได้ในระบบการค้าระหว่างประเทศทั่วๆไป โดยระบบ Fair Trade จะเป็นการเพิ่มอำนาจในการต่อรอง และการประกันราคาที่เป็นธรรมให้แก่กลุ่มผู้ผลิตดังกล่าว
  • เพื่อต่อต้านการใช้แรงงานเด็กอย่างไม่เหมาะสม และ เพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางการผลิตและการค้าของผู้ด้อยโอกาส โดยเฉพาะผู้หญิงและชาวพื้นเมือง
  • เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคตระหนักถึงความสำคัญของการค้าโดยชอบธรรม
  • เพื่อเป็นตัวอย่างของการค้าที่โปร่งใสและชอบธรรม
  • เพื่อรณรงค์ให้มีการเปลี่ยนแปลง ในด้านกฏเกณฑ์และวิถีการค้าขายแบบดั้งเดิมที่ผู้ผลิตรายย่อยมักจะถูกเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง
  • เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน และแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม
II. หลักการพื้นฐานของการด้า ระบบ Fair Trade (Basic Principles of Fair Trade)

The World Fair Trade Organization (WFTO) - ได้เน้นความสำคัญพื้นฐาน 10 ประการ ที่จำเป็นสำหรับแนวความคิดเรื่องระบบการค้าที่เป็นธรรม( Fair Trade ) ดังนี้

1. การสร้างโอกาสให้ผู้ผลิตที่ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจ หรือผู้ไม่สามารถแข่งขันได้ในระบบการค้าแบบเดิมทั่วๆ ไปโดย Fair Trade เป็นกลยุทธ์ที่ใช้ในการบรรเทาความยากจนและ เพื่อการพัฒนาที่มั่นคงยั่งยืนและมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างโอกาสให้กับผู้ผลิตที่ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจ หรือถูกผลักดันให้ออกจากระบบการค้าทั่วไปเนื่องจากไม่สามารถแข่งขันได้

2. ความโปร่งใสและชอบธรรม Fair Trade ให้ความสำคัญกับระบบการจัดการที่โปร่งใส และความสัมพันธ์เชิงพาณิชย์ในการทำธุรกิจอย่างเป็นธรรม โดยให้ความเชื่อถือซึ่งกันและกันหรือการมีธรรมาภิบาลในการดำเนินธุรกิจ

3. การเสริมสร้างศักยภาพแก่ผู้ผลิตสินค้ารายย่อย Fair Trade เป็นแนวทางที่จะช่วยผู้ผลิตรายย่อยให้สามารถพัฒนาทักษะของตนเอง ในลักษณะต่อเนื่องอย่างมีประสิทธิภาพ โดยความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรการตลาด และผู้ผลิต เป็นไปในแนวทางเพื่อการให้ความช่วยเหลือผู้ผลิต ให้สามารถพัฒนาทักษะในด้านการจัดการ และการเข้าถึงตลาดใหม่ได้ต่อไป

4. การส่งเสริมระบบการค้า Fair Trade องค์กรการค้า Fair Trade (Fair Trade Organization) ได้ยกระดับ/เสริมสร้างจิตสำนึกในการค้าอย่างยุติธรรม และความเป็นไปได้ในการเพิ่มความยุติธรรมมากขึ้นในระบบการค้า/แลกเปลี่ยนของโลก โดยการให้ข้อมูลแก่ผู้ซื้อสินค้าเกี่ยวกับองค์กรผู้ผลิต ข้อมูลผลิตภัณฑ์ ประวัติความเป็นมาในการผลิตสินค้าและใช้วิธีการโฆษณา และเทคนิคการตลาดด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ตลอดทั้งให้ความสำคัญในการตั้งเป้าหมายด้านคุณภาพสินค้าและบรรจุภัณฑ์ในระดับสูงสุดด้วย

5. การชำระราคาอย่างเหมาะสม ชอบธรรมในระดับภูมิภาคหรือท้องถิ่น ราคาที่ถือว่าเหมาะสม เป็นธรรมส่วนใหญ่จะเป็นราคาที่มีการหารือ/ตกลงร่วมกัน ซึ่งการคิดราคา มิใช่คำนึงถึงแต่เพียงต้นทุนการผลิตในรูปต้นทุนค่าวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต เท่านั้น แต่ควรพิจารณาเรื่องขบวนการผลิตที่เป็นที่ยอมรับของสังคม และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย และกำหนดราคาจ่ายอย่างยุติธรรมแก่ผู้ผลิต โดยคำนึงถึงหลักการจ่ายที่เท่าเทียมกันสำหรับผู้หญิงและผู้ชายที่ทำงานอย่างเท่าเทียม ผู้ค้าอย่างยุติธรรมจะประกันว่าการชำระเงินจะเป็นไปอย่างตรงเวลาและเมื่อใดก็ตามหากเป็นไปได้ควรพิจารณาช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ผลิตก่อนการเก็บเกี่ยวหรือก่อนการผลิตด้วย

6. ความเท่าเทียมกันทางเพศ: การค้าโดยชอบธรรมให้ความสำคัญและคุณค่าในการทำงานของผู้หญิง และควรพิจารณาการให้ค่าตอบแทนอย่างเหมาะสม/ถูกต้อง ตลอดทั้งโอกาสความก้าวหน้าในหน้าที่การงานในองค์กรมากขึ้นกว่าในอดีตด้วย

7. สภาพการทำงาน: การค้าโดยชอบธรรมหมายถึงการมีสภาพแวดล้อมของการทำงานที่ดี และมีความปลอดภัยสำหรับผู้ผลิต การมีส่วนร่วมในการทำงานของเด็ก (ถ้ามี) โดยจะไม่ส่งผลลบต่อสุขภาพและการศึกษา และจะต้องมีเวลาเพื่อให้เด็กได้พักผ่อนหรือเล่นด้วย และควรสอดคล้องกับอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของเด็ก รวมทั้งกฎหมายและมาตรฐานปฏิบัติของท้องถิ่นด้วย

8. แรงงานเด็ก: องค์กรการค้า Fair Trade (Fair Trade Organization) ได้ยึดระเบียบ หลักการปฎิบัติตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของเด็ก (UN Convention on the Rights of the Childs) รวมทั้งกฎหมายท้องถิ่น และมาตรฐานการปฏิบัติของสังคม นั้นๆ

ทั้งนี้ เพื่อเป็นหลักประกันว่าหากมีการเข้าร่วมทำงานของเด็ก ในกระบวนการผลิตสินค้า Fair Trade ดังกล่าว (ถ้ามี) จะไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ความปลอดภัย การศึกษา และการมีเวลาเพื่อการพักผ่อนหรือเล่นด้วย องค์กรฯจะทำงานโดยตรงกับผู้ผลิต และจะเปิดเผยการมีส่วนร่วมของเด็กในการผลิตดังกล่าวด้วย(ถ้ามี)

9. สิ่งแวดล้อม: การค้า Fair Trade สนับสนุนการปฏิบัติงานและวิธีการผลิต ที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม

10.ความสัมพันธ์ทางการค้า: องค์กรการค้า Fair Trade (Fair Trade Organization) จะทำการค้าโดยคำนึงถึงสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และความสำคัญของคุณภาพชีวิต การกินดีอยู่ดีของผู้ผลิตรายย่อย องค์กรฯ จะไม่แสวงหาผลประโยชน์หรือเอาเปรียบจากสิ่งเหล่านี้ และจะคำนึงถึงการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีในระยะยาวกับผู้ผลิต ซึ่งผลจากความสมัครสมาน สามัคคี ความไว้วางใจ และ ความเคารพซึ่งกันและกัน จะช่วยให้การค้าในระบบดังกล่าวเจริญเติบโตก้าวหน้าต่อไป

III. ความสำคัญ และ ตัวอย่าง Fair Tradeในประเทศแคนาดา

แคนาดา เป็นประเทศหนึ่งที่เห็นความสำคัญของการค้าในระบบ Fair Trade อย่างไรก็ตาม มิได้มีกฏ ระเบียบ หรือมาตรฐานที่กำหนดให้เป็นมาตรฐานระดับประเทศ โดยภาครัฐบาล ดังนั้น ภาคเอกชน และผู้สนับสนุนแนวความคิดดังกล่าว ได้มีความพยายามในการนำแนวคิดมาปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม ซึ่ง ตัวอย่างองค์กรที่ตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนแนวความคิด Fair Trade ในแคนาดา มี ดังนี้

1. องค์กร Ten Thousand Villages :

1.1 ความเป็นมา

แนวความคิดในเรื่อง Fair Trade ของ Ten Thousand Villages ริเริ่มจาก การเดินทางไปช่วยสอนการตัดเย็บแก่กลุ่มสตรีที่ยากจนในประเทศ เปอร์โตริโก ในปี ค.ศ. 1946 (พ.ศ. 2489) ของ Ms. Edna Ruth Byler และเมื่อกลับประเทศได้นำผลผลิตงานปัก embroidery จากกลุ่มสตรีดังกล่าวมาจำหน่ายให้เพื่อนๆ และเพื่อนบ้าน และได้พัฒนาสินค้าโดยการผสมผสานศิลปะของประเทศอื่นๆ มาเป็นผลงานใหม่ของตนเองและเป็นที่รู้จักแพร่หลาย จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1970 (พ.ศ. 2513) Mennonite Central Committee (MCC) ได้สืบทอดการดำเนินโครงการเพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้ผลิตสินค้าหัตถกรรมจากประเทศที่ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจ โดยได้พัฒนามาเป็นโครงการ SELFHELP CRAFTS อย่างเป็นกิจลักษณะ และด้วยความร่วมมือจากลูกค้านับพันคนรวมทั้งอาสาสมัครซึ่งได้ร่วมแรงรวมใจพัฒนาโครงการเพื่อให้เป็นองค์กรการค้าทางเลือกที่เข้มแข็ง และในปี ค.ศ. 1996 (พ.ศ. 2539) ได้เป็นที่รู้จักในนาม Ten Thousand Villages ซึ่งมีสถานทึ่จำหน่ายสินค้าทั้งหมดประมาณ 50 สาขาทั่วแคนาดา และมีเว็บไซต์สำหรับการสั่งซื้อทางอีเล็กทรอนิกส์ (ช็อปปิ้งออนไลน์)ด้วย สถานที่แต่ละแห่งจะมีสินค้าที่มีความเป็นเอกลักษณ์ เกี่ยวกับแนวคิดด้านการตกแต่งบ้าน ของใช้จำเป็นในครัวเรือน และผลิตภัณฑ์พิเศษเฉพาะฤดูกาล จากแหล่งต่างๆ ทั่วโลก

1.2 จุดประสงค์การจัดตั้ง

Ten Thousand Villages เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรในการประกอบธุรกิจการค้าในลักษณะ Fair Trade (Nonprofit Fair Trade Organization : FTOs) ที่ไม่ขึ้นอยู่กับรัฐบาลและจัดตั้งขึ้นเพื่ออำนวยประโยชน์และเป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าหัตถกรรม สินค้าเกษตรกรรม ที่ผลิตโดยกลุ่มชุมชนช่างฝีมือ ผู้ผลิตรายย่อยจากประเทศผู้ผลิตที่ยากจนหรือด้อยศักยภาพในการแข่งขัน เป็นองค์กรซึ่งประกอบธุรกิจโดยไม่เน้นการทำกำไรสูงสุด โดยสินค้าที่จำหน่ายดังกล่าวเป็นสินค้าที่จัดหามาด้วยการซื้ออย่างเป็นธรรม จากแหล่งที่มีการส่งเสริม พัฒนาการผลิตอย่างยั่งยืน - Ten Thousand Village มีการทำงานร่วมกับชุมชนต่างๆ อย่างแข็งขัน และทำการตลาดส่วนหนึ่งโดยการร่วมกิจกรรมเทศกาลงานจำหน่ายสินค้าต่างๆ และกิจกรรมพิเศษหลากหลาย เพื่อนำสินค้า/ผลิตภัณฑ์ Fair Trade จากแหล่งต่างๆ ของโลกไปสู่ชุมชนที่ไม่มีร้านค้าปลีก ที่จำหน่ายสินค้าในลักษณะประจำ

1.3. หลักการพื้นฐานของ Ten Thousand Villages องค์กร Ten Thousand Village ได้ยึดหลักการตามหลักพื้นฐานของ WFTO และได้เพิ่มเติมหลักการเฉพาะขององค์กร ดังนี้

1. การให้ความเคารพต่อคุณค่าของการแสวงหาเพื่อให้ความยุติธรรม และเป็นความหวังให้ผู้ยากไร้

2. การทำการค้ากับกลุ่มช่างฝีมือ โดยการจ่ายค่าจ้างแรงงานอย่างยุติธรรม และแสดงความห่วงใยต่อสวัสดิการของสมาชิก

3. องค์กรฯจะซื้อสินค้าจากกลุ่มชุมชนช่างฝีมืออย่างสม่ำเสมอ แ ละจะชำระเงินล่วงหน้าและงวดสุดท้ายในระยะเวลารวดเร็ว

4. องค์กรฯ มีความพยายามอย่างยิ่งในการเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดสินค้า Fair Trade ในทวีปอเมริกาเหนือ สำหรับการซื้อขายสินค้าหัตถกรรมดังกล่าว

5. องค์กรฯ จะดำเนินการจัดจำหน่ายสินค้าคุณภาพ ที่ผลิตโดยกลุ่มช่างฝีมือ หรือผู้ว่างงานในชุมชนดังกล่าว

6. องค์กรฯ จะดำเนินธุรกิจในระยะยาวแบบยั่งยืน โดยอาศัยช่องทางการจำหน่ายที่หลากหลาย รวมทั้งเครือข่ายของร้านค้าที่มีเอกลักษณ์ร่วมกัน

7 .องค์กรฯ จะเลือกงานฝีมือที่ผลสะท้อนและเสริมสร้างวัฒนธรรมประเพณีที่หลากหลาย ที่ให้ความใส่ใจกับสิ่งแวดล้อม และสามารถดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภคในภูมิภาคอเมริกาเหนือได้

8. องค์กรฯ ขอส่งเสริมสนับสนุนให้ลูกค้าในภูมิภาคอเมริกาเหนือ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับ Fair Trade และชื่นชมมรดกทางวัฒนธรรม ตลอดทั้งสถานการณ์การดำรงชีวิตของกลุ่มชุมชนช่างฝีมือ ด้วยความสุขและความเคารพ

9. องค์กรฯจะใช้ทรัพยากรอย่างระมัดระวัง และจะให้ความสำคัญต่ออาสาสมัครที่มีส่วนร่วมในการทำงาน Fair Trade ในภูมิภาคอเมริกาเหนือ

1.4 ประเภทสินค้าที่จัดจำหน่าย Ten Thousand Villages ได้วางกลยุทธในการจัดจำหน่ายสินค้าโดยจัดกลุ่มเป็นแนวคิดเกี่ยวกับ Collections สินค้า เป็น 4 กลุ่มสำหรับการดึงดูดลูกค้า ที่นิยมการสั่งซื้อออนไลน์ ดังนี้

1.4.1 Gift Registry : Create a wish list for every occasion !

1.4.2 Global Patterns : Stylish, Original and Fair Trade !

1.4.3 Friendly Earth : Environmentally friendly and Fun

1.4.4 Elemental : Add a touch of nature to your home

ทั้งนี้ ได้จัดกลุ่มประเภทสินค้า ( Products) เป็น 16 กลุ่มย่อย ได้แก่ Baskets , Books & CDs ,Boxes , Christmas, Food & Drink , Global Treasures (Collectables, Paperweights, Sculptures) , Homes & Office , Jewellery , Musical Instruments , Personal Accessories , Personal Care , Plant & Garden , Stationery & Posters , Tabletop , Toys & Games และ White Bands โดยในแต่ละกลุ่มย่อยจะมีประเภทสินค้าในรายการหลากหลาย โดยข้อมูลเพิ่มเติม โปรดศึกษาจากเว็บไซต์

1.5. ที่อยู่เพื่อการติดต่อองค์กร Ten Thousand Villages Canada

Head Office - To contact the head office of Ten Thousand Villages Canada:

65B Heritage Drive

New Hamburg, Ontario

N3A 2J3

Tel: (519) 662-1879

Toll free: 1-877-BUY-FAIR

Fax: (519) 662-3755

Website :www.tenthousandvillages.ca

General Inquiries - For general inquiries, contact us at inquiry@villages.ca.

2. All Things Fair:

เป็นเอกชนที่เริ่มประกอบธุรกิจการจำหน่ายสินค้า Fair Trade ประเภทสินค้าหัตถกรรมคุณภาพดี นำเข้าจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกโดยมีสินค้าที่นำเข้าจากไทย ได้แก่ กระเป๋าถือ และสินค้าอื่นๆ ได้แก่ งานโลหะจากไฮติ ตะกร้าจักสาน จากยูกานดา เป็นต้น ซึ่งเป็นการจำหน่ายผ่านทางการค้าอีเล็กทรอนิกส์ ( Online Shopping) โดยอยู่ระหว่างการจัดทำเว็บไซต์ใหม่ และเร่งการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ซื้อสินค้าตะหนักในแนวคิดเกี่ยวกับเรื่อง Fair Trade และเชิญชวนให้ผู้อ่านแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับเรื่อง Fair Trade ระหว่างกันซึ่งมีที่อยู่เพื่อการติดต่อดังนี้

ที่อยู่เพื่อการติดต่อ Christtel@allthingsfair.ca

เว็ปไซต์ http://allthingsfair.ca Mailing & Spipping Address : All Things Fair 12-111 Fourth St., Suite 366 St. Catharines, Ontario , L2S 3P5 , Canada

3. องค์กร Transfair Canada

Transfair แคนาดาเป็นองค์กรประเภทที่ไม่แสวงหากำไร และเป็นสมาชิกขององค์กร Fairtrade Labelling (FLO) International องค์กรนี้ส่งเสริมกิจกรรม Fair Trade ใน 3 ลักษณะงาน ดังนี้

3.1 การรับรอง

TransFair แคนาดา เป็นผู้รับรองว่าผลิตภัณฑ์ที่เข้าแคนาดาติดตรา Fair Trade และมีเครื่องหมายรับรองตามมาตรฐานสากลของ Fair Trade องค์กรนี้มีหน้าที่ในการตรวจสอบรับรองตั้งแต่จากผู้ผลิตจนถึงจุดสุดท้ายของการบรรจุ โดยจะติดตามและตรวจสอบสินค้าเมื่อมีการป้อนเข้าสู่แคนาดา เพื่อให้มั่นใจว่าสิ่งที่ขายเป็น Fair Trade Certified จริง

3.2 การออกใบอนุญาต

TransFair Canada เป็นผู้ออกใบอนุญาตให้บริษัทของแคนาดาใช้เครื่องหมายรับรอง Fair Trade บนผลิตภัณฑ์ของตนและ บริษัทจะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดในการใช้เครื่องหมายให้เป็นไปตามตามมาตรฐานและไม่ใช้เครื่องหมายเหล่านี้ในทางที่ทำให้ประชาชนเข้าใจผิด ตลอดทั้งการไม่บ่อนทำลายความมั่นคงของเครื่องหมายนี้ด้วย

3.3. การส่งเสริม FAIR TRADE ให้แพร่หลาย

TransFair แคนาดามีการทำงานใกล้ชิดร่วมกับกลุ่มชุมชน บริษัท และประชาชน บุคคลทั่วไป เพื่อส่งเสริมสินค้า Fair Trade Certified ผ่านทาง เครือข่ายพันธมิตร การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ และสื่อส่งเสริมการขายต่างๆ โดยองค์กร TransFair มุ่งการทำงานเพื่อพัฒนาความเข้าใจแนวความคิดของประชาชนเกี่ยวกับ Fair Trade และเพื่อสร้างความนิยม ในแนวความคิดด้านส่งเสริมความยุติธรรม เพื่อให้ผู้ผลิตสินค้า Tairtrade สามารถขายสินค้าได้มากขึ้น

3.4 ประเภทกลุ่มสินค้าที่ TransFair แคนาดา ให้การรับรอง (Fair Trade Certified ) แล้วสำหรับการจำหน่ายในประเทศแคนาดา ประกอบด้วย 12 กลุ่ม ดังนี้

1. กาแฟ

2. โกโก้

3. น้ำตาล

4. ผลไม้สด

5. ชา

6. ดอกไม้

7. Sport Ball

8. ฝ้าย

9. สมุนไพรและเครื่องเทศ

10. ธัญญพืช

11. ไวน์

12. ลูกนัท ไขมันและน้ำมันจากพืช ( Shea Butter and Olive Oil )

จากการศึกษาสถิติการจำหน่ายสินค้า Fairtrade ในแคนาดา พบว่า ได้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยมีข้อสังเกต ดังนี้

สินค้าที่มีการเติบโตในลักษณะสม่ำเสมอ อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ สินค้า Sport Ball

สินค้าที่มีการเติบโตต่อเนื่องในช่วง 3 ปี ได้แก่ กาแฟ ชา โกโก้ ฝ้าย

สินค้าที่มีการเติบโตในลักษณะขึ้น - ลง ได้แก่ สมุนไพรและเครื่องเทศ ธัญพืช และสินค้าที่มีการเติบโตมากในปี ค.ศ. 2008 เมื่อเทียบกับปี ค.ศ. 2007 ได้แก่ กาแฟ ดอกไม้ ฝ้าย สมุนไพรและเครื่องเทศ ซึ่งสามารถแสดงการเติบโตของตลาดในลักษณะกราฟ ได้ดังนี้

4. เครื่องหมายรับรองสินค้าแฟร์เทรด

สินค้าแฟร์เทรดจะแตกต่างจากสินค้าอื่นๆ โดยมีเครื่องหมาย/ฉลากสินค้า ที่ระบุว่าเป็นสินค้า Fairtrade ซึ่งออกโดยหน่วยงานที่รับรอง/กำกับดูแล ( Fairtrade Labelling Organizations International : FLO) ซึ่ง FLOเป็นองค์กรที่รับรอง ดูแล และประชาสัมพันธ์เรื่องการติดฉลากสินค้าแฟร์เทรด โดยสินค้าที่จะขอรับเครื่องหมายดังกล่าว จะต้องผ่านการตรวจสอบการผลิตสินค้าว่าได้มาตรฐานการค้า Fairtrade ตามกฎ ระเบียบ มาตรฐานที่กำหนดไว้ หรือไม่ ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้บริโภคได้มั่นใจว่า การบริโภคสินค้าดังกล่าว จะทำให้ผู้ผลิตในทุกลำดับชั้นได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรมจริง. FLO ประกอบด้วยองค์กรสมาชิกจากชาติต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะมาจากกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วและมีมาตรฐานในการครองชีพสูง สำหรับตราสินค้าของ FLO นั้น จะใช้คำว่า Fairtradeติดกัน (ไม่มีเว้นวรรคระหว่าง fair และ trade) การติดฉลากสินค้าแฟร์เทรดถูกจำกัดโดยองค์การ FLO ให้มีได้เฉพาะกับสินค้าที่ผลิตในประเทศด้อยพัฒนาและที่กำลังพัฒนาเท่านั้น เนื่องจาก หนึ่งในจุดประสงค์หลักของการติดฉลากสินค้าแฟร์เทรดคือการบรรเทาความยากจนในประเทศเหล่านั้นนั่นเอง

หากสังเกตให้ดี ฉลากสินค้าแฟร์เทรดจะเป็นรูปคนโบกมือ ซึ่งคนโบกมือนี้จะหมายถึงทั้งผู้ผลิตหรือผู้บริโภคก็ได้

5. เครือข่าย Fair Trade ในกลุ่มผู้ผลิตประเทศอาเซียน (Network of Asian Producers)

เครือข่าย Fair Trade ในกลุ่มผู้ผลิตประเทศอาเซียน (The Network of Asian Producers: NAP เป็นส่วนหนึ่งของ Fairtrade Labelling Organizations International : FLO) ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนขององค์กรชาวเกษตรกร แรงงานและอื่นๆ ของหน่วยรับรอง Fair Trade (Fairtrade Certified Producer Organisations )ในเอเซีย ซึ่งเครือข่ายฯ จะคอยดูแล ช่วยเหลือ อำนวยความสะดวกให้กลุ่มสมาชิกได้รับประโยชน์สูงสุดจากระบบการค้า Fair Trade โดยสมาคม Fair Trade ของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ได้มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือกลุ่มผู้ผลิตในอาเซียนในการจัดตั้งองค์กร และการจัดระบบการบริหารที่ดีตลอดทั้งการจัดทำเว็บไซต์ขององค์กรซึ่งข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ NAP และสมาชิก ศึกษาเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ http://www.fairtradenap.net

สำหรับประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในเครือข่ายกลุ่มผู้ผลิตสินค้า Fair Trade ของอาเซียน ปัจจุบันมีบริษัท/กลุ่มผู้ผลิตที่ร่วมโครงการ ซึ่งอยู่ในรายชื่อสมาชิกของ NAP จำนวน 14 ราย โดย ส่วนใหญ่เป็น กลุ่มผู้ผลิต/ผู้แปรรูป/ผู้ส่งออกสินค้าข้าว สินค้ากาแฟ และสินค้าน้ำผึ้ง กลุ่มเหล่านี้กระจายอยู่ใน 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ (2 ราย) เลย (2 ราย) นครราชสีมา (2 ราย) สุรินทร์ (2 ราย) อุบลราชธานี ( 2 ราย) ยโสธร (1 ราย) และ ไม่ระบุจังหวัด (3 ราย ได้แก่ Tha Rua Agricultural Cooperative , Green Net Cooperative และ Riceland Foods Ltd.) รายละเอียดชื่อ ที่อยู่ เพื่อการติดต่อ ของกลุ่มผู้ผลิตไทย ตามเอกสารแนบ ( Fairtrade Network of Asian Producers in Thailand)

6. สรุปข้อคิดเห็นสำนักงานฯ

6.1 การค้าระบบ Fair Trade เป็นแนวคิดที่ดี เนื่องจากเป็นระบบการค้าที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต และความกินดี อยู่ดี ของผู้ผลิตรายย่อยในประเทศที่ศักยภาพในการแข่งขันด้อยกว่าผู้ผลิตที่มีความพร้อมด้านเงินทุน และเทคโนโลยี่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ในระบบการค้าทั่วๆไป และสามารถทำให้เป็นรูปธรรมได้ แต่ต้องได้รับความร่วมมือ ร่วมใจ และร่วมแรง จากทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ประสบความสำเร็จ ได้แก่ ความตั้งใจในการช่วยเหลือและความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ และความเสียสละส่วนตน เพื่อประโยชน์สุขของสังคม และมนุษยชาติที่ด้อยโอกาสกว่า

6.2 กรณีประเทศไทย ประเภทสินค้าที่อยู่ในระบบ Fair Trade ในปัจจุบัน ยังจำกัดอยู่ในกลุ่มสินค้าการเกษตร โดยเฉพาะข้าว กาแฟ สำหรับสินค้าที่น่าจะมีศักยภาพ แต่ต้องอาศัยผู้นำเข้าในต่างประเทศที่สนับสนุนแนวความคิด Fair Trade ได้แก่ สินค้าในกลุ่มหัตถกรรม ซึ่งการเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้น จะต้องพัฒนาการผลิตให้เข้าเงื่อนไขของการเป็นสินค้า Fairtrade ได้แก่ เป็นสินค้าที่ผลิตจากกลุ่มช่างฝีมือที่ สืบทอดกันมาเป็นเวลานาน โดยกลุ่มผู้ผลิตท้องถิ่นมีการทำงานในลักษณะที่หลีกเลี่ยงการใช้แรงงานเด็กเป็นสินค้าที่ผลิตโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่กลุ่มผู้ผลิตควรมีการรวมตัวกันในลักษณะองค์กร เช่น กลุ่มสหกรณ์ เป็นต้น และสมาชิกกลุ่มจะต้องร่วมมือ ร่วมในกันทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และรักษาระเบียบวินัยทำงานเชิงรุก ในการแสวงหาความรู้จากกลุ่มผู้ผลิตในเครือข่ายการตลาดและอาศัยเทคโนโลยีการสื่อสารกับเครือข่ายสมาชิก เพื่อให้ทราบข้อมูลเพื่อการผลิต การตลาด อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ตลอดทั้งศึกษาระบบการค้าอีเลกทรอนิกส์ ซึ่งเป็นเครื่องมือด้านการตลาดที่ประหยัดและมีประสิทธิภาพ เหมาะสำหรับกลุ่มผู้ผลิตรายย่อยที่มีต้นทุนน้อย

6.3 บทบาทของภาครัฐในการช่วยสนับสนุน อาจเริ่มในรูปการให้แนวความคิด การถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์จากผู้ที่ประสบความสำเร็จในระบบ เพื่อให้เห็นความสำคัญ และประโยชน์ และเตรียมความพร้อม ในการเข้าสู่ระบบ Fair Trade อย่างเป็นกิจลักษณะ ทั้งนี้ อาจดำเนินการโดยการจัดสัมมนาให้ความรู้และเชิญบุคลากรผู้มีชื่อเสียงที่เกี่ยวข้องมาให้ความรู้ และโน้มน้าว ให้มีแรงบันดาลใจ ในการพัฒนาปรับปรุง การผลิต การค้า มาสู่ระบบ Fair Trade นอกจากนั้น การเข้าร่วมกิจกรรม ระหว่างประเทศ อาทิ การศึกษาดูงานในองค์กร Fair Trade การเยี่ยมชม เมืองที่เป็น Fairtrade Town ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ หลายแห่งทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศ สหราชอาณาจักร และ เยอรมนี เพื่อ ซึ่งเป็นเวทีในการพบปะ แลกเปลี่ยน และสร้างสรรค์แรงบันดาลใจให้แก่ผู้ผลิตรายย่อย ของประเทศไทยได้

สำนักงานส่งเสริมการค้าฯ ณ นครแวนคูเวอร์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ