จากเซียนพระสู่เซียนหมูอาชีพที่ยั่งยืน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 19, 2010 00:00 —องค์การสะพานปลา

เกษตรกรเป็นอาชีพที่หลายคนลงความเห็นว่าเป็นงานหนักที่ต้องอาบเหงื่อต่างน้ำเพื่อแลกกับรายได้ที่ไม่แน่นอน ที่สำคัญคือเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงสูง แต่รัตนศักดิ์ จันทร์สด วัย 53 ปี อดีตเซียนพระผู้คร่ำหวอดในวงการเช่าบูชาพระเครื่องมานานกว่า 20 ปี กลับไม่คิดเช่นนั้น
"20 ปีก่อน ผมเปิดให้เช่าบูชาพระอยู่บ้านที่กรุงเทพฯ เรียกว่าเป็นเซียนพระก็น่าจะได้ แต่ละเดือนก็มีรายได้ไม่น้อย จนเมื่อปี 2540 ที่ภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่ ธุรกิจพระเครื่องที่ทำอยู่ก็พลอยซบเซาไปด้วยจนต้องเลิกกิจการ เป็นเวลาเดียวกันกับที่ผมแต่งงาน จึงตัดสินใจย้ายมาอยู่บ้านภรรยาที่ จ.ลพบุรี และยึดอาชีพทำไร่เป็นหลัก ซึ่งก็ต้องวัดดวง เพราะต้องพึ่งพาฝน เสี่ยงต่อการขาดทุน ผมจึงมองหาลู่ทางว่าจะมีอาชีพไหนที่มั่นคงรายได้ดี ความเสี่ยงน้อย มีความเป็นอิสระ พอดีเห็นเพื่อนบ้านที่เลี้ยงหมูขุนกับซีพีเอฟอยู่ก่อน จึงขอคำปรึกษาและศึกษาความเป็นไปได้ พบว่าอาชีพนี้สามารถตอบโจทย์ของผมได้ เพราะเห็นความสำเร็จของเพื่อนบ้าน และความยั่งยืนของอาชีพที่จะทำให้ครอบครัวมีกินมีใช้ จึงตัดสินใจเริ่มต้นเลี้ยงหมูขุนตั้งแต่ปี 2542 ถึงแม้จะไม่มีความรู้เรื่องการเลี้ยงหมูมาก่อนก็ตาม แต่ก็ได้นักวิชาการและสัตวบาลของซีพีเอฟมาช่วยถ่ายทอดความรู้ ให้คำปรึกษา และคอยแนะนำเทคโนโลยีใหม่ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ทำให้เกษตรกรอย่างผมมีรายได้ที่มั่นคงและดีขึ้นมาจนทุกวันนี้" รัตนศักดิ์กล่าวถึงอาชีพที่ภูมิใจ
เซียนพระผู้ผันตัวเองมาเป็นเจ้าของฟาร์มเลี้ยงหมูขุนขนาด 400 ตัว ที่บ้านเลขที่ 65/4 หมู่ 6 ต.โคกตูม อ.เมืองฯ จ.ลพบุรี ในโครงการส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรายย่อยคอนแทร็กฟาร์ม (Contract Farm) ของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เล่าว่า เมื่อแรกเริ่มเลี้ยงหมูโรงเรือนยังเป็นระบบเปิด กระทั่งผ่านไป 1 ปี บริษัทได้ส่งเสริมให้เกษตรกรเปลี่ยนเป็นระบบโรงเรือนปิดปรับอากาศด้วยระบบการระเหยของน้ำ หรือระบบอีแว็ป (Evap) ที่สามารถควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสมกับความต้องการของหมูในแต่ละช่วงอายุ ทำให้เห็นความแตกต่างของผลผลิตที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน เพราะหมูที่เลี้ยงในระบบปิดจะอยู่สบาย ไม่เครียด มีสุขภาพแข็งแรง กินอาหารเก่ง น้ำหนักดี สมบูรณ์ มีอัตราการเจริญเติบโตที่ดีขึ้นอย่างมาก สามารถลดระยะเวลาการเลี้ยง จากเดิมที่ใช้กว่า 6 เดือน เหลือเพียง 20-21 สัปดาห์ในปัจจุบัน
สำหรับการดูแลหมูของรัตนศักดิ์กับภรรยาจะเริ่มขึ้นตั้งแต่เช้า ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงในการทำความสะอาดคอกหมู เปลี่ยนน้ำในส้วมน้ำ การให้อาหาร รวมทั้งตรวจสุขภาพหมูเป็นอันดับสุดท้าย และจะกลับมาให้อาหารอีกครั้งในช่วงเย็น เพื่อให้หมูได้กินอาหารที่สดใหม่ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้กินอาหารได้มากขึ้น นับเป็นอีกหนึ่งเคล็ดลับสู่ความสำเร็จ ยืนยันจากรายได้เฉลี่ยปีละกว่า 3 แสนบาท ที่รัตนศักดิ์บอกว่าเป็นรายได้ที่เขาพอใจอย่างมาก
"ผมทำมาหลายอาชีพจนกระทั่งได้เลี้ยงหมูกับซีพีเอฟมากว่า 10 ปี ตอบได้เลยว่าเป็นอาชีพที่ยั่งยืนแน่นอน เพราะบริษัทมีปัจจัยที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรประสบความสำเร็จพร้อมอยู่แล้ว ทั้งลูกหมูพันธุ์ดีที่ส่งมาให้เลี้ยง อาหารก็มีโภชนาการเหมาะกับหมูในแต่ละวัย ทำให้เจริญเติบโตได้ดี รวมทั้งมีเทคโนโลยีด้านการเลี้ยงสัตว์ที่ทันสมัย มีวิชาการที่พร้อมจะถ่ายทอดเพื่อให้เกษตรกรมีประสิทธิภาพการเลี้ยงที่ดี ที่สำคัญบริษัทยังรับซื้อผลผลิตคืนและจัดการด้านการตลาดให้ทั้งหมด ผมจึงสามารถผลิตหมูที่มีคุณภาพได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องกังวลเรื่องตลาด แต่ไม่ว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะดีแค่ไหนก็ตาม หากคนเลี้ยงปล่อยปละละเลยก็ไม่มีทางผลผลิตจะดีได้ ดังนั้น ตัวเราเองต่างหากคือผู้กำหนดความสำเร็จที่แท้จริง โดยต้องดูแลเอาใจใส่ในการเลี้ยงและการจัดการให้ดี ซึ่งผมถือว่าสำคัญที่สุดและยึดถือเป็นหลักปฏิบัติมาตลอด ทำให้มีรายได้ที่มั่นคงและมีอาชีพที่ยั่งยืนในวันนี้ จากนั้นเราก็มองไปถึงอนาคตของลูก และหวังว่าจะให้เขาสานต่อในอาชีพนี้ จึงใช้วิธีชักชวนลูกๆ ให้เข้ามาช่วยเลี้ยงหมู เพื่อเป็นการปลูกฝังให้พวกเขาได้เรียนรู้และมีพื้นฐานจากการลงมือทำจริง วันนี้ถึงแม้ว่าครอบครัวเราจะไม่ร่ำรวยถึงขนาดมีเงินเหลือกินเหลือใช้ แต่ก็ไม่เคยลำบาก เราไม่มีหนี้สิน มีบ้าน มีรถยนต์ มีเงินเก็บสำรองสำหรับส่งลูกทั้งสองคนเรียน ที่สำคัญเรามีอาชีพเลี้ยงหมูเป็นมรดกให้กับลูกๆ เพียงเท่านี้ผมก็มีความสุขมากพอแล้ว" รัตนศักดิ์เผยเคล็ดลับและความคาดหวังต่ออนาคต
ซีพีเอฟดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้ความรับผิดชอบต่อสังคม ขณะเดียวกันก็ยังสนับสนุนให้เกษตรกรประกอบอาชีพได้อย่างมั่นคง โดยมีบริษัทเป็นพี่เลี้ยงคอยผลักดันสู่ความสำเร็จผ่านโครงการคอนแทร็กฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ทั้งการเลี้ยงไก่ไข่ ไก่เนื้อ รวมทั้งการเลี้ยงหมูพันธุ์ และหมูขุนที่ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมมานานกว่า 30 ปี เพื่อส่งเสริมและช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทยให้ดีขึ้น เห็นได้จากความสำเร็จของเกษตรกรในโครงการกว่า 1 หมื่นรายทั่วประเทศ ที่ไม่เพียงมีรายได้เพิ่มขึ้น สิ่งสำคัญไปกว่านั้นคือความรู้ ความเชี่ยวชาญที่เกษตรกรได้รับ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่าเกษตรกรไม่ใช่อาชีพที่ต่ำต้อย หากแต่เป็นอาชีพที่สามารถสร้างความยั่งยืนให้ชีวิตได้อย่างแท้จริง.

แท็ก เกษตรกร  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ