ตู้ฟักไข่อัตโนมัติมทร.ศรีวิชัยใช้งานง่าย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 23, 2010 00:00 —องค์การสะพานปลา

ตามธรรมชาติของการฟักไข่และรอดออกมาเป็นลูกไก่จะต่ำกว่า 80% เพราะการฟักไข่ในแต่ละครั้งจะต้องมีองค์ประกอบหลายอย่าง โดยเฉพาะความสมบูรณ์ของไข่ ซึ่งอาจจะต้องประกอบด้วยปัจจัยทั้งอายุของพ่อและแม่พันธุ์ เพราะพ่อแม่พันธุ์ที่อายุมากจะทำให้อัตรการผสมติด และการฟักไข่ออกต่ำกว่าไก่ที่มีอายุน้อย อาหารที่ใช้ในการเลี้ยงไก่จะต้องมีวิตามินบี 12, บี 2 และวิตามินอี ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตและการพัฒนาของตัวอ่อนในไข่ฟัก
ถ้าหากวิตามินเหล่านี้ไม่พอกับความต้องการของร่างกายและการเจริญเติบโตของตัวอ่อนแล้ว จะมีผลกระทบต่อการผสมติด เช่น การขาดวิตามินบี 12 จะทำให้ผสมติดและตัวอ่อนตายในระยะอายุ 18 วันมากกว่าปกติ ถ้าขาดวิตามินบี 1 จะทำให้ตัวอ่อนตายในระยะ 7-10 วันมากกว่าปกติ โดยเฉพาะขาดวิตามินบี 2 หรือที่เรียกว่าไรโบฟลาวินแล้ว ลูกไก่จะตายในระยะสุดท้ายมาก คือตัวอ่อนจะพัฒนาจนสมบูรณ์ทุกอย่าง ไข่แดงดูดซึมเข้าท้องทุกตัวและมีขนขึ้นเต็มตัว แต่ไม่สามารถเจาะเปลือกไข่ออกมาได้ รวมถึงปัจจัยของสภาพแวดล้อม เนื่องจากอากาศชื้นเกินไปก็จะส่งผลกระทบต่อการฟักเป็นตัวของไข่ได้เช่นกัน
อาจารย์สัญญา ผาสุข อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า (ที่ปรึกษาโครงการงาน) จึงร่วมกับนักศึกษาสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย สงขลา สร้างตู้ฟักไข่อัตโนมัติ เพื่อให้เกิดความสะดวกต่อเกษตรกรในการฟักไข่ไก่ และลดอัตราเสี่ยงต่อการตายของลูกไก่ในขณะฟัก โดยออกแบบให้สามารถควบคุมอุณหภูมิและความชื้นภายใต้ตู้ผ่านหน้าจอแอลซีดีขนาด 24 ตัวอักษร 2 บรรทัด มีระบบกลับไข่อัตโนมัติที่ควบคุมด้วยมอเตอร์
ขั้นตอนการทำโครงการสร้างของตู้ฟักไข่และหลักการทำงานนั้น นักศึกษาเล่าว่า โครงสร้างของตู้เป็นไม้พีวีซี 5 มิลลิเมตร และอะลูมิเนียม เพื่อความแข็งแรงและป้องกันสนิม เนื่องจากอุณหภูมิที่ใช้ในการฟักไข่นั้นใช้อุณหภูมิประมาณ 37-38 องศาเซลเซียส ใช้ไม้อัดหนา 5 มิลลิเมตรจึงมีความเหมาะสมในด้านการใช้งาน และราคาที่ถูก โดยมีสีขาวเพื่อความสวยงาม ป้องกันการขูดขีด รวมไปถึงการทำความสะอาดที่ง่าย การใช้อุปกรณ์ดังกล่าวจึงเหมาะสมในด้านการใช้งาน และมีขอบอะลูมิเนียมทั้งสองด้านเพื่อช่วยในการรักษาอุณหภูมิ และมีการซีลด์ที่ของของตู้เพื่อไม่ให้อุณหภูมิภายในตก ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการฟักไข่
การทำงานของตู้จะแบ่งการควบคุมออกเป็น 3 ส่วน คือ การควบคุมอุณหภูมิความชื้นและส่วนการควบคุมการกลับไข่จะทำการควบคุมแบบอัตโนมัติของขดลวดที่ใช้ทำความร้อน โดยใช้เซ็นเซอร์เบอร์ SHT 15 ซึ่งเป็นตัววัดค่าอุณหภูมิและความชื้น ส่วนชุดควบคุมการกลับไข่จะใช้ควบคุมด้วยไมโครคอนโทรลเลอร์เบอร์ PIC16F877A โดยจะมีการทำงานร่วมกับการตั้งเวลา ซึ่งจะใช้งานในการตั้งเวลาในการกลับไข่ สำหรับตู้ตัวอย่างที่ได้ทำออกมาแล้วนั้น สามารถกลับไข่ได้ 72 ฟอง กลับไข่ไปมาในระดับ 45 องศา และได้ผลถึง 80% หากนำตู้ฟักไข่นี้ไปใช้ในงานอุตสาหกรรมใหญ่ก็สามารถทำได้ โดยการออกแบบตู้ฟักให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อรองรับจำนวนไข่ที่มากขึ้น และใช้ระบบควบคุมที่มีกำลังไฟฟ้าเพิ่มขึ้น แต่ยังคงเทคนิคของการใช้งานเหมือนเดิม ซึ่งตู้ฟักไข่อัตโนมัตินี้ ราคาอยู่ที่ 5 พันบาทเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม เทคนิคการเลือกไข่ที่จะทำการฟักนั้นจะต้องให้ได้ไข่ที่สมบูรณ์ที่สุด โดยทดสอบด้วยแสงไฟในที่มืด เพื่อดูคุณภาพของไข่ว่าเหมาะสมต่อการฟักไข่หรือไม่ ซึ่งไข่ที่เหมาะสมต่อการฟักนั้นจะต้องทึบแสง และในอนาคตจะนำเครื่องดังกล่าวมาประยุกต์ใช้กับไข่เป็ดและอื่นๆ เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ผู้สนใจในรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ อาจารย์สัญญา ผาสุข อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย สงขลา โทร.08-3398-7013.
วศินี จิตภูษา/พรเพ็ญ จันทรา รายงาน

แท็ก ธรรมชาติ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ