ในขณะที่ราคาสินค้าการเกษตรอยู่ระหว่างขาขึ้น ไม่ว่าจะเป็นข้าว ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง น่าจะเป็นโชคดีของเกษตรกร ถ้าไม่มีปัญหาภัยพิบัติจากศัตรูพืช อาทิ เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดในนาข้าว เพลี้ยแป้งสีชมพูระบาดในมันสำปะหลังจนผลผลิตไม่เพียงพอส่งออก ขณะที่ จ.กาญจนบุรี และราชบุรี กำลังเดือดร้อนเนื่องจากแมลงนูนหลวงระบาดอย่างรุนแรงในไร่อ้อย
นายสุเทพ สหายา นักกีฏวิทยาชำนาญการพิเศษ กลุ่มกีฏและสัตว์วิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ปัญหาแมลงนูนหลวงระบาดในไร่อ้อยเรื้อรังมานานนับสิบปี โดยจะเกิดในช่วงปลายฝนถึงช่วงแล้ง ประมาณเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ สำนักวิจัยอารักขาพืชได้ส่งทีมนักวิชาการออกไปตรวจสอบสำรวจพื้นที่ระบาดใน อ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี และ อ.จอมบึง จ.ราชบุรี พบว่ามิใช่แต่ไร่อ้อยเท่านั้นที่ถูกแมลงนูนหลวงทำลาย พืชทุกชนิดก็ได้รับความเสียหายเช่นกัน เช่น ยางพารา มันสำปะหลัง สับปะรด มันแกว ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดฝักอ่อน ไม้ผล แม้แต่ยูคาลิปตัส
แมลงนูนหลวงเป็นด้วงปีกแข็ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lepidiota stigma Fabricius มีชื่อสามัญว่า sugar white Grub เป็นแมลงศัตรูพืชในหลายชนิด ตัวอ่อนจะทำลายโดยกัดกินบริเวณส่วนรากหรือหัวพืช ทำให้ต้นเหี่ยวแห้งตาย เนื่องจากรากถูกกัดขาด พื้นที่ระบาดส่วนมากจะเป็นดินทราย และระบาดในที่ดอนมากกว่าในที่ลุ่ม
ไข่ของแมลงนูนหลวงกว้างประมาณ 4 มม. ระยะไข่ 15-28 วัน จากไข่จะเป็นตัวหนอนมีการลอกคราบ 3 ครั้ง หนอนโตเต็มที่มีขนาดกว้าง 20-25 มม. ยาว 65-70 มม. ส่วนกะโหลกกว้าง 10 มม. ระยะหนอนมีอายุ 8-9 เดือน จากนั้นจะเป็นดักแด้ ก่อนหนอนเข้าดักแด้จะมุดตัวลงในดินลึก 30-60 ซม. ระยะดักแด้ 2 เดือน
ตัวเต็มวัยของแมลงนูนหลวงจะเป็นแมลงปีกแข็ง ขนาดใหญ่กว้างประมาณ 15-20 มม. ยาวประมาณ 32-40 มม. ส่วนท้ายของปีกมีจุดสีขาวด้านละจุด เพศผู้มีสีน้ำตาลดำตลอดลำตัว ส่วนเพศเมียมีสีน้ำตาลปนเทา สีอ่อนกว่าเพศผู้ ตัวเต็มวัยเมื่อออกจากดักแด้ตอนพลบค่ำจะบินวนเพื่อจับคู่ผสม เมื่อได้คู่จะผสมพันธุ์ โดยเพศเมียจะใช้ขาเกาะกิ่งไม้ ส่วนเพศผู้ขณะผสมพันธุ์จะห้อยหัวลงมาโดยไม่เกาะกิ่งไม้ ใช้เวลาผสมพันธุ์นานประมาณ 15-30 นาที จึงแยกจากกัน จากนั้น 14-25 วัน เพศเมียจึงเริ่มวางไข่ในดินลึกประมาณ 15 ซม. ติดต่อกัน 5-6 วัน หนึ่งตัวจะวางไข่ได้ 15-28 ฟอง
การป้องกันกำจัดแมลงนูนหลวงควรใช้หลายๆ วิธีแบบผสมผสานจะดีที่สุด ได้แก่ 1.วิธีเขตกรรม ก่อนปลูกพืชควรไถพรวนหลายๆ ครั้ง เพื่อให้นกช่วยทำลายระยะไข่หนอนดักแด้ 2.วิธีกล ได้แก่ รณรงค์ให้เกษตรกรช่วยกันจับตัวเต็มวัยมาประกอบเป็นอาหาร ซึ่งประหยัดและได้ผลมากที่สุด เนื่องจากแมลงนูนหลวงออกเป็นตัวเต็มวัยปีละครั้งในช่วงฝนแรก ประมาณเดือนเมษายน-มิถุนายน การจับตัวเต็มวัยที่เพิ่งออกจากดักแด้ไม่ควรเกิน 10 วันแรกของการเป็นตัวเต็มวัย ซึ่งเป็นช่วงที่ผสมพันธุ์แล้ว แต่ยังไม่วางไข่
วิธีจับตัวเต็มวัยให้ใช้ไม้ตีตามกิ่ง หรือเขย่าให้ตกลงมาขณะที่กำลังผสมพันธุ์ ใช้เวลาจับประมาณวันละ 30 นาที โดยเริ่มจากเวลา 18.30-19.00 น. และจับต่อเนื่องกันเป็นเวลา 1 เดือน จะช่วยลดการระบาดของแมลงนูนหลวงในปีถัดไป ดังนั้น เกษตรกรจึงควรจับติดต่อกัน 2-3 ปีจะทำให้ลดปริมาณได้มาก
3.การใช้สารเคมี ควรเป็นวิธีสุดท้ายเมื่อวิธีอื่นๆ ใช้ไม่ได้ผล สารเคมีที่ใช้ได้ผลมากเป็นสารที่ใช้พ่นหรือราดทางดิน และต้องเข้มข้นกว่าสารที่ใช้พ่นทางใบ จึงต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าของการลงทุนในระยะยาว โดยสารเคมีที่ใช้กับอ้อยได้ผลคือ ฟีโพรนิล (แอสเซ็นต์ 5% เอสซี) อัตรา 80-150 มล.ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นไปตามร่องอ้อย สำหร้บอ้อยตอให้เปิดหน้าดินออกทั้งสองด้านของแถวอ้อย ห่างจากตออ้อยประมาณ 8 นิ้ว แล้วพ่นสารเคมีตามร่อง จากนั้นก็ไถกลบ นอกจากนี้ ข้อมูลระหว่างประเทศพบว่าการใช้สารฟีโพรนิล (รีเจนต์ 0.3% จี) อัตรา 5 กก./ไร่ สามารถป้องกันกำจัดหนอนชนิดนี้ได้
นายสุเทพเปิดเผยถึงผลการทดสอบเบื้องต้นในสภาพห้องปฏิบัติการว่า ทดสอบในกระบะพลาสติก กว้าง 17 ยาว 20 สูง 6 นิ้ว เลี้ยงตัวหนอนด้วยหัวมันสำปะหลังขณะหนอนอยู่ในวัย 3 ยาวประมาณ 5 ซม. ซึ่งเก็บมาจากสภาพไร่ประมาณเดือนมกราคมแล้วเอาดินกลบไว้ หลังจากนั้นโรยสารดังกล่าวในอัตรา 5 กก./ไร่ รดน้ำให้ดินมีความชื้น พบว่าต้องใช้เวลาประมาณ 15 วัน หนอนถึงจะตาย 100% ผลที่ได้แสดงให้เห็นว่า การป้องกันกำจัดในช่วงหนอนมีขนาดใหญ่ในสภาพไร่การใช้สารเคมีจะไม่ได้ผล เนื่องจากหนอนทนทานต่อสารเคมี และหนอนเคลื่อนย้ายหนีได้
ดังนั้น ถ้าจำเป็นต้องใช้สารเคมีให้ใช้ช่วงประมาณเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ฟักออกจากไข่ใหม่ๆ และยังมีขนาดเล็ก นอกจากนี้ ในช่วงฤดูฝนจะทำให้สารเคมีละลายซึมอยู่ในดิน ส่วนช่วงแล้งไม่ควรใช้ เนื่องจากดินมีความชื้นต่ำ สารไม่ค่อยละลายทำให้ออกฤทธิ์น้อย และเป็นช่วงหนอนมีขนาดโต มีความทนทานต่อสารเคมี สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มกีฏและสัตว์วิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร โทร.0-2579-5583, 0-2579-7542.
นวลศรี โชตินันทน์ รายงาน