เมื่อไม่นานมานี้ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติได้จัดงาน "วันนักประดิษฐ์ประจำปี 2553" เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการที่ทรงได้ประดิษฐ์คิดค้น "เครื่องเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย" หรือที่รู้จักกันว่า "กังหันชัยพัฒนา" ภายในงานมีสิ่งประดิษฐ์มากมายที่น่าสนใจหลายอย่าง ซึ่งวารสารผลิใบได้นำมาเสนอไว้ จึงขอนำเอามาเผยแพร่ต่อ อาทิ
เครื่องตบรีดยางพารา ซึ่งเป็นสิ่งประดิษฐ์จากคณะนักศึกษาวิทยาลัยการอาชีพชุมแพ จ.ขอนแก่น โดยผู้ประดิษฐ์เปิดเผยว่า เนื่องจากการทำเกษตรแพร่กระจายหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะยางพารา ที่มีการปลูกอยู่ใน จ.ขอนแก่น ด้วย แต่หลังจากปลูกจนได้น้ำยางแล้ว กระบวนการผลิตเพื่อให้ได้แผ่นยางต้องใช้เวลาและแรงงานมาก จึงคิดและปรับปรุงเครื่องตบรีดยางพาราเพื่อลดเวลาและค่าจ้างแรงงานให้เหลือน้อยที่สุด และลดต้นทุนในการใช้แรงงานเพื่อให้ได้กำไรมากขึ้นตามไปด้วย
สำหรับคุณสมบัติของเครื่องตบรีดยางพาราก็คือ ตบหรือนวดยางพาราเพื่อเตรียมการรีดให้ความหนาของแผ่นยางลดลง และรีดลายยางเพื่อตากแห้ง จากการทดสอดประสิทธิภาพการทำงานแผ่นต่อแผ่น ระหว่างการใช้แรงงานคนเปรียบเทียบกับการใช้เครื่องดังกล่าว ปรากฏว่าหากใช้แรงงานคน 1 คนตบรีดยางพารา 1 แผ่น จะใช้เวลาประมาณ 5 นาที ถ้าหากใช้เครื่องตบรีดยางพาราจะใช้เวลา 1 นาทีเท่านั้น
จะเห็นได้ว่าเครื่องตบรีดยางพาราที่นักประดิษฐ์จากวิทยาลัยการอาชีพชุมแพคิดค้นขึ้น เป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้ผู้ปลูกยางนำไปต่อยอดอุตสาหกรรมยางในครัวเรือน ท่านที่สนใจติดต่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ วิทยาลัยการอาชีพชุมแพ เลขที่ 271 หมู่14 ถ.เลย-แพงไทย ต.หนองไผ่ อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น 40130 โทร.0-4331-1020 ในเวลาราชการ
การเพาะเห็ดโดยใช้อาหารเสริมจากเปลือกลำไย เป็นสิ่งประดิษฐ์จากคณะนักเรียนโรงเรียนอุโมงค์วิทยาคม จ.ลำพูน ผลงานนี้เกิดขึ้นจากการที่ จ.ลำพูน มีผลผลิตลำไยในปีหนึ่งจำนวนมาก คณะนักเรียนจึงมีแนวคิดว่าจะทำอย่างไรจึงจะนำเปลือกลำไย เมล็ดลำไยมาใช้ประโยชน์ได้อีก จึงมีแนวคิดที่จะเพาะเห็ดโดยใช้อาหารเสริมจากเปลือกลำไย
สิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ทำการศึกษาเพื่อหาข้อแตกต่างระหว่างการเพาะเห็ดฟางโดยผสมเปลือกลำไย การเพาะเห็ดฟางโดยผสมเมล็ดลำไย การเพาะเห็ดฟางโดยไม่ผสมสิ่งใดลงไป และการเพาะเห็ดฟางโดยผสมทั้งเปลือกและเมล็ดลำไย นอกจากนั้นยังนำวัสดุอุปกรณ์ที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาใช้ได้อย่างคุ้มค่า ประหยัดงบประมาณ และที่สำคัญสามารถนำความรู้ที่ได้จากการทดลองถ่ายทอดสู่เกษตรกรที่สนใจนำไปเพาะเห็ดฟางได้เป็นอย่างดี ช่วยให้เกษตรกรเพิ่มรายได้ให้ครอบครัว และขยายไปสู่การเพาะเห็ดฟางในเชิงพาณิชย์ต่อไป
จากการที่วัสดุหาง่ายในท้องถิ่น ใช้เงินทุนไม่มาก ขั้นตอนการผลิตไม่ซับซ้อน และผลผลิตที่ได้ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ช่วยลดก๊าซมีเทนในอากาศที่เกิดจากการเน่าเปื่อยของเปลือกลำไย ผลผลิตที่ได้จากการเพาะเห็ดโดยใช้อาหารเสริมจากเปลือกและเมล็ดลำไยจะให้วิตามินสูง มีกรดอะมิโนสำคัญหลายชนิด
การเพาะเห็ดโดยใช้อาหารเสริมจากเปลือกลำไยนี้มีขั้นตอนง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก เริ่มจากนำเปลือกลำไย เมล็ดลำไยอบแห้งไปบดให้ละเอียด เตรียมฟางข้าวไปแช่น้ำประมาณ 1 วัน เตรียมเชื้อเห็ดฟาง แผ่นพลาสติกใส นำฟางข้าวแช่น้ำมาวางบนพื้นที่เตรียมไว้ นำฟางข้าวด้านล่างของตะกร้าโรยเชื้อเห็ดฟาง ผสมผงเปลือกลำไยและผลเมล็ดลำไยบนฟางริมตะกร้า นำฟางมาคลุมบนเชื้อเห็ดแล้วโรยชั้นต่อไปจนเต็มตะกร้า ผลการทดลองปรากฏว่าเห็ดที่ได้มีปริมาณดอกค่อนข้างมากและมีขนาดค่อนข้างใหญ่
จะเห็นได้ว่าการเพาะเห็ดโดยใช้อาหารเสริมจากเปลือกลำไยนั้น เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถเพิ่มผลผลิตของเห็ดให้มีคุณภาพเพิ่มมากขึ้น โดยใช้วัสดุที่เหลือใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ หากผู้ใดสนใจก็ติดต่อขอทราบรายละเอียดได้ที่ โรงเรียนอุโมงค์วิทยาคม เลขที่ 315 ต.อุโมงค์ อ.เมืองฯ จ.ลำพูน 51150 หรือ โทร.0-5354-1377 ในวันและเวลาราชการ (อ่านต่อฉบับหน้า).
ประภาส ทรงหงษา รายงาน