โรคเน่าดำหน้าวัวภัยร้ายทำลายผลผลิต

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 28, 2010 00:00 —องค์การสะพานปลา

หน้าวัว (Anthurium andraeanum) มีชื่อสามัญว่า Farmingo Flower มีความทนทานต่อสภาพอากาศที่ร้อนชื้นในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี สามารถปลูกได้ทุกภาคของประเทศ เป็นไม้ดอกเศรษฐกิจที่มีความสำคัญ มีดอกที่สีสันสดใสสวยงาม สะดุดตา ก้านดอกยาวและแข็งแรง มีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่า 10 วัน จึงนิยมนำมาใช้ประโยชน์ทั้งในด้านการตัดดอก จัดสวน และใช้เป็นไม้กระถาง เป็นพืชที่ใช้พื้นที่ปลูกน้อย ให้ผลผลิตเร็วและต่อเนื่องอย่างน้อย 6 ปี ที่สำคัญให้ผลตอบแทนสูง
ปัญหาในการผลิตหน้าวัวเกิดจากศัตรูพืชที่รบกวน โดยเฉพาะโรคเน่าดำซึ่งมีผลต่อการผลิตหน้าวัวของเกษตรกร โดยเฉพาะพันธุ์ลูกผสมที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ส่วนใหญ่จะอ่อนแอต่อโรคในฤดูฝนที่จะระบาดได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ดอก ก้านดอก ใบ ต้นและรากเน่าตาย
ลักษณะอาการของโรค เริ่มแรกจะเป็นแผลฉ่ำน้ำเล็กๆ ที่ใบ แล้วลุกลามขยายอย่างรวดเร็วจนเป็นแผลไหม้สีน้ำตาล หากเป็นฤดูฝนพื้นที่ปลูกที่ชื้นแฉะ แผลที่เกิดจะเน่าและลุกลามอย่างรวดเร็ว แต่ในสภาพค่อนข้างแห้งในฤดูหนาว แผลขยายได้ช้ากว่า ขอบแผลมีรูปร่างไม่แน่นอน เชื้อสามารถเข้าทำลายโคนต้นและราก มีอาการโคนต้นช้ำเป็นสีน้ำตาล รากเน่าดำ เมื่อดึงใบพืชเบาๆ ก้านใบจะหลุดจากต้นได้ง่าย
เชื้อสาเหตของโรคเน่าดำหน้าวัวเกิดจากรา Phytophthora parasitica ราสร้างเส้นใยบนอาหาร CA ลักษณะการเจริญเป็นเส้นตรงไม่สม่ำเสมอ เส้นใยใสไม่มีสี ไม่มีผนังกั้น ผิวหนังเรียบ ลักษณะโคโนนีคล้ายเส้นใยแมงมุม เจริญเต็มจานเลี้ยงเชื้อเมื่ออายุ 5 วัน หากตัดชิ้นเชื้อแช่ในน้ำที่นึ่งฆ่าเชื้อ แล้วทิ้งไว้ 24-30 ชั่วโมง เชื้อจะสร้างสปอร์จำนวนมากในน้ำ มีรูปร่างค่อนข้างกลม รูปแพร์หรือกลม มีปุ่มนูนชัดเจนบนสปอร์ และสปอร์ติดแน่นกับเส้นใย
การแพร่ระบาดเกิดจากการชะล้างไปกับน้ำ ติดไปกับวัสดุปลูก เช่น กระถาง อิฐมอญ กาบมะพร้าว กะลาปาล์ม น้ำมันเผา เป็นต้น การป้องกันกำจัดโรคเน่าดำหน้าวัวนั้น ประการสำคัญควรปรับสภาพโรงเรือนให้มีการถ่ายเทอากาศได้สะดวก ไม่ปลูกพืชแน่นเกินไป นอกจากนั้น ไม่ควรรดน้ำจนวัสดุปลูกชื้นแฉะ รักษาความสะอาดของโรงเรือน เมื่อเริ่มพบโรคให้ตัดแต่งส่วนที่เป็นโรค รวบรวมไปเผาทำลายนอกแปลง ทางเลือกสุดท้ายให้พ่นสารเคมีป้องกันกำจัดโรคเมทาเลชิล
เกษตรกรรายใดประสบกับปัญหาโรคเน่าดำของหน้าวัว สามารถติดต่อขอทราบรายละเอียดได้ที่กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร โทร.0-2579-9582 หรือ 0-2579-9584 ในวันและเวลาราชการ.

แท็ก วัว  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ