ดร.จิราวรรณ แย้มประยูร รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า หลังจากกรมประมงจัดทำแผนโครงการพัฒนาผลิตปลานิลตั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ และสนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่มผลิตปลานิลคุณภาพส่งออกไปตลาดต่างประเทศ มีการอบรมความรู้เพื่อปรับใช้ในการเพาะเลี้ยง จนเกษตรกรหลายรายประสบความสำเร็จ จึงได้จัดโครงการลดต้นทุนอาหารสัตว์น้ำ โดยเข้าไปส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถผลิตอาหารสัตว์น้ำได้เอง
กลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งบางหัก อ.พานทอง จ.ชลบุรี ซึ่งในอดีตพบปัญหาขาดทุนจากการเพาะเลี้ยงกุ้งแล้วหันมาเลี้ยงปลานิลแทน ก็เป็นอีกกลุ่มที่ประสบความสำเร็จ มีการรวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็งในการผลิตปลานิลแปรรูปส่งออกได้หลายสิบตันต่อเดือน เมื่อกรมส่งเสริมให้ผลิตอาหารสัตว์น้ำใช้เองโดยสนับสนุนเครื่องผลิต ทางกลุ่มก็ลองถูกลองผิดกระทั่งสามารถผลิตอาหารสัตว์น้ำที่มีคุณภาพใช้เอง ซึ่งสูตรอาหารนี้มีต้นทุนแค่เพียงกิโลกรัมละ 9 บาท ช่วยลดภาระต้นทุนการเลี้ยงปลานิลได้พอสมควร ทั้งยังช่วยลดการสูญเสียอาหารในการเลี้ยงแบบเดิมๆ อีกด้วย
นายพรชัย บัวประดิษฐ์ ผู้น้ำกลุ่มผู้เพาะเลี้ยงกุ้งบางหัก กล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มมีสมาชิกกว่า 100 คน ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย ใช้เงินหมุนเวียนในการเพาะเลี้ยงและขายปลานิล ดังนั้น การที่เราสามารถผลิตอาหารสัตว์น้ำใช้ในกลุ่มสมาชิก จึงช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายได้มาก ต้องขอขอบคุณกรมประมงที่ให้การสนับสนุนและให้คำแนะนำ ทำให้การเพาะเลี้ยงปลานิลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับเครื่องผลิตอาหารสัตว์น้ำเครื่องนี้ ปัจจุบันผลิตอาหารต่อรอบประมาณ 800 กิโลกรัม เมื่อบวก ลบ คูณ หารกับต้นทุนการผลิตแล้ว อาจจะยังมีเงินทุนหมุนเวียนไม่เพียงพอต่อรายจ่าย อนาคตจึงคาดว่าจะผลิตให้ได้รอบละ 1,000 กิโลกรัม อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาอยู่บ้าง อาทิ เรื่องเงินทุนหมุนเวียนในการซื้อวัตถุดิบ จำนวนเครื่องที่ไม่มีสำรอง หากเสียก็มีผลต่อการผลิตอาหารให้มีความต่อเนื่อง ซึ่งต้องขอคำปรึกษาจากทางกรมประมงต่ออไป
ขณะที่รองอธิบดีกรมประมงกล่าวในท้ายสุดว่า อยากให้ทางกลุ่มเป็นต้นแบบให้เกษตรกรในพื้นที่อื่นได้ศึกษาถึงการลดต้นทุนอาหารสัตว์น้ำ เพื่อกระจายความรู้ที่มีอยู่ให้แพร่หลายในวงกว้าง และในอนาคตจะจัดตั้งให้เป็นศูนย์การเรียนรู้สำหรับเกษตรกร นักเรียน นักศึกษา และผู้ที่สนใจ โดยกรมจะให้การสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับเกษตรกร.