นิสิตภาควิชาพัฒนาผลิตภัณฑ์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คิดสูตรและพัฒนาผลิตภัณฑ์ "ซุปก้อนหอมหัวใหญ่" คว้ารางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 จากการประกวดนวัตกรรมผลผลิตภัณฑ์อาหารประจำปี 2552 ซึ่งจัดโดยสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหารแห่งประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และได้รับถ้วยรางวัลจากนายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี
"ซุปก้อนหอมหัวใหญ่" เป็นผลงานของ น.ส.อาจารีย์ เอี่ยมพงษ์ไพฑูรย์ น.ส.ฐิติมา ธันวราคม น.ส.วรินทร แซ่ฮุย และ น.ส.มัลลิกา ตั้งตรงกิจเจริญ โดยมี ดร.พิสิฎฐ์ ธรรมวิถี เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา งานวิจัยนี้ได้ทำการพัฒนาซุปก้อนจากหอมหัวใหญ่ผง เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกใหม่ให้กับผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ รวมถึงผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวกรวดเร็วในการเตรียมอาหาร
โดยซุปก้อนหอมหัวใหญ่ไม่มีองค์ประกอบที่มาจากเนื้อสัตว์และผงชูรส แนวคิดในการพัฒนาสูตรและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเริ่มจากการศึกษาหอมหัวใหญ่ ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของ จ.เชียงใหม่ และอีกลายจังหวัดทางภาคเหนือ โดยผลผลิตหอมหัวใหญ่จะออกสู่ตลาดมากในเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ในบางปีผลผลิตมีมากเกินความต้องการของตลาด เกิดปัญหาล้นตลาดและราคาตกต่ำ การแปรรูปหอมหัวใหญ่จึงเป็นช่องทางในการแก้ปัญหาล้นตลาด
วิธีการทำซุปก้อนจากหอมหัวใหญ่ผง เริ่มด้วยการปอกเปลือกหอมหัวใหญ่แล้วหั่นเป็น 4 ส่วน บดด้วยวิธี Blender Braun โดยใช้เบอร์ 8 เป็นเวลา 1 นาที คั้นเอาน้ำออกด้วยผ้าขาวบางและนำไปอบแห้งด้วย Traydryer ที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส
การอบแห้งเป็นวิธีแปรรูปที่สามารถลดปริมาณหอมหัวใหญ่สดได้ดีที่สุดวิธีหนึ่ง หอมหัวใหญ่อบแห้งสามารถทำได้หลายรูปแบบ เช่น หั่นฝอย หั่นเป็นชิ้น หอมเกล็ด Kibble และบดเป็นแป้ง นอกจากนี้ยังสามารถนำหอมหัวใหญ่ไปปรุงเป็นซุปผักที่กำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มของผู้รักสุขภาพ ซึ่งหอมหัวใหญ่อุดมไปด้วยแคลเซียม แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส โพแตสเซียม กำมะถัน ซีลีเนียม เบต้าแคโรทีน กรดโฟลิก และฟลาโวนอยด์เวอเซทิน ซึ่งมีคุณประโยชน์มากมาย ทั้งลดคอเลสเตอรอลและความดันเลือด ลดอาการภูมิแพ้และหอบหืด ลดปริมาณน้ำตาลในเลือด เป็นต้น
นอกจากนี้ การแปรรูปหอมหัวใหญ่ยังช่วยในการกระตุ้นให้ภาคอุตสาหกรรมอาหารและการส่งออกของไทย เร่งสร้างผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ได้มาตรฐาน ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่รักสุขภาพและผู้ที่แพ้ผงชูรส และยังเป็นการช่วยเกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ลดปัญหาผลผลิตทางการเกษตรล้นตลาดได้อีกช่องทางหนึ่งด้วย.