ผู้นำท้องถิ่นพังงาเผย สังคมชนบทขาดแคลนคนดีมี "กึ๋น" ร่วมพัฒนาชุมชน สถาบันครอบครัวยากจนหมดแรงกระตุ้นสร้างรากฐานการศึกษา ในขณะที่คนมีการศึกษาหลั่งไหลทำงานต่างถิ่น เผยการสนับสนุนเยาวชนสร้างอาชีพควบคู่จิตอาสาคือหนทางออก
นายสมมาทร์ มะลิวัลย์ สมาชิก อบต.บ้านเจ้าขรัว ต.คลองเคียน อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา เปิดเผยว่า ปัจจุบันสังคมชนบทกำลังขาดแคลนแรงงานที่มีความรู้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะครอบครัวและเยาวชนบางส่วนไม่เห็นความสำคัญของการศึกษา ส่งผลให้เรียนหนังสือไม่จบหรือจบเพียงการศึกษาขั้นพื้นฐานเท่านั้น ส่วนคนหนุ่มสาวที่ได้รับการศึกษาขั้นสูง เมื่อสำเร็จการศึกษาก็ต้องออกไปทำงานต่างพื้นที่ เพราะในชุมชนหรือในจังหวัดบ้านเกิดไม่มีตำแหน่งงานรองรับ
สมาชิก อบต.บ้านเจ้าขรัว กล่าวต่อว่า ต้องการให้คนหนุ่มสาวที่มีความรู้กลับมาทำงานเพื่อพัฒนาบ้านเกิด ซึ่งแม้ปัจจุบันจะไม่มีสถานประกอบการรองรับมากนัก แต่เชื่อว่าหากได้คนที่มีความรู้ความสามารถและรักถิ่นฐานหวนกลับมาที่ภูมิลำเนาเดิม น่าจะสามารถสร้างอาชีพและสร้างธุรกิจให้เกิดขึ้นในชุมชนได้ ส่งผลให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ได้ในที่สุด
"ตอนนี้เราขาดแคลนคนที่มีความรู้ ทำให้ท้องถิ่นด้อยพัฒนา คนยิ่งไหลออกสู่ศูนย์กลางการพัฒนามากเท่าไหร่ ท้องถิ่นยิ่งขาดการพัฒนามากขึ้นเท่านั้น ในทางกลับกันหากเราได้คนที่มีความสามารถมาช่วยกันช่วยกันทำงาน ช่วยกันหาช่องทางทำมาหากินแล้ว ผมเชื่อว่าจะมีอาชีพใหม่ๆ เกิดขึ้นในท้องถิ่นอีกมาก เช่น ธุรกิจแปรรูปอาหารทะเล เป็นอาชีพที่ผมพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นเพื่อให้คนในชุมชนท้องถิ่นภาคใต้นำมาประกอบอาชีพได้"
หากสามารถทำได้ก็จะทำให้เกิดการจ้างงานของกลุ่มแม่บ้านตามมา และที่สำคัญการจ้างงานในท้องถิ่นยังมีความต้องการอยู่มาก แต่ปัจจุบันเราจ้างคนงานต่างด้าวโดยให้ค่าแรงวันละ 170 บาท ซึ่งหากคนในชุมชนเราปรับวิธีคิด สู้งาน ไม่ฟุ้งเฟ้อและอยู่แบบพอเพียง ก็เชื่อว่าสามารถอยู่ในท้องถิ่นได้สบาย เพราะเราซื้อแต่ข้าวเท่านั้น แต่กุ้ง หอย ปู ปลาเรามีอยู่แล้วในท้องทะเล
นายสมมาทร์ยังกล่าวด้วยว่า การดึงแรงงานคืนถิ่น ไม่เพียงแต่จะทำให้เกิดการสร้างงานมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัวอีกด้วย และที่สำคัญคนเหล่านี้ยังมีเวลาเหลือพอที่จะมาทำงานเพื่อชุมชนส่วนรวมได้อีกด้วย เช่น สมนึก มัจฉาเวช เยาวชนรุ่นใหม่ที่แม้จะจบการศึกษาระดับอุดมศึกษา แต่กลับมาประกอบอาชีพประมงชายฝั่งพร้อมๆ กับการทำงานเป็นเยาวชนจิตอาสาที่เรียกขานกันว่าเป็น อบย. องค์การบริหารหมู่บ้านและเยาวชน
ด้านนายสมนึก มัจฉาเวช อบย.บ้านเจ้าขรัว ต.คลองเคียน อ.ตะกั่วไป จังหวัดพังงา กล่าวว่า ในชุมชนยังมีพื้นที่เหลืออีกมากสำหรับหนุ่มสาววัยแรงงานที่ต้องการหวนคืนสู่บ้านเกิด ซึ่งก่อนหน้านี้ตนคิดว่าหากได้เรียนสูงๆ แล้วจะทำให้มีหน้าที่การงานและมีอนาคตที่ดี แต่เพราะเศรษฐกิจในช่วงนั้นทรุดตัวบวกกับปัญหาทางการเงินของครอบครัว จึงตัดสินใจเลิกเรียนเมื่อเรียนจบในระดับอนุปริญญาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต สาขาบริหารธุรกิจ แต่ก็ยังเลือกทำงานอยู่ที่ภูเก็ต เพราะคิดว่าอย่างน้อยก็ยังพอมีงานให้ทำเพื่อแบ่งเบาภาระของครอบครัว
นายสมนึกกล่าวต่อว่า ระหว่างทำงานเพื่อหาประสบการณ์ที่จังหวัดภูเก็ต ตนรู้สึกว่าความผูกพันในครอบครัวเริ่มหายไป เมื่อพ่อแม่ญาติพี่น้องเจ็บป่วยหรือต้องการความช่วยเหลือ ตนไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้เลย เพราะค่าตอบแทนที่ได้รับไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในแต่ละวัน จึงรู้สึกผิดและตำหนิตนเองในใจ เมื่อคิดได้เช่นนี้จึงตัดสินใจกลับบ้าน ซึ่งพอดีที่สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน หรือ PDA มีโครงการจัดตั้งองค์การบริหารหมู่บ้านและเยาวชน (อบย.) ขึ้นที่หมู่บ้านเจ้าขรัว โดยการสนับสนุนของกองทุนไทยพาณิชย์เพื่อผู้ประสบภัย มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนได้เรียนรู้ทักษะการทำงานเพื่อสร้างอาชีพในชุมชน จึงสมัครเป็นสมาชิก อบย.ร่วมกับเพื่อนๆ เยาวชนเพื่อเรียนรู้การทำธุรกิจในชุมชน
เริ่มต้นจากการเลี้ยงหอยแมลงภู่แต่ก็พบปัญหาเรื่องโรคระบาด จึงเปลี่ยนมาปลูกผักปลอดสารแทน แต่ก็ประสบกับปัญหาเรื่องพื้นที่เพาะปลูกที่ไม่ลงตัว ท้ายที่สุดก็เปลี่ยนมาเลี้ยงปลาเก๋าในกระชังแทน เพราะคิดว่าพ่อแม่ทำอาชีพนี้อยู่แล้ว จึงน่าจะให้ความรู้แก่ตนได้และน่าจะช่วยให้ธุรกิจนี้ประสบความสำเร็จได้ในที่สุด
เมื่อกลุ่ม อบย.ตัดสินใจได้ว่าจะเลี้ยงปลาเก๋าในกระชัง ในฐานะแกนนำประกอบกับที่บ้านมีผู้รู้ในเรื่องนี้อยู่แล้ว ตนจึงอาสาเรียนรู้ภูมิปัญญาการเลี้ยงปลาเก๋าจากพ่อแม่ เพื่อพัฒนาทักษะการประกอบอาชีพเลี้ยงปลาของกลุ่ม อบย.บ้านเจ้าขรัว พร้อมๆ กับทำหน้าที่แกนนำเพื่อสร้างกลุ่ม อบย.ในหมู่บ้านให้เข้มแข็ง
"ผมพยายามเปิดใจกว้าง เพื่อเรียนรู้ภูมิปัญญาการเลี้ยงปลาเก๋าของบรรพบุรุษ เรียนรู้ตั้งแต่กระบวนการแรกคือ การทำกระชังปลา การหาลูกปลา การทำไซดักปลา จนถึงขั้นตอนสุดท้ายคือ การหาตลาดขายปลา จากการเรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์จากผู้รู้หลายคนทำให้ผมรู้ว่า ปลาเก๋าเป็นขุมทรัพย์ที่มีค่าของบรรพบุรุษ ที่ผ่านมาผมคิดมาตลอดว่าการออกเรือหาปลาเป็นการทำงานหนักมีรายได้พอกินไปวันๆ เท่านั้น แต่เมื่อได้มาทำงานนี้อย่างจริงจัง ผมได้เรียนรู้ว่าถ้าเรายอมลดความฟุ้งเฟ้อลง รายได้ที่ได้รับจากการหาปลาก็เพียงพอให้เราอยู่ได้อย่างสบาย"
สมนึกกล่าวต่อว่า ธุรกิจปลาเก๋าที่เป็นสิ่งใกล้ตัวที่ตนเคยมองข้ามนั้นในวันนี้ตนรู้แล้วว่า การทำงานในหมู่บ้านด้วยการเริ่มต้นจากต้นทุนที่มีอยู่ ก็สามารถทำให้คนเราประสบความสำเร็จในชีวิตได้เช่นกัน
ปัจจุบัน สมนึกมีอายุ 29 ปี ทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยการทำสวนยางและการเลี้ยงปลาเก๋า แม้รายได้จะไม่มากมายนัก แต่ความภาคภูมิใจที่ได้รับกลับมีมากกว่า เพราะได้สร้างธุรกิจเล็กๆ ด้วยตัวเอง มีเงินแค่พอใช้ ไม่ฟุ้งเฟ้อ แต่ที่สำคัญคือทำให้ตนได้กลับมาอยู่กับครอบครัวอีกครั้ง และได้ช่วยเหลืองานของส่วนรวมในฐานะของกรรมการหมู่บ้าน และยังเป็นที่ปรึกษาของ อบย.รุ่นใหม่ ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงถ่ายทอดภูมิปัญญาการเลี้ยงปลาเก๋าให้กับเยาวชนรุ่นน้อง ในฐานะผู้มีความชำนาญในการเลี้ยงปลาเก๋าคนหนึ่งของหมู่บ้าน
"ผมอยากนำความรู้ที่มีอยู่ไปถ่ายทอดให้กับน้องๆ เยาวชนในพื้นที่ เพื่อให้พวกเขามองเห็นความสำคัญของการประกอบอาชีพในชุมชนของเราเอง โดยไม่ต้องดิ้นรนไปทำงานในเมืองใหญ่ๆ เพราะการทำงานในชุมชน แม้จะมีรายได้ไม่มากเหมือนการทำงานในเมือง แต่ทำให้พวกเขาได้อยู่ใกล้ครอบครัว ได้ดูแลพ่อแม่ มีอาหารการกินที่อุดมสมบูรณ์ มีคุณภาพชีวิตที่ดี อีกทั้งยังได้พัฒนาบ้านเกิดของตนเอง สร้างสิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นในชุมชน และเมื่อมองย้อนกลับไปทีไร ผมก็นึกขำตัวเองทุกที ที่เมื่อก่อนหลงลืมสิ่งดีๆ ที่อยู่ใกล้ตัวไป เพราะผมเชื่อว่าไม่มีงานที่ไหนที่ทำแล้วจะมีความสุขกายสบายใจเท่ากับการทำงานที่บ้านเกิดของพวกเรา"
และนี่คือต้นแบบของเยาวชนคืนถิ่นที่ พิสูจน์ให้เห็นว่ากลุ่มเยาวชนสามารถสร้างพื้นที่ทำกินให้เกิดขึ้นจริงได้ในชุมชนของพวกเขาเอง.