อดีตครูตัวอย่างปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 4, 2010 00:00 —องค์การสะพานปลา

แม้ภาวะเศรษฐกิจจะฝืดเคืองอย่างไร ตกต่ำขนาดไหน หากไม่ฟุ้งเฟ้อ อยู่อย่างพอเพียง ก็สามารถประคับประคองชีวิตและครอบครัวให้อยู่รอดได้ อย่างเช่น นายฉลอง อ่อนสงฆ์ ที่เป็นตัวอย่างอยู่แบบพอเพียง แม้ว่าจะได้รับเงินบำนาญทุกเดือน ความเป็นอยู่ไม่ขัดสน แต่ก็นำเอาทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาปรับใช้ โดยใช้เนื้อที่ 14 ไร่ ตลอดระยะเวลา 7 ปี ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง
นายฉลอง อ่อนสงฆ์ อายุ 62 ปี อยู่บ้านเลขที่ 5 หมู่ 1 ต.ดอนเมย อ.เมืองฯ จ.อำนาจเจริญ อดีตรับราชการครู หลังจากเกษียณอายุราชการก็ไม่อยากอยู่เฉยๆ ประกอบกับมีที่ดินว่างเปล่าอยู่ จึงหันมาทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
นายฉลองเล่าว่า เริ่มแรกได้ไปหาซื้อพันธุ์ไม้ผลต่างๆ แล้วจัดแบ่งที่นา 14 ไร่ให้เป็นสัดส่วนที่พอเหมาะ หลังจากที่แบ่งเป็นที่อยู่อาศัยจำนวนหนึ่งแล้ว
โดยส่วนแรกทำนาปลูกข้าว 10 ไร่ แบ่งเป็นข้าวเจ้า 5 ไร่ ข้าวเหนียว 5 ไร่ ได้ข้าวสารใส่ยุ้งไว้กินปีชนปี หากปีไหนน้ำมาก ผลผลิตดี ก็มีข้าวเหลือไว้ขาย
ส่วนที่ 2 ขุดบ่อเลี้ยงปลา 2 บ่อ 2 ไร่ เลี้ยงปลานิล ปลาไน ปลานวลจันทร์ ปลาตะเพียน ปากบ่อก็ยังมีการปลูกผักสวนครัว ซึ่งสามารถนำมาประกอบอาหารได้
ส่วนที่ 3 ก็ปลูกผลไม้ต่างๆ ทั้งฝรั่ง พุทรา มะละกอ กล้วย ผลผลิตที่ได้ก็มีพ่อค้ามารับซื้อถึงที่
นอกจากนี้ เมื่อว่างเว้นจากฤดูทำนาก็ยังเผาถ่านด้วยวิธีธรรมชาติหรือแบบหลุม โดยนำเอากิ่งไม้ที่ตัดแต่งมาเผาเป็นถ่านใช้ในครัวเรือน เหลือก็ขายในราคาถุงละ 30 บาท และยังแบ่งส่วนหนึ่งทำเป็นเพิงผลิตปุ๋ยอินทรีย์ไว้ใส่บำรุงต้นข้าวและพืชผลต่างๆ ไปจนถึงการทำน้ำสกัดเป็นยาฆ่าแมลงอีกด้วย
นายฉลองบอกว่า เกษตรทฤษฎีใหม่ที่นี่ปลอดสารพิษ 100 เปอร์เซ็นต์ จึงได้รับการคัดเลือกจากทางอำเภอเมืองอำนาจเจริญให้เป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชนประจำตำบลดอนเมยในเรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่ เป็นต้นแบบแห่งความสำเร็จการอยู่แบบพอเพียง ซึ่งในปี 2551 ได้รับรางวัลเกษตรกรต้นแบบอีสาน และรางวัลนักปลูกต้นไม้ยอดเยี่ยมระดับหมู่บ้าน ล่าสุดในปี 2553 ได้รับการคัดเลือกให้รับโล่ปราชญ์ของแผ่นดินสาขาเศรษฐกิจพอเพียงจากสำนักงานเกษตรและสหกรณ์ จ.อำนาจเจริญ ที่ผ่านมามีเกษตรกรเข้ามาเรียนรู้ศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีกำลังใจและภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก
นายเถลิงศักดิ์ บุญชิต นายอำเภอเมืองอำนาจเจริญ กล่าวว่า ชาว จ.อำนาจเจริญ ส่วนใหญ่มีอาชีพทำนาปลูกข้าว จึงได้ส่งเสริมสนับสนุนให้ความรู้แนะนำการทำนาอย่างถูกวิธี โดยเฉพาะช่วงฤดูการทำนา ผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตรจะเข้าไปช่วยเหลือดูแลอย่างใกล้ชิด พร้อมรณรงค์ให้ปลูกข้าวอินทรีย์ ส่งผลให้เกษตรกรในพื้นที่หันมาร่วมมากขึ้น รวมทั้งเชิดชูยกย่องเกษตรกรที่ปลูกข้าวอินทรีย์เป็นแบบอย่างแห่งความสำเร็จ และคัดเลือกเป็นเกษตรกรดีเด่นของอำเภอทุกปี เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจในการทำงาน ภายในปี 2553 นี้ ตั้งเป้าจะทำให้พื้นที่ปลูกข้าวของ อ.เมืองอำนาจเจริญ ปลอดสารเคมีอย่างยั่งยืน.
สนธยา ทิพยอุตร์ รายงาน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ