ไทย-จีนร่วมมือศึกษาวิจัยด้านการเกษตร

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 7, 2010 00:00 —องค์การสะพานปลา

วารสารผลิใบของกรมวิชาการเกษตรได้เสนอบทความเรื่องโครงการความร่วมมือระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนากับสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ ต.โป่งนำร้อน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ เนื้อที่ประมาณ 574 ไร่ เพื่อเป็นแหล่งรวบรวม ศึกษา ทดสอบ อนุรักษ์พันธุกรรมพืชและความหลากหลายของเชื้อพันธุ์พืช และเป็นสถานที่เผยแพร่ความรู้เรื่องพืชสวน ข้าว พืชไร่ ป่าไม้ ระบบนิเวศของป่า และเป็นแหล่งผลิตและขยายพันธุ์พืช เพื่อนำไปสร้างรายได้และศึกษาวิจัย ซึ่งในอนาคตยังจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อีกด้วย
โครงการนี้มีการศึกษาทดสอบพันธุ์พืชต่างๆ นานาชนิด ทั้งข้าว กาแฟ มะรุม ทับทิม สตรอเบอรี่ มันฝรั่ง ไปจนถึงพืชสมุนไพร ไม้ดอกไม้ประดับ
ที่น่าสนใจมีการทดสอบปลูกกระเทียม 2 สายพันธุ์ ได้แก่ กระเทียมพันธุ์ Zipi บนเนื้อที่ 333.34 ตารางเมตร เป็นพันธุ์ที่บริโภคได้ทั้งหัวและก้านดอก มีอายุการเก็บเกี่ยว 105-100 วัน มีอัตราการเจริญเติบโตที่ดี ช่วงระยะต้อนอ่อนสามารถต้านทานต่ออากาศหนาว อากาศแล้ง ทนต่อสภาพความเป็นด่าง และต้านทานโรคได้ดี มีลำต้นสูง 55-65 ซม. ก้านดอกยาว 16-21 ซม. ใบมีสีเขียวเข้ม อวบอ้วน ผิวใบเรียบ โตเต็มที่จะมีใบ 8-9 ใบ มีกลิ่นฉุน คุณภาพดี สามารถเก็บได้นาน สีของเปลือกหุ้มมีสีม่วง
กระเทียมพันธุ์ Baipi ปลูกทดสอบบนเนื้อที่ 666.67 ตารางเมตร เป็นพันธุ์สำหรับบริโภคหัว อายุการเก็บเกี่ยว 120-125 วัน มีอัตราการเจริญเติบโตดี ช่วยระยะต้นอ่อนทนต่ออากาศหนาว อากาศแล้ง ทนต่อสภาพความเป็นกรด และต้านทานโรคได้ดี มีลำต้นสูง 53-75 ซม. ก้านดอกยาว 22.31 ซม. ใบมีสีเขียวสด อวบอ้วน ผิวใบเรียบ มีขน โตเต็มที่จะมี 8-10 ใบ กลิ่นไม่ฉุน คุณภาพปานกลาง เก็บไว้ได้นาน สีของเปลือกหุ้มหัวมีสีขาว
สำหรับมันสำปะหลังมีการปลูกทดสอบ 5 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ Hezuo 88 บนเนื้อที่ 133.34 ตารางเมตร เป็นพันธุ์สำหรับการแปรรูปและบริโภคสด อายุการเก็บเกี่ยว 130 วัน ต้นสูง 190 ซม. ใบใหญ่ ก้านและใบมีสีเขียวเข้ม ดอกสีชมพูอ่อน หัวมีลักษณะยาวรี ผิวเรียบ ผิวสีแดง เนื้อสีเหลือง ตาหน่อตื้นและมีตาน้อย
มันฝรั่งพันธุ์ Hui-2 ปลูกทดสอบบนเนื้อที่ 466.67 ตารางเมตร เป็นพันธุ์ที่ใช้สำหรับทำอาหารสัตว์ มีอายุเก็บเกี่ยว 120 วัน ต้นสูง 55 ซม. มีจำนวนก้านค่อนข้างมาก ระบบรากสมบูรณ์ เจริญเติบโตได้ดี ดอกสีชมพูอ่อน ใบมีสีเขียวเข้ม หัวกลม ผิวเรียบ เนื้อสีขาว คุณภาพดี ตาหน่อตื้นและมีตาน้อย
มันฝรั่งพันธุ์ Yunshu ปลูกทดสอบบนพื้นที่ 1,000 ตารางเมตร เป็นพันธุ์สำหรับการแปรรูปและบริโภคสด อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 112 วัน ต้นสูง 70 ซม. ก้านและดอกสีม่วงอ่อน ใบสีเขียวเข้ม หัวกลม ผิวเรียบ เนื้อสีเหลืองอ่อน ตาหน่อตื้น
มันฝรั่งพันธุ์ Ziyun-1 ปลูกทดสอบบนพื้นที่ 800 ตารางเมตร เป็นพันธุ์สำหรับบริโภคสดและใช้กลั่นทำสีผสมอาหาร มีอายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 120-135 วัน ต้นสูง 80-110 ซม. พุ่มต้นไม่ค่อยแน่น เจริญเติบโตดี ก้านสีม่วงปนเขียว ใบสีเขียว ดอกสีขาว หัวกลม ผิวเรียบ ผิวเนื้อมีสีม่วง ตาหน่อตื้นและมีตาน้อย สามารถนำไปต้ม นึ่งและผัดเป็นอาหาร ไม่มีกลิ่น
มันฝรั่งพันธุ์ Yunshu 106 ปลูกทดสอบบนพื้นที่ 900 ตารางเมตร เป็นพันธุ์สำหรับบริโภคสด มีอายุการเก็บเกี่ยว 100 วัน มีต้นสูง 60 ซม. พุ่มต้นตั้งตรง ก้านและใบมีสีเขียว ดอกสีขาว หัวกลม ผิวเรียบ และเนื้อมีสีเหลืองอ่อน ตาหน่อตื้น
นอกจากนี้ยังมีการปลูกทดสอบข้าวนาดำขั้นบันได โดยมีการปรับพื้นที่ลาดเชิงเขาเป็นขั้นบันได ทำขอบคันนาให้สูงเพื่อขังน้ำ และอัดดินให้แน่นเพื่อป้องกันการรั่วซึม ซึ่งข้าวนาดำที่มีการปลูกคือ ขาวพันธุ์ Dainzn ข้าวพันธุ์ Wenxiang ข้าวนาดำพันธุ์ Yunguang 14 ข้าวนาพันธุ์ Yunguang 16 และข้าวนาดำพันธุ์ Yuanguang 17
มีการทดสอบและถ่ายทอดเทคนิควิธีการปลูกพลับพันธุ์ Cilang 500 ต้น ซึ่งเป็นพลับพันธุ์เก่าแก่ของจีน เริ่มแพร่หลายเข้ามาตั้งแต่ปี 2463 จากนั้นจึงมีการนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นหลายครั้ง จนปัจจุบันกลายเป็นต้นพลับพันธุ์หลักที่ปลูกในจีน ลักษณะมีผลโต รูปร่างแบนเหลี่ยม น้ำหนักผลเฉลี่ย 200 กรัม ขนาดใหญ่ที่สุด 300 กรัม ขนาดของผลจะสม่ำเสมอไม่แตกต่างกันมากนัก ผิวมีลักษณะเรียบมันเงา เมื่อสุกจะมีสีแสด หลังจากเก็บเกี่ยวแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้ม มีรสชาติหวานกรอบ มีวิตามินซีมากกว่าพลับพันธุ์อื่น 2-4 เท่า และให้น้ำตาลสูงกว่า 1-2%
มะเดื่อฝรั่งเป็นพืชที่นิยมปลูกทางตะวันตกของเอเชีย และแพร่หลายในเขตเมดิเตอร์เรเนียน ในประเทศไทยมีการนำมาปลูกทดสอบโดยกรมวิชาการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมูลนิธิโครงการหลวง ซึ่งนำมาจากประเทศญี่ปุ่น และนำไปปลูกที่สถานีทดลองเกษตรที่สูงแม่จอนหลวง อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ เมื่อปี 2531 จำนวน 10 พันธุ์ สามารถให้ผลผลิตได้ดีพอสมควร หลังจากนั้นมีผู้นำเข้ามาทดสอบจนสามารถพัฒนาเป็นการค้าได้
มะเดือฝรั่งเป็นพืชกึ่งร้อนอากาศแห้ง ถ้าเกิดฝนตกในช่วงกำลังพัฒนาและแก่ใกล้เก็บเกี่ยวจะทำให้ผลแตก ต้องการชั่วโมงความหนาวไม่เกิน 300 ชั่วโมง มูลนิธิชัยพัฒนาได้พันธุ์มาปลูกเมื่อเดือน พ.ค.52 จำนวน 8 พันธุ์ ได้แก่ Verte, Janour, Variegated, Australia, Dauphin, Brown Turkey, Black mission และ Japan โดย 8 พันธุ์ดังกล่าวมีอยู่ 4 พันธุ์ที่มีแนวโน้มปรับตัวได้ดีและให้ผลผลิตสูง ได้แก่ Australia, Brown Turkey, Black mission และ Japan
สำหรับคุณค่าทางโภชนาการของมะเดื่อฝรั่งมีหลายประการ เช่น มีน้ำตาลธรรมชาติมากถึง 83% ได้แก่ น้ำตาลกลูโคส ฟรุกโตส และซูโครส ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานคาร์โบไฮเดรต และยังอุดมไปด้วยวิตามินบี 1 และบี 2 มีแคลเซียม ฟอสฟอรัส และธาตุเหล็กสูง ไม่มีธาตุโซเดียมและคอเลสเตอรอล กรดอินทรีย์ในมะเดื่อฝรั่งช่วยสร้างสมดุลระหว่างความเป็นกรด-ด่างในร่างกาย มีโปรตีน Fietin ที่สามารถย่อยเนื้อได้ดี และเป็นแหล่งอาหารประเภทให้เส้นใยสูง
สำหรับสรรพคุณของมะเดือฝรั่งนั้น สามารถช่วยกำจัดของเสียออกจากร่างกาย ป้องกันโรคนิ่ว กระเพาะปัสสาวะอักเสบ โรคปอด ช่วยฟอกตับและม้าม มีสารยับยั้งและป้องกันมะเร็ง ช่วยระงับการเจริญเติบโตของมะเร็งลำไส้ และยังเป็นยาระบายอ่อนๆ ช่วยในการขับถ่าย ลดปัญหาท้องผูก ช่วยเสริมสร้างเพิ่มความแข็งแกร่งให้กล้ามเนื้อ และเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกและฟัน
นอกจากนี้ยังมีการปลูกสตรอเบอรี่พันธุ์พระราชทาน 80 ที่ได้จากการปรับปรุงพันธุ์โดยนำเมล็ดพันธุ์ลูกผสมจากประเทศญี่ปุ่นมาปลูกทดสอบอีกด้วย ซึ่งนับได้ว่าความร่วมมือดังกล่าวระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนาและสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นอีกหนึ่งโครงการที่จะทำให้เกษตรกรของ 2 ประเทศได้รับประโยชน์มากมาย ที่สำคัญจะทำให้ความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศยั่งยืนต่อไปในอนาคต.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ