ขณะนี้จอกหูหนูยักษ์กำลังระบาดอย่างรุนแรงในหลายพื้นที่ของ อ.คลองหอยโข่ง และ อ.สะเดา จ.สงขลา ส่วนในภาคกลางระบาดรุนแรงในเขื่อนแม่กลอง อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี ซึ่งเขื่อนนี้ทำหน้าที่ระบายน้ำให้พื้นที่การเกษตร 7 จังหวัด คือ สุพรรณบุรี กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และเพชรบุรี และยังระบายน้ำลงสู่แม่น้ำแม่กลอง ทำให้พบจอกหูหนูยักษ์ระบาดตลอดลำน้ำแม่กลอง อ.ท่าม่วง จนถึง อ.เมืองฯ จ.สมุทรสงคราม
จอกหูหนูยักษ์เป็นที่รู้จักแพร่หลายทั่วโลกมานานแล้ว เนื่องจากก่อปัญหาต่างๆ มากมายในทุกทวีปทั่วโลก ประเทศไทยมีการไหวตัว ประกาศให้จอกหูหนูยักษ์เป็นสิ่งต้องห้าม มิให้มีการนำเข้ามาในราชอาณาจักร ตามประกาศของกระทรวงเกษตรฯ ฉบับที่ 14 ซึ่งประกาศตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2521
จอกหูหนูยักษ์เป็นเฟิร์นน้ำ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Salvinia molesta D.S.Mitchel อยู่ในวงศ์ Salvinaiaceae มีชื่อสามัญเรียกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น เช่น Aerican payal, giant salvinia, Kariba weed, salvinia, water fern salvinia
เป็นพืชประเภทลอยน้ำ ไม่ยึดเกาะกับดิน ไม่มีรากที่แท้จริง ลำต้นทอดยาวอยู่ใต้ผิวน้ำเล็กน้อย แต่ละข้อมีใบ 1 คู่อยู่เหนือผิวน้ำ สีเขียวรูปไข่ ยาวเล็กน้อย และใบที่สามเปลี่ยนรูปเป็นเส้นเล็กๆ สีน้ำตาลจำนวนมากอยู่ใต้น้ำ ทำให้เข้าใจว่าเป็นราก ใบส่วนนี้ยาวมากแกว่งไปมาในน้ำ เป็นการช่วยพยุงให้ลอยน้ำอยู่ได้อย่างมั่นคง และเป็นที่สร้างสปอร์ด้วย
ใบด้านบนปกกคลุมด้วยขนแข็งสีขาว แต่ละเส้นแยกออกเป็นแขนงย่อย 4 เส้น ที่ปลายเชื่อมกันเหมือนซี่กรงขนาดเล็ก ขนเหล่านี้อาจเสียหายหรือเห็นไม่ชัดเจนเมื่อใบแก่ แต่ใบอ่อนที่ไม่ม้วนจะเห็นชัดเจน ขนที่มีโครงสร้างพิเศษนี้ป้องกันไม่ให้ใบเปียกน้ำ ทำให้ไม่จมน้ำขณะที่ยังสดอยู่
การเจริญเติบโตของจอกหูหนูยักษ์ส่วนที่เห็นได้ชัดเจนคือ ใบซึ่งมีขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 4 ซม. ใบอ่อนที่เกิดในช่วงที่ยังไม่มีการเบียดเสียดกันจะมีลักษณะกลม แบน ลอยอยู่ปริ่มน้ำ เมื่อมีจำนวนมากขึ้นหรือกลุ่มมีขนาดใหญ่ขึ้น ขอบใบจะม้วนขึ้น เป็นการตอบสนองต่อการแข่งขันกันเอง ดังนั้น เมื่อโตเต็มที่ใบก็จะอยู่ในตำแหน่งแนวตั้ง อัดแน่นกันเป็นเสมือนเสื่อผืนใหญ่
จอกหูหนูยักษ์มีการขยายพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพคือ การแตกยอดจากใกล้ซอกใบของต้นเดิม และสามารถแตกออกไปได้เรื่อยๆ ลำต้นหักง่าย ส่วนที่หลุดไปก็สามารถเจริญเติบโตเป็นต้นใหม่ได้ เจริญเติบโตได้ดีในสภาพน้ำนิ่งหรือกระแสน้ำไม่แรงนัก ในสภาพที่เหมาะสมจอกหูหนูยักษ์สามารถเพิ่มปริมาณเป็น 2 เท่าใน 2-4 วัน แต่เพิ่มมากเป็น 2 เท่าใน 7-10 วัน จากหนึ่งต้นสามารถเจริญเติบโตปกคลุมพื้นที่ 64,750 ไร่ในเวลา 3 เดือน น้ำหนักสดถึง 64 ตันต่อไร่ ซึ่งใกล้เคียงกับผักตบชวา
จอกหูหนูยักษ์มีลักษณะคล้ายกับจอกหูหนู ซึ่งเป็นพืชอายุฤดูเดียวที่พบเห็นทั่วไปในหนองน้ำ ลักษณะใบเมื่อแก่แตกต่างกัน ขนบนใบเป็นเส้นเดี่ยว และสปอร์โรคาร์ปเป็นพวงสั้นกระจุกแน่น
ในประเทศไทยปี 2544 มีการนำจอกหูหนูยักษ์มาจำหน่ายเป็นสมุนไพรในตลาดพันธุ์ไม้สวนจตุจักร เจ้าหน้าที่จากกรมวิชาการเกษตรได้เข้าชี้แจงและกำจัดออกไป ปี 2550 กรมวิชาการเกษตรได้รับทุนจากกองทุนสนับสนุนงานวิจัยได้เฝ้าระวังและสำรวจจอกหูหนูยักษ์เป็นเวลา 1 ปี พบว่ามีร้านจำหน่าย 12 แห่ง ประชาชนปลูกเป็นไม้ประดับ 10 แห่ง ขณะเดียวกันก็มีการศึกษาถึงการเจริญเติบโตในสภาพเรือนทดลองที่เป็นบ่อซีเมนต์ พบว่าเติบโตเร็วมาก โดยเพิ่มจาก 1 ต้นที่มี 9 ใบ เมื่อเริ่มทดลองเป็น 15 แขนง 82 ใบในสัปดาห์ที่ 2 และการควบคุมด้วยสารเคมีกำจัดวัชพืชพาราควอต อัตรา 100-200 กรัมสารออกฤทธิ์ต่อไร่ ผสมสารจับใบให้ผลในการควบคุมได้ดีที่สุด
ในปีงบประมาณ 2552 สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืชได้รับอนุญาตให้จัดโครงการเฝ้าศัตรูพืช ซึ่งจอกหูหนูยักษ์เป็นศัตรูพืชชนิดหนึ่งที่ได้รับการอนุมัติให้เฝ้าระวัง โดยได้รับงบประมาณ 74,000 บาท และ 45,900 บาท ในปีงบประมาณ 2553 ทำการสำรวจแบบสืบพบ โดยมีวัตถุประสงค์ป้องกันมิให้ศัตรูพืชกักกันที่มีความเสี่ยงสูงเข้ามาระบาดในไทย และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับศัตรูพืชกักกันที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศได้
ความเสียหายจากจอกหูหนูยักษ์ที่ขึ้นอย่างหนาแน่น ทำให้แสงแดดส่องไปยังพื้นน้ำเบื้องล่างไม่ได้ พืชน้ำที่อาศัยอยู่ด้านล่างขาดแสงสำหรับกระบวนการสังเคราะห์แสง ซึ่งเป็นการลดการเติมออกซิเจนลงในแหล่งน้ำ ในขณะที่การย่อยสลายซากพืชที่ตายและจมลงสู่เบื้องล่าง ซึ่งต้องอาศัยออกซิเจนที่ละลายน้ำอย่างมาก ทำให้ปลาและสัตว์น้ำ สิ่งมีชีวิตอื่นขาดออกซิเจน และอาจรุนแรงมากจนทำให้ปลาและสัตว์น้ำอื่นตายได้
การทับถมของซากพืชจอกหูหนูยักษ์ลงสู่แหล่งน้ำ ทำให้แหล่งน้ำตื้นและเขิน ขณะเดียวกันการขึ้นอย่างหนาแน่นทำให้เป็นที่ยึดเกาะของเมล็ดวัชพืชที่ปลิวมาจากที่อื่น สามารถงอกและเติบโตอยู่บนผิวจอกนี้ได้ หรือพืชอื่นอาจจะเลื้อยจากฝั่งลงไปยังแหล่งน้ำที่มีจอกหูหนูยักษ์ขึ้นอยู่ได้ ในที่สุดแหล่งน้ำนั้นก็จะตื้นเขิน พืชไม้น้ำเดิมหายไป สัตว์น้ำไม่มีที่อยู่อาศัย พืชชนิดอื่นที่มิใช่พืชเข้ามาแทนที่ ในที่สุดแหล่งน้ำนั้นก็จะเปลี่ยนไปและพืชพรรณที่ขึ้นอยู่ก็จะหายไปด้วย
นอกจากนี้ จอกหูหนูยักษ์ที่ขึ้นอยู่หนาแน่นเป็นแผ่นใต้ผิวน้ำ ยังจะขวางการคมนาคมทางน้ำ ทำให้กระแสน้ำไหลได้ช้า อุดทางไหลของน้ำ ทำให้ไม่สามารถใช้น้ำทางการเกษตรและการผลิตไฟฟ้าตามวัตถุประสงค์ได้ และเป็นที่อยู่อาศัยของยุงที่เป็นพาหะของโรคต่างๆ เช่น โรคเท้าช้างในศรีลังกา และมาลาเรียในปาปัวนิวกินี
ส่วนผลกระทบทางเศรษฐกิจ เมื่อจอกหูหนูยักษ์ระบาดในแหล่งน้ำต่างๆ ทำให้ต้องกำจัด สิ้นเปลืองแรงงานและงบประมาณ ซึ่งมักไม่มีการรวบรวมในระดับประเทศ แต่ในมลรัฐลุยเซียนา สหรัฐอเมริกา แห่งเดียวมีค่าใช้จ่ายในการควบคุมวัชพืช 249 ล้านเหรียญฯ หรือ 9,950 ล้านบาท กระทบต่อเศรษฐกิจของรัฐนี้มากกว่า 440 ล้านเหรียญฯ หรือประมาณ 17,600 ล้านบาท
จอกหูหนูยักษ์นับว่ามีผลกระทบรุนแรงมากว่าผักตบชวา การควบคุมผักตบชวาสามารถเก็บออกจากแหล่งน้ำได้ง่าย ใบที่หักหลุดจากต้นเดิมไม่สามารถเติบโตเป็นต้นใหม่ได้ แต่จอกหูหนูยักษ์มีลำต้นเปราะบาง หักง่าย หลุดออกไปก็เติบโตเป็นต้นใหม่ได้ จึงกำจัดได้ยากกว่าผักตบชวา
นอกจากนี้ ผักตบชวาที่อยู่ในจอกหูหนูยักษ์จะพบว่ามีอาการใบเหลืองคล้ายขาดอาหาร และใบห่อม้วน ซึ่งเป็นไปได้ว่าผักตบชวาไม่สามารถแข่งยันแก่งแย่งธาตุอาหารในแหล่งน้ำกับจอกหูหนูยักษ์ได้ ขณะที่แม้จอกหูหนูยักษ์ไม่สามารถแข่งขันกับผักตบชวาในด้านความสูงเพื่อรับแสงสว่างได้ แต่จอกหูหนูยักษ์ก็สามารถเติบโตได้แม้ภายใต้ร่มเงา และเพิ่มปริมาณอย่างช้าๆ จนเบียดเสียดออกมานอกผักตบชวาได้
ดังนั้น หากพบจอกหูหนูยักษ์ที่ใดขอให้ตักช้อนไปตากแห้งและเผาทิ้ง ส่วนที่ติดตามตลิ่งไม่สามารถเก็บออกได้ ควรใช้สารกำจัดวัชพืชพาราควอต 100-200 กรัม ผสมสารจับใบฉีดพ่น หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อได้ที่สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช โทร.0-2940-7409 หรือ 0-2940-7194 โทรสาร 0-2940-7409 หรือ ws.doa@doa.in.th.