ว่าที่ร้อยตำรวจโทอาทิตย์ ปุญญะโสภัส รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า สมุทรสงครามเป็นเมือง 3 น้ำคือ น้ำจืด น้ำเค็ม และน้ำกร่อย ปัญหาการจัดการเรื่องน้ำนับว่าเป็นปัญหาใหญ่ เช่น ปัญหาน้ำจืดที่ต้องใช้ในการบริโภค หากขาดแคลนวันใดก็เหมือนหยุดชีพจร ปัญหาน้ำเค็มที่มีประโยชน์น้อย แต่ปัญหาเยอะ และน้ำกร่อยที่มีประโยชน์ด้านการเพาะปลูกและทำประมง
ปัญหามันอยู่ตรงนี้ เรากำหนดตายตัวไม่ได้ว่าเขตนั้นจำเพาะน้ำจืด หรือเขตไหนจำเพาะน้ำเค็มและน้ำกร่อย เพราะธรรมชาติเป็นผู้กำหนด แต่บางสิ่งบางอย่างมนุษย์ก็กำหนดได้บ้าง เช่น การสร้างเขื่อนกั้นน้ำเค็ม กักกันน้ำจืด การทำฝนเทียม ปัญหาเรื่องน้ำของ จ.สมุทรสงคราม เริ่มตั้งแต่การสร้างเขื่อนกักน้ำใน จ.กาญจนบุรี ราวปี 2522-2530 ชาว จ.สมุทรสงคราม ส่วนหนึ่งที่อยู่ในเขตน้ำเค็มต้องประสบปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำที่ทำกิน จนทำกินไม่ได้ถึงกับทิ้งถิ่นทิ้งอาชีพ ปัญหาคุณภาพชีวิตตกต่ำ ปัญหาสังคมก็ตามมา ที่ร้ายแรงคือเรื่องอาชญากรรมและยาเสพติด
ความตกทุกข์ได้ยากของคนแม่กลองทราบถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงเสด็จฯ มาที่วัดประชาโฆษิตาราม ต.ปลายโพงพาง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ราษฎรได้เข้าเฝ้าฯ ถวายฎีกา นำผลมะพร้าวที่ผลหนึ่งใหญ่มาก และอีกผลหนึ่งเล็กมากมาให้ทอดพระเนตรว่า เป็นผลพวงจากน้ำเค็มที่รุกล้ำจนผลผลิตมะพร้าวตกต่ำประกอบอาชีพต่อไปไม่ได้
หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมอบให้กรมชลประทานช่วยเหลือปล่อยน้ำจืดจากเขื่อนไปผลักดันน้ำเค็ม ส่วนระยะยาวก็ให้สร้างเขื่อนและทำนบกั้นระหว่างแม่น้ำแม่กลอง คลองแม่กลอง คลองผีหลอก และคลองเล็กคลองน้อย ไม่ให้น้ำเค็มรุกล้ำเข้ามาได้ จนสถานการณ์ดีขึ้นตามลำดับ เกษตรกรเริ่มกลับมาประกอบอาชีพเช่นเดิม
แต่ปัญหาการขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้ในการบริโภคอุปโภคก็มาเกิดขึ้นอีก หลังกรมชลประทานผันน้ำในแม่น้ำแม่กลงตอนต้นน้ำที่ จ.กาญจนบุรี และราชบุรี ไปช่วยคนกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยการผลิตน้ำประปาส่งไปให้ใช้กันอย่างฟุ่มเฟือย และการตั้งโรงไฟฟ้าที่ จ.ราชบุรี ที่ต้องใช้น้ำหล่อเลี้ยงจำนวนมาก ไปจนถึงการที่มีนิคมอุตสาหกรรมใน จ.ราชบุรี และ จ.สมุทรสาคร ที่ต้องใช้น้ำจำนวนมากและมีการปล่อยน้ำเสียทิ้งลงแม่น้ำลำคลองด้วย
จ.สมุทรสงคราม ไม่อยากเห็นปัญหาแบบเดิมที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2522-2530 จึงได้จัดทำโครงการป้องกันน้ำเสียและการขาดแคลน้ำ ด้วยการรื้อฟื้นโครงการชลประทานแม่กลองใหญ่ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง และให้กรมชลประทานดูแลการปล่อยน้ำจืดมาผลักดันน้ำเค็มอย่างสม่ำเสมอ ไม่ให้น้ำเค็มรุกล้ำที่ทำกินและท่วมในตัวเมืองแม่กลองอีก แต่ทั้งนี้ ก็ต้องขอให้ประชาชนชาวแม่กลองร่วมมือช่วยกันประหยัดน้ำใช้ น้ำดื่มด้วย เพราะเป็นหนทางเดียวที่จะไม่ทำให้ขาดแคลนน้ำในอนาคตได้.
สราวุฒิ ศรีธนานันท์ รายงาน