"เห็ด" เป็นพืชเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งที่ผู้ประกอบการให้ความสนใจหันมาทำการเพาะปลูกกันเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันยังมีเกษตรกรตามชนบทอีกจำนวนไม่น้อยที่ต้องการเป็นเจ้าของกิจการ แต่ส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการเพาะปลูกที่ถูกต้องและเหมาะสม ทำให้ผลผลิตที่ได้ไม่เป็นไปตามที่ต้องการ และเสี่ยงต่อความปลอดภัยทั้งผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
สำนักการศึกษาต่อเนื่อง ฝ่ายบริการเผยแพร่ทางไกล มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่หลักในการให้บริการวิชาการแก่สังคม จึงได้กิจกรรมเผยแพร่ความรู้สู่ชุมชนผ่านจัดโครงการบ่มเพาะวิสาหกิจชุมชน "การเพาะเห็ด" ขึ้น โดยถ่ายทอดความรู้เทคนิคการเพาะเห็ดที่ถูกต้องและเหมาะสมให้กับเกษตรกร เพื่อหวังสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้ดียิ่งๆ ขึ้น
อาจารย์เยาวลักษณ์ ศิริสุวรรณ หัวหน้าฝ่ายบริการเผยแพร่ทางไกล สำนักการศึกษาต่อเนื่อง ย้อนถึงที่มาของโครงการนี้ให้ฟังว่า ได้จัดกิจกรรมเผยแพร่ความรู้สู่ชุมชนท้องถิ่นมาตั้งแต่ปี 2541 โดยใช้งบประมาณของมหาวิทยาลัยออกให้บริการชุมชนในพื้นที่จังหวัดนนทบุรีปีละ 2-3 ครั้ง แต่เมื่อปีที่แล้วได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล ทำให้สามารถจัดการอบรมการเพาะเห็ดให้กับเกษตรกรได้ถึง 10 รุ่น ขยายโครงการออกไปในเขตพื้นที่ภาคกลางหลายจังหวัด อาทิ นนทบุรี สมุทรปราการ สุพรรณบุรี ชัยนาท นครสวรรค์ และฉะเชิงเทรา
เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้ลงพื้นที่อบรมการเพาะเห็ดในถุงพลาสติกให้เกษตรกรบ้านหนองเสือ หมู่ 7 ต.ตาคลี อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ ซึ่งผลจากการสำรวจพบว่า ชาวบ้านที่นี่มีอาชีพทำนาและรับจ้าง ไม่มีรายได้เสริม ส่วนใหญ่ต้องการให้เราจัดอบรมวิธีการเพาะเห็ดในถุงพลาสติก เพื่อสามารถนำไปสร้างเป็นอาชีพให้กับครอบครัว โดยครั้งนี้มีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมอบรมเกินกว่าที่คาดหมาย
ด้าน อ.สำเนาว์ ฤทธิ์นุช ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะเห็ดกว่า 20 ปี จากศูนย์เรียนรู้ทางเกษตรเพื่อการพึ่งพาตนเอง วิทยาลัยเทคนิคชัยนาท ในฐานะวิทยากร กล่าวว่า แต่ละครั้งจะใช้เวลา 3 วัน โดยเน้นให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้ลงมือปฏิบัติจริง เพื่อให้เขาสามารถนำไปประกอบอาชีพได้จริง และเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม
"เกษตรกรส่วนใหญ่มักจะเริ่มจากขั้นตอนที่ 5 คือ ซื้อหัวเชื้อสำเร็จรูปมาเพาะเลี้ยง แต่เราสอนตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนถึงขั้นตอนสุดท้ายอย่างละเอียด เริ่มจากการเลือกวัสดุอุปกรณ์ การบรรจุถุงและอัดก้อนเชื้อ การผสมหัวเชื้อ การนึ่งฆ่าเชื้อ การเขี่ยเชื้อ การพักบ่มเชื้อการเปิดดอก วิธีดูแลรักษาและการเก็บเกี่ยวผลผลิต รวมถึงการสร้างโรงเรือนและเทคนิคด้านการตลาด ที่สำคัญเราเน้นให้เขาใช้ประโยชน์จากวัสดุในท้องถิ่น เช่น ขี้เลื่อย ฟางข้าว ชานอ้อย เป็นต้น เมื่อเราสร้างความรู้ความเข้าใจให้ชาวบ้านอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ทำให้เขารู้จักการเพาะเห็ดอย่างถูกวิธี และได้ผลผลิตที่มีคุณภาพตามความต้องการของตลาด ทั้งยังปลอดภัยต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย" อ.สำเนาว์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ผลจากการอบรมครั้งนี้สะท้อนผ่านทางนายภาณุมาต มีใหม่ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 ต.ตาคลี อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ ผู้ซึ่งสนับสนุนชุมชนเข้าร่วมกิจกรรม บอกว่า กิจกรรมดังกล่าวถือเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อชาวบ้านที่นี่ เพราะสามารถนำไปต่อยอดพัฒนาเป็นอาชีพเสริมเพิ่มรายแก่ครอบครัว โดยก่อนหน้านี้ชาวบ้านเพาะเห็ดกันตามความรู้ที่มี เมื่อออกดอกก็นำไปขาย ได้กำไรบ้าง ขาดทุนบ้าง และไม่ได้คำนึงความปลอดภัย ไม่มีความรู้ด้านการตลาด แต่เมื่อผ่านจากการอบรมครั้งนี้ เชื่อว่าอนาคตผลผลิตเห็ดของชาวบ้านที่นี่จะมีคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาด ส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งๆ ขึ้นตามไปด้วย
ส่วนการเพาะเห็ดในถุงพลาสติกนั้น สามารถทำได้กับเห็ดหลายชนิด เช่น เห็ดนางรม เห็ดนางฟ้า เห็ดภูฎาน เห็ดเป๋าอื้อ เห็ดหูหนู เห็ดหอม เห็ดเข้มเงิน เป็นต้น โดยมีขั้นตอนและวิธีการที่คล้ายกัน คือ จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ ผสมสูตรอาหารเห็ด การบรรจุถุง การนึ่งฆ่าเชื้อ การเขี่ยเชื้อ และการพักบ่มเชื้อ อาจจะต่างกันที่การเลือกใช้สูตรอาหารให้เหมาะสมกับเห็ดแต่ละชนิด ส่วนวัสดุที่ใช้เพาะหาได้ในท้องถิ่น เช่น ฟางข้าว ขี้เลื่อย ชานอ้อย เป็นต้น
ตัวอย่างสูตรวัสดุเพาะเห็ดในถุงพลาสติกที่ให้ผลผลิตสูงและนิยมใช้กันทั่วไป เช่น ขี้เลื้อยไม้ยางพารา 100 กก. รำละเอียด 3-5 กก.น้ำตาลทราย 2 กก. ปูนขาว 0.5 กก. ยิปซัม 2 กก. ดีเกลือ 0.2 กก. และน้ำสะอาด 60-70 ลิตร (กก.) เป็นต้น
นอกจากนี้ อ.เยาวลักษณ์ยังเปรียบเทียบให้ฟังถึงข้อแตกต่างระหว่างการเชื้อหัวเชื้อสำเร็จกับการเพาะหัวเชื้อเองว่า การผลิตหัวเชื้อเองต้นทุนอยู่ประมาณก้อนละ 3 บาท แต่ถ้าซื้อหัวเชื้อตกประมาณก้อนละ 6-9 บาท ทั้งยังมีภาวะเสี่ยงถ้าอัดถุงไม่แน่น หรือเกิดเชื้อรา ทำให้ก้อนเชื้ออยู่ได้แค่ 2-3 เดือน แต่ที่ผลิตเองสามารถอยู่ได้นานถึง 6 เดือน ผลผลิตเห็ดที่ได้จะมีคุณภาพดี ดอกใหญ่ และสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม
"มีเกษตรกรและผู้ที่สนใจอีกจำนวนมากที่ต้องการให้เราไปจัดการอบให้ แต่เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านงบประมาณไม่สามารถออกให้บริการได้อย่างทั่วถึง ในปี 2554 เราจึวางแผนไว้ว่าจะขยายโครงการเพาะเห็ด โดยจะนำไปสู่การแปรรูปเห็ดให้กับสมาชิกในเครือข่าย และจัดทำซีดีให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการเพาะเห็ดในรูปแบบต่างๆ จัดส่งไปยังศูนย์เทคโนเกษตรที่มีเครือข่ายกระจายอยู่ทั่วประเทศ เพื่อกระจายความรู้ให้ชาวบ้านที่สนใจนำไปสร้างโอกาส และประกอบธุรกิจของตนเองได้"
การบริการทางวิชาการขยายความรู้สู่ท้องถิ่นชุมชนของ มสธ. สามารถสร้างองค์ความรู้ต่อยอดแนวทางการทำมาหากินของชุมชนต่างๆ หากหมู่บ้านหรือชุมชนใดสนใจเข้าร่วมกิจกรรม หรืออยากให้ มสธ.ไปขยายความรู้การเพาะเห็ด ติดต่อสอบถามได้ที่ 08-0555-3353, 0-2504-7715-16.